หลังจากหายหน้าหายตาไปนาน วันนี้น้องมิ้นท์ออกมาอาละวาดอีกแล้ว หุๆๆ.. ที่จริงก็ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ เป็นเพราะ อ.จิ๊ก บังคับให้น้องมิ้นท์ไปอ่านเรื่องควอนตัม ตอนที่แกเขียนบทความเรื่องก่อน น้องมิ้นท์ก็ค้นไปเรื่อย เจออะไรน่าสนใจมากมาย ก็เลยจะเอามาเล่าให้ฟังค่ะ ที่ผ่านมาเห็น อ.จิ๊กยุ่งๆ เรื่องสอบๆ ติวๆ ด้วย ก็เลยเขียนบทความแทนซะเลย แต่ที่แน่ๆ บทความเที่ยวนี้ไม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เลยค่ะ เหอะๆๆ .. แหม.. เป็นนักคอมพิวเตอร์ไม่จำเป็นต้องสนใจแต่เรื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียวนี่