สิกขิม ภูฏาน

หยุดสงกรานต์ 7 – 16 เม.ย. 49 ที่บ้านหอบผ้าหอบผ่อนหนีไป สิกขิม-ภูฏาน เวลา 10 วัน เลือกทริปนี้ตอนไปดูงานท่องเที่ยวที่ศูนย์สิริกิติ์ นำทัวร์โดยบริษัท Nature Trek .. ทั้ง สนุก ลำบาก ประทับใจ เซ็ง ฯลฯ ..

7 เม.ย. 49 Day 1: กรุงเทพ – กัลกัตตา

นัดเจอกันที่เคาน์เตอร์สายการบิน Indian Airlines เวลาเที่ยง .. แล้วก็พบว่ามีคณะคนไทยไปเที่ยว สิกขิม-ภูฏาน สองคณะ หนึ่งก็คือของ Nature Trek อีกหนึ่งคือของ Global Holiday คงได้เจอกันตลอด 10 วันเป็นแน่ .. เห็นคณะของ Global Holiday และมี คุณธีรภาพ โลหิตกุล ช่างภาพและนักเขียนในวงการท่องเที่ยวติดตามไปด้วย (ถ้าดูไม่ผิด คุณธีรภาพใช้ Fuji S9500 นะ) อยากติดตามไปลอกการบ้าน เลยอิจฉาเล็กๆ .. คณะเราเดินทาง 22 คนรวมไกด์ ถ้าไม่นับน้องสาวผมจะเป็นคนที่อายุน้อยที่สุด อายุเฉลี่ยของคณะกะด้วยสายตาคือ 50 กลางๆ ถึงปลายๆ (น่าจะเกษียณอายุกันแล้วเกินครึ่งของคณะ) .. หลายคนอาจจะคิดว่าอายุเยอะๆ ทำไมมาเที่ยวที่ลำบากๆ ? อืม .. จริงๆ อายุเป็นเพียงตัวเลข (ที่นานๆ ไปแล้วดูจะเยอะไปหน่อย) เรื่องจะมาลำบากนี่พอจะมีเหตุผลอยู่ 2-3 ประการ คือ 1.อายุมาก เที่ยวมาเยอะแล้ว เหลือแต่ที่ลำบากๆ นี่แหละที่ยังไม่มา มีตังค์แล้วก็มาซะ .. หรือไม่ก็ 2.อายุมากแล้ว ถ้ายังเที่ยวที่มันลำบากๆ ไหวก็รีบไปซะก่อน ส่วนที่สบายๆ ไปทีหลังได้ ..หรือไม่ก็ 3.ลูกหลานจะไปเที่ยวสงกรานต์ ไม่มีคนอยู่ดูแล เลยส่งลุงๆ ป้าๆ มาแถวนี้ :P .. YMMV!

เที่ยวบิน IC 732 ออกเดินทางจากดอนเมืองไปยังสนามบินกัลกัตตา (เดิม Calcutta ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Kolkata) กัลกัตตาเวลาช้ากว่าเมืองไทยชั่วโมงครึ่ง มาถึงกัลกัตตาบ่ายสามนิดๆ กว่าจะออกมาจากเทอร์มินัลได้ก็อีกชั่วโมงเห็นจะได้ อากาศที่นี่ไม่ต่างจากเมืองไทย ออกจะเหนียวตัวกว่าด้วย จริงๆ แล้ววันนี้ไม่มีโปรแกรมเที่ยว แต่รถก็พาพวกแวะชมนิดๆ หน่อยๆ เป็นการเรียกน้ำย่อย เริ่มจากที่ Victoria Memorial Hall ฮอลล์ขนาดใหญ่สร้างจากหินอ่อนล้วนๆ สร้างมาแล้วประมาณร้อยปี เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เย็นวันนี้ได้แค่ชมนอกรั้ว ไว้พรุ่งนี้ถึงจะได้เข้าชมด้านใน ก็ดีเหมือนกันเพราะวันนี้มาถึงก็ไม่มีแดดแล้ว .. จาก Victoria Memorial Hall ก็แวะไปชมริมแม่น้ำคงคาที่ Judges Ghat (ท่าน้ำ ?) .. ก็พอดีเห็นชาวบ้านมาทำพิธีอะไรซักอย่างที่ริมน้ำ อย่างที่รู้กันว่าแม่น้ำคงคงไม่สะอาดเท่าไหร่ กระนั้นคนที่นี่ก็ลงไปอาบ ล้างหน้าล้างตา หรืออาจจะดื่มกินด้วย ทั้งที่กลิ่นเน่าเหม็นโชยมาตั้งแต่ก้าวลงจากรถโน่นแล้ว .. เดินทางต่อ ทานอาหารเย็นเสร็จแล้วก็เข้าที่พัก คณะเราก็เริ่มแลกตังค์ที่เคาน์เตอร์โรงแรม 1 USD ได้ 44 Rs (รูปี) และออกไปเดินดูของรอบๆ โรงแรม ก่อนจะกลับมานอนพัก .. จบวันแรก

8 เม.ย. 49 Day 2: กัลกัตตา – บักโดกรา – กังต็อค

 เช้าออกจากโรงแรมก็ทัวร์กัลกัตตาก่อนเลย ที่แรกที่จะไปแวะชมคือวัดเชน (Jain Temple) เป็นวัดในศาสนาเชน (Jainism) หนึ่งในศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดียที่ยังมีผู้นับถือเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน (อีกสองศาสนาที่เก่าแก่ คือ ฮินดู และ พุทธ) ศาสนาเชนมีบัญญัติอยู่ 5 ข้อ คือ อหิงสา สัจจะ อยู่อย่างพอเพียง ห้ามลักขโมย และห้ามมีเพศสัมพันธ์ จากบัญญัตินี้จะขยายเป็นวิถีปฏิบัติอีกหลายอย่าง เช่น กินเจตลอดชีวิตเพื่อไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น บางสายมีความเคร่งครัดขนาดไม่ทานผักที่เป็นหัว หรืออาจจะสุดขั้วขนาดไม่สวมเสื้อผ้าติดตัวแม้แต่ชิ้นเดียว .. กลับมาที่วัดเชน ก่อสร้างมาร้อยกว่าปีแล้ว จัดเป็นวัดที่สวยวัดนึง ภายในประดับประดาด้วยกระจกสี น่าเสียดายตอนที่ไปวัดกำลังอยู่ระหว่างบูรณะ ภาพเลยไม่ค่อยสมบูรณ์ นอกจากวัดเชนแล้ว ใกล้ๆ กันยังมีศาสนสถานของศาสนาอื่นอยู่ติดๆ กันด้วย เลยแอบไปเดินชมดูจากด้านนอก .. ในเมืองกัลกัตตาทั่วไปแล้วผู้คนดูไม่ย่ำแย่เหมือนที่เคยได้ยินมา ไม่ค่อยได้เห็นขอทานเยอะ แต่อย่าได้เริ่มโยนของหรือโยนเศษเงินให้เป็นอันขาด จะเจอกับแขกมุงเป็นจลาจลย่อยๆ ได้เลย .. ข้างถนนจะมีห้องน้ำสาธารณะและก๊อกน้ำสาธารณะ บรรดาคนยากคนจนก็จะใช้ห้องน้ำก๊อกน้ำนี่แหละทำธุระส่วนตัวกัน ตั้งแต่ซักผ้า อาบน้ำ ดื่มกิน หรือทำอาหาร ..

