มาเล่นโกะกันมั้ย ?

ใครได้อ่าน “ฮิคารุ เซียนโกะเกมส์อัจฉริยะ” คงรู้สึกว่าการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ธรรมดาตรงที่หยิบเอาเรื่องที่ดูน่าเบื่อมา เขียนเป็นเรื่องสนุกน่าติดตามได้ แถมยังได้นักเล่นหมากล้อมมืออาชีพสาวสวยมาเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับหมากล้อม โดยเฉพาะด้วย รูปหมากล้อมในการ์ตูนจึงไม่ใช่หมากที่เขียนมั่วๆ แต่เป็นบันทึกเกมส์ของจริง หรืออย่างน้อยก็เขียนอย่างมีหลัก ซื้อมาเมื่อไหร่ได้ต่อคิวกันอ่านเป็นวันๆ เลยนั่นล่ะ แต่ก็มีหลายครั้งที่อ่านแล้วก็หงุดหงิดเพราะดูหมากในการ์ตูนไม่รู้เรื่อง ก็เลยหัดเล่นโกะซะให้หมดเรื่องหมดราว (จะอ่านการ์ตูนได้รู้เรื่อง โฮ่ๆๆๆ) .. วันนี้ก็เลยจะว่ากันเรื่อง “หมากล้อม”..

แนะนำหมากล้อม

หมากล้อม ที่เราเรียกกันว่าโกะ ในภาษาทางการของญี่ปุ่นจะเรียกว่า “อิโกะ” หรือ “อิโงะ” .. ส่วนจีนจะเรียก “เหวยฉี” จากบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดกล่าวไว้ว่าหมากล้อมเริ่มในประเทศจีนกว่าสี่พันปี ก่อน เป็นเกมส์หมากกระดานที่จักรพรรดิคิดขึ้นมาเพื่อดัดนิสัยราชโอรส บ้างก็ว่าเป็นปฏิทิน เครื่องมือทำนาย โดยมีกระดานเป็นจักรวาล และหมากเป็นดวงดาว สมัยโบราณหมากล้อมถือเป็นหนึ่งในสี่วิชาชั้งสูงที่บัณฑิตจีนจะต้องเรียนและ ฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก (อีกสามอย่างคือ การเขียนตัวอักษร การวาดภาพ และพิณ)

หมาก ล้อมเป็นหมากกระดานที่แปลกจากหมากกระดานทั่วไป เกมส์จะเริ่มจากกระดานเปล่าๆ ผู้เล่นผลัดกันลงหมากเพื่อจับจองพื้นที่ของตัวเอง ใครมีพื้นที่ที่หมากล้อมไว้มากกว่าก็ชนะ จะไม่เหมือนหมากรุกหรือหมากฮอสที่เน้นการบุกทำลายหมากผ่ายตรงข้าม แต่แน่นอนว่าในหมากล้อมจะต้องมีต่อสู้กันเหมือนหมากกระดานอื่น แต่จะเป็นการแย่งชิงพื้นที่ ทำลายพื้นที่ของฝ่ายตรงข้ามมากกว่าจะทำลายหมาก หมากล้อมมีกฏในการเล่นน้อยมาก ทำให้ใช้เวลาหัดเล่นไม่นานก็เป็น แต่หากจะเล่นให้เก่งอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปีเลยทีเดียว ปัจจุบันหมากล้อมแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่ในเมืองไทย จนกลายเป็นหนึ่งในหมากกระดานสากลไปแล้ว

