ฤดูหนาวเป็นช่วงที่เหมาะจะดูดาวมากที่สุด เพราะท้องฟ้าโปร่ง มีเมฆน้อย กลางคืนนานกว่ากลางวัน แถมอากาศเย็นๆ ก็เหมาะกับการดูดาวด้วย คาดว่าบทความเรื่องดูดาวจะมาเป็น series สั้นๆ หลายตอนจบ .. ตอนแรกนี้เรามารู้จักกับท้องฟ้าและการดูดาวด้วยตาเปล่ากันก่อนครับ
รู้จักกับท้องฟ้า
สิ่งแรกที่ควรรู้เกี่ยวกับท้องฟ้าก็คือทิศเหนือ จริงๆ แล้วทิศเหนือมีอยู่ 3 แบบครับ คือ
- ทิศเหนือตามแกนแม่เหล็กโลกซึ่งวัดได้โดยเข็มทิศ
- ทิศเหนือกริดตามแผนที่ ซึ่งก็คือตำแหน่งละติจูด 90 องศาเหนือ
- ทิศเหนือจริง ซึ่งเป็นขั้วท้องฟ้าด้านเหนือตามแกนหมุนของโลก (North Celestial Pole: NCP)
ทิศ เหนือทั้งสามอันนี้ไม่ตรงกันครับ แต่ก็ต่างกันไม่มากนัก สำหรับทางดาราศาสตร์เวลาพูดถึงทิศเหนือจะหมายถึง NCP ซึ่งปัจจุบันนับเอาดาวโพลาริส (Polaris – ดาวเหนือ) เป็นหลัก ที่ต้องบอกว่า “ปัจจุบัน” เพราะแกนโลกที่เอียงอยู่ 23.5 องศามันชี้ไปทางดาวโพลาริส (ห่าง NCP ราวๆ 1 องศา) เลยใช้เป็นจุดอ้างอิงของทิศเหนือจริง แต่แกนโลกมันไม่เอียงเฉยๆ มันแกว่งตัวด้วยคาบประมาณ 26,000 ปีด้วย นานๆ เข้ามันทิศเหนือก็จะชี้หนีไปทางดาวอื่น อีกราว 8000 ปีต่อจากนี้ดาวเดเนบ (Deneb) จะเป็นดาวเหนือแทนโพลาริส และจากนั้นอีก 4000 ปี ดาวเวก้า (Vega) จะเป็นดาวเหนือแทนดาวเดเนบ
เมื่อได้ทิศเหนือแล้วทิศอื่นๆ ก็หาได้ไม่ยาก ตอนนี้เราได้จุดอ้างอิงแรกแล้ว ทีนี้ก็มาถึงเส้นสมมติบนท้องฟ้า เส้นสมมติพวกนี้จะคล้ายๆ กับเส้นสมมติที่เราใช้บนโลก อย่างเส้นศูนย์สูตรนั่นล่ะครับ สำหรับท้องฟ้าจะมีสองเส้นหลัก คือ
- เส้น Celestial Equator – เส้นศูนย์สูตรของท้องฟ้า เป็นเส้นในแนวระนาบการหมุนรอบตัวเองของโลก ถ้าให้ NCP เป็นละติจูด 90 องศาเหนือ เส้น Celestial Equator ก็คือละติจูด 0 องศานั่นเอง ดังนั้นถ้าเอาค่าหยาบๆ ก็พอจะพูดได้ว่าเส้นศูนย์สูตรของท้องฟ้าจะอยู่ในแนวเดียวกับเส้นศูนย์สูตร โลก
- เส้น Ecliptic หรือเส้นสุริยวิถี เป็นเส้นในแนวระนาบในการเคลื่อนที่ของโลกรอบดวงอาทิตย์ เนื่องจากโลกเอียงไปประมาณ 23.5 องศา เส้นสุริยวิถีกับเส้นศูนย์สูตรของท้องฟ้าก็เลยทำมุม 23.5 องศาไปด้วย ที่เรียกว่าเส้น Ecliptic ก็เพราะมันเป็นระนาบที่ทำให้เกิดคราส (Eclipse) หรือการที่ดาวโคจรมาอยู่ในแนวเดียวกันนั่นเอง
เส้นสมมติบนท้อง ฟ้าสองเส้นนี้จะมีจุดตัดกันสองจุด เรียกว่าจุด Equinox จุดแรกเรียกว่า Vernal Equinox เป็นจุดตัดบริเวณหมู่ดาว Pisces ประจำราศีมีนอีกจุดนึงเรียกว่า Autumnal Equinox ตัดกันบริเวณหมู่ดาว Virgo ประจำราศีกันย์
