เอ..CPU ของ Intel รุ่นล่าสุดนี่มันอะไรแล้วเนี่ย ? ตั้งแต่ Pentium, PPro, MMX, P-II, Celeron, Xeon อืม ..จะมีอะไรเตี้ยมๆ อ้อนๆ มาอีกมั้ยละเนี่ย ? .. เครื่องคอมพิวเตอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้ทุกวันนี้มันพัฒนามาเพียงช่วง สั้นๆ ไม่กี่สิบปี แต่คอมพิวเตอร์ปัจจุบันต่างจากบรรพบุรุษมันอย่างมากทั้งขนาดและพลังการ ประมวลผลใครจะไปรู้ละครับว่าจากเครื่อง ENIAC ที่นับเป็น electronic computer เครื่องแรกขนาดเท่าห้องแถวหนึ่งคูหาตอนนี้ย่อลงมาเล็กกว่าเหรียญสลึง แถมเร็วกว่าเป็นหลายหมื่นเท่า หรือแม้แต่ Notebook ตัวละ 4-50000 บาทตอนนี้เร็วกว่า Supercomputer เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ราคาหลักพันล้านบาท รูปแบบการประมวลผลและการโปรแกรมก็เปลี่ยนไป เดิมทีเราประมวลผลตัวเลขเป็นหลัก เอาตัวเลขเข้าไปในคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้ตัวเลขออกมา ดูตอนนี้สิครับมีทั้งภาพ มีทั้งเสียง เหมือนจริงจนหลอกหูหลอกตาคนได้อย่างแนบเนียบ .. แน่มั้ยล่ะ การเขียนโปรแกรมจากเดิมเป็นเจาะกระดาษ ตอนนี้ใช้ keyboard บางโปรแกรมใช้ mouse ตัวเดียวเขียนโปรแกรมได้เฉย ไม่ต้องมี keyboard ยังได้ .. ป๊าด ก็ visual programming tool + 4th.GL ไงครับ ถึงจะมีการพัฒนาในช่วงสั้นๆ แต่ประวัติจริงๆ ในการประมวลผลข้อมูลหรือตัวเลขมีมานานมากแล้ว .. วันนี้จะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังกัน
อันที่จริงเรื่องการประมวลผลหรือ การจัดการตัวเลขนี่มีมานานแสนนานและเป็นต้นกำเนิดในเชิงไอเดียของ คอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน เท่าที่มีบันทึกเครื่องมือคำนวณตัวแรกคือ “ลูกคิด” มีในจีนและประเทศแถบเอเชียมาตั้ง 5000 ปีแล้วนะ แต่ที่นับเป็นบรรพบุรุษของคอมพิวเตอร์เห็นจะเป็นเครื่องจักรกลที่ชื่อ Pascaline ประดิษฐ์โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศษอายุแค่ 19 ปีชื่อ Blaise Pascal เมื่อปี 1642 .. คนนี้แหละที่เราเอาชื่อเค้ามาตั้งเป็นชื่อภาษา Pascal เครื่องคิดเลขของ Pascal สามารถบวกกับลบเลขได้ เท่านั้นก็ถือว่าสุดๆ ในสมัยสามร้อยกว่าปีก่อน เครื่องนี้นะในเมืองไทยยังพอจะหาดูได้แถวๆ พิพิธภัณฑ์ อีกสามสิบปีต่อมาก็มีนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Leibniz ทำให้เครื่องคิดเลขของ Pascal หาผลคูณ หารและ square root ได้ .. สุดยอด ทำได้เท่าเครื่องคิดเลข solar cell (รุ่นแจกฟรี) เลย อ้อ..เครื่องนี้เรียกว่า “Stepped Reckoner” ประเทศไทยเพิ่งเลิกใช้เมื่อซัก 30-40 ปีที่แล้วนี่เองเพราะถูกแทนที่ด้วย Casio และ Sharp …