มาหัดเล่นกัน

เอาอย่าง ย่อๆ กระดานหมากล้อมเป็นกระดานสี่เหลียม มีเส้นแนวตั้งและแนวนอน 19 เส้นเท่าๆ กัน เส้นเหล่านี้ทำให้เกิดจุดตัด 361 จุด การวางหมากจะวางลงบนจุดตัดเหล่านี้ หากวางหมากต่อเนื่องกันจะก่อให้เกิดขอบล้อมพื้นที่ซึ่งจะกลายมาเป็นคะแนนใน การตัดสินแพ้ชนะ ขนาดของพื้นที่จะนับจากจุดตัดที่หมากล้อมอยู่ หมากจะมีสองสีทั่วไปคือหมากขาวและหมากดำ ผู้ที่มีฝีมือสูงกว่ามักจะใช้หมากขาว และการวางหมากในเกมส์ปกติ ผู้ถือหมากดำจะได้วางก่อน ลำดับการวางก่อนหลังมีผลอย่างมากโดยเฉพาะตอนท้ายๆ ของเกมส์ การได้วางหมากก่อนถือเป็นการได้เปรียบ ดังนั้นหากฝีมือทั้งสองผ่ายสูสีกันหมากขาวจะได้คะแนนบวกไว้ก่อน 5.5 แต้มเพื่อชดเชยที่ต้องลงหมากทีหลัง นั่นหมายความว่าหมากดำต้องหาทางล้อมพื้นที่ได้มากกว่าขาวไม่น้อยกว่า 6 แต้มถึงจะชนะ ระหว่างเล่นหากหมากสีนึงถูกหมากอีกสีล้อมไว้ หมากที่ถูกล้อมจะกลายเป็นเชลย ซึ่งจะเป็นแต้มที่นำมาลบออกจากพื้นที่ที่ล้อมได้ กฏการวางหมากมีข้อห้ามเพียงสองข้อคือหมากที่วางลงไปจะต้องไม่เป็นการฆ่าตัว ตาย และในสถานการณ์โคะหากฝ่ายนึงถูกจับกินแล้ว อีกฝ่ายนึงจะไม่มีสิทธิ์จับกินต่อในทันที

หากฝีมือผู้เล่นต่างกันมากๆ ผู้เล่นหมากขาวอาจต่อให้หมากดำวางหมากในจุดดาวตั้งแต่สองหมากไปจนถึงเก้า หมาก วิธีนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเล่นหมากล้อมกระดานเดียวกันได้อย่างสูสี คือหมากขาวก็ต้องเล่นสุดฝีมือเพราะเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่เริ่มเกมส์ ในขณะที่หมากดำก็ได้เปรียบเพราะมีหมากที่จับจองพื้นที่ไปก่อนล่วงหน้า ในกรณีเล่นเกมส์แบบต่อหมาก ฝ่ายขาวจะได้ลงหมากก่อน

พูดถึงระดับฝีมือ กันมั่ง ระดับของหมากล้อมมีสองประเภท สำหรับคนที่ยังไม่เป็นมืออาชีพจะใช้ระดับคิว (kyu) ซึ่งเริ่มจากระดับต่ำสุด 35 คิว ไปจนถึง 1 คิว ต่อจากนั้นก็จะเริ่มเป็น 1 ดั้ง (dan) ไปจนถึง 7 ดั้ง ส่วนที่เป็นมืออาชีพก็จะใช้ดั้งเหมือนกัน เริ่มจาก 1 ดั้ง ไปจนถึง 9 ดั้ง ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด แต่ว่าดั้งของมืออาชีพกับดั้งในระดับสมัครเล่นเทียบกันไม่ได้ อย่าง 7 ดั้งมือสมัครเล่น เล่นกับ 1 ดั้งมืออาชีพ ฝ่ายที่เป็นมืออาชีพต้องต่อให้ 2-3 หมาก (ประมาณ 15-25 แต้ม) แต่ถ้าเป็นมืออาชีพด้วยกันมักจะไม่ต่อหมากไม่ว่าจะต่างกันแค่ไหน อย่าง 1 ดั้ง กับ 9 ดั้ง ต่อหมากกันอย่างมากแค่สองหมากเท่านั้น ในญี่ปุ่นผู้ที่ขึ้นมาเป็นมืออาชีพจะได้รับเงินเดือนจากสมาคมหมากล้อม ญี่ปุ่นและมีรายการแข่งขันตลอดปี ซึ่งแต่ละรายการก็มีเงินรางวัลสูงมาก ยอดเงินรางวัลรายการใหญ่ๆ รวมแล้วมากกว่า 200 ล้านเยน รายการเหล่านี้มักได้สปอนเซอร์จากหนังสือพิมพ์เพราะคนญี่ป่นสนใจหมากล้อมกัน มาก ทำให้หนังสือพิมพ์พลอยขายดีไปด้วย อย่างรายการที่เงินรางวัลสูงสุดคือรายการชิงตำแหน่งคิเซย์ (Kisei) สนับสนุนโดยหนังสือพิมพ์โยมิอุริ ผู้ชนะได้เงินรางวัล 42 ล้านเยน รองลงมาคือรายการชิงตำแหน่งเมย์จิน (Meijin) ของหนังสือพิมพ์อาซาฮี 36 ล้านเยน รองลงมาอีกก็ตำแหน่งฮอนอินโบ (Honinbo) ของหนังสือพิมพ์ไมนิจิ 32 ล้านเยน สองอันหลังนี้ถือเป็นชื่อตำแหน่งระดับสูงของหมากล้อม มีมานานเป็นร้อยปีแล้ว ใครได้ครองก็ถือเป็นเกียรติ เป็นที่นับถือของคนทั่วไป เรียกว่าได้ทั้งชื่อเสียงและเงินทอง เล่นหมากล้อมเลี้ยงชีพได้สบายๆ