วันที่ โลกเคลื่อนที่มาอยู่แนวตรงกับ Equinox และดวงอาทิตย์ จะเป็นวันที่เวลากลางวันกับกลางคืนเท่ากัน (Equinox = Equal Night) สำหรับ Vernal Equinox จะอยู่ประมาณวันที่ 21 มีนาคม เป็นวันที่โลกเริ่มเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ทำให้ซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน เวลากลางวันจะเริ่มนานกว่ากลางคืน (ดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วและตกช้า) ส่วน Autumnal Equinox จะอยู่ประมาณวันที่ 22/23 กันยายน โลกจะเริ่มเอียงออกจากดวงอาทิตย์ ซีกโลกเหนือจะเข้าสู่ฤดูหนาว เวลากลางคืนจะเริ่มนานกว่ากลางวัน (ดวงอาทิตย์ขึ้นช้าและตกเร็ว)
มา ถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มมึนแล้ว ทั้งจุดทั้งเส้นสมมติเยอะแยะไปหมด ทั้งหมดนี่จำเป็นประมาณหนึ่งเหมือนกัน เพราะจุดและเส้นเหล่านี้ใช้อ้างอิงทางดาราศาสตร์กันบ่อยๆ
พิกัดของดวงดาว
ระบบพิกัดที่ใช้บอกตำแหน่งของดาวและวัตถุท้องฟ้า (Deep Sky Objects) ในปัจจุบันเราใช้กันอยู่สองระบบครับคือ Altitude/Azimuth Coordinate และ Equitorial Coordinate ..
Altitude/Azimuth Coordinate บางครั้งจะเรียกสั้นๆ ว่าเป็น Altazimuth เป็นระบบพิกัดที่บอกเป็นมุมเงยและมุมอะซิมุธ
- มุมเงย นับศูนย์องศาที่เส้นขอบฟ้าขึ้นไปจนถึง 90 องศาที่จุด Zenith (Zenith คือจุดสูงสุดของครึ่งทรงกลมท้องฟ้า อยู่ตรงกับศรีษะของเราพอดี)
- มุมอะซิมุธ เริ่มศูนย์องศาที่ทิศเหนือและกวาดรอบตัวเราตามเข็มนาฬิกาจนครบรอบ 360 องศา
ส่วน ระบบ Equitorial เกิดขึ้นตามหลักการหมุนของโลก เนื่องจากโลกเราหมุนรอบตัวเอง ดังนั้นดาวแต่ละดวงจึงมีการขึ้นและตกได้เหมือนดวงอาทิตย์ หากเราหันหน้าไปทาง NCP ดาวจะขึ้นทางขวามือและตกทางซ้ายมือ ระบบ Equitorial จึงใช้วิธีระบุพิกัดในลักษณะคล้ายกับ Latitude และ Longitude ที่ใช้บนพื้นโลกซึ่งเรียกว่า Declination (Dec.) และ Right Ascension (R.A) ตามลำดับ
- Dec เป็นระยะเชิงมุมของดาวโดยเริ่มศูนย์องศาที่ Celestial Equator หากวัด Dec ไปทางทิศเหนือจะมีค่าเป็นบวกไปสิ้นสุด +90 องศาที่ NCP หากวัดไปทางทิศใต้จะมีค่าเป็นลบไปสิ้นสุดที่ -90 องศาที่ South Celestial Pole (SCP)
- R.A. มีหน่วยเป็นชั่วโมงและนาที เริ่มชั่วโมงที่ศูนย์บนเส้นที่ผ่าน Vernal Equinox และนับชั่วโมงเพิ่มขึ้นตามเข็มนาฬิกา (คล้ายๆ กับระบบเวลาโลกที่ตั้ง 0 ที่เมืองกรีนิช และบวกชั่วโมงเพิ่มขึ้นตามการหมุน)
ทั้งสองระบบ นี้มีข้อดีข้อเสียต่างกันครับ แต่ขอยกไปเล่าทีหลังละกัน เมื่อเรารู้วิธีหาตำแหน่งดาวแล้ว คราวนี้ก็เริ่มภาคปฏิบัติกันได้ :D