อีก ร้อยกว่าปีต่อมา ในปี 1830 ก็มีนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ Charles Babbage เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ คิดว่าข้อมูลทุกแบบน่าจะประมวลผลได้ถ้าแปลงให้อยู่ในรูปของตัวเลขซะก่อน คิดเฉยๆ ไม่พอ แกสร้างเครื่องจักรในการคำนวณใช้พลังงานไอน้ำขับเคลื่อน ( ^^; ..เอาไว้คำนวณจริงๆ นะครับ อย่าคิดว่าเป็นรถไฟ) เรียกชื่อซะหรูว่า Analytical Engine ประกอบด้วยฟันเฟืองเยอะแยะมากมาย การทำงานจะอยู่ที่การหมุนเพื่องให้ทดไปทดมาแต่เจ้าเครื่องนี้มันไม่ธรรมดา ตรงที่มันสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานได้ตามชุดคำสั่งที่ป้อนเข้าไป .. อ๊ะ อ๊ะ แปลว่ามันโปรแกรมได้นะสิ ..ใช่เลยครับ นี่แหละคือต้นกำเนิดสิ่งที่เราเรียกว่า Software ล่ะ คนที่เขียนชุดคำสั่งสำหรับ Analytical Engine เป็นท่าน countess ด้วยนะ ชื่อ Augusta Ada Byron ทุกวันนี้เค้าก็ยกย่องให้ Ada เป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก แล้วก็มีภาษาที่ตั้งชื่อตามท่าน countess ว่าภาษา Ada
อีกร้อยปีถัดมาในปี 1940 สมัยสงครามโลกก็มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์มาสร้างเป็นเครื่องคำนวณโดย ใช้ต้นแบบการทำงานเหมือนกับ Analytical Engine ของ Babbage โครงการนี้เป็นโครงการลับสุดยอดทางทหาร มีกลุ่มผู้ทำงานหลัก 3 คนคือ Alan Turing, Claude Shannon และ John Von Neumann ชื่อคุ้นหูมั้ยครับ ? ไม่คุ้นตอนนี้เดี๋ยวก็คุ้นทีหลัง..เรียนไปก็เจอ .. Turing เป็นคนคิดต้นแบบเครื่องคำนวณที่สมบูรณ์แบบมาก สามารถประมวลผลข้อมูลได้ทุกชนิด เรียกว่า Turing Machine ไง ต่อมาไม่นานนัก Shannon ก็พบว่าเครื่องจักรที่คำนวณคำสั่งทาง logic ได้สามารถประมวลผลข้อมูลได้ทุกแบบ กลายเป็นที่มาของ logic 0 และ 1 ที่แทนค่า True / False ในคอมพิวเตอร์ และเป็นการเริ่มใช้เลขฐานสองในคอมพิวเตอร์ตั้งแต่นั้นมา และทำให้ Claude Shannon กลายเป็นบิดาแห่งวิชา Information Theory ..
คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิคส์เครื่องแรกถูกสร้างขึ้นใช้งานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ Moore’s School of Electrical Engineering ใน University of Pennsylvania โดยมีชื่อยาวๆ ว่า Electronic Numerical Integrator And Calculator เรียกย่อๆ ว่า ENIAC คุ้นๆ ว่าที่ภาคไฟฟ้าเคยมีอยู่ตัวนึง แต่เป็นรุ่นย่อส่วนลงมา เพราะขนาดจริงๆ มันกว้างยาวประมาณห้องแถวซักหนึ่งคูหา ใช้หลอดสุญญากาศเป็นswitch บังเอิญว่าอีหลอดที่ว่ามันมีแสงสว่างแล้วก็ร้อน (ENIAC กินไฟถึง 150 kW) แมลงมันก็ชอบไปเกาะไปตอม วันหนึ่งแมลงเจ้ากรรมก็ไปติดในรีเลย์ของเครื่อง ENIAC ทำให้เครื่องไม่ทำงาน .. ทุกวันนี้เลยเรียกตัวปัญหาในคอมพิวเตอร์ว่า “bugs” .. การโปรแกรมเครื่อง ENIAC ยุ่งยากมาก ต้องโยงสายไฟเป็นพันๆ เล้นด้วยมือ เพื่อเชื่อมวงจรแต่ละจุดให้ทำงานตามที่ต้องการ จะเปลี่ยนโปรแกรมทีคิดแล้วคิดอีก .. John Von Neumann ก็เลยคิด model ในการแก้ปัญหาโดยให้เครื่องคำนวณสามารถจำหรือเก็บชุดคำสั่งได้..แปลว่ามันมี หน่วยความจำไงครับ ..ทุกวันนี้เราก็ยังใช้ model ที่ว่าในการสร้างและออกแบบคอมพิวเตอร์ เรียก model นั้นว่า “สถาปัตยกรรมแบบ Von Neumann” ENIAC ก็เลยมีหน่วยความจำ แม้ว่าจะน้อยนิดแค่ 80 Bytes แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นล่ะ ปัจจุบัน University of Pennsylvania ทำ ENIAC รุ่นย่อส่วนบน chip ตัวเดียว ขนาด die ไม่ถึง 1 cm2 ทำงานเร็วกว่า ENIAC จริงๆ หลายพันเท่า ราคาไม่กี่ร้อยบาทแต่ไม่มีขายในไทย..ฮ่า..ในปี 1960 ก็มีการเอา transistor มาแทนหลอดสุญญากาศ คอมพิวเตอร์ก็เลยลดขนาดลงมาได้มาก กินไฟน้อยลง… อีกสิบปีต่อมาก็พบว่าแผ่น silicon สามารถทำงานได้เทียบเท่า transistor แถมกินไฟน้อยกว่าอีก จึงเป็นจุดกำเนิด Integrated Circuit (IC) คอมพิวเตอร์จึงกลายเป็น IC เหมือนในปัจจุบัน
ในยุคแรกๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ยังมีขนาดใหญ่มาก เกือบทั้งหมดเรียกได้ว่าขนาดเป็น mainframe ได้ คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้แตะง่ายๆ แค่ค่าเช่าใช้ก็ชั่วโมงละ $40 เข้าไปแล้ว..คิดดูสมัย 20 ปีก่อนบ้านเราขายทองบาทละ 400-500 เอง แต่ในที่สุดพระเอกของเราก็มา..บริษัท Digital Equipment Corporation (DEC) สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก พอจะเรียกได้ว่า minicomputer ขึ้นมาในรุ่น PDP-1 ราคาตอนนั้น $120,000 ..