รถบัสพาเราไปที่ต่อไป คือบ้านแม่ชีเทเรซ่า (Mother Teresa of Culcutta) ผู้ซึ่งทุ่มเทอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ เด็กกำพร้า ผู้ป่วย แม่ชีเป็นผู้ก่อตั้ง Missionaries of Charity โดยได้รับอนุญาตจากวาติกัน ซึ่งภายหลังแผ่สาขาไปทั่วโลก แม่ชีเทเรซ่าได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญของคนสลัม และได้รับรางวัลด้านสันติภาพมากมาย รวมทั้งโนเบลในสาขานี้ด้วย .. ปิดท้ายเข้าชม Victoria Memorial Hall จากนั้นเราก็เข้าสนามบิน เพื่อเดินทางไปสนามบักโดกรา (Bagdogra) สนามบินที่อยู่ใกล้รัฐสิกขิม (Sikkim) มากที่สุด

เรามาถึงบักโดกราก็เย็นๆ แล้ว จากสนามบินบักโดกราเราต้องนั่งรถไปอีกร้อยกว่ากิโลเพื่อไปเมืองกังต็อค (Gangtok) เมืองหลวงของรัฐสิกขิม .. สิกขิมมีชื่อปรากฏตั้งแต่สมัย กูรู รินโปเช (Guru Rinpoche) เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาพุทธ ในสมัยศตวรรษที่ 8 เป็นรัฐอิสระมาจนกระทั่งปี 1975 ถึงได้รวมเข้าเป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย ถ้าดูจากแผนที่สิกขิมจะเป็นติ่งเล็กๆ ยื่นเข้าไปแทรกระหว่างเนปาล จีน (ทิเบต) และ ภูฏาน เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย พื้นที่ในสิกขิมจึงแทบจะไม่มีที่ราบเลย โดยมียอดเขาตันเช็งจุงก้า (Kanchenjunga) ยอดเขาที่สูงเป็นอันดับสามของโลกเป็นจุดสูงสุดของสิกขิม และเพราะสิกขิมอยู่ติดกับเนปาล คนส่วนใหญ่จึงมีเชื้อสายเนปาล คนส่วนใหญ่จึงมีหน้าตาคล้ายคนเนปาล ทิเบต มากกว่าอินเดีย หนุ่มโสดได้มาแถวนี้คงชอบเพราะสาวๆ ที่นี่หน้าตาดี ขนาดลือกันว่ามีหมู่บ้านแห่งนึงที่สาวสวยระดับเป็นดาราได้ทั้งหมู่บ้าน .. ประชาการส่วนจะใหญ่นับถือศาสนาพุทธวัชรยานและฮินดู อากาศในช่วงนี้เย็นสบายกว่าที่กัลกัตตาเยอะ คงเพราะอยู่สูงและอยู่เหนือกว่านั่นเอง

ระยะทางร้อยกว่ากิโลจากสนามบินบักโดกรานั้นเหมือนจะไม่ไกล แต่เราต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง เพราะพื้นที่ในสิกขิมส่วนใหญ่แล้วเป็นภูเขา ทางค่อนข้างแคบ เดินทางด้วยรถบัสได้เฉลี่ยแค่ 30 กม./ชม. เราผ่านเข้าสิกขิมทางเมืองรังโป (Rangpo) และถึงเมืองกังต็อคราวๆ สามทุ่ม ..

9 เม.ย. 49 Day 3: กังต็อค ทะเลสาปชางกู่

ออกเดินทางแต่เช้า วันนี้เราจะไปทะเลสาปชางกู่ (Changu Lake) อากาศหนาวสมกับที่หลบร้อนมาหา การเดินทางไปทะเลสาปชางกู่ต้องใช้รถจีป เพราะเส้นทางไปทะเลสาปใช้รถบัสปีนป่ายไม่ค่อยสะดวก ระยะทางจากกังต็อคราวๆ 40 กิโลเมตร เราใช้เวลา 2 ชั่วโมงนิดๆ เพราะต้องหยุดตรวจตามด่านเป็นระยะๆ .. จะช้าสักหน่อยก็ไม่เป็นไรเพราะวิวสวยตลอดเส้นทาง ทั้งป่าสนจนไปถึงภูเขาหิมะ รถจีปเราค่อยๆ ไต่ความสูงไปเรื่อยๆ จากกังต็อคที่ความสูงราวๆ 1,800 เมตร AMSL ผ่านค่ายทหารตามเส้นทางหลายค่าย ไปสุดที่ทะเลสาปชางกู่ที่ความสูง 3,780 เมตร AMSL :O

ทะเลสาปชางกู่ มีอีกชื่อว่า Tsongmo Lake เกิดจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบนยอดเขามารวมกันในแอ่ง รูปร่างคล้ายไข่ ความยาวราวๆ 1 กม. ลึกเฉลี่ย 15 เมตร ในวันที่เราไปเที่ยว อากาศเย็นจนส่วนนึงของน้ำในทะเลสาปเป็นน้ำแข็งไปแล้ว สภาพอากาศที่ทะเลสาปเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเหมือนกับยอดเขาหิมะหลายๆ แห่ง แค่ลมพัดวูบเดียวก็เปลี่ยนจากอากาศโปร่งเป็นอากาศปิดได้ นักท่องเที่ยวมาที่ทะเลสาปนี้เยอะมากจนรถติดบนยอดเขา มาที่นี่แนะนำให้เช่ารองเท้าบูตจะได้ย่ำหิมะได้สะดวกๆ มีตัว Yak ให้เช่า จะแค่ถ่ายรูป หรือจะขี่ชมทะเลสาปก็ได้ ใช้เวลาที่ทะเลสาปเกือบๆ ชั่วโมงก็เดินทางกลับมากังต็อค

เกือบๆ บ่ายสี่โมง ก็ไปขึ้นรถกระเช้าชมเมืองกังต็อค แต่ก่อนจะขึ้นรถกระเช้าเราเดินไปด้านหลังสถานีกระเช้า เป็นที่ตั้งของ Namgyal Institute of Tibetology เป็นศูนย์วิจัยและเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาศาสนวัตถุต่างๆ ในศาสนาพุทธวัชรยานจำนวนมาก เราไปถึงเกือบๆ สี่โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่เขาปิดแล้ว แต่ด้วยความเก๋าของไกด์เราก็ได้เข้าไปชมจนได้ แถมไม่ต้องเสียตังค์ค่าบัตรอีกต่ะหาก ลอล..

เก็บภาพเป็นที่พอใจ ขอบคุณผู้ดูแล NIT เป็นที่เรียบร้อยก็ไปขึ้นรถกระเช้ากัน .. รถกระเช้าเมืองเข้าไปยืนได้ครั้งละ 20 คน คิวยาวพอสมควร แถมกระเช้าขยับช้าเหลือเกิน แถมพอกระเช้ามาจอด พวกพี่แขกไม่ยอมลงจากกระเช้าซะงั้น คนที่รอขึ้นก็ไม่ได้ขึ้นซะที เรารอกันร่วมชั่วโมงกว่าจะถึงคิว ขึ้นกระเช้าไปแสงก็เกือบจะหมดแล้ว บันทึกภาพยากเย็นเหลือหลาย .. ไม่กี่นาทีต่อมาเราก็ลงจากรถกระเช้า เดินไป M.G. Square (M.G. ย่อมาจาก Mahatma Gandhi เห็นตัวย่อนี้ได้ทั่วอินเดีย) ถนนคนเดินในเมืองกังต็อค ที่นี่มีสินค้าขายหลายอย่าง แต่มีของที่ระลึกไม่เยอะเท่าไหร่ ขนาดโปสการ์ดก็ยังหายาก ..กลับจาก M.G. Square ทานข้าวเย็นก็เข้าที่พัก ฝนตกนิดหน่อย .. พรุ่งนี้ต้องตื่นเช้ามากๆ เพราะจะไปดูยอดคันเช็งจุงก้าตอนพระอาทิตย์ขึ้นกัน (ถ้าโชคดี)

