SCO – IBM Lawsuit

ว่าจะไม่พูดเรื่องนี้แล้วเชียวนะ หลังจากติดตามเรื่องของ เอสซีโอกับไอบีเอ็ม มาพักใหญ่ ตอนนี้เหตุการณ์อะไรๆ ก็เริ่มชัดเจนขึ้น .. แม้ว่าการฟ้องร้องครั้งนี้เอสซีโอดูมีโอกาสชนะน้อยมาก แต่ผลกระทบกับลินุกซ์และโอเพนซอร์สนั้นใหญ่หลวงนัก

ต้นตอ..

วันที่ 6 มีนาคม 2003 ณ เมืองซอลต์เลคซิตี้ รัฐยูท่าห์ บริษัทเอสซีโอซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รหัสต้นฉบับของยูนิกซ์ ฟ้องร้องยักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็มว่าละเมิดความลับทางการค้าของเอสซีโอ เป็นการละเมิดสัญญาที่กระทำกับเอสซีโอ และทำให้เกิดการแข่งขันอันไม่ยุติธรรม เรื่องนี้ควรจะเป็นเพียงเรื่องละเมิดสัญญาระหว่างเอสซีโอกับไอบีเอ็ม .. แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเอสซีโอได้ยื่นโนติสถึงผู้ใช้ลินุกซ์ด้วยว่า ผู้ใช้ลินุกซ์ควรจะระวังตัวไว้ให้ดี เอสซีโออ้างว่าพบรหัสต้นฉบับของยูนิกซ์อย่างน้อย 80 บรรทัดในเคอร์เนลของลินุกซ์ ดังนั้นผู้ใช้ลินุกซ์ทุกรายอาจโดนฟ้องฐานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย .. แถมกวนน้ำให้ขุ่นโดยอ้างว่า Linux is an unauthorized derivative of UNIX .. เออ เอากะมัน..

คนในวงการ บรรดาแฮ็กเกอร์ และนักกฏหมายหลายคนให้ความเห็นว่าเอสซีโอแกว่งเท้าหาเสี้ยน (หรือจะให้ชัดๆ กว่านั้น ต้องคำว่า “แกว่งปากหา ..”) ซะจริงๆ .. นั่นทำให้หลายคนเริ่มมองไปถึงเหตุผลเบื้องหลังการฟ้องร้องว่าน่าจะมาจาก สาเหตุอื่น ซึ่งทุกวันนี้แม้จะไม่ทราบเหตุผลชัดเจนนัก แต่หุ้นเอสซีโอก็ปั๊มราคาขึ้นไปได้ถึง 4 – 500% .. อีกทฤษฎีที่มีคนพูดกันก็คือ เอสซีโออยากให้ไอบีเอ็มเทคโอเวอร์ไปเพราะบริษัทใกล้ฝั่งเต็มที แม้แต่ดาร์ล แมคไบรด์ (Darl McBride) ประธานบริษัทเอสซีโอก็เคยให้สัมภาษณ์ประมาณถ้าไอบีเอ็มต้องการเทคฯ เพื่อยุติเรื่องก็ยินดี (ไม่ค่อยจะส่อเจตนาเล้ย) ..

แต่เบื้องหลังจะเป็นยังไงก็ช่าง เอาเป็นว่า สรุปตรงนี้ให้เห็นประเด็นชัดๆ ก่อน อย่างแรกคือเอสซีโอฟ้องไอบีเอ็มฐานละเมิด ‘ความลับทางการค้า’ (Trade Secret) เรียกร้องค่าเสียหายตามศาลประเมินแต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญ สหรัฐ และอย่างที่สองคือเอสซีโออ้างว่ามีสิทธิฟ้องผู้ใช้ลินุกซ์ฐานละเมิด ทรัพย์สินทางปัญญา ..ในกรณีนี้ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Properties) แบ่งได้เป็นสองประเด็นคือ 1. การละเมิดสิทธิบัตร (Patent) ซึ่งเป็นเรื่องของ ‘วิธีการ’ และ 2. การละเมิดลิขสิทธิ์ (Copyright) ซึ่งเป็นเรื่องของ ‘เนื้อหา’ .. ถ้าจะเคลียร์ข้อกล่าวหาก็ต้องเคลียร์ให้ได้ทั้งสองประเด็น

80 บรรทัด ?

ปัจจุบัน เอสซีโอเป็นเจ้าของรหัสของยูนิกซ์ซึ่งเปลี่ยนมือเป็นทอดๆ มาตลอดช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยนัยของความเป็นเจ้าของรหัสยูนิกซ์ เอสซีโออ้างว่าเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอ็นเตอร์ไพรซ์หลายๆ อย่างที่ใช้ในลินุกซ์ ซึ่งหมายรวมถึง Symmetric Multi-Processing, Journaling File System, Non-Uniform Memory Access, Read-Copy-Update และอื่นๆ ทฤษฎีของเอสซีโอคือ ไอบีเอ็มได้นำรหัสบางส่วนของยูนิกซ์เผยแพร่สู่ลินุกซ์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสัญญา และความลับทางการค้า ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไป .

แต่ .. คำกล่าวอ้างนี้ขัดกับข้อเท็จจริงหลายอย่าง เป็นที่รู้กันว่ารหัสต้นฉบับของลินุกซ์ หรือจะพูดให้ชัดๆ ก็คือ “เคอร์เนลของลินุกซ์” เริ่มต้นเขียนจากศูนย์โดย ลินุส ทอร์วาลด์ เมื่อสิบกว่าปีก่อน แล้วค่อยๆ เติบโตจากการคอนทริบิวต์รหัสของเคอร์เนลแฮ็กเกอร์หลายๆ คน ลินุสตัดสินใจใช้สัญญาอนุญาตแบบ GPL ของ GNU ตั้งแต่เริ่มแรก รหัสของเคอร์เนลทั้งหมดจึงเป็น GPL เนื่องจากสัญญาอนุญาตบังคับเอาไว้อย่างนั้น ปัจจุบันรหัสต้นฉบับ (2.6.0-test3) มีอยู่ราวๆ 5.2 ล้านบรรทัด มากมายจนอาจจะกล่าวได้ไม่เต็มปากนักว่าทั้งหมดเป็นรหัสที่ปราศจากการปน เปื้อนด้วยสัญญาอนุญาตอื่นๆ ที่ไม่ใช่โอเพนซอร์ส แต่ในทางปฏิบัติการเพิ่มรหัสเข้าไปในเคอร์เนลไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่แพชต์แก้บักเล็กๆ ลินุสยังนั่งอ่านรหัสเองก่อนจะตัดสินว่ารับหรือไม่รับแพชต์ การเพิ่มฟีเจอร์เป็นเรื่องใหญ่กว่าแก้บักมาก แน่นอนว่ารหัสต้องคอนทริบิวต์ด้วย GPL แต่ละบรรทัดต้องผ่านตาแฮ็กเกอร์นับร้อยนับพันเป็นเวลานาน ต้องผ่าน high-ranking kernel hackers/maintainers หลายคน และสุดท้ายต้องผ่านการตัดสินใจของลินุสก่อนจะรวมเข้าไปในเคอร์เนล .. สมมติว่ามีรหัสดังกล่าวอยู่จริงก็ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใช้ต้องกังวลเลย เพราะการเอารหัสออกจากเคอร์เนลทำได้ทันที ไม่ได้ยากเย็นเหมือนตอนเอาเข้า .. ขอให้พิสูจน์ให้ได้ว่ารหัสดังกล่าวมีอยู่จริง รหัสนั้นก็จะเด้งออกจากเคอร์เนลในเวลาไม่กี่นาที .. นอกจากนั้นการตามรอยกลับเพื่อหาต้นตอของรหัสก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการดำเนินกิจการในโอเพนซอร์สเป็นเรื่องที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งเมลลิ่งลิสต์ อาร์ไคฟว์ บันทึกทั้งทางการและไม่เป็นทางการ รหัสต้นฉบับของเคอร์เนล บันทึกประจำรุ่น สามารถนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงได้ .. แต่.. จนถึงวันนี้เอสซีโอก็ยังไม่เคยเอารหัสที่ว่ามาเผยให้เห็นกันจะๆ เสียที.. แถมช่วงที่ผ่านมา ยังให้ข่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่ 80 บรรทัดหรอกแต่เป็นหลายร้อย หลายพัน .. และล่าสุดแมคไบรด์มั่วขนาดบอกว่าเป็นล้านบรรทัด .. ท่าลุงแกจะเมาจนประสาทหลอนไปเสียแล้ว เพราะรหัสส่วนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเอ็นเตอร์ไพรซ์ในลินุกซ์รวมกันแล้วอยู่ ที่หลักพันบรรทัด อย่างมากสุดหนึ่งหมื่นต้นๆ เท่านั้น cat, grep, wc ดูก็ได้

เพื่อความอุ่นใจ ดิสโตรต่างๆ รวมถึงเคอร์เนล “วานิลลา” ของ kernel.org ซึ่งเป็นเคอร์เนลทางการของลินุกซ์ ต่างพากันตรวจสอบรหัสของลินุกซ์กับรหัสของ ยูนิกซ์ ซิสเต็ม ไฟว์ ของเอสซีโอ (ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเอสซีโอนั่นแหล่ะ) ผลก็คือรหัสของดิสโตรต่างๆ และของวานิลลา “สะอาด” ไม่มีการปนเปื้อนรหัสของยูนิกซ์ .. อย่างไรก็ตาม หากดูจากเส้นทางการพัฒนารหัสของยูนิกซ์มีโอกาสเข้าสู่ลินุกซ์ได้สองทางคือ

  1. ทาง บีเอสดี .. อันนี้แน่นอน ลินุสเองก็ยอมรับว่าเคอร์เนลลินุกซ์มีรหัสจากบีเอสดีจริง แต่ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะรหัสที่เข้ามายังลินุกซ์เป็นรหัสที่โอเพนซอร์ส และแถมเป็นรหัสที่เคยผ่านชั้นศาลมาก่อนแล้วสมัยที่โนเวลล์/ยูเอสแอลฟ้องร้อง บีเอสดีเมื่อสิบปีก่อน ผลในครั้งนั้นคือบีเอสดีชนะ (หรือไม่ก็ตกลงยอมความ เพราะยังไงฝ่ายโจทย์เห็นว่าตัวเองสู้ไม่ได้แน่) หลังจากนั้นเป็นต้นมา ถือว่ารหัสของบีเอสดีไม่ได้เป็นรหัสเดียวกับยูนิกซ์ถึงแม้จะคล้ายกันแค่ไหน ก็ตาม
  2. ทางไอบีเอ็ม .. ไอบีเอ็มมีแล็บโอเพนซอร์สซึ่งคอนทริบิวต์รหัสให้เคอร์เนลอยู่ไม่น้อย และเป็นที่มาว่าทำไมเอสซีโอถึงกล้าออกคำเตือนผู้ใช้รายใหญ่ๆ และบรรดาดิสโตรฯ ต่างๆ ว่าละเมิด IP ..