เอื้อก.. ว่ากันว่าถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับ mainframe ของ IBM เครื่องละหลายล้านเหรียญ คนก็นิยมใช้ PDP-1 และรุ่นต่อๆ มาของ PDP จนทำให้ DEC รวยไม่รู้เรื่อง IBM เห็นท่าไม่ค่อยดีก็เลยเอามั่ง แต่ทำเจ๋งกว่าโดยให้คอมพิวเตอร์มี Operating System และมาตรฐานชุดคำสั่งที่ใช้งานต่างเครื่องกันได้ โดย IBM ออกเครื่องตระกูล System/360 ออกมา ใครเรียน System programming คงรู้จักกันดี (หึๆๆๆ) System/360 มีสมรรถนะและราคาแตกต่างกันในช่วงกว้างมากตั้งแต่ขนาดเล็กที่ใช้ในสำนักงาน ยันขนาดยักษ์ที่ต้องใช้น้ำระบายความร้อน แต่ความสำคัญของ System/360 อยู่ที่มันใช้ OS ตัวเดียวกันและใช้ชุดคำสั่งร่วมกันได้ รวมทั้งสามารถใช้อุปกรณ์ต่อพ่วงต่างสารพัดแบบได้ง่ายดายไม่ว่าจะรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ผลก็คือ IBM ครองตลาด Mainframe จนถึงทุกวันนี้ กลับมาทางฝ่าย DEC เห็นมันเวิร์คก็เอามั่งในปี 1977 ก็ออก VAX series ที่เทียบเคียงกับ System/360 อะไรที่ 360 ทำได้ Vax ก็ทำได้โดยใช้ชุดคำสั่งของ VAX เอง แถมมีสารพัดรุ่น ม.ข. ก็มีตัวนึง VAX11/780 ตัวมาตรฐานเลยแหละครับ (ตอนนี้ปลดระวางไปแล้ว) DEC ก็เลยกลายเป็นเจ้าตลาด Minicomputer ไป
อ้าว..แล้ว PC ล่ะหายไปไหน ? PC เครื่องแรกถูกผลิตและจำหน่ายในปี 1975 โดยบริษัท MITS ซึ่งผลิต PC แบบเอาประกอบเองที่บ้านรุ่น Altair 8800 ขายในราคาถูก สองปีต่อมา Apple, Commodore, และ Radio Shack เห็นทางรวยก็เอามั่ง โดยจ้างบริษัทเล็กๆ แห่งนึงเป็นผู้ผลิต software ให้ .. บริษัทเล็กๆ ที่ว่า ตอนนี้กลายเป็นยักษ์ของอุตสาหกรรม Software .. บริษัทนั้นคือ Microsoft นั่นเอง ในปีเดียวกันนี้เองที่ Intel ก็ออกโรงมาโฆษณาว่า Microprocessor ที่สร้างบน IC ของ Intel มีความสามามารถสูงกว่า ENIAC มากมาย เร็วกว่า เล็กกว่ามาก มีหน่วยความจำเยอะกว่า ราคาเพียงหนึ่งในหมื่นของ ENIAC ..เจ๋งสุดยอด แน่นอน..คนก็เริ่มนิยมและเป็นจุดกำเนิดของ Microprocessor และเจ้าพ่อแห่งวงการ Microprocessor อย่าง Intel
บริษัท Intel พัฒนา Microprocessor อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 4004 8008 8080 8086 และออก Microprocessor เบอร์ 8088 ในปี 1981 ซึ่งเป็นปีที่ IBM โดดลงมาเล่นเครื่อง PC มั่งโดยออกแบบสถาปัตยกรรมที่ทำให้ชาวบ้านเลียนแบบได้เป็นนโยบายหลัก IBM เลือก Microprocessor จาก Intel มาเป็น CPU ตัวแรกนั่นคือ 8088 ความเร็ว 4.77 MHz แทนการผลิต CPU เองเหมือน Mainframe และที่สำคัญ IBM จ้าง Microsoft เขียน OS ให้แทนที่จะพัฒนาเองเหมือนใน System/360 IBM PC ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ราคาในเมืองไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อนเครื่องละประมาณแสนกว่าบาท spec. คือ CPU 8088 4.77 MHz มี RAM 64 KB ขยายได้มากสุด 640 KB มี Floppy