ดูดาวสำหรับมือใหม่
การ ดูดาวในมุมกว้าง (เช่น หมู่ดาว) ไม่ต้องใช้อะไรเลยครับ แผนที่ดาวกับตาเปล่าก็พอแล้ว สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเข้ามาเป็นมือสมัครเล่นดีมั้ย แนะนำให้ใช้ตาเปล่าไปก่อน หัดหาทิศทาง หัดใช้แผนที่ดาวไปก่อน .. แล้วถ้าจะขยับขยายก็ค่อยซื้อกล้องส่องทางไกลมาใช้ .. อ๊ะ ผมเขียนไม่ผิดหรอก ย้ำอีกทีก็ได้ว่ากล้องส่องทางไกลครับ ไม่ใช่กล้องดูดาว กล้องส่องทางไกล (Binocular) หรือกล้องสองตาเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะมากสำหรับดูดาวช่วงแรกๆ เพราะราคาไม่แพงและใช้งานได้ตลอด ถึงจะเทิร์นโปรฯ ก็ยังได้ใช้ กล้องส่องทางไกลขนาดมาตรฐานๆ ก็ประมาณ 7×50 มม. ครับ (หน้ากล้อง 50 มม. กำลังขยาย 7 เท่า) อย่าเพิ่งยี้ว่าขยายแค่ 7 เท่าจะเห็นอะไรนะ 7×50 นี่ส่องจันทร์เต็มดวงแสบตาเลยล่ะ ถ้าจะให้ดีก็เอาแบบที่ติดขาตั้งกล้องได้ด้วย จะได้ภาพที่นิ่ง (ไม่เมื่อยมือด้วย ^-^)
การดูดาวไม่ใช่ว่าจะเดินออกนอกบ้าน เงยหน้าดูท้องฟ้าแล้วจะเห็นดาวระยิบระยับหรอกนะครับ สายตาเราจะชินกับแสงสว่างของไฟ ม่านตาจึงเปิดรับแสงไม่กว้างนัก พอออกไปที่มืดช่วงแรกจะมองไม่ค่อยเห็นหรอกครับ ต้องรอปรับสายตาสักพักจึงจะเห็นดาวมากขึ้น ถ้าอยู่ในที่มืดได้ถึง 30 นาที ม่านตาจะเปิดรับแสงได้ 70-80% ทีนี้ล่ะค่อยมันส์ครับ วันไหนอากาศดีๆ เห็นทางช้างเผือกได้เลย (ผมเคยเห็นครั้งนึงบนภูกระดึง สุดยอดๆๆ .. ) ระหว่างดูดาวถ้าจำเป็นต้องใช้แสงสว่าง ให้ใช้ไฟฉายแสงสีแดงครับ ถ้าไม่มีก็เอาไฟฉายธรรมดามาแปะกระดาษแก้วสีแดงหลายๆ ชั้น หรือไม่ก็เอาถุงพลาสติกของห้างเซ็นทรัลมาปิดหน้าไฟฉาย (แดงสุดๆ เลย เป็นพลาสติกอย่างดีด้วย ใช้ทน ^-^) ที่ต้องใช้แสงสีแดงก็เพราะมันเป็นแสงที่ม่านตาเปิดรับได้กว้าง ไม่เสียเวลาปรับสายตานานครับ
ก่อนอื่นก็ต้องหาดาวเหนือให้ได้ก่อนล่ะ ครับ หากเราอยู่เขตซีกโลกเหนือ (อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร) เราจะมองเห็นดาวโพลาริสได้เสมอ ตำแหน่งของมันจะอยู่สูงจากขอบฟ้าเท่ากับละติจูดเหนือ อย่างเช่น ม.ข. อยู่ประมาณละติจูด 16 องศาเหนือ ดังนั้นดาวโพลาริสและ NCP ก็จะอยู่สูงจากเส้นขอบฟ้าขึ้นไปประมาณ 16 องศาเหมือนกัน ถือเป็นโชคดีของเราที่อยู่ในซีกโลกเหนือครับ เพราะซีกโลกใต้จะมองไม่เห็นดาวเหนือและยากที่จะหาตำแหน่งของ NCP แม้ว่าทางซีกโลกใต้จะใช้ SCP ได้ แต่ดาวที่อยู่ใกล้ SCP ที่สุดนั้นค่อนข้างมืด มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็นจึงไม่สะดวกในการสังเกตุเท่าไหร่นัก