แข่งหมากล้อมกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบัน หมากล้อมอาจเป็นหมากกระดานสากลอันเดียวที่สุดยอดคอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถเอา ชนะสุดยอดมนุษย์ได้ (ไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างนี้อีกนานแค่ไหนนะ) นั่นเป็นเพราะ combination มันเยอะมากจนเกินกำลังคอมพิวเตอร์คำนวณได้ในเวลาที่เหมาะสม ทั้งขนาดของกระดานที่ใหญ่ จำนวนหมากที่มากมาย และกฏการวางหมากซึ่งแทบไม่ได้ห้ามอะไรเลย จึงมีอิสระในการคิดวางหมากเต็มที่ ยากที่จะวิเคราะห์ล่วงหน้าได้หลายๆ หมาก

ผมก็หัดเล่นหมากล้อมกับคอมพิวเตอร์นี่ล่ะ โปรแกรมแรกที่ใช้คือ Igowin เป็นหมากล้อมกระดาน 9×9 เป็นรุ่นแจกฟรีของโปรแกรม Many Face of Go เจ้า igowin นี่เก่งไม่เบาเหมือนกันครับ ใครอยากหัดหมากล้อมผมแนะนำให้เล่นตัวนี้ก่อน โปรแกรมมีวัดระดับฝีมือด้วย เริ่มที่ 25 คิว ถ้าชนะก็ระดับก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ ครั้งสุดท้ายที่เล่นผมอยู่ที่ประมาณ 8 – 9 คิว แต่อย่าไปเชื่อมันมาก มันวัดเวอร์ๆ ไปอย่างนั้นล่ะ ระดับจริงๆ ต้องบวกเลขเข้าไปอีกหลายอยู่ อีกตัวที่เล่นด้วยเป็นประจำก็คือ AIGO บน PalmOS เจ้า AIGO ช่วยให้พัฒนาฝีมือไปไม่น้อยเหมือนกัน เริ่มหัดง่ายๆ จากกระดาน 9×9 ก่อน ให้คอมพิวเตอร์ต่อให้สามหมาก ถ้าชนะบ่อยๆ ก็ลดจำนวนหมากที่ต่อลงไป กระดาน 13×13 และ 19×19 ก็ใช้วิธีเดียวกัน ล่าสุดผมหันมาจับหมากขาว แล้วยังต้องต่อให้ AIGO ซักประมาณ 4 หมากถึงจะเล่นสนุกแบบมีลุ้น (โฮ่ๆๆ) แต่บอกตรงๆ ครับ AIGO ยังไม่ถือว่าเก่งเท่าไหร่หรอก ที่เล่นบ่อยเพราะมันอยู่บน Palm ถือไปไหนมาไหนสะดวกเท่านั้นล่ะ ตัวที่เก่งกว่าและเป็นซอฟต์แวร์เสรีด้วยก็คือ GNU Go ตัวนี้มี port ไปหลาย OS เหมือนกัน .. หลังจากเอาชนะ AIGO ได้บ่อยๆ ก็เลยได้ใจ หันมาเดินหมากกับ GNU Go บนลินุกซ์มั่งโดยใช้ CGoban เป็น GUI frontend เชื่อมกับ GNU Go ซึ่งปกติทำงานเป็น text mode .. พอเริ่มก็เอาเลยครับ CPU ตีไป 100% ทันที เจ้า GNU Go มันล้ำลึกกว่า AIGO เยอะเลย ผมใช้ Pentium III 1 GHz แต่ละหมาก GNU Go มันใช้เวลาคิดประมาณ 8-10 วินาทีเห็นจะได้ ถ้ายิ่งเป็นเกมส์ไม่จับเวลายิ่งคิดนานเข้าไปใหญ่.. นานกว่า AIGO ที่ทำงานบน Dragonball SuperVZ 66 MHz ซะอีก (เจ้า AIGO นี่คิดไม่เกิดสองวินาทีิ).. เกมส์แรกผมให้ GNU Go ต่อให้สี่หมาก .. แพ้ไป 30 กว่าแต้ม เสีย self ไปเลย.. หลังๆ ก็พอจะพัฒนาฝีมือขึ้นไปบ้าง แต่ก็ยังต้องให้ GNU Go ต่อหมากอยู่สองหมาก .. ฮึ่มๆๆ