drive 5.25 นิ้วสองตัวแบบ Full-height (หนาเท่า CD-ROM Drive สองตัว) Power supply ขนาด 65 W จอ Monochrome สีเขียวใช้ปลั๊กแยกจากเครื่อง keyboard แบบ 88 keys ไม่มี Harddisk มี 1 Serial และ 1 Parallel port ราคาถูกมากเมื่อเทียบกับเครื่องอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียง มีขนาดเล็กพอจะเอาไปใช้ในบ้านหรือสำนักงานได้สะดวก IBM รวยไม่รู้เรื่อง รวมไปถึง Microsoft ด้วย ทั้งที่ IBM PC มี OS ที่ใช้งานได้ถึง 3 ตัว คือ MS-DOS ของ Microsoft, CPM/86 และ UCSD PASCAL P-System แต่เพราะว่า IBM จงใจขาย MS-DOS ในราคาถูกกว่า OS อื่น 3-8 เท่าตัว MS-DOS จึงเกิดพร้อมกับ IBM PC .. ปี 1984 IBM ก็ออก PC รุ่นที่สองมีชื่อว่า IBM PC/AT ใช้ 80286 ของ Intel เป็น CPU IBM ครองส่วนแบ่งในตลาดได้ถึง 70% และทำรายได้ในปีเดียว 6.6 พันล้านเหรียญ..(ป๊าด..) หลังจากนั้นไม่นานก็มีปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อ PC Compatible ผลิตในไต้หวันและญี่ปุ่นออกมาขายกันเกลื่อนตลาดในราคาถูกว่า IBM สามเท่า เร็วกว่า 2-3 เท่า มีหน่วยความจำมากกว่าถึงสิบเท่าคือ 640KB อีกทั้ง PC มีประสิทธิภาพสูงเพราะมีการแข่งขันและพัฒนาไปเร็ว ความสามารถของ PC จึงมากพอที่จะเข้ามาแทนที่ Mainframe ของ IBM เอง..ฮ่าๆๆ IBM เลยชลอโครงการของ PC (ที่จริงคือหยุดไปเลย) แม้ว่า Intel จะออก 80386 ในปี 1986 IBM ก็ไม่ได้รีบร้อนออก PC รุ่นใหม่ทำให้บริษัทอย่าง Compaq ชิงออก PC ที่ใช้ 80386 เป็น CPU ก่อน IBM .. ภายในปีเดียวบริษัทที่เพิ่งเกิดอย่าง Compaq มีรายได้ 100 ล้านเหรียญ .. Compaq เกิดในวงการ PC ตั้งแต่นั้นมา IBM ก็เลยงอนบริษัทที่ทำเลียนแบบ จึงหันมาออกแบบสถาปัตยกรรมแบบปิดกันคนเลียนแบบแทน นั่นคือเครื่อง IBM PS/2 เครื่องตระกูล PS/2 ถือว่าทันสมัยสุดๆ จอสี มี card เสียง ต่อ Mainframe ได้ มี Bus แบบใหม่ (Microchannel) ที่ประสิทธิภาพกินขาด Bus ของ PC/AT แต่ดันไม่ compatible กับ card แบบเดิม ผู้ใช้เค้าก็ไม่ชอบ PS/2 เลยไม่ดังเหมือนตอน IBM/PC ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา IBM จึงไม่สามารถครองตลาดระดับ PC ได้อีก IBM จึงหันกลับไปพัฒนา Mainframe ต่อไป แต่ก็ไม่ได้ทิ้ง PC ซะทีเดียวเพราะ IBM ยังคงผลิต PS/2 ออกสู่ตลาดอยู่ (เพื่อขายเป็นชุดใหญ่ พร้อมกับ Mainframe และ software