ดาวเหนือ อยู่ตรงปลายหางของหมู่ดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) ถ้าหาไม่เจอก็มีหมู่ดาวที่ช่วยหาดาวเหนืออยู่สองหมู่คือดาวหมีใหญ่ (Ursar Major) บ้านเราเรียกดาวจระเข้หรือกระบวยน้ำ อีกหมู่ดาวนึงคือ Cassiopeia ลักษณะเหมือนค้างคาวหรือตัว W (แล้วแต่จะจินตนาการ ฝรั่งเค้าเห็นเป็นบัลลังก์ของราชินี) หมู่ดาวสองอันนี้สังเกตได้ง่าย เพราะดาวฤกษ์ในหมู่ดาวค่อนข้างสว่าง ข้อดีอีกอย่างของหมู่ดาวทั้งสองคือมันห่างกันประมาณ 12 ชั่วโมง ดังนั้นถ้าหมู่นึงลับขอบฟ้าไปอีกหมู่นึงก็จะขึ้นมาแทน
หาดาวเหนือได้ แล้วก็มาใช้แผนที่ดาวกัน แผนที่ดาวแบบกระดาษส่วนใหญ่จะระบุตำแหน่งดาวด้วยระบบ Altazimuth เช่นแผนที่ดาวแบบหมุน (Planisphere) มีขอบวงกลมเป็นตัวบอกวันที่ และมีเส้นบนแผนที่เป็น ตัวบอกมุมเงยและมุมอะซิมุธ ตรงกลางแผนที่จะเจาะเป็นรูมองทะลุได้ จุดกลางแผนที่ก็คือดาวเหนือนั่นเอง.. วิธีใช้ก็คือหมุนแผนที่ให้วันที่ตรงกับเวลาที่ดูดาว จากนั้นก็ยกแผนที่ขึ้นทาบกับท้องฟ้า หันทิศให้ถูกต้อง (บนแผนที่จะมีตัวหนังสือเขียนบอกทิศ) แล้วก็จัดให้ดาวเหนือบนท้องฟ้าปรากฏอยู่ตรงรูกลางแผนที่ แผนที่ดาวแบบนี้จะทำมาเฉพาะพื้นที่ (อย่างของประเทศไทยที่ท้องฟ้าจำลองจะเอาละติจูดเฉลี่ยๆ ที่ 15 องศา) โดยเราสามารถแสดงตำแหน่งดาวตามวันและเวลาที่เราสังเกตุ
ถ้าหาซื้อไม่ได้ก็ใช้แผนที่ all-sky แทน หา download ได้ที่ Sky & Telescope แผนที่แบบนี้จะบอกตำแหน่งโดยประมาณของดาวที่เห็นทั้งหมดบนท้องฟ้าในแต่ละ เดือน ดังนั้นครบเดือนนึงก็ต้องมา download ทีนึงครับ อืมม แผนที่ของ S&T นี่เค้าคำนวณตามตำแหน่งของ USA นะครับ (ประมาณละติจูด 40 องศา) ดังนั้นเอามาใช้บ้านเราอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างนิดหน่อย
หมู่ดาวยอดฮิตที่ควรรู้จักและหัดดูช่วงแรกคือ หมู่ดาว 12 ราศี และหมู่ดาวสว่างๆ อื่นๆ
ชื่อภาษาอังกฤษ | ชื่อไทย | ดาวสำคัญ |
---|---|---|
Capricornus | แพะทะเล – ราศีมังกร | |
Aquarius | คนแบกหม้อน้ำ – ราศีกุมภ์ | |
Pisces | ปลาคู่ – ราศีมีน | |
Aries | แกะ – ราศีเมษ | |
Taurus | กระทิง, วัว, ธง – ราศีพฤษภ | Aldebaran – ดาวตาวัว |
Gemini | คนคู่ – ราศีเมถุน | Pollux, Caster |
Cancer | ปู – ราศีกรกฎ | |
Leo | สิงห์ – ราศีสิงห์ | Regulas – ดาวหัวใจสิงห์ |
Virgo | หญิงสาว – ราศีกันย์ | |
Libra | ตาชั่ง – ราศีตุลย์ | |
Scorpio | แมงป่อง – ราศีพิจิก | Antares – ดาวปาริชาต |
Sagittarius | คนยิงธนู – ราศีธนู | |