10 เม.ย. 49 Day 4: คันเช็งจุงก้า วัดรุมเต็ก กาลิมปอง

ตื่นตีสี่ เดินทางตีห้า เกือบๆ หกโมงก็ไปยืนรอดูคันเช็งจุงก้าที่จุดชมวิว อากาศก็หนาว ยังมีเม็ดฝนนิดๆ แววไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พวกเรารอจนพระอาทิตย์ขึ้น หมอกก็ค่อยๆ ลดลง ฟ้าเหมือนจะเปิด .. แต่ก็ไม่เปิดซักที รอจนเกือบเจ็ดโมงดูไม่มีวี่แวว คงต้องรอให้อุ่นกว่านี้ แต่เราไม่มีเวลาแล้ว ก็ตัดสินใจกลับที่พัก .. เฮ่อ เสียดาย T_T

จากที่พัก ทานอาหารเช้ากันแล้วก็เดินทางไป วัดรุมเต็ก (Rumtek Monastery) รู้จักกันอีกชื่อว่า ศูนย์ธรรมจักร (Dharmachakra Center) เป็นวัดในศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน ห่างจากเมืองกังต็อค 24 กม. เป็นวัดเก่าแก่ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 1740 โดยใช้สถาปัตยกรรมลอกเลียนมาจากวัด Tsurphu ในทิเบต เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญที่สุดสิกขิมขนาดต้องมีทหารดูแลรอบนอก มีเครื่องตรวจโลหะตรวจนักท่องเที่ยวตรงประตูวัด วัดนี้มีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับกษัตริย์สิกขิมในสมัยก่อน ปัจจุบันนอกจากเป็นวัดแล้วยังเป็นสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนทางธรรมชั้นสูงในระดับปริญญาโทสาขาพุทธปรัชญาด้วย

ขณะเดินๆ ออกจากวัด คณะเราก็สวนกับคณะของ Global Holiday กันพอดี .. คนไทยด้วยกันก็คุยๆ ยิ้มๆ ทักทายกันไป คงเพราะเจอกันบ่อย ไกด์ของ Global Holiday ก็เลยขอดูโปรแกรมของคณะเรา เขาเห็นว่าเราจะไปดูเทศกาลเตชูในวันที่ 12 ก็คอมเมนต์หนักแน่นเลยว่าไม่ได้เด็ดขาด ต้องไปวันที่ 13 เพราะเป็นวันที่สำคัญที่สุดในเทศกาล เราเก็บข้อมูลตรงนี้ไว้ เพื่อจะได้ไปจัดโปรแกรมกันใหม่ จากนั้นเราเดินทางต่อไปเมืองกาลิมปอง (Kalimpong) เมืองที่สร้างบนสันเขาสูง 1,250 เมตร AMSL .. กาลิมปองนับได้ว่าเป็นเมืองการศึกษา เป็นที่รู้จักและเป็นจุดหมายของคนในแถบนี้ที่จะมาศึกษาหาความรู้ มีข้อสังเกตว่าเมืองกาลิมปองมีสถาปัตยกรรมของชาติตะวันตกเยอะ เช่นโบสถ์คริสต์ อาคารบ้านเรื่อนหลายๆ แห่ง .. ถึงเมืองกาลิมปองเย็นๆ ก็ขึ้นยอดเขาดูปิน (Durpin) เพื่อชมวิว และชมวัดซังด็อก พาลริ โพดอง (Zang Dhok Palri Phodong Monastery) กลับจากวัด ก็ได้เวลาอาหาร พักผ่อน .. ปัญหาเริ่มก่อขึ้นมานิดหน่อย เพราะที่พักไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ ดีที่ได้อาหารอร่อยจากกุ๊กจีนมาทดแทน ..

ก่อนจะข้ามไปวันถัดไปต้องทำความเข้าใจกับทัวร์เที่ยวนี้ซักนิด สำหรับกรณีที่เรามา agent เมืองไทยคือ Nature Trek เขาเป็นคนติดต่อ agent ท้องถิ่นที่อินเดีย ซึ่งจะเป็นคนติดต่อ agent ที่สิกขิม และ agent ที่ภูฏานอีกที .. ความรับผิดชอบของการจัดโปรแกรม ที่พัก อาหาร จะแบ่งตามพื้นที่ เช่น อยู่ในอินเดียรัฐเบงกอลตะวันตกจะอยู่กับ agent อินเดีย ถ้าอยู่ในรัฐสิกขิมก็จะเป็นหน้าที่ของ agent สิกขิม และถ้าอยู่ในภูฏานที่เรากำลังจะข้ามไปก็จะขึ้นกับ agent ภูฏาน .. อย่างปัญหาวันนี้ไกด์ไทยเองก็ไม่ค่อยจะพอใจการรับรองของไกด์อินเดียและสิกขิมสักเท่าไหร่ .. ส่วนลูกทัวร์ก็เซ็งบ้างเล็กน้อย แต่ก็พอเข้าใจได้ว่ามาเที่ยวพื้นที่แถบนี้คาดหวังโรงแรมหลายดาวคงยาก

11 เม.ย. 49 Day 5: กาลิมปอง – ไจโกน

วันเดินทางล้วนๆ จากกาลิมปอง ไปเมืองไจโกน (Jaigaon) เมืองชายแดนของสิกขิมติดกับเมืองภุนท์โชลิ่ง (Phuentsholing) ของภูฏาน .. ตัวเมืองไจโกนค่อนข้างสกปรก มาถึงที่นี่ไกด์ภูฏานจะเป็นคนรับช่วงต่อ เรามาถึงที่นี่ก่อนบ่ายสามเล็กน้อย โรงแรมที่พักค่อนข้างแย่ แคบและสกปรก ลูกทัวร์เห็นห้องพักแล้วก็ไม่ค่อยพอใจและพยายามต่อรองกับไกด์ท้องถิ่นให้ข้ามชายแดนเข้าภุนท์โชลิ่งเลย เพราะแค่ข้ามประตูไปฝั่งภูฏานก็จะได้ที่พักดีกว่า เมืองก็สะอาด เจริญหูเจริญตาน่าอยู่กว่ามาก ก็ได้รับคำตอบจากไกด์ภูฏานว่าเราต้องเสียเวลาจัดการเอกสารราวหนึ่งชั่วโมงและด่านจะปิดสี่โมงเย็น จึงมีเวลาไม่มากพอจะจัดการ ระหว่างต่อรองไกด์ภูฏานก็พยายามคุยถ่วงเวลาจนเวลาเลยไปมาก ลูกทัวร์ทำอะไรไม่ได้จึงจำต้องพักโรงแรมจิ้งหรีดกันไป ความจริงที่เรามารู้ทีหลังก็คือคณะของ Global Holiday ผ่านด่านเข้าภูฏานได้ตอนหนึ่งทุ่ม ดังนั้นที่ไกด์ภูฏานบอกว่าด่านปิดนั่นไม่จริง ที่หวาดเสียวไปกว่านั้นคือไกด์ภูฏานไปยื่นทำวีซ่าเสร็จก่อนสำนักงานปิดแค่ไม่กี่นาที ถ้าทำวีซ่าไม่ทันเราจะติดอยู่ที่ไจโกนนี่แหละ เพราะวันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดของทางการ! .. ประเด็นที่เราเดาไว้แต่ไกด์ภูฏานปากแข็งไม่ยอมพูด คือต้องการลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากเข้าภูฏานต้องจ่ายเงินเข้ารัฐ 30-40 US ต่อคนต่อวัน ไม่นับว่าโรงแรมในภุนท์โชลิ่งจะแพงกว่าในไจโกน .. เรื่องของไกด์ภูฏานยังไม่จบ เพราะพี่แกแสบตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายที่เราอยู่ในภูฏาน