หลัง จาก i386 บริษัท Intel ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของ PC เพราะมีเครื่อง PC จำนวนมากที่ใช้ CPU ของ Intel ทำให้มีโปรแกรมที่ใช้งานบน CPU Intel มากตามไปด้วย Intel พัฒนา Microprocessor ต่อในรุ่น i486, พร้อมทั้งเกิดบริษัทที่เข้ามาแข่งกับ Intel อย่าง AMD ที่ผลิด 386DX-40MHz ออกมาในราคาถูก ตั้งแต่นั้นมา Intel กับ AMD ก็เลยเป็นคู่กัดกันฟ้องกันประจำ AMD ออก K5 ทำงานได้เทียบเคียง i486 คราวนี้ก็มีอีกบริษัทนึงเข้ามาแข่งด้วยคือ Cyrix โดยจะผลิต CPU ราคาถูกและเป็น CPU ที่ใช้ Upgrade เป็นส่วนใหญ่อย่าง 486DLC หรือ 5×86.. พอ Intel ผลิต Pentium, AMD ก็ออก K6, Cyrix ออก 6×86 ..แน๊.. พอ Intel ใส่ MMX ..AMD ก็ใส่ Code MMX ลง K6 มั่ง ส่วน Cyrix ก็ออก 6x86MX ..แน๊ Intel จึงต้องหนีด้วย Pentium Pro และ P-II ซึ่ง AMD อ้างว่าประสิทธิภาพของ K6 รุ่นหลังๆ พอจะสู้ไหวในราคาถูกว่าเป็นกอง .. วันนี้เราก็อยู่ตรงจุดนี้
อนาคต ของ computer ล่ะ จะเป็นยังไง ? อันนี้ตอบยากว่าจะเป็นรูปแบบใหน ถ้าดูที่ประสิทธิภาพอาจจะพอทำนายได้ตามกฏของ Moore ที่ว่า พลังในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 18 เดือนถ้าดูที่เทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบันและความก้าวหน้าทางวิชาการที่ เกี่ยวข้อง ตอนนี้ transistor military-grade สำหรับใช้กับขีปนาวุธมีความเร็วในการ switch เพียง 1 femtosecond (10^-15 วินาที) เร็วกว่า transistor ใน microprocessor ปัจจุบัน 10^7 เท่า ความเร็วที่ได้เกิดจากการลดขนาดและพลังงานเพื่อไม่ให้ electron ชนกัน ขั้นถัดไปที่ยังคงมีทฤษฎีรองรับในปัจจุบันคือ single-electron transistor ซึ่งถือเป็นสุดยอดเทคโนโลยีทีทั้งเร็ว เล็ก และประหยัดไฟเท่าที่ความรู้ทางฟิสิกส์ในปัจจุบันจะรองรับได้ ตอนนี้เราเข้าใจถึงวิธีการที่จะนำมาสร้างคอมพิวเตอร์แบบ single-electron แล้ว ขาดแต่ความก้าวหน้าทางวิศวกรรมที่จะนำมาผลิต .. แล้วหน่วยความจำล่ะ ? ตอนนี้เรายังใช้หน่วยความจำแบบสองมิติซึ่งก็มีราคาถูกแสนถูกเม็กละไม่กี่ ตังค์ หากมองไปถึงหน่วยความจำแบบสามมิติ ขนาดซัก 1 ลูกบาศก์นิ้วจะจุได้ประมาณ 1 TB (10^12) ..เอื้อก.. Harddisk ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนจากที่เป็นจานแม่เหล็กกลายเป็น solid state แทน ความเร็วจะเท่ากับ RAM ในปัจจุบันแต่ความจุจะสูงถึงหลัก TB ดูอย่าง Supercomputer ปัจจุบันก็ได้ หน่วยความจุของ cache/memory/storage จะเป็น MB/GB/TB ตามลำดับ อนาคตมันก็จะย่อลงมาตั้งโต๊ะแล้วก็ย่อลงมาหิ้ว แล้วก็มาอยู่บนฝ่ามือ
Network ล่ะจะเป็นยังไง ? พูดถึง infrastructure ตอนนี้คงหนีไม่พ้นคำว่า Information superhighway ละสิครับ ปัจจุบันทั่วไปก็ความเร็ว 45 Mbps (T3) เป็น backbone บริษัททั่วไปอาจจะใช้เพียง 1.544 – 2 Mbps (T1/E1) ผ่าน fiber optic หรือราคาถูกๆ ก็เป็นดาวเทียมตั้งแต่ 64Kbps, 128 Kbps, 256Kbps, 512 Kbps ถึง Maxๆ ที่ 34 Mbps อนาคตดาวเทียมมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเป็น Fiber optic สำหรับโครงสร้างในการบริการหลักๆแต่ที่อยู่ห่างไกลมากๆ ยังคงต้องเป็นดาวเทียม แน่นอนว่าความเร็วจะต้องสูงกว่านี้ เท่าที่มีในมาตรฐานปัจจุบันก็มากถึง 200-300 Mbps แต่ยังไม่มีใช้กันจริงๆ เท่านั้นเอง สมัยปล่อย ThaiCom 1 ถ้าจำกันได้จะมีดาวเทียมอีกดวงนึงของ Hughes Aircraft ปล่อยพร้อมกัน ดาวเทียมของ Hughes ที่ปล่อยนั้นเป็นดวงที่สามหรือสี่ของชุดที่จะทำให้เครือข่ายทั้งประเทศสหรัฐ เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์จริงๆ และเป็นโครงข่ายที่ Hughes วางแผนจะใช้เป็น Information superhighway อันหนึ่ง อันที่จริงค่าเดินสาย fiber ทั้งสหรัฐจะมีราคาพอๆ กับยิงดาวเทียม 4 ดวงแต่ว่าข้อดีของดาวเทียมคือยิงปุ้งเดียว (ความจริงต้อง 4 ปุ้งเพราะมี 4 ดวง) ใช้ได้เลย ไม่ต้องรอติดตั้งนานเหมือนการวางใยแก้ว ..เมื่อปีที่แล้ว Hughes ออกชุด Downlink ดาวเทียมขนาดกระเป๋าหิ้วความเร็ว 400Kbps เสียบ card ในเครื่อง PC แล้วต่อ Internet ได้ทันทีราคาไม่กี่หมื่น ส่วนค่าเช่าก็ไม่กี่พันต่อเดือน ถู๊ก..ถูก ในเมืองไทยก็เสียใจด้วยเพราะไม่ได้อยู่ใน footprint ของเค้า..แต่ถ้าจะใช้จริงๆ น่าจะมีดาวเทียมของจีนที่พอจะให้บริการลักษณะเดียวกันได้
ส่วนระดับ LAN ตอนนี้เราใช้ Ethernet ถูกๆ ก็ 10 Mbps เร็วหน่อยก็ Fast Ethernet 100 Mbps หรือจะเอาทันสมัยมาอีกนิดก็เล่น ATM มีให้เลือกตั้งแต่ 155 ถึง 622 Mbps (เอาเท่าที่มีขายนะครับ .. จริงๆ ATM รองรับได้ความเร็วได้สูงกว่านี้อีก) และตอนนี้เรากำลังวิ่งเข้าสู่ Gigabit network มาตรฐานของ LAN ความเร็ว 1 Gbps กำลังเร่งจะออกทั้งของ ATM และ Gigabit Ethernet แต่ถ้าดูจากการทดลองใน Lab เมื่อสองปีที่แล้วมีเทคโนโลยีที่ transfer ข้อมูลถึง 240 Gbps ..ลองนึกภาพ harddisk ขนาด 30 GB สองตัวต่อกันสามารถก๊อบข้อมูลทั้งหมดจากลูกนึงไปอีกลูกนึงได้ในวินาทีเดียว (นับเฉพาะ transfer จาก interface-to-interface)..เอื้อก..ปัจจุบันไม่ได้ติดตามอาจจะทำได้ถึง Tbps ไปแล้วก็ได้
แนวโน้มอีกอย่างคือการบริการ Internet ที่จะต่อเข้าบ้าน ปัจจุบันบ้านเราอาศัยสื่อโทรศัพท์ผ่าน Modem ทั้งแบบ Analog และ Digital อนาคตก็จะเปลี่ยนจาก Modem ธรรมดาเป็น ISDN, ADSL หรือ Cable Modem เพื่อความเร็วที่สูงกว่า อนาคตไกลๆ หน่อยก็จะเปลี่ยนเป็น Fiber optic ค่อนข้างแน่นอน เพื่อนผมคนนึงเล่าให้ฟังว่า ประเทศ Singapore ตอนนี้มี Fiber optic จ่อหน้าบ้านเกือบทุกหลังแล้ว อยู่ที่ว่าจะต่อเข้าบ้านมั้ย..ป๊าด อย่างว่าประเทศเค้าเล็กนี่ แล้วประเทศเค้าก็มีตังค์ด้วย ..อิจฉาไปก็เท่านั้น นี่มันยุค IMF .. Amazing จริงๆ นะ Thailand (^^;)