เทคโนโลยีที่เอสซีโอ อ้างว่าเป็นเจ้าของ (โดยนัยของความเป็นเจ้าของรหัสยูนิกซ์) และดันเรื่องขึ้นมาฟ้องร้องก็คือเทคโนโลยีเอ็นเตอร์ไพรซ์ซึ่งหมายรวมถึง Symmetric Multi-Processing, Journaling File System, Non-Uniform Memory Access Read-Copy-Update และอื่นๆ .. ไอบีเอ็มมีรหัสจากยูนิกซ์จริงๆ ใช้ใน AIX (อาจจะรวมถึง Dynix อีกตัว) .. แต่รหัสที่ว่ามันผ่านไปถึงลินุกซ์หรือเปล่าก็ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ โอกาสจะเป็นจริงมันก็มี แต่น้อยเหลือเกิน เพราะแล็บโอเพนซอร์สของไอบีเอ็มเองก็ระวังเรื่องนี้อยู่มาก ไอ้เรื่องจะ cut & paste รหัสกันดื้อๆ น่ะไม่มีทางอยู่แล้ว โดยเฉพาะรหัสที่เป็น proprietary ใน AIX .. ดังนั้นจะมีรหัสเหมือนเป๊ะๆ ยาวติดต่อกันหลายสิบบรรทัดยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่ ..

เอสซีโออ้างเทคโนโลยีเอ็นเตอร์ไพรซ์หลายข้อในสำนวนฟ้อง ตามเอสซีโอว่าไว้ โดยสรุปคือ “หากปราศจากรหัสดังกล่าวลินุกซ์ไม่มีทางเป็นระบบปฏิบัติการระดับเอ็น เตอร์ไพรซ์ได้ ขนาดยูนิกซ์ยังต้องใช้เวลาพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับมัลติโพรเซสเซอร์ถึง 20 ปี การพัฒนาระบบปฏิบัติการระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ต้องมีการประสานงานกันอย่างมาก ต้องเข้าถึงและได้ทดสอบกับฮาร์ดแวร์ราคาแพง ต้องเข้าถึงรหัสของยูนิกซ์หรือวิธีการที่ใช้ในยูนิกซ์ ต้องมีความรู้เรื่องยูนิกซ์เป็นอย่างดี และต้องมีทุนสนับสนุนมาก .. ดังนั้นอย่างลินุกซ์ซึ่งพัฒนากันเป็นงานอดิเรกไม่มีทางเขียนรหัสสำหรับระบบ มัลติโพรเซสเซอร์ได้แน่ ถ้าไมได้เข้าถึงรหัสของยูนิกซ์” .. ความเห็นส่วนตัว ผมว่าเป็นประโยคที่คลุมเครือและหลายๆ ประโยคเป็นคำกล่าวอ้างที่มั่วนิ่มมาก .. ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