Aquila | นกอินทรี | Altair – ดาวตานกอินทรี |
Auriga | สารถี | Capella |
Bootes | คนเลี้ยงสัตว์ | Arcturus – ดาวดวงแก้ว |
Canis Major | สุนัขใหญ่ | Sirius – ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า |
Canis Minor | สุนัขเล็ก | Procyon |
Carina | กระดูกงู | Canopus |
Cassiopeia | ค้างคาว (บัลลังก์ราชินี) | |
Centaurus | คนครึ่งม้า | Rigil Kentaurus, Hadar |
Crux | กางเขนใต้ | Acrux, Mimosa |
Cygnus | หงส์ | Deneb – ดาวหางหงส์ |
Lyra | พิณ | Vega |
Orion | นายพราน, เต่า, ไถ | Betelgeuse, Rigel |
Pegasus | ม้าบิน | |
Perseus | (วีรบุรุษ) | Algor |
Ursa Major | หมีใหญ่, จระเข้, กระบวย | |
Ursa Minor | ดาวหมีเล็ก | Polaris – ดาวเหนือ |
อัน นี้แค่เริ่มต้นสำหรับมือใหม่ครับ ตามประกาศอย่างเป็นทางการของ International Astronomical Union (IAU) มีหมู่ดาวบนท้องฟ้าทั้งหมด 88 หมู่ดาว ยังเหลือให้ดูอีกเยอะครับ ^-^ .. นอกจากดาวและหมู่ดาวแล้ว เราอาจจะได้เห็นกระจุกดาว ดาราจักร วัตถุท้องฟ้าอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น ดาวลูกไก่ (Pleiades) .. ดาวลูกไก่เป็นกระจุกดาวแบบเปิด (Open cluster) มองด้วยตาเปล่าจะเห็นดาวราว 6-7 ดวง..จริงๆ แล้วกระจุกนั้นมีหลายสิบดวงเลยล่ะ ขนาดกระจุกดาวลูกไก่ประมาณ 1 – 2 องศา ใช้กล้องส่องทางไกลดูก็ได้ครับ ภาพไม่ล้นออกนอกกล้อง (กล้อง 7×50 มม. มีพื้นที่ในการมองเห็นราวๆ 7 องศา) ดาวนายพรานก็เป็นอีกจุดที่ใช้กล้องส่องทางไกลได้ จุดที่น่าสนใจคือบริเวณฝักดาบของนายพรานที่เป็นดาวเรียงลงมาสามดวง ตรงดวงที่สองจะมีเนบิวลาที่ค่อนข้างสว่างชื่อ Orion nebula ถ้าใช้กล้องส่องทางไกลก็อาจจะเห็นเป็นฝ้าขาวๆ .. อืมม วัตถุท้องฟ้าหลายๆ อันที่เค้าถ่ายภาพมาจะมีสีสวยๆ นะครับ อย่าง Orion Nebula จะมีสีแดง-ม่วง แต่ถ้ามองด้วยจะเห็นเป็นขาวดำครับเพราะตามนุษย์ไม่ไวแสงมากพอจะเห็นเป็นสี พวกฟิล์มถ่ายภาพนั่นเปิดรับแสงได้นานเท่าที่ต้องการจึงได้ภาพที่มีสีสันสวยๆ .. อีกอันที่น่าจะมีโอกาสได้เห็นคือกาแล็กซีแอนโดรมีด้า ขนาดประมาณ 2 องศากว่าๆ ค่อนข้างสว่าง ถ้าท้องฟ้าไม่มีเมฆ อยู่ที่มืดๆ ใช้กล้องส่องทางไกลเห็นแน่ๆ ครับ แอนโดรมีด้าอยู่ที่ตำแหน่ง R.A. 0 hr 43 m. Dec 41.19 Deg. กะคร่าวๆ ก็ประมาณตรงกลางระหว่างหมู่ดาวปลาคู่ กับ Cassiopeia ..
เอาล่ะครับ ฉบับนี้คงพอเท่านี้ก่อน ฉบับหน้าจะมาว่ากันในเรื่องของกล้องดูดาว และการใช้งาน ใครที่สนใจจะเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ^-^ ..