“ในอดีต ผู้ใช้ซอฟต์แวร์มักจะมีสิทธิแก้ไข ดัดแปลง และแจกจ่ายได้ซอฟต์แวร์ได้อย่างอิสระ แต่หลังเกิดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในทศวรรษที่ 80 ซอฟต์แวร์เกือบทั้งหมดก็ถูกจำกัดการใช้งาน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะใช้ซอฟต์แวร์ได้อย่างถูกกฏหมายโดยไม่ต้องเสีย เงิน ..– RMS.
การขยายตัวของคอมพิวเตอร์ในทศวรรษ 1980 ทำให้บริษัทมากมายถือกำเนิดในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ บริษัทเหล่านี้ผลิดซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์และหาผลกำไรจากการขาย ลิขสิทธิ์การใช้ซอฟต์แวร์ ระบบซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ บางระบบถึงขนาดต้องเซ็นสัญญาใช้งานกันเลยทีเดียว ดูเหมือนว่าทุกอย่างก็ดูสมเหตุสมผลเพราะผู้ผลิตซอฟต์แวร์สมควรได้รับผลกำไร จากการผลิตซอฟต์แวร์ออกจำหน่าย แต่การจำกัดสิทธิในการใช้งานนี้ได้สร้างปัญหาให้กับคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง จนทำให้เกิดโครงการซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวงการคอมพิวเตอร์ถึง ทุกวันนี้
The Beginning
ปี 1971 ดร. ริชาร์ด สตอลแมน (Dr. Richard M. Stallman) เริ่มทำงาน ณ ห้องวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ สถาบันเอ็มไอที เขาเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ในห้องวิจัยดังกล่าว สมัยนั้นกลุ่มนักพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนซอร์สโค้ดของโปรแกรมกันจนเป็นเรื่อง ปกติ ใครต้องการนำซอร์สโค้ดไปแก้ไขเพื่อใช้กับระบบของตนโดยเฉพาะก็สามารถทำได้ ทันที ส่งผลให้ซอฟต์แวร์สามารถเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว ข้อผิดพลาดต่างๆ ก็ได้รับการแก้ไขโดยง่าย กลุ่มนักพัฒนายังสามารถให้ความช่วยเหลือกันและกันได้สะดวกเพราะทุกคนสามารถ เข้าถึงซอร์สโค้ดของโปรแกรมได้อย่างอิสระ ระบบและวัฒนธรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวใช้กันมากว่าสิบปี จนกระทั่งในปี 1982 ห้องวิจัยฯ ตัดสินใจอัพเกรดระบบคอมพิวเตอร์เป็น PDP-11 ของบริษัท Digital และหันไปใช้ชุดซอฟต์แวร์ของบริษัท Digital แทนซอฟต์แวร์ที่มีอยู่เดิม ปัญหาก็คือซอฟต์แวร์ตัวใหม่นี้จำกัดสิทธิการใช้อย่างรัดกุมมากเพราะเป็น ซอฟต์แวร์ที่ผลิตมาเพื่อการค้า ผู้ใช้ไม่สามารถเผยแพร่ให้ผู้อื่นนำไปใช้ต่อ หรือแม้แต่แก้ไขปรับปรุงซอฟต์แวร์ได้อย่างอิสระอีกต่อไป หากซอฟต์แวร์ของบริษัท Digital มีปัญหา ทางเดียวที่จะแก้ไขได้ก็คือแจ้งบริษัทและรอให้บริษัทเป็นผู้แก้ไขเอง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ ดร. สตอลแมน อึดอัดเป็นอย่างมาก เขาเห็นว่าการจำกัดสิทธิการใช้ซอฟต์แวร์ เป็นสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาซอฟต์แวร์ และเป็นเรื่องยากที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะช่วยกันปรับปรุงแก้ไขซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้ดีขึ้น ทำให้ซอฟต์แวร์มีการพัฒนาช้ากว่าที่ควรจะเป็น เขาเชื่อว่าการเปิดให้ทุกคนใช้ซอฟต์แวร์ได้อย่างอิสระ จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้ซอฟต์แวร์ได้อย่างคล่องตัว ผู้ใช้สามารถช่วยกันทดสอบ แก้ไข และปรับปรุงซอฟต์แวร์ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ได้ซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพดีในระยะเวลาอันสั้น
ด้วยความคิดดัง กล่าว ดร. สตอลแมนจึงตั้งโครงการซอฟต์แวร์ในปี 1983 โดยมีจุดมุ่งหมายในการผลิตและเผยแพร่ ฟรีซอฟต์แวร์ ซึ่งผู้ใช้สามารถไม่เพียงแต่ใช้ประโยชน์จากการใช้ซอฟต์แวร์ แต่จะมีสิทธิในการ แก้ไข ดัดแปลง และเผยแพร่ซ้ำได้ตามต้องการ ดร. สตอลแมนตั้งชื่อโครงการนี้ว่า The GNU Project
Free (the) Software Project