  • Symmetric Multi-Processing – รหัส SMP ของลินุกซ์เขียนโดย อลัน ค็อกซ์ (Alan Cox) แฮ็กเกอร์มือดีที่สุดคนนึงของเรดแฮตและวงการลินุกซ์ อลันได้รับการยกย่องให้เป็นมือขวาของลินุสเลยทีเดียว อลัน ค็อกซ์เป็นคนเริ่มเขียนรหัสตั้งแต่ปี 1995 และลินุกซ์เริ่มสนับสนุน SMP อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1996 ในเคอร์เนลเวอร์ชั่น 2.0 ที่ขำก็คือ SMP บนลินุกซ์สำเร็จได้ก็เพราะบริษัทคาลเดรา (Caldera) ซึ่งควบกิจการกับเอสซีโอนั่นล่ะเป็นคนเอาฮาร์ดแวร์ต่างๆ ไปให้ทดสอบ .. ปี 2000 ลินุกซ์สนับสนุน SMP 32 ตัว ในเคอร์เนล “วานิลลา” .. ซิลิคอนกราฟฟิคแฮ็กเคอร์เนลให้สนับสนุนได้ 64 ซีพียู
  • Journaling File System – ไอบีเอ็มเขียน JFS ขึ้นมาสำหรับลินุกซ์และถูกเพิ่มเข้าไปในเคอร์เนลเรียบร้อยแล้ว รหัสดังกล่าว (IBM JFS) เป็นรหัสที่พัฒนาต่อมาจากระบบไฟล์ของ OS/2 และ AIX .. ลินุกซ์เองก็มี Ext3 เป็นระบบไฟล์แบบ Journaling ใช้เป็นดีฟอลต์ด้วย รหัส Ext3 พัฒนาจาก Ext2 ซึ่งเขียนโดย Theodore Ts’o แฮ็กเกอร์มือดีอีกคนของวงการ
  • Logical Volume Management – LVM เป็นตัวทำให้ระบบมองเห็นฮาร์ดดิสก์หลายๆ ตัวเป็นก้อนๆ เดียว .. ไอบีเอ็มพยายามคอนทริบิวต์ LVM ของตัวเองเข้าเคอร์เนล … แต่ลินุสปฏิเสธและเลือก LVM แบบอื่นแทน รหัส LVM ของไอบีเอ็มจึงไม่ปรากฏในเคอร์เนล
    • Non-Uniform Memory Access – เทคโนโลยี NUMA / ccNUMA ใช้กับระบบมัลติโพรเซสเซอร์ในการเข้าถึงข้อมูลในหน่วยความจำ ไอบีเอ็มใช้รหัส NUMA-Q ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทซีเควนท์ (Sequent) ซิลิคอนกราฟฟิค (SGI) เอ็นอีซี และฟูจิตสึ ซึ่งไม่ใช่รหัสที่มาจากยูนิกซ์ที่เอสซีโออ้างถึง .. แถมไอบีเอ็มก็เทคโอเวอร์ซีเควนท์มาเป็นของตัวเองแล้วด้วย
  • Read-Copy-Update – RCU เป็นวิธีการจัดการหน่วยความจำเพื่อเลี่ยงการล็อคตำแหน่งหน่วยความจำโดยไม่ จำเป็น พัฒนาและจดสิทธิบัตรโดยซีเควนท์ รหัส RCU ผ่านการกลั่นกรองอย่างละเอียดจากคณะกรรมการของไอบีเอ็มก่อนจะคอนทริบิวต์ รหัสให้ลินุกซ์ .. แรกเริ่ม RCU ของไอบีเอ็มนั้นถูกปฏิเสธโดย แอนเดรีย อาร์แคนเจลี (Andrea Arcangeli) แห่ง SuSE โคตรเซียนอีกคนของวงการ เพราะอลัน ค็อกซ์ชี้ให้เห็นว่าวิธีการดังกล่าวมีสิทธิบัตร (US Patent #05442758) คุ้มครองอยู่ .. ทีมของไอบีเอ็มจึงชี้แจงว่าสิทธิบัตรนั้นเป็นของ (ซีเควนท์ซึ่งเป็นของ) ไอบีเอ็มเอง และทางไอบีเอ็มก็ให้สิทธิในวิธีการตามสิทธิบัตรนี้กับแอนเดรียและลินุสแล้ว ด้วย รหัสดังกล่าวจึงเข้าเคอร์เนลได้ในที่สุด

สรุปได้ว่า เทคโนโลยีเอ็นเตอร์ไพรซ์บนลินุกซ์มีอยู่จริง แต่ไม่ได้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของเอสซีโอหรือของใคร จะว่าไปแล้วเทคโนโลยีเอ็นเตอร์ไพรซ์ใน UnixWare ของเอสซีโอเองนั่นล่ะที่ไม่พัฒนาไปไหนเลย ..UnixWare สนับสนุน SMP แต่ได้ไม่เกิน 4 ซีพียู และทำงานได้ไม่ค่อยเสถียรนัก ลินุกซ์สนับสนุนโพรเซสเซอร์ 64-bit ตั้งแต่ปี 1994 ห้าปีก่อนไอบีเอ็มเข้ามาร่วมพัฒนาลินุกซ์ จนถึงทุกวันนี้ UnixWare ยังไม่สนับสนุนโพรเซสเซอร์ 64-bit ไม่มี LVM ไม่มี NUMA ไม่มี Hot Swap ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีในลินุกซ์มาหลายปีแล้ว

แบบนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ‘งานอดิเรก’ ของกลุ่มคนบางกลุ่มมันก้าวหน้ากว่า ‘งานหากิน’ ของบางบริษัท .. มิน่าล่ะ เขาถึงพูดกันว่า บริษัทอย่างเอสซีโอไม่ถนัดหากินจากผลิตซอฟต์แวร์แล้ว ก็เลยตามฟ้องชาวบ้านอย่างที่เป็นอยู่ .. อืมมม อ่ะนะ :P

ใครเป็นเจ้าของเทคโนโลยีกันแน่ ?

หาก รหัสของยูนิกซ์ไม่ได้ปนอยู่ในลินุกซ์ เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ตกไป .. จะเหลือก็เป็นเรื่องของสิทธิบัตร ซึ่งแรกๆ ก็กังวลกันอยู่ว่าหลังจากซื้อรหัส UnixWare ต่อจากโนเวลล์แล้ว เอสซีโออาจจะถือสิทธิบัตรของยูนิกซ์ด้วย แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เอสซีโอไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรของยูนิกซ์แม้แต่ตัวเดียว ! .. แต่อาศัยความมั่วนิ่มที่ตัวเองมีสิทธิในรหัสของยูนิกซ์ ก็เลยอ้างว่ามีสิทธิทุกสิ่งที่มีคำว่ายูนิกซ์ แล้วก็ฟ้องไอบีเอ็มผิด ขู่ว่าลินุกซ์ละเมิด IP .. ทั้งที่สิทธิบัตรของยูนิกซ์ยังอยู่กับโนเวลล์โน่น เรื่องนี้โนเวลล์ออกมาแถลงเองเลย ตามสัญญาที่เอสซีโอทำกับโนเวลล์เพื่อซื้อรหัส UnixWare นั้น ระบุไว้ชัดว่า ทุกอย่างของยูนิกซ์เป็นของ เอสซีโอ ‘ยกเว้น’

“Intellectual property:
A. All copyrights and trademarks, except for the trademarks UNIX and UnixWare.
B. All Patents”

ประโยค ข้างบนนี่คัดมาจากสัญญาซื้อขายในปี 1995 เลย (ไม่ต้องแปลกใจ .. มันหาได้ไม่ยากหรอก) .. นั่นหมายความว่าเอสซีโอ ‘ไม่มี’ สิทธิใน A. ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าทุกชิ้น ยกเว้นเครื่องหมายการค้า UNIX และ UnixWare และ B. สิทธิบัตรทั้งหมดของยูนิกซ์

อย่างไรก็ตาม ปี 1996 เอสซีโอกับโนเวลล์ได้แก้ไขสัญญาซื้อขายที่ทำในปี 1995 ระบุว่า ..

“With respect to Schedule 1.1(b) of the Agreement, titled “Excluded Assets”, Section V, Subsection A shall be revised to read:
“All copyrights and trademarks, except for the copyrights and trademarks owned by Novell as of the date of the Agreement required for SCO to exercise it rights with respect to the acquisition of UNIX and UnixWare technologies. However, in no event shall Novell be liable to SCO for any claim brought by any third party pertaining to said copyrights and trademarks.”

อ่าน แล้วก็งงๆ อยู่ดี แต่พอสรุปว่าลิขสิทธิ์บางส่วนของยูนิกซ์และยูนิกซ์แวร์ถูกโอนมาให้กับเอสซี โอ จะส่วนไหนนั้นจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจน .. ที่ชัดเจนก็คือสิทธิบัตรยังอยู่กับโนเวลล์เหมือนเดิม .. แล้วเอสซีโอมันจะฟ้องลินุกซ์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ไงในเมื่อ ‘ทรัพย์สิน’ ที่ว่าไม่ใช่ของตัวเอง :P .. รหัสที่อ้างว่าเป็นของยูนิกซ์ก็ไม่เคยเปิดเผยซักครั้ง .. แต่ก็ยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า อยากจะเปิดเผยรหัสที่ว่าให้รู้กันทั่ว แต่ต้องเซ็น Non-Disclosure Agreement (NDA) เป็นรายๆ ไป .. อุวะ ป๊อดนี่หว่า …. สัญญาฉบับแก้ไขปี 1996 ที่ว่านี้มีสำเนาเก็บไว้ที่เอสซีโอฝ่ายเดียว ทางโนเวลล์บอกว่า “เท่าที่รู้ สัญญาดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแฟ้มของโนเวลล์” .. ไม่รู้หมายความว่าไงแน่ แต่ข่าวแบบนี้แน่นอนว่าทำเอาหุ้นเอสซีโอกระฉูดอีกรอบ รองประธานของเอสซีโอก็เทขายทำกำไรไปหลาย จนมีแซวกันว่าจะลาออกจากบริษัทแล้วหรือไง

เอสซีโอโดนฟ้องบ้าง

จะ ว่าไปแล้วลินุกซ์ได้รับความเสียหายจากความมั่วนิ่มของเอสซีโออยู่ไม่น้อย เพราะเล่นปล่อยข่าวกระจาย FUDs (Fear, Uncertainty, Doubt) ทำให้ผู้ใช้หลายๆ คนสับสนและไม่สบายใจ โดยเฉพาะจุดที่ว่าลินุกซ์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของเอสซีโอ เรดแฮตจึงตัดสินใจออกโรงมาฟ้องเอสซีโอว่า บิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้ลินุกซ์และโอเพนซอร์สเสียหาย งานนี้คนถือหางลินุกซ์/โอเพนซอร์ส/GNU พากันเฮ แม้แต่คู่แข่งทางธุรกิจ เพื่อนทางการพัฒนาอย่างซูซี่ ก็ออกมาสนับสนุนเรดแฮต.. แมคไบรด์ออกข่าวทันทีว่าเขาเพิ่งคุยกับคนของเรดแฮตก่อนจะมีการฟ้องร้องเพียง วันเดียว และไม่เห็นว่าเรดแฮตพูดเกี่ยวกับการฟ้องร้องเลย ทำไมเรดแฮตถึงทำกับเขาอย่างนี้ (มีงอนเล็กๆ ประมาณว่า น่าจะบอกกันก่อน) .. ปิดท้าย แมคไบรด์ขู่ว่าจะฟ้องกลับเรดแฮตฐานสมรู้ร่วมคิด .. เอากะลุงแกสิ … วันรุ่งขึ้นก็มีข่าวตามมาทันทีว่าเอสซีโอจะขายรันไทม์ (เผยแพร่แบบไบนารี่) ในส่วนที่เอสซีโอเป็นเจ้าของ ให้กับผู้ใช้ลินุกซ์ในราคาพิเศษเพียง $699 ต่อซีพียู โปรโมชั่นนี้สิ้นสุดวันที่ 15 ตุลานี้เท่านั้น …. หลังจากออกข่าว เอสซีโอก็ส่งบิลเก็บตังค์ไปยังบริษัทต่างๆ กว่า 1500 แห่ง .. เออ .. ใครจ่ายก็บ้าล่ะ

ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นว่าเอสซีโอต้องสู้ศึกสองด้าน และอาจจะมากกว่านั้น เหตุมาจาก ‘โอเพนลินุกซ์’ ซึ่งเป็นดิสตริบิวชั่นของเอสซีโอนั่นล่ะ ครั้งนึงเอสซีโอเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าโอเพ่นลินุกซ์มีรหัส proprietary ของเอสซีโออยู่ แต่เพราะเอสซีโอเป็นเจ้าของดังนั้นจึงอ้างว่ามีสิทธิทำเช่นนั้น ดิสโตรอื่นไม่มีสิทธิ .. งานนี้เอสซีโอพลาดอย่างแรง เพราะอย่างที่บอกว่าการเติมรหัสเข้าเคอร์เนลบังคับให้เป็น GPL ไม่งั้นก็จะถือว่าละเมิด GPL ซึ่งใครก็ตามที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รหัสต้นฉบับฟ้องร้องได้ทันที .. เอสซีโอคงคาดไม่ถึงว่าตัวเองจะเจอไม้นี้ และดูจะเหวอไปพอสมควร จากการให้สัมภาษณ์หลายๆ ครั้งของเอสซีโอเองยิ่งทำให้รู้ว่า (ผู้บริหาร)เอสซีโอไม่รู้เนื้อหาของ GPL เอาเสียเลย .. .. หลังพบว่าตัวเองกำลังซวย ผมเดาว่าเอสซีโอคงกลับไปศึกษา GPL เพื่อหาช่องเอาตัวรอดอยู่เหมือนกัน แล้ววันหนึ่ง เมื่อนักข่าวถามเอสซีโอก็อ้างว่าไม่รู้ และไม่ได้ตั้งใจใช้ GPL หรอก แถมไม่ตั้งใจจะฟ้องร้องลินุกซ์ตั้งแต่แรกแล้ว (เหวย ..ก่อนหน้านั้นยังขู่ๆ อยู่เลย .. หลักฐานอยู่ตำตา) .. แต่จะจากแบบเสียหน้าก็ไม่ใช่เอสซีโอสิ .. คำสัมภาษณ์จึงออกมาเป็น

“One of the reasons we haven’t launched a suit against a Linux distributor is because of the GPL. It would blow up the GPL and destroy Linux and we do not want to do that.”

ใครจะเชื่อพี่ท่านละเฟ้ย .. ลองฟ้องจริงๆ สิจะได้รู้ว่าใครจะอยู่ใครจะไป ..ชิ

โชว์รหัสเจ้าปัญหาจนได้ ..

18 สิงหาคม ลาสเวกัส เนวาด้า งานเทรดโชว์ .. ในที่สุดเอสซีโอก็เอารหัสส่วนนึงมาให้ดูสองชิ้นเพื่อเป็น “ตัวอย่าง” ว่ามีการลอกรหัสกันจริง เป๊ะๆ บรรทัดต่อบรรทัดเลย … นิตยสารรายนึงลงภาพรหัสดังกล่าวแล้วก็มีคนเอาขึ้นเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต .. บรูซ พีเรนส์ (Bruce Perens) อีริค เรย์มอนด์ (Eric S. Raymond, a.k.a, ESR) เกร็ก เลเฮย์ (Greg Lehey) สามแฮ็กเกอร์แนวหน้าของโอเพนซอร์ส ได้ดูตัวอย่างที่ว่า

วิเคราะห์และสรุปได้ว่า รหัสชิ้นแรกยกมาเปรียบเทียบกับยูนิกซ์เป็นรหัสของ malloc() ในเคอร์เนลลินุกซ์คือไฟล์ arch/ia64/sn/io/ate_utils.c .. วิธีการพัฒนาโดย ศ. โดนัลด์ คนุธ (Donald Knuth) ปรมาจารย์ด้านคอมพิวเตอร์ ศ. คนุธตีพิมพ์วิธีการดังกล่าวในอภิมหาคัมภีร์ The Art of Computer Programming ในปี 1968 แต่ไม่ได้เขียนด้วยภาษาซี .. ต้นฉบับภาษาซีเขียนโดยบิดาแห่งยูนิกซ์/ซี เดนนิส เอ็ม. ริตชี่ (Dennis M. Ritchie) และ เคน ธอมสัน (Ken Thomson) ในปี 1973 อันนี้ทั้งริตชี่และธอมสันยืนยันแล้วว่าเป็นรหัสที่พวกเขาเขียนเอง .. รหัสดังกล่าวยังปรากฏในตำรายูนิกซ์อีกหลายเล่มด้วย เพื่อนโต๊ะข้างๆ ยังมีตำราที่ว่าเลยอ๊ะ (Kernighan and Ritchie, The C Programming Language, Prentice Hall) เมื่อต้นปี 2002 คาลเดราเผยแพร่รหัสนี้ด้วยสัญญาอนุญาตแบบโอเพนซอร์ส .. นอกจากนี้รหัสของ malloc() ยังปรากฏในบีเอสดีอีก โดยลิขสิทธิ์ของรหัสเป็นของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เผยแพร่ด้วยสัญญาอนุญาตแบบบีเอสดีซึ่งเป็นโอเพนซอร์สแบบหนึ่ง รหัสนี้คอนทริบิวต์เข้าลินุกซ์โดยซิลิคอนกราฟฟิค จะว่าไปแล้วมีแต่ SGI นั่นล่ะที่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน .. และรหัสที่ว่าก็เพิ่งเอาออกจากเคอร์เนลเมื่อ 4 กรกฏาคม 2003 ก่อนเอสซีโอโชว์รหัสประมาณเดือนครึ่งเพราะมันดู ‘น่าเกลียด’