หากต้องการเล่นกับเพื่อนฝูงหรือคนอื่นๆ ผ่านเครือข่าย ก็ย่อมได้ครับ หมากล้อมมีเซิร์ฟเวอร์สากลนานแล้ว หลักๆ ก็มีสองตัวคือ Internet Go Server (IGS) และ No Name Go Server (NNGS) ที่นั่นมีทั้งยอดฝีมือระดับมืออาชีพและมือใหม่เข้าไปเล่นหมากล้อมกันมากมาย ถ้าใช้ลินุกซ์อย่างผมก็เชื่อมต่อด้วย CGoban ได้เลย ส่วนเซิร์ฟเวอร์ยอดฮิตอีกแห่งก็คือ Yahoo Games มีบ้างเหมือนกันที่ระดับมืออาชีพมาเล่นหมากล้อมผ่าน Yahoo และถ้ามีวันไหน วันนั้นคนก็จะแห่มาดูการแข่งขันกันสดๆ จนห้องแทบแตกทีเดียว จบเกมส์ก็อาจมีการเรียงหมากวิเคราะห์เกมส์นอกรอบ หรือแจกบันทึกเกมส์ให้ไปดูกัน

คอมพิวเตอร์ VS. คอมพิวเตอร์

เท่า ที่มีการรวบรวมโปรแกรมหมากล้อมมีอยู่ประมาณ 40 โปรแกรม ทุกปีจะมีการจัดแข่งหมากล้อมระหว่างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยกันหลายรายการ เช่น FOST Cup World Chapionship, The Ing Cup, CGF Cup, European Championships, North American Championships และมีการจัดอันดับโปรแกรมหมากล้อม เจ้า GNU Go ยังไม่ใช่สุดยอดโปรแกรมหมากล้อมหรอกครับ การแข่งขันช่วงปี 1999-2001 มันมีคะแนนสะสมอยู่อันดับ 10 โน่น ปัจจุบันโปรแกรมหมากล้อมที่เก่งที่สุดคือ Go4++ (วางขายในชื่อ Go Professional) ไมเคิล ไรส์ โปรแกรมเมอร์ที่เขียน Go4++ บอกว่า การเล่นหมากล้อม หมากเปิดเกมส์เป็นหมากสำคัญมากก็จริงแต่ไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีรูปแบบที่ เหมาะสมให้ใช้อยู่แล้ว โดยหาจากฐานข้อมูลสูตรมุมซึ่งเก็บไว้กว่า 300,000 แบบ การเขียนโปรแกรมวางหมากช่วงกลางเกมส์ต่างหากที่เป็นส่วนที่ยากที่สุด ส่วนหมากปิดเกมส์ก็ไม่ได้ยากนัก แต่ก็่ยังยากกว่าท้ายเกมส์ของหมากรุก .. สังเกตดูจาก GNU Go ก็เห็นจะจริงตามนั้นครับ เพราะเริ่มวางหมากแรกๆ โปรแกรมจะใช้เวลาคิดไม่นาน ประมาณ 1-2 วินาที แต่หลังจากวางไปแล้วประมาณ 4-5 หมาก โปรแกรมก็จะเริ่มคิดหนักขึ้น ใช้เวลานานขึ้น บางช็อต 15 วินาทีก็มี จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเห็นรูปร่างหมากที่ชัดเจนก็จะเข้าสู่ช่วงท้ายของเกมส์โปรแกรมก็เริ่มจะ ทำงานเร็วอีกครั้ง ชนิดปล่อยเมาส์ปุ๊บก็วางต่อปั๊บเลย