12 เม.ย. 49 Day 6: ไจโกน – ระบำหน้ากาก – ธิมภู

ออกจากไจโกนสายๆ ผ่านภุนท์โชลิ่ง แวะชมวัดระหว่างทาง เวลาในภูฏานช้ากว่าเมืองไทยหนึ่งชั่วโมง เร็วกว่าสิกขิมครึ่งชั่วโมง ที่ภูฏานอาจจะใช้เงิน Rs ได้บางที่ ส่วนเงินของภูฏานเองคือ น์งูลตัม (Ngultum: Ng) ซึ่งมีค่าเท่ากับเงิน Rs .. บ่ายสองเราก็ผ่านหมู่บ้านที่กำลังมีการแสดงระบำหน้ากาก (Mask dance) ไกด์ภูฏานของเราก็ให้พวกเราชมเทศกาลที่นี่ เพราะถ้าจะไปชมที่พาโร (Paro) กว่าจะไปถึงก็สี่โมงเย็นคงไม่ทัน แล้วก็บอกว่า ที่พาโรก็ exactly the same dance เหมือนที่หมู่บ้านนี่แหละ เราเลยถามว่า แล้วเทศกาลเตชู (Tshechu) วันพรุ่งนี้เป็นวันสุดท้ายที่สำคัญที่สุดจะได้ดูไหม ไกด์ภูฏานก็อธิบายกับเราว่าพรุ่งนี้วันสุดท้ายสำคัญจริงแต่มันมีแค่สวดมนต์ ทำบุญ ไม่มี dance นะ แล้วก็ย้ำว่าจะดูก็ดูตรงนี้แหละ เหมือนกันกับที่พาโรเลย .. คณะของเราก็งงๆ เพราะทุกคนคิดว่าจะเข้าพาโรวันนี้ ไกด์ไทยเองก็ยิงถามไกด์ภูฏานเชิงตำหนิเลยว่าทำไมเราถึงไปพาโรไม่ทัน ? ซึ่งไกด์ภูฏานก็หลบหน้าไม่ตอบซะงั้น ทั้งที่ไกด์ภูฏานรู้ว่าต้องใช้เวลาเดินทางขนาดไหน ต้องออกเดินทางกี่โมงถึงจะทันชมระบำหน้ากากที่พาโร แต่กลับไม่สนใจจัดโปรแกรมให้ทันตามเงื่อนไข ถ้าจัดให้ออกแต่เช้าสักหน่อย บ่ายสองเราคงได้ชมระบำหน้ากากที่เมืองพาโรกันแล้ว .. ในมุมกลับ แม้จะเกิดเรื่องผิดคาด ระบำหน้ากากในหมู่บ้านเองก็ถือว่าไม่เลว ความเป็นจริงคณะเราหลายคนหลังจากลงไปชมระบำหน้ากากในหมู่บ้านแล้วกลับขึ้นรถมาเล่าให้ฟังว่าชอบที่ได้สัมผัสกับชาวบ้าน เขาหันมามองเราด้วยความสนใจและสงสัยว่าพวกเรามาจากไหน ชาวบ้านสวนใหญ่ชอบให้เราบันทึกภาพ สู้กล้องน่าดู .. เด็กๆ ที่เห็นพวกเราเป็นนักท่องเที่ยวก็พากันร้องเรียกบอกพวกเราว่า \”one photo, one photo\” แค่ยกกล้องเตรียมถ่ายก็กรูมาอยู่หน้ากล้องกันแล้ว เด็กๆ จะสนอกสนใจกับกล้องดิจิทัลเป็นพิเศษ พอเราบันทึกภาพแล้วให้เขาดูภาพเขาก็สนุกตื่นเต้นกัน .. ระหว่างชมระบำหน้ากากพวกเราหลายคนไปก้มๆ เงยๆ บันทึกภาพใกล้เต็นท์ VIP ก็ได้รับการเชื้อเชิญจากบรรดา VIP ให้เข้าไปนั่งในเต็นท์กับพวกเขา แถมจะเลี้ยงข้าวเราซะอีก ต้อนรับขับสู้ มีน้ำใจเหลือหลาย

เราออกจากหมู่บ้าน แล้วมุ่งตรงไปธิมภู (Thimphu) .. เมืองหลวงแห่งนี้น่าจะเมืองหลวงเดียวในโลกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ถึงโรงแรมเราก็เจอกับความห่วยของที่พักอีกครั้ง จริงๆ โรงแรม Singye ก็ไม่เลวร้ายเท่าที่ไจโกน ห้องน้ำดี แต่ห้องพักเน่า ห้องผมปลอกหมอนไม่เปลี่ยน เรียกคนของโรงแรมมาเปลี่ยนเขาก็บอกซักแล้วนะครับ เลยยื่นหมอนให้แล้วบอกให้ลองดม เขาก็ยอมเปลี่ยนให้แต่โดยดี .. ส่วนห้องน้องสาวมีคราบน้ำหมากอยู่มุมห้องและพรมปูพื้น .. โรงแรมกี่ดาวไม่รู้ แต่มีน้ำหมากหลายดวงแน่ๆ :P .. เพราะโรงแรมค่อนข้างแย่ ชื่อโรงแรม Singye เลยโดนแผลงไปเป็นโรงแรม \”ซิงห์แย่\” ในวันแรกและแผลงรอบสองเป็น \”เซ็งแย่\” ในเวลาต่อมา :P (จริงๆ แล้ว Singye เป็นชื่อมงคลนะ).. ไกด์ไทยเองก็พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะอดทนมาตั้งแต่ไจโกนแล้ว อยากเปลี่ยนโรงแรมให้พวกเราแต่ช่วงนี้เป็นเทศกาลเตชู ห้องพักสิบกว่าห้องคงหาไม่ได้ง่ายๆ เราเลยต้องอยู่โรงแรมเซ็งแย่นี่ต่อไป