ตัวอย่างที่สองไม่ได้เปรียบเทียบให้ดูว่าเหมือนกับของยูนิกซ์ตรงไหน ให้ดูเฉพาะรหัสในลินุกซ์ จากการเช็คดูก็รู้ว่ามันคือรหัสของ Berkeley Packet Filter (BPF) ซึ่งเขียนที่ลอว์เรนซ์ เบิร์คเลย์ แล็บ. บีเอสดีพัฒนา BPF จาก อีเน็ต (enet) ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน และเผยแพร่ด้วยสัญญาอนุญาตโอเพนซอร์สแบบบีเอสดี .. ลาเฮย์เคยได้หารือกับ คีแรน โอชอเนสซี (Kieran O’Shaughnessy) เอ็มดีของเอสซีโอในออสเตรเลียเรื่องรหัสของ BPF .. ครั้งนั้น คีแรนแสดงรหัส BPF ส่วนนึงให้ดูเป็นตัวอย่างว่าลินุกซ์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของเอสซีโอ ลาเฮย์เลยเปิดไฟล์รหัส BPF ในเคอร์เนลแสดงขึ้นให้ดูเปรียบเทียบแล้วก็เลื่อนขึ้นไปดูบรรทัดบนสุดของไฟล์ ซึ่งระบุลิขสิทธิ์ของรหัสดังกล่าวเอาไว้ชัดว่าเป็นของ “บีเอสดี” .. ลาเฮย์เผยทีหลังว่าวันนั้นเห็นหน้าคีแรนตอนแสดงไฟล์ให้ดูแล้วสะใจสุดๆ :D

สรุปว่า เอสซีโอมั่วนิ่มอีกแล้ว รหัสในตัวอย่างแรกปรากฏสู่สาธารณะมานานแล้ว เป็นรหัสที่อยู่ในบีเอสดีซึ่งผ่านชั้นศาลและชนะคดีฟ้องร้องมาตั้งแต่เมื่อ สิบปีก่อน แถมคาลเดรา (ก็เอสซีโอนั่นละ) โอเพนซอร์สในปี 2002 และปัจจุบันก็ไม่ปรากฏในเคอร์เนลแล้ว .. ส่วนตัวอย่างที่สองเป็นของบีเอสดีโน่น ไม่ใช่ของเอสซีโอ หรือยูนิกซ์ซักกะหน่อย ..

ผู้ชมอย่างผมก็ได้แต่ขำ .. ให้ตายสิ หลักฐานที่เอามาอวดนี่ไม่ได้เฉียดเป้าเล้ย จะโชว์ทั้งทีหาที่มันเจ๋งๆ หน่อยสิลุง .. ไหนว่ามีเป็นแสนเป็นล้านบรรทัดไง :D

My opinion..

โดยส่วนตัวผมยังคิดว่ามันแปลกๆ อยู่เหมือนกันที่ เอสซีโอฟ้องไอบีเอ็มแท้ๆ แต่เหมือนข่าวที่ออกมาแต่ละครั้งเป็นการดิสเครดิตลินุกซ์ สร้าง FUDs และพยายามหากำไรจาก FUDs ทั้งนั้น ไม่ได้แตะคู่กรณีซักเท่าไหร่เล้ย แถมข้อเท็จจริงที่ปรากฏไม่ได้ทำให้เอสซีโอได้เปรียบในคดีเลย .. ถ้าตั้งใจจะฟ้องร้องไอบีเอ็มตั้งแต่แรก ผมว่าเอสซีโอน่าจะอยู่เงียบๆ ทำธุรกิจตัวเองไป แล้วก็ดูแลคดีของตัวเองไป .. การที่เอสซีโอเดินหมากอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้น่าจะมีเหตุผลอื่นสนับสนุน อยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าการฟ้องร้องครั้งนี้จะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ทั้งทางกฏหมาย (เล่ห์เหลี่ยม)ทางธุรกิจ และการพิสูจน์ตัวเองของโอเพนซอร์สต่อสาธารณะ เผลอๆ อาจจะได้รู้กันด้วยว่า GNU GPL มีผลในทางกฏหมายมากน้อยขนาดไหน คงได้เก็บไปนั่งสนทนา ใช้เป็นตัวอย่างในห้องเรียน หรืออ้างอิงในศาลได้อีกนานเลยล่ะ

ส่วนทางด้านผู้ใช้และดิสโตรลินุกซ์คงไม่ต้องกังวลอะไรอีกแล้วล่ะครับ ณ เวลานี้ยังมั่นใจได้ว่าลินุกซ์ “สะอาด” และถึงแม้อนาคตจะพิสูจน์ได้ว่ารหัสของลินุกซ์มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ของใคร ก็เพียงแค่เอารหัสนั้นออกก็หมดเรื่องกันไป .. ผมคิดว่าเอสซีโอเล่นมาขนาดนี้แล้วก็คงจะใช้สีข้างถูต่อไปอีกสักพัก .. แต่จะงัดไม้เด็ด หรือมุขตลกอะไรมาสร้างความเฮฮาอีก ต้องติดตามกันต่อไปครับ :P

เพิ่มเติม: ยูนิกซ์ ที่ไม่ค่อยจะเป็นหนึ่งเดียว

หลายคนอาจ จะได้ยินมาว่ายูนิกซ์เป็นของเอทีแอนด์ที ที่จริงแล้วรายละเอียดมันยุ่งๆ อยู่เหมือนกัน เรามาดูเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

  • ปี 1969 ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์พัฒนาขึ้น เบลล์แล็บฯ ของเอทีแอนด์ที
  • ปี 1979 เอสซีโอก่อตั้งขึ้นเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านยูนิกซ์ ออกยูนิกซ์ของตัวเองในชื่อ XENIX
  • ปี 1983 เอสซีโอพอร์ตระบบยูนิกซ์มาใช้บนโพรเซสเซอร์อินเทล และวางขายในชื่อ SCO Unix
  • ปี 1984 เอทีแอนด์ทีหลุดจาก “Final Judgement” คำพิพากษาบังคับคดีผูกขาดทางการค้าของเอทีแอนด์ทีเมื่อปี 1956 แต่ยังคงถูกควบคุมโดย “Final Judgement ฉบับแก้ไข” .. ฉบับแก้ไขที่ว่ายอมให้เอทีแอนด์ทีเข้าสู่ธุรกิจซอฟต์แวร์ได้ เอทีแอนด์ทีจึงผลิตยูนิกซ์ออกขายด้วย
  • ปี 1988 เอทีแอนด์ทีออก Unix System V release 4 ซึ่งเป็น AT&T Unix ตัวสุดท้ายที่พัฒนาโดยเอทีแอนด์ที และเป็นตัวทีมีปัญหาเพราะมีการขโมยรหัสจาก 4.2บีเอสดี มาใช้
  • ปี 1990 เอทีแอนด์จัดองค์กรใหม่ รหัสยูนิกซ์ ตกมาอยู่กับ ยูนิกซ์ ซิสเต็ม แลบอราทอรีส์ (Unix Systems Laboratories Inc.: USL) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเอทีแอนด์ที
  • ปลายปี 1991 โนเวลล์ (Novell) กับยูเอสแอลร่วมกันตั้ง joint venture ในชื่อยูนิเวล (Univel) ..
  • ปี 1993 โนเวลล์ซื้อยูเอสแอลและเป็นเจ้าของยูนิกซ์และเทคโนโลยีทั้งหมดของยูนิกซ์ โนเวลล์ออกยูนิกซ์ของตัวเอง ใช้ชื่อทางการค้าว่า UnixWare
  • ปี 1994 โนเวลล์โอนสิทธิเครื่องหมายการค้ายูนิกซ์ให้กับโอเพ่นกรุ๊ป ..
  • ปี 1995 เอสซีโอซื้อ UnixWare จากโนเวลล์ มีสิทธิใน ‘รหัส’ ยูนิกซ์เต็มตัว .. รหัสของ XENIX ที่พัฒนาเองและรหัส UnixWare ที่ซื้อมาจากโนเวลล์ถูกจับมารวมกันและออกวางขายในชื่อ OpenServer
  • ปี 1998 เอสซีโอเอารหัส OpenServer 5 กับ UnixWare 2 มารวมกันออกเป็น UnixWare 7 (5 + 2 = 7)

.. เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงเวลาที่รหัสเป็นของเอทีแอนด์ที ยูเอสแอล และโนเวลล์ มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประจำ แต่ไม่ได้มีการฟ้องร้องหากรหัสดังกล่าวไม่ได้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือแม้แต่บางกรณีถึงจะไปใช้ในเชิงพาณิชย์ก็ไม่ว่ากัน เช่นการนำไปตีพิมพ์ในตำราขาย คนนับแสนต่างก็เห็นรหัสของยูนิกซ์มาแล้วทั้งนั้น รหัสดังกล่าวยังสามารถดาวน์โหลดจากไซต์ของเอสซีโอได้จนกระทั่งเอสซีโอเอาออก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2003 (หลังจากมีการฟ้องร้องสองเดือน ??) ..

คำว่ายูนิกซ์มีหลายความหมาย อย่างแรกหมายถึงรหัสของระบบปฏิบัติการที่พัฒนาตั้งแต่สมัยปี 1969 โดย เบลล์แล็บของเอทีแอนด์ที มีการพัฒนาและเปลี่ยนเจ้าของตลอดก่อนจะตกมาอยู่กับเอสซีโอ

ตั้งแต่มียูนิกซ์เกิดขึ้น บริษัทต่างๆ ที่ผลิตฮาร์ดแวร์ระดับเวิร์กสเตชั่นขึ้นไปก็พากันพัฒนายูนิกซ์ของตัวเอง และกลายเป็นที่มาของความหมายที่สองซึ่งหมายถึง รหัสของ “ระบบปฏิบัติการแบบยูนิกซ์” เช่น AIX, HP-UX, SunOS, Solaris, XENIX, BSD .. ผู้คนส่วนใหญ่มักใช้คำว่ายูนิกซ์ในความหมายนี้ .. ส่วนความหมายสุดท้ายคือเครื่องหมายการค้าขององค์กรด้านมาตรฐานชื่อ “โอเพนกรุ๊ป” ได้สิทธิจากโนเวลล์เมื่อปี 1994 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะได้รับอนุญาตให้ใช้เมื่อระบบปฏิบัติการผ่านการ รับรองจากโอเพนกรุ๊ป


References

  1. SCO Code Analysis by Bruce Perens
  2. SCO Code Analysis by Eric Raymond
  3. SCO Code Analysis by Greg Lahey
  4. OSI Position Paper on the SCO-vs.-IBM Complaint
  5. Groklaw’s SCO Archives