นอกเหนือจาก Go4++ อันดับรองลงมาก็จะเป็น HandTalk, Haruka, Wulu, KCC Igo, Many Face of Go, FunGo, Go Intellect, Martha, และ Gnu Go ตามลำดับ .. บรรดาโปรแกรมหมากล้อมอาจแบ่งออกได้เป็นสองสายหลักๆ คือสายที่ใช้คณิตศาสตร์ดิสครีต กับสายที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ แบบที่เป็นคณิคศาสตร์ดิสครีตจะอาศัยการคำนวณตำแหน่งหมากปัจจุบันแล้วหาค่า ของหมากถัดไปว่าจุดใดบนกระดานมีค่าสูงสุด จากนั้นมันก็วางหมากลงที่จุดนั้น หากค่าสูงสุดมันมีหลายจุด ก็จะใช้วิธีสุ่ม หรือหาจากรูปแบบที่บันทึกไว้ โปรแกรมที่ติดสิบอันดับแรกใช้คณิตศาสตร์ดิสครีตกันเกือบทั้งนั้น เพิ่งจะมีเมื่อปีที่แล้วที่โปรแกรมที่ใช้นิวรอลเน็ตสามารถขึ้นมาติดอันดับ ท็อปเทนได้หลังจากพยายามมาหลายปี

อย่างไรก็ตาม นักเล่นหมากล้อมทั้งมือสมัครเล่น มืออาชีพ และโปรแกรมเมอร์หมากล้อมต่างเห็นพ้องกันว่า เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะวัดระดับความสามารถของแต่ละโปรแกรมให้เป็นคิว หรือดั้งที่ชัดเจน ค่าของหมากที่คำนวณออกมามันก็ประเมินเกมส์ได้ในระดับหนึ่งแต่ยังห่างจากนัก เล่นหมากล้อม การคำนวณของโปรแกรมก็ยังไม่แน่ไม่นอนนัก หรือถ้ามันทำงานอย่างแน่นอนก็จะมีจุดอ่อนที่คาดเดาได้ โปรแกรมบางโปรแกรมก็มีจุดอ่อนที่ปกติแล้วไม่น่าเกิดขึ้นกับนักเล่นหมากล้อม จริงๆ อย่าง HandTalk จะเล่นยากมากถ้าต่อหมากให้โปรแกรม 13 – 14 หมาก (เน้นอีกที “หมาก” ไม่ใช่ “แต้ม” วางหมากให้โปรแกรม 14 หมากกระจายเต็มกระดานเลย) ในขณะที่ต่อ 29 หมากจะชนะได้ง่ายกว่า (?!!).. ที่สำคัญคือโปรแกรมมันไม่มีความรู้สึกและไม่รับรู้ความรู้สึกในการเล่น ต่างจากนักเล่นหมากล้อมที่จะรับรู้ถึงแรงกดดัน ความเครียดในการแข่งขัน ซึ่งส่งผลการแข่งขันไม่มากก็น้อย .. แม้ว่าสมาคมหมากล้อมญี่ปุ่นเคยรับรองระดับให้กับโปรแกรมบางตัวอย่างเป็น ทางการ แต่ก็ยังไม่น่าเชื่อถือนัก เพราะถึงเวลาแข่งกับมือสมัครเล่นระดับเดียวกันหรือต่ำกว่า โปรแกรมหมากล้อมกลับสู้ไม่ได้อย่างเห็นได้ชัด ก็เลยยังหาข้อสรุปที่แน่นอนไม่ได้ อย่างไรก็ตามการประเมินอย่างไม่เป็นทางการว่ากันว่าโปรแกรมหมากล้อมลำดับ ต้นๆ เวลานี้น่าจะอยู่แถวๆ 8 คิว