13 เม.ย. 49 Day 7: พาโร เทศกาลเตชู วัดทักซัง

ย้ำอีกทีวันนี้คือวันที่ไกด์ภูฏานบอกเราว่าไม่มีการแสดงอะไรให้ดู มีแต่การสวดมนต์ .. แต่ไกด์ไทยเราสืบมาแน่ชัดแล้วว่าวันนี้ต้องไป อย่างแรกคือไปดูผ้าพระบฏที่หนึ่งปีจะเอาออกมากางให้ชมแค่สามชั่วโมงช่วงตีสี่ถึงเจ็ดโมงเช้าในวันสุดท้ายของเทศกาลเตชูเท่านั้น อย่างที่สองวันนี้มีการแสดงและมีระบำหน้ากากแน่ๆ .. ซึ่งก็แปลว่าไกด์ภูฏานโกหกเราอีกแล้ว .. วันนี้พวกเราตื่นตีสาม ล้อหมุนตีสี่ ถึงพาโรซอง (Paro Dzong) สถานที่จัดงานเทศกาลหกโมงเช้า ทันได้ดูและบันทึกภาพผ้าพระบฏสบายๆ .. ผ้าพระบฏ (Thangka) เป็นผ้าที่วาดสีเป็นภาพพระพุทธรูปเป็นประธานหลัก ที่มาของผ้าพระบฏว่ากันว่ามีในสมัยที่มีการเดินทางเพื่อเผยแพร่ศาสนาในพื้นที่แถบทิเบตซึ่งกันดารและเดินทางได้ลำบากมาก จะหอบเอาพระพุทธรูปไปด้วยก็จะทำให้เดินทางยิ่งลำบาก ครั้นจะไม่หอบไปก็จะไม่ครบพระรัตนตรัย จึงเอาผ้ามาวาดเป็นพระพุทธรูป ใช้เป็นตัวแทนของพระพุทธเพื่อให้ครบพระรัตนตรัยและทำให้เดินทางได้สะดวกขึ้น ผ้าพระบฏมีตั้งแต่ขนาดเล็กๆ ไม่กี่ฟุต จนถึงขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ต้องใช้เนินเขาเป็นที่กางผ้า ทริปนี้พวกเราก็ได้ชมผ้าพระบฏกันสมใจ คุ้มกับการตื่นแต่ตีสาม .. จากนั้นเราก็ออกจากพาโรซองไปทานข้าวเช้าก่อนจะกลับมาชมพิธีสวดมนต์ ทำบุญ และการแสดงระบำหน้ากาก .. พวกเรากลุ่มเล็กๆ ทำเนียนไปนั่งด้านหน้าสุดเพื่อเตรียมบันทึกภาพพิธีและการแสดง แถมไปนั่งเสื่อของชาวบ้านเขาอีกต่ะหาก ..ได้นั่งหน้ามันก็ดีที่ไม่มีคนบัง แต่ไม่ดีตรงที่ลมพัดแรงหอบฝุ่นมาด้วยเต็มไปหมด เจอแบบนี้กล้องใครกล้องมันล่ะนะ อยู่บันทึกภาพจนทนฝุ่นผงไม่ไหวก็ลุกหนีในที่สุด .. ออกจากบริเวณจัดเทศกาลก็มาที่ตัวพาโรซอง ..อืม .. คำว่า ซอง (Dzong) หมายถึง ป้อมปราการ เดิมทีจะสร้างซองเพื่อป้องกันบ้านเมืองจากการรุกรานของศัตรู ภายหลังจึงนำมาใช้เป็นวัด เป็นวัง และเป็นที่ทำการของราชการในปัจจุบัน

จากพาโรซอง เราเดินทางต่อไปวัดทักซังหรือวัดถ้ำเสือ (Taktsang / Tiger-Nested Monastery) เป็นวัดที่ผู้คนเคารพสักการะ มีอารามกระจัดกระจายทั่วทั้งภูเขา บนยอดบ้าง ผาหินบ้าง รวมสิบกว่าอาราม ชาวภูฏานที่นับถือแทบทุกคนตั้งใจว่าจะต้องเดินทางขึ้นไปที่วัดทักซังให้ได้สักครั้งในชีวิต คนทั่วไปหากจะเดินทางจะให้ครบทุกอารามอาจจะต้องใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง .. ไกด์ภูฏานตัวแสบก็พาเราไปจุดชมวิวซึ่งมองเห็นทุกอาราม แต่มันไกลจนไม่สามารถบันทึกภาพอารามไหนได้เลย .. เราบอกให้ไกด์ภูฏานพาไปจุดที่ไกล้กว่านี้ เพราะหลายๆ คนบันทึกภาพไปแล้วเห็นภูเขาแต่ไม่เห็นวัด .. ไกด์ภูฏานก็ก้มหน้าก้มตาพูดปัดๆ ทำท่าเหมือนไม่ค่อยอยากพาไป แต่สุดท้ายเราก็ได้ไปตีนเขาที่ขึ้นวัดทักซัง เดินขึ้นไปนิดนึงก็เจอทุ่งกว้าง มองเห็นวัดทักซังชัดกว่า ได้วิวดีกว่ากันเยอะ .. ทำไมไม่พามาที่ดีๆ ตั้งแต่แรก ไม่เข้าใจ (- -)a

เราลาเมืองพาโรกลับมาธิมภูอีกครั้ง ระหว่างเดินทางกลับเราเพิ่งมารู้ว่าถนนจะมีการเปิด-ปิดเป็นช่วงๆ นี่เป็นข้อมูลใหม่ และเป็นข้อมูลที่ไกด์ท้องถิ่นควรจะรู้ ไม่งั้นจะวางแผนเดินทางไม่ได้เลย .. แต่ไกด์ภูฏานไม่รู้ โชคดีที่เราติดถนนปิดไม่นานนัก ขากลับมาถึงธิมภูก็แวะชมตัวทาคิน (Takin) สัตว์ประจำชาติของภูฏาน เขากับหน้าตาไปทางแพะ ขนยาว ตัวโตเท่าวัว ดูเชื่องน่ารักดี .. แต่มาค่ำมาก บันทึกภาพกันไม่ค่อยได้ ลูกทัวร์บ่นกันอุบ นี่ถ้าไม่ติดถนนปิดก็คงไม่มีปัญหา .. จากนั้นก็ชมวิวยามค่ำคืนของเมืองธิมภูจากสถานีสื่อสารบนยอดเขา กลับเข้าพักโรงแรมเซ็งแย่

14 เม.ย. 49 Day 8: ธิมภู – ภุนท์โชลิ่ง

วันนี้ต้องวางแผนกันดีๆ เพราะถ้าเจอปิดถนนจะวุ่น เดินหน้าก็ไม่ได้ กลับมาเที่ยวก็ไม่ได้ ไกด์ภูฏานไม่รู้เวลาที่แน่นอน พูดสองครั้งเวลาไม่เหมือนกัน มั่วไปหมด .. สุดท้ายไกด์ไทยเราต้องสืบหาข้อมูลกับคนไทยในธิมภูที่เพิ่งจะได้รู้จักกันที่พาโรและได้เบอร์โทรศัพท์มา และจากหลายๆ แหล่งจนได้ตัวเลขเวลาที่ตรงกัน เราต้องเดินทางผ่านจุดปิดถนนก่อน 11.00 โมง แปลว่าก่อน 10.00 ล้อต้องหมุนออกจากธิมภู .. เช้าเราไปอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เป็นสถูปทรงทิเบต นับเป็นจุดที่ต้องแวะชมให้ได้ และอีกที่คือไปธิมภูซอง (Thimphu Dzong) .. อย่างที่บอกว่าซองเป็นสถานที่ราชการด้วย ถ้าเราจะเข้าไปถ่ายรูป ก็ต้องไปก่อนที่เขาจะเริ่มทำงาน ไกด์ภูฏานมันก็พาเราอ้อมไปที่วัดอะไรซักอย่าง พอรถจอดบอกว่าถึงวัดแล้ว คณะเราก็ไม่ลงเที่ยวเพราะจะไม่ทันเวลาทำงานที่ธิมภูซอง .. พอถึงที่ธิมภูซอง ไกด์ภูฏานก็อ้อมๆ แอ้มๆ บอกว่าเราไม่ได้ขออนุญาต เข้าไปไม่ได้หรอก .. นั่นไง เอาอีกแล้ว.. ทั้งที่รู้ว่าเราจะมาที่ซองวันนี้ และรู้ว่าต้องได้รับอนุญาตถึงจะเข้าไปในซองได้ ทำไมมันไม่ขออนุญาตให้เรียบร้อยก่อนละฟะ มีเวลาเตรียมตัวร่วมเดือน .. เซ็งอย่างแรง :( .. ต้องปรับแผนกันเดี๋ยวนั้น ไหนๆ ก็มาถึงแล้ว หาที่เหมาะๆ บันทึกภาพสักหน่อยเถอะ .. รถบัสเราก็พาวนตามถนนจนได้ที่เหมาะๆ สมใจ มุมเดียวกับโปสการ์ดที่วางขายเลย แต่ย้อนแสงสุดๆ T_T .. นาทีนั้นยังไงก็ต้องเก็บภาพแล้ว ได้เท่าไหนก็เท่านั้น ..

รถก็พาวนจนได้มุมอื่นๆ มาเพิ่มเติม ทีนี้ก็ต้องเร่งทำเวลาน่าดูเพราะไม่งั้นอาจจะไปไม่พ้นถนนปิด กระนั้นก็ยังเผื่อเวลาอีกนิดหน่อยแวะไปตลาดซื้อของฝากกัน เห็นแล้วก็ไม่รู้จะซื้ออะไร ที่อยากซื้อก็แพงชนิดบอกหน่วยเป็น USD เลยได้แต่บันทึกภาพมาเฉยๆ .. เกือบ 10.00 ล้อหมุน มุ่งหน้าภุนท์โชลิ่ง เราหลุดจากการปิดถนนได้ทีนี้ก็สบายใจ แวะบันทึกภาพระหว่างทาง 1-2 หน เย็นๆ ก็มาถึงภุนท์โชลิ่ง

โรงแรมที่ภุนท์โชลิ่งนี่ so so ที่นี่อากาศร้อนหน่อย ไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ก็คงพออยู่ได้ อาจจะเพราะเจอจิ้งหรีดขนาดไจโกนมาแล้วอะไรๆ ก็ดีกว่าทั้งนั้น จนกระทั่งหลังอาหารค่ำหลายคนเจอปัญหาว่าน้ำไม่ไหล .. นาทีนั้นไกด์ไทยก็จัดการหาโรงแรมใหม่ให้แล้วก็เคาะห้องพาทั้งคณะย้ายโรงแรม เอารถจีปคันเดียววิ่งวนรับส่งซะหลายรอบ ตอนที่มาเคาะห้องพัก บ้านผมหลับกันหมดแล้ว ห้องก็มีน้ำใช้ปกติ เลยตัดสินใจไม่ย้ายดีกว่า

15 เม.ย. 49 Day 9: ภุนท์โชลิ่ง – สิลิกูรี – กัลกัตตา

เดินทางแต่เช้า มาเสียเวลาที่ด่านฝั่งไจโกนซะนาน .. ราวๆ สิบโมงเราถึงออกเดินทางมุ่งหน้าสิลิกูรี เพื่อทานอาหารเที่ยงและต้องถึงสนามบินบักโดกราบ่ายสองโมง ระหว่างทางก็ลุ้นนิดๆ เพราะนอกจากเสียเวลาที่ด่านฝั่งไจโกนแล้วก็มาเสียเวลารอรถไฟอีก .. อ่อ ที่อินเดียปิดทางข้ามรถไฟล่วงหน้าเป็นสิบนาที ไม่เหมือนบ้านเราที่ปิดแบบ Just-In-Time .. ถึงตรงนี้ทุกคนพากันลืมไปแล้วว่าไกด์ภูฏานลงจากรถไปนานแล้ว มีไม่กี่คนที่รู้ว่าเขาเซย์กู้ดบายกับเราด้วย .. บ่ายโมงครึ่งเรามาถึงสิลิกูรี ทานข้าวเที่ยงอร่อยๆ มาก เยอะมากด้วย เสียดายที่ไม่มีเวลา ต้องรีบเดินทางต่อไปสนามบิน .. จากสิลิกูรีไปสนามบินบักโดกราใช้เวลาราว 10 นาที มาถึงทุกคนก็เร่งจัดการกระเป๋า ไกด์ไทยก็จัดการเรื่องตั๋วเครื่องบิน .. มาเจอคณะ Global Holiday อีกแล้ว หนีกันไม่พ้นจริงๆ :)

ถึงกัลกัตตา ทานอาหาร แล้วก็เข้าที่พัก

16 เม.ย. 49 Day 10: กัลกัตตา – กรุงเทพ

ออกจากโรงแรมแต่เช้า เราต้องถึงสนามบิน 7 โมงเช้า .. 9 โมงกว่า Airbus A320 ของ Indian Airlines เที่ยวบิน IC 731 ก็พาเรากลับกรุงเทพฯ .. มาถึงดอนเมืองบ่ายกว่า ออกจากสนามบินได้ก็ราวๆ บ่ายสาม ขับรถกลับถึงขอนแก่นก็ราวๆ สองทุ่ม :)

ปิดทริป

ทริปนี้คงไม่พูดถึงไกด์ภูฏานไม่ได้ น่าแปลกที่คนที่ทำงานเป็นมัคคุเทศก์กลับไม่อยากนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวประเทศตัวเองให้คนต่างชาติได้สัมผัส ไปไหนก็กั๊กๆ เหมือนไม่ภูมิใจในประเทศตัวเองซะงั้น การเอาใจใส่ต่องาน ต่อลูกทัวร์ต่ำมาก บนรถก็นั่งจุ้มปุ๊ก ไม่ทำอะไรซักอย่าง ไม่ให้ข้อมูลอะไรเลยว่าที่ไปเที่ยวๆ นั้นสำคัญยังไง ทำไมถึงควรมาเที่ยวชม ขนาดปรับเวลาท้องถิ่นมันยังไม่เตือนเลย แถมมีอะไร surprise ได้ทุกวันสิน่า แบบนี้ไม่มีมัคคุเทศก์ตัวนี้อาจจะดีเสียกว่า สรุปแล้วเหมือนกับพวกเราจัดโปรแกรมเที่ยวภูฏานกันเอง ไกด์ภูฏานมีหน้าที่จัดการเรื่องด่านเท่านั้น ที่เลวร้ายที่สุดคือหลอกกันตั้งแต่เห็นหน้าวันแรก ตอบคำถามเอาตัวรอดให้พ้นๆ ตัวไป จอดเที่ยวที่ไหนแทนที่จะนำทัวร์ กลับหลบหน้าหายหัวจนบางครั้งต้องตามหาตัวเวลารถจะออก เรียกว่าเป็นไกด์ที่ชุ่ยเลยแหละ สมแล้วที่ไม่ได้ทิป ถ้าถีบคงได้รับไปอย่างน้อย 44 รอยเท้าเป็นแน่ ..

ห้องพักในการดูแลของ agent ภูฏานต่ำกว่ามาตรฐานทุกแห่ง สังเกตได้ว่าโรงแรมที่พักในภูฏานไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาพักเลย อนุมานได้ว่าเกรดโรงแรมมันต่ำกว่าที่ใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อันนี้น่าจะเป็นที่ agent ภูฏานต้องการประหยัดเลยจองโรงแรมเกรดห่วยให้ ซึ่งก็ต้องโทษมาถึง agent ของอินเดียเองที่ deal กับ agent ภูฏานด้วย และต้องโทษ Nature Trek ด้วยที่เชื่อใจ agent อินเดียเกินไป เรื่องนี้ไกด์ไทยเองก็คงรายงานกลับไปที่บริษัทเหมือนกัน .. อาหารเที่ยง-เย็นในภูฏานเหมือนกันทุกมื้อ ไม่ไหว ไกด์ไทยขอน้ำร้อนทำโจ๊ก มาม่าทุกมื้อ อันนี้ไกด์กับ agent ภูฏานก็ต้องรับไปอีก .. โปรแกรมการเดินทางท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ส่วนใหญ่เปลี่ยนแล้วลูกทัวร์ก็พอใจ ไม่ค่อยมีปัญหามาก โดยเฉพาะในภูฏานนั้นเราแทบจะจัดการเรื่องที่ท่องเที่ยวกันเอง สำหรับทริปนี้มาถึงสนามบินดอนเมืองวันแรกก็ได้โปรแกรมใหม่มาก่อนเลย (ซึ่งเข้าใจว่าปรับเพื่อไปดูพาโรเตชู) ปกติแล้วการเปลี่ยนโปรแกรมไม่ค่อยทำกัน เพราะมันเป็นคนละโปรแกรมกับที่เรารับรู้เพื่อตกลงซื้อทัวร์มา โดยเฉพาะถ้าลดที่เที่ยว ลดเกรดโรงแรม นี่ไม่ควรอย่างยิ่งเลย อย่างทริปนี้การเดินทางมาพักที่ไจโกนไม่น่าเกิดขึ้นเพราะข้ามเข้าภูฏานเลยก็ได้ และโดยมารยาท ถ้าสุดวิสัยจนต้องลดเกรดที่พัก พาหนะ ลดการเดินทาง ลดสถานที่ท่องเที่ยว หรืออะไรก็ตามที่ต่ำไปกว่าโปรแกรมที่กำหนดไว้ บริษัททัวร์ดีๆ จะคืนเงินส่วนต่างให้ลูกค้าเป็นการแสดงความรับผิดชอบ .. การเดินทางครั้งนี้ รถบัสค่อนข้างคับแคบ นั่งไม่สบายเท่าไหร่ จริงๆ ทริปนี้นั่งรถเยอะมาก วันละ 7 ชั่วโมงก็มี ไอ้นั่งนานน่ะไม่ว่า เพราะเข้าใจว่ายังไงก็ต้องนั่งรถ แต่เมื่อรู้ว่านั่งนาน ถ้าจัดให้นั่งสบายๆ หน่อยคงไม่มีเสียงบ่น .. ไกด์ไทยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดีพอสมควร แต่อย่างว่าอาหาร ที่พัก พาหนะ มักจองมาล่วงหน้า มันโดนล็อกไว้เยอะ เลยปรับเปลี่ยนอะไรลำบาก ไกด์ไทยต้องเป็นกองหน้าออกไปสู้รบกับไกด์ท้องถิ่นเลยทำให้การดูแลลูกทัวร์หย่อนไปบ้างนิดหน่อย .. Nature Trek ติดลบไปเยอะพอสมควร เพราะการประสานกับ agent ท้องถิ่นไม่ดี และไม่ได้สำรวจเส้นทางก่อนจัดทัวร์จริง ทริปนี้เลยเกิดปัญหาขึ้นมากมาย ถือเป็นส่วนที่ Nature Trek ต้องรับผิดชอบ และเป็นบทเรียนให้ Nature Trek ด้วย กรุณานำ comment ในแบบสอบถามตอนจบทัวร์ไปปรับปรุงโดยด่วน .. :P

ในมุมบวก เชื่อว่าสิกขิมน่าจะเป็นรัฐที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของอินเดียที่มีธรรมชาติที่สวยงาม การเดินทางครั้งนี้ได้ทำความรู้จักเพียงเสี้ยวเดียวของสิกขิมและภูฏาน กระนั้นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นแก่นของการเดินทางครั้งนี้ถือว่าครบถ้วนดีเท่าที่เวลาเอื้ออำนวย เดิมทีภูฏานรับนักท่องเที่ยวปีละ 3,000 คนเท่านั้น และเพิ่งขยายเป็น 5,000 หลังภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha เหตุที่ต้องจำกัดจำนวนเพราะภูฏานไม่ต้องการให้ชาวต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของภูฏาน อีกทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะรองรับนักท่องเที่ยวมีขีดจำกัดอยู่เท่านั้น การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวของภูฏานทำให้ภูฏานยังไม่กลายเป็นภูเก็ต จึงได้เห็นธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เห็นวัฒนธรรมที่ยังไม่ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไปมาก การเดินทางไปภูฏานมีค่าใช้จ่ายต่อหัวราว 200 USD/วัน/คน ถือว่าสูงมากสำหรับประเทศแถบอินเดีย การได้ไปเยี่ยมเยือนประเทศภูฏานได้ก็ถือเป็นกำไรแล้วล่ะ

.. มีใครบางคนเคยเล่าไว้ว่า สมัยก่อน การเดินทางเป็นการไปลำบากลำบน จึงเกิดความเชื่อว่าการเดินทางเสมือนเป็นการสะเดาะเคราะห์ .. สงสัยทริปนี้คงสะเดาะไปเพียบ ลอลลลล

The Cross-Platform Virus

เมื่อวานนี้มีรายงานข่าวของ NewsForge รายงานเรื่อง proof-of-concept Windows/Linux cross-platform virus ว่าบนลินุกซ์บางทีก็ติด บางทีก็ไม่ติด .. NewsForge เขาเลยลองทดสอบแล้วก็ได้ความว่ามันขึ้นกับว่าใช้เคอร์เนลรุ่นไหน บางรุ่นจะติดไวรัส และบางรุ่นก็จะไม่ติด เขาก็รายงานมาว่าไวรัสทำงานบน 2.6.16 ไม่ได้ .. จบข่าว

วันนี้มี ข่าวต่อเนื่อง จากข่าวไวรัสเมื่อวาน ว่า ลินุส ทอร์วาล์ด มีโอกาสได้ตรวจสอบไวรัสที่ว่าแล้ว พบว่าที่เคอร์เนล 2.6.16 ไม่ติดไวรัสเพราะมีบั๊กตัวนึงของ GCC ทำให้การจัดการ register ใน syscall ตัวหนึ่งทำงานไม่ถูกต้อง ไวรัสก็เลยไม่ทำงาน .. ได้ความดังนั้น ลินุส ก็เลยเขียน patch สำหรับเคอร์เนลล่าสุดเพื่อแก้บั๊กที่ว่า (จริงๆ แล้วน่าจะแก้ที่ GCC มากกว่า ?) .. ผลก็คือ ระบบที่ใช้เคอร์เนล 2.6.16 ถ้า apply patch ของลินุสด้วย ก็จะติดไวรัสได้สมใจ .. ผู้ใช้พากันงงๆ อยู่เหมือนกัน ว่าปล่อยไว้เฉยๆ ไวรัสก็ไม่ทำงานแล้วจะไปแก้ทำไม ? แต่เรื่องของเรื่องก็คงเป็นเพราะแนวคิดว่า ถ้าเป็นบั๊ก ยังไงก็ต้องแก้ แม้ว่าแก้แล้วจะทำให้ไวรัสทำงานได้ก็ตาม (- -‘) .. สมแล้วที่เป็น geek ..

ชาว /. ทิ้งสโลแกนฮาๆ ฝากไว้ว่า “Linux: So secure we have to patch it to make viruses run.” .. ก๊าก

เหตุที่ฆ่า

กลับจากการเดินทางแล้ว .. หอบหนังสือไปอ่านระหว่างเดินทาง 2-3 เล่ม .. เล่มแรกที่อ่านจบไปคือ ‘เหตุที่ฆ่า’ .. เรื่องก็มีอยู่ว่า คืนฝนตก ณ ห้อง 2025 ของคอนโดหรู มีเหตุฆาตกรรมสังหารหมู่ทั้งครอบครัว ตำรวจเริ่มงานสืบสวนทันทีที่ได้รับการแจ้งเหตุ เนื่องจากห้อง 2025 มีการเปลี่ยนผู้อาศัยบ่อยขนาดทีี่ผู้ดูแลเองก็ยังไม่รู้จักสมาชิกในครอบครัว นอกเหนือจากการสืบหาฆาตกรแล้วเจ้าหน้าที่จึงต้องสืบหาว่าครอบครัวนี้เป็นใครมาจากไหน แต่พอเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลมากขึ้นๆ ก็พบเรื่องประหลาดว่า สมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตทั้งสี่ ไม่ใช่คนในครอบครัวเดียวกันอย่างที่ใครๆ เข้าใจ และคดีนี้ดูเหมือนจะวุ่นๆ กับ ‘ห้อง’ นี้เป็นพิเศษ .. ทั้งสี่คนเป็นใคร ทำไมถึงมาอาศัยอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน ทำไมจึงถูกฆาตกรรม และใครคือฆาตกร ?

‘เหตุที่ฆ่า’ แปลมาจาก Ri Yu (理由 แปลว่า เหตุผล) ของ มิยาเบะ มิยูกิ ยังคงเอกลักษณ์ในการให้รายละเอียดเชิงลึกของตัวละครแต่ละตัวเหมือนกับเล่มที่เคยอ่านผ่านมา ตัวคดีค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อน หากแต่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ในการโยงผู้คนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน การดำเนินเรื่องแบบ reportage เสมือนหนังสือคือบันทึกการสัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เงื่อนปมของ ‘เหตุที่ฆ่า’ น่าสนใจหลายจุด อาทิ แนวคิดของเด็กที่มีต่อพ่อแม่และครอบครัว ความกดดัน ตึงเครียด ของสถาบันครอบครัว ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ผิดเพี้ยนจนกลายเป็นปัญหาของสังคม มีคำถามที่ชวนให้คิดว่า จริงๆ แล้ว ‘อดีต’ กับ ‘ตัวตน’ ของคนๆ นึงนั้น แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ ? ..

ปิดท้าย เล่มนี้แปลโดย คุณ อาจารี สัตยาประเสริฐ เป็นหนังสือแปลในค่าย Nation Books อรรถรสไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าผลงานของมิยาเบะ มิยูกิที่แปลโดยค่ายอื่นแต่อย่างใด .. ใครชอบหนังสือของ มิยาเบะ มิยูกิ เล่มนี้เป็นอีกเล่มที่ไม่ควรพลาด

ซายากะ สาวน้อยนักสืบ ตอน แจ็กเก็ตสีน้ำตาลอ่อน

ต่อจาก มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ เล่มแปด ก็ตามด้วยงานของ อาคากะวา จิโร่ ต่อเลย .. ซายากะ สาวน้อยนักสืบ เล่มสาม .. เล่มแรกของซีรีส์ซายากะเธออายุ 15 ดังนั้นเล่มสามซายากะก็อายุ 17 ปี แล้ว .. คราวนี้เหตุไม่ได้เริ่มต้นที่ซายากะแต่เธอก็เข้าไปพัวพันจนได้สิน่า .. เรื่องเริ่มกันที่ นายตำรวจคาวามุระกำลังออกเดทกับคุณครูคุนิโกะ คาวามุระกำลังจะเอ่ยขอแต่งงาน ก็มีหญิงสาวตัวเปียกโชก ถือแจ็กเก็ตสีน้ำตาลอ่อน ร้องขอความช่วยเหลือ แล้วก็หมดสติไป .. ขณะที่คาวามุระและคุนิโกะดูแลหญิงสาวกลางดึกคืนนั้นก็เกิดเรื่องขึ้น มีคนทำร้ายคาวามุระ คุนิโกะก็เกือบจะถูกฆ่า! โชคดีเหลือเกินที่ซายากะโทรศัพท์มาทำให้คนร้ายตกใจหนีไป .. เป้าหมายคนร้ายไม่น่าใช่คาวามุระหรือคุนิโกะ แต่น่าจะเป็นหญิงสาวผู้ลึกลับ .. เธอเป็นใคร และทำไมถึงมีคนพยายามฆ่าเธอหลายต่อหลายครั้ง .. เมื่อซายากะรู้เรื่องนี้เข้า เธอย่อมไม่พลาดที่จะเข้าไปร่วมวงสืบสวนด้วยแน่ๆ

ตอนแจ็กเก็ตสีน้ำตาลอ่อน แปลมาจาก Ama-iro No Jaketto เรื่องค่อนข้างพื้นๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ชวนคิด .. อ่านแล้วก็เฉยๆ .. YMMV

blog นี้บันทึกไว้ล่วงหน้า .. จริงๆ แล้ว เวลานี้คงเดินทางอยู่ที่ใดที่หนึ่งในชมพูทวีป :)

มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ ตอน ปราสาทอัศวิน

เริ่มเคลียร์หนังสือที่ได้มาจาก งานสัปดาห์หนังสือ เริ่มกันที่เล่มเล็กๆ ก่อน … มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์

สำหรับเล่มใหม่นี้ พี่น้องคาตายามา โฮล์มส์ และ อิชิสึ โกอินเตอร์ซะแล้ว .. หนนี้คดีเกิดที่ปราสาทเก่าแก่แห่งหนึ่งในเยอรมันที่น้องชายมหาเศรษฐีญี่ปุ่นเพิ่งจะซื้อตามความต้องการของภรรยาสาวที่เพิ่งพบและแต่งงานกันไม่นาน แต่เพียงแค่ไปชมปราสาทครั้งแรกฝ่ายภรรยาสาวก็ถูกฆาตกรรมอย่างลึกลับด้วยเครื่องมือประหารสมัยโบราณ .. อีกสามปีต่อมา พี่น้องคาตายามา ก็ได้รับเชิญให้ไปปราสาทแห่งนี้พร้อมกับครอบครัวของมหาเศรษฐี .. เดินทางมาถึงปราสาทไม่ทันไร ก็มีคนตายไปทีละคนๆ เส้นทางมายังปราสาทก็โดนตัดขาด แถมตัวน้องชายมหาเศรษฐีผู้เป็นเจ้าของปราสาทยังหายตัวไปอย่างลึกลับเสียอีก .. สองพี่น้อง โฮล์มส์ และอิชิสึ เลยตกกระไดพลอยโจนต้องคลี่คลายคดีนี้

ซีรีส์แมวสามสีเล่มที่แปด คุณสมเกียรติ เชวงกิจวณิช แปลมาจากต้นฉบับตอน Mikeneko Homozu No Kishido ความสนุกสนานยังอยู่ในมาตรฐานของ อาคากะวา จิโร ปริศนาคราวนี้มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัดทิ้งไม่ได้พอสมควร อ่านช้าๆ คิดดีๆ ถึงจะมองเห็นกุญแจที่ช่วยคลี่คลายคดีได้ .. :)

Offline for ten days

วาระแจ้งเพื่อทราบ – ข้าน้อยจะ unplug ตัวเองออกจากโลกไซเบอร์เป็นเวลาสิบวัน … เจอกันอีกทีวันที่ 16 เม.ย 49

อ่อ .. โปรแกรมอัปเดต blog ไว้ .. ถ้าอยู่ๆ blog โผล่ช่วงที่ offline นี้ก็ไม่ต้องแปลกใจเน้อะ