เมื่อไม่นานมานี้ ลินุสได้ตัดสินใจถอดไดรเวอร์ Philips-based USB webcam ออกจากลินุกซ์ เคอร์เนลเวอร์ชันถัดไปอาจจะไม่สนับสนุนเว็บแคมที่ใช้ชิปของ Philips แล้ว … เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เต็มๆ เลยกลายเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันเยอะทีเดียว
เรื่องของเรื่องก็คือไดรเวอร์ตัวนี้มันไม่โอเพ่นซอร์ส หรืออาจจะเรียกว่ากึ่งโอเพ่นซอร์ส .. ไดรเวอร์นี้ประกอบด้วยสองส่วนคือ PWCX ที่เป็นโค้ดของไดรเวอร์ พัฒนาโดย Nemosoft Unv. โค้ดส่วนนี้ไม่ได้โอเพ่นซอร์สเพราะติด NDA (Non-Disclosure Agreement) ทาง Nemosoft จึงจำต้องเผยแพร่เป็นไบนารีเพียงอย่างเดียว เมื่อเปิดเผยไม่ได้ PWCX จึงไม่สามารถอยู่ในเคอร์เนลได้ .. เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงมีโค้ดส่วน PWC ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อม หรือ ‘hook’ ให้กับ PWCX โดย PWC เผยแพร่ด้วย GPL และอยู่ในเคอร์เนลของลินุกซ์ .. โค้ด PWC เป็นไดรเวอร์ทำงานด้วยตัวมันเองได้ แต่จำกัดมากๆ และในความเป็นจริง PWC ไม่ได้เขียนเป็นไดรเวอร์ แต่ใช้เพื่อเป็น hook โดยเฉพาะ .. การทำ hook สำหรับไดรเวอร์แบบไบนารีในเคอร์เนลถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะทำให้เคอร์เนลไม่ ‘สะอาด’ จริง .. เมื่อเป็นเช่นนั้น Greg Kroah (USB maintainer) จึงตัดโค้ดส่วนของ hook ใน PWC ออก (เน้น: ตัดโค้ดของ hook .. ไม่ใช่ตัด PWC) ทำให้ต่อไป PWC จะไม่สามารถโหลด PWCX มาใช้งานได้ .. Nemosoft เห็นเช่นนั้นก็มีท่าทีที่ไม่พอใจเท่าไหร่นัก จึงตัดสินใจหยุดพัฒนาไดรเวอร์นี้ทั้ง PWC/PWCX และขอให้ถอด PWC ออกจากเคอร์เนล .. และลินุสก็ทำตามประสงค์ของ Nemosoft
ผลที่ตามมาคือผู้ใช้/แฮกเกอร์หลายคนพากันไม่พอใจการตัดสินใจของลินุส การถอดโค้ดออกจากเคอร์เนลถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะมีผลกระทบกับผู้ใช้ ปกติแล้วลินุส หรือ maintainer ทุกคนจะไม่ถอดโค้ดออกจากเคอร์เนลถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอ ถึงแม้นักพัฒนาหยุดพัฒนาโค้ดนั้นไปแล้ว ไม่มีใครสานต่อ โค้ดก็จะยังอยู่ในเคอร์เนล และจะได้รับการดูแลเป็นครั้งคราวโดยลินุส หรือ maintainer ที่รับผิดชอบด้านนั้นๆ เพื่อให้สามารถทำงานภายในเคอร์เนลต่อไปได้ ในกรณี PWC/PWCX ลินุสตัดสินใจถอดออกจากเคอร์เนล เป็นเพราะ
- PWC เรียกว่าเป็น hook-only for binary-only driver ซึ่งทำให้เคอร์เนลไม่เสรี/โอเพน
- ไม่มีคนรับดูแล PWC ต่อจาก Nemosoft และ
- ลินุสถือว่า Nemosoft เป็นเจ้าของโค้ด PWC/PWCX เมื่อเจ้าของไม่ต้องการให้โค้ดอยู่ในเคอร์เนล ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และควรจะให้เกียรติทำตามความต้องการ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครเป็นเจ้าของโค้ดนี้ตั้งแต่แปะคำว่า GPL ..
เหตุผลที่ลินุสเน้นย้ำที่สุดคือข้อ 3 นี่แหละ ..
ใครถูกใครผิดก็ไม่รู้เหมือนกัน สำหรับผม เรื่องโอเพนซอร์สมีความสำคัญเหนือกว่าเรื่องเอาใจผู้ใช้เสมอ ไม่ว่าน้ำหนักผู้ใช้จะกดดันขนาดไหน แต่ถ้าทำให้โอเพนซอร์สไม่สะอาดเมื่อไหร่ คำว่า ‘โอเพน’ หรือ ‘ฟรี’ (as in free speech) จะไม่มีความหมายอีกเลย หากหลักการนี้ล้ม ปัญหาจะตามมาหลังจากนั้นอีกเยอะมาก ไม่เพียงเรื่องแนวคิดของโอเพน/ฟรีจะเสียไป แต่ในแง่เทคนิคก็จะเสียไปด้วย การที่มันโอเพน/ฟรีทำให้ลินุกซ์ก้าวไปได้เร็วและมั่นคง เพราะทุกคนเห็นซอร์ส ทุกคนสามารถช่วยกันแก้ไข ทุกคนสามารถช่วยปรับปรุงให้มันดีขึ้นได้ การปกปิดซอร์สทำให้ไม่สามารถคงสภาพการทำงานแบบนี้ได้อีก เสถียรภาพ และความปลอดภัยย่อมลดน้อยลง หากเกิดขึ้นกับเคอร์เนลก็คงไม่ใช่เรื่องดี
ทางออกสำหรับเรื่องนี้ ให้สวยที่สุดคือพัฒนาไดรเวอร์ที่เป็นโอเพนซอร์ส ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็ย้ายส่วนไบนารีไปอยู่นอกเคอร์เนล หรือทำไดรเวอร์โมดูลที่ไม่ต้องใช้ hook ในเคอร์เนล ..
.. สุดท้ายจะออกมายังไง คงต้องติดตามดูกันต่อไป