ทิ้งท้าย

เท่าที่ได้สัมผัส หมากล้อมเป็นหมากกระดานที่เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยการใช้สติปัญญาและตรรก เป็นเกมส์ที่เล่นสนุก ตื่นเต้นไม่แพ้เกมส์วางแผนการรบบนคอมพิวเตอร์เลย (เรียกว่าเป็น Turn-based Strategy ก็คงไม่ผิดนัก ^-^) จะว่าไปแล้ว ในอดีตประเทศจีนใช้แนวคิดของหมากล้อมถูกนำมาใช้ในการสงครามได้ผลดีจนมีการ บันทึกลงในตำราสงคราม ปัจจุบันแนวคิดและปรัชญาในการเดินหมากหลายๆ อย่างก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ ทั้งการดำรงชีวิต การวางแผนทางธุรกิจ การตัดสินใจเรื่องต่างๆ การเล่นหมากล้อมจึงไม่ใช่แค่สนุกเพียงอย่างเดียว อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นเกมส์ที่ฝึกสมาธิได้ดี ให้รู้จักมีสติ คิดพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ ในระดับสูงขึ้นไปก็จะได้รู้จักความสมดุล การแลกเปลี่ยนโอกาสอย่างยุติธรรม การตีความสถานการณ์และใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม โรงเรียนประถมในญี่ปุ่นหลายๆ แห่งจึงบรรจุหมากล้อมเป็นวิชาบังคับ เป็นการฝึกสมาธิและความรอบคอบตั้งแต่ในวัยเด็ก วัฒนธรรมของหมากล้อมเองก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ หมากล้อมเป็นเกมส์ที่เปิดให้เรียนรู้อย่างเต็มที่ การเล่นหมากล้อมแต่ละครั้งจะมีการจดบันทึกหมาก ทุกครั้งที่เล่นจบจะมีการวิเคราะห์เกมส์หาจุดบกพร่อง จุดพลิกผันของเกมส์ร่วมกันระหว่างผู้เล่น หรือในบางครั้งก็มีมืออาชีพมาแนะนำเพื่อพัฒนาฝีมือและแนวคิดให้ดีขึ้นไป ปัจจุบันมีบันทึกหมากจำนวนมาก ตั้งแต่สมัย 2-300 ปีก่อนโน่น มีทั้งที่เป็นหนังสือและเป็นไฟล์ บนคอมพิวเตอร์จะบันทึกเป็น SGF (Standard Go Format) มีซอฟต์แวร์หลายตัวที่อ่าน *.sgf ได้ บันทึกหมากบางไฟล์มีคำบรรยาย หรือแม้แต่การเล่นหมากนอกเกมส์เป็นบทวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นแนวคิดและเหตุผลในการวางหมากของผู้เล่น ยิ่งถ้าได้มืออาชีพมาเขียนคำบรรยาย ก็จะเป็นบทเรียนชั้นเยี่ยมในการศึกษาหมากล้อมเลยทีเดียว

ใครสนใจเวลา นี้ที่ภาคคอมฯ นอกจากผมแล้วก็มี อ.วสุ อ.นวภัค เล่นหมากล้อมอยู่เหมือนกัน กระดานไม้ หมากก็มีพร้อมอยู่ห้องสารบรรณ ว่างๆ ลงมาเล่นกันได้ ใครที่ยังเล่นไม่เป็นก็หัดได้ไม่ยาก แค่ห้านาทีก็เล่นเป็นแล้ว .. ส่วนจะซุ่มฝึกคนเดียวอย่างผมก็เอา Igowin หรือ GNU Go + CGoban ไปเล่นดู .. ว่าแล้วก็… อีกซักเกมส์ดีกว่า :D


References

  1. The Nihon Ki-in (สมาคมหมากล้อมประเทศญี่ปุ่น)
  2. Jan van de Steen’s Gobase.org