โครงการ GNU ตั้งเป้าจะผลิตฟรีซอฟต์แวร์ที่มีรูปแบบการทำงานและการใช้งาน เหมือน กับระบบยูนิกซ์ (GNU ย่อมาจาก GNU is Not Unix) คำว่าฟรีซอฟต์แวร์มักจะทำให้เข้าใจว่าซอฟต์แวร์ภายใต้โครงการ GNU เป็นซอฟต์แวร์ที่หามาใช้งานได้ฟรี แต่ความหมายที่จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของค่าใช้จ่ายเลย คำว่า ฟรี ของ ฟรีซอฟต์แวร์ ตามที่ ดร. สตอลแมนให้คำนิยามจะหมายถึง อิสระ หรือ เสรีภาพ ที่จะทำอะไรก็ได้กับซอฟต์แวร์นั้น เป็นความหมายเชิงเดียวกับคำว่า Free Speech ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐ เพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ดร. สตอลแมนจึงนิยามเสรีภาพที่ว่านี้ไว้สี่ข้อ ดังต่อไปนี้
- ผู้ใช้มีสิทธิจะใช้โปรแกรมได้ไม่ว่าจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม (Freedom 0)
- ผู้ใช้มีสิทธิแก้ไขโปรแกรมได้ตามความต้องการ นั่นหมายความว่าผู้ใช้สามารถเข้าถึงซอร์สโค้ดของโปรแกรมนั้นได้ (Freedom 1)
- ผู้ใช้มีสิทธิเผยแพร่สำเนาของโปรแกรมได้ ไม่ว่าจะเก็บค่าสำเนาหรือไม่ก็ตาม (Freedom 2)
- ผู้ใช้มีสิทธิเผยแพร่โปรแกรมที่แก้ไขเสร็จแล้ว เพื่อที่ผู้อื่นจะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงแก้ไขนั้น (Freedom 3)
ซอฟต์แวร์ ภายใต้โครงการ GNU จะใช้ license ที่เรียกกันในชื่อ GNU General Public License หรือ GNU/GPL และด้วยอารมณ์ขันของนักพัฒนาที่เห็นว่าฟรีซอฟต์แวร์มักกำหนดสิทธิการใช้งาน ตรงข้ามกับซอฟต์แวร์ในเชิงการค้าทั่วไป ฟรีซอฟต์แวร์เกือบทั้งหมดจึงใช้คำว่า Copyleft แทนที่จะเป็น Copyright ความพิเศษของ Copyleft ไม่ใช่ว่าเป็นคำตรงข้ามของ Copyright แต่เป็นการบังคับไม่ให้ผู้ใช้มีสิทธิเปลี่ยนแปลง license ไปจากเดิม ฟรีซอฟต์แวร์ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้ว จะต้องเผยแพร่โดยใช้ license เหมือนต้นฉบับเสมอ นั่นหมายความว่าฟรีซอฟต์แวร์จะคงความ ฟรี ตลอดไป ไม่ว่าต้นฉบับซอฟต์แวร์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหนก็ตาม
แต่อย่าง ที่บอกว่าไว้ว่า ฟรี ไม่เกี่ยวกับเรื่องของค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่าฟรีซอฟต์แวร์จะนำมาใช้โดยปราศจากค่าใช้จ่ายเสมอ ไป ผู้ผลิตหรือแม้แต่ผู้ใช้ฟรีซอฟต์แวร์มีสิทธิขายฟรีซอฟต์แวร์ได้ตามกลไกการ ตลาด โดยไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ตราบใดที่ยังรักษาให้ซอฟต์แวร์นั้นคงความเป็น ฟรีซอฟต์แวร์อยู่ แต่ถึงจะนำไปสร้างเป็นธุรกิจได้ ฟรีซอฟต์แวร์เกือบทั้งหมดก็ยังคงเป็นซอฟต์แวร์ที่เราสามารถหาดาวน์โหลดมาใช้ ได้โดยไม่เสียค่าลิขสิทธิ์ หรืออาจหาซื้อได้โดยเสียเฉพาะค่าสื่อบันทึกข้อมูลและค่าจัดส่งเท่านั้น
หลัง จากที่ ดร.สตอลแมน ตั้งโครงการ GNU เขาและกลุ่มนักพัฒนายุคแรกที่เชื่อมั่นในแนวความคิดของฟรีซอฟต์แวร์ก็เริ่ม ผลิตฟรีซอฟต์แวร์สะสมมาเรื่อยๆ มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยเริ่มเคลื่อนไหวในแนวทางเดียวกับ ดร. สตอลแมน และช่วยกันสร้างซอฟต์แวร์เข้าสู่โครงการ GNU หรืออย่างน้อยก็ใช้ GNU GPL และ Copyleft ในการกำหนดสิทธิการใช้ซอฟต์แวร์ ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์หลายหมื่นตัวที่เป็นฟรีซอฟต์แวร์ เรียกได้ว่าครอบคลุมซอฟต์แวร์เกือบทุกประเภทตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ (Operating System) ไปจนถึงโปรแกรมประยุกต์ในเชิงธุรกิจ หรือแม้แต่เกมส์ แต่ฟรีซอฟต์แวร์ตัวสำคัญของโครงการ GNU เห็นจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก GNU/Linux ซึ่งเป็นชุดซอฟต์แวร์ที่เอาฟรีซอฟต์แวร์หลักของ GNU มารวมเข้ากับแก่นของระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (Linux Kernel) ซึ่งเขียนโดยนาย ลินุส ทอร์วาลด์ (Linus Torvald) ผู้สร้างระบบปฏิบัติการลินุกซ์ชาวฟินแลนด์ GNU/Linux เป็นระบบปฏิบัติการพร้อมซอฟต์แวร์สนับสนุนที่สมบูรณ์แบบ มีประสิทธิภาพดี และความปลอดภัยสูง ทุกวันนี้จึงมีหลายบริษัทที่นำ GNU/Linux มาจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น RedHat Linux, Slackware Linux และ Debian Linux
Free Software and Community
แต่ไม่ ว่าจะเรียกมันว่าอะไร ซอฟต์แวร์ลักษณะนี้ได้สร้างผลกระทบต่อสังคมไอทีในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ก็มักจะพูด ถึงโอเพนซอร์สและฟรีซอฟต์แวร์กันแทบทุกครั้งไป ตามกฏหมายไทย ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมจัดอยู่ในประเภทงานวรรณกรรมซึ่งได้รับการคุ้มครองโดย พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และสนธิสัญญานานาชาติ จากการสำรวจโดย Business Software Alliance (BSA) พบว่ากว่า 80% ของการใช้ซอฟต์แวร์ในเมืองไทยเป็นการใช้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และประเทศไทยก็มีชื่อในห้าอันดับแรกของประเทศที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ สูงสุดในแถบเอเชีย สาเหตุที่เราติดท๊อปไฟว์ก็ค่อนข้างชัดเจน เพราะซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมีราคาแพง (มาก)
หลายคนอาจตกใจหากบอกว่า ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยอดนิยมที่กำลังใช้กันทุกวันนี้มีราคาพอๆ กับมอเตอร์ไซค์หนึ่งคัน แต่ในเมื่อจำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ (หรือบางทีเป็นแค่ อยากมีไว้ใช้ ทั้งที่ไม่จำเป็น) และมีซอฟต์แวร์เถื่อนขายในราคาร้อยกว่าบาท นักบริโภคซอฟต์แวร์แทบทุกรายก็หันเข้าหาของเถื่อนที่ทุกวันนี้ขายกันเกลื่อน เมืองจนชักไม่แน่ใจว่าของพวกนี้ผิดกฏหมายจริงหรือเปล่า แต่ในระยะหลังการกวดขันตรวจจับลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มีมากขึ้นเนื่องจากข้อตกลง ทางการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการและผู้ใช้จำนวนมากจึงเริ่มหวาดผวา เพราะในทางแพ่งบริษัทผลิตซอฟต์แวร์สามารถฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการ ละเมิดลิขสิทธิ์ได้เป็นเงินหลายล้านบาท ในขณะที่ทางทางอาญาก็มีโทษปรับสูงสุด 800,000 บาท จำคุกสูงสุดถึง 4 ปี ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการ นักคอมพิวเตอร์ในเมืองไทยจึงเริ่มกล่าวถึงซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์สและฟรี ซอฟต์แวร์ว่าเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนไทย เพราะเป็นซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ที่เปิดกว้าง ให้อิสระกับผู้ใช้มากกว่า สามารถใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้านลิขสิทธิ์ สามารถนำมาพัฒนาเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับคนไทยได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิด ลิขสิทธิ์ เช่น การเสริมภาษาไทยเข้าไปในซอฟต์แวร์ ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบันก็มีแล้ว เช่น ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล 4.1 ซึ่งพัฒนามาจาก RedHat Linux หรือชุดซอฟต์แวร์สำนักงาน ปลาดาว 1.0 ซึ่งนำซอฟต์แวร์สำนักงาน OpenOffice.org มาเพิ่มความสามารถในการใช้งานภาษาไทย (ปลาดาว 1.0 เป็นตัวอย่างหนึ่งของซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์สแต่ไม่ใช่ฟรีซอฟต์แวร์ 100%) ถึงแม้ซอฟต์แวร์ทั้งสองจะยังใหม่ และยังใช้งานกันไม่กว้างขวางนักเมื่อเทียบกับซอฟต์แวร์ต่างชาติ แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับคนไทยที่จะมีฟรีซอฟต์แวร์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อ ให้คนไทยใช้โดยเฉพาะ หากเราบริโภคซอฟต์แวร์กันอย่างเหมาะสม หันมาพัฒนาและสนับสนุนการใช้ฟรีซอฟต์แวร์ไทยกันให้มากขึ้น คนไทยก็จะมีฟรีซอฟต์แวร์ไทยคุณภาพดีใช้ และท้ายที่สุดวงการซอฟต์แวร์ของเมืองไทยอาจจะ “ฟรี” จากซอฟต์แวร์ต่างชาติได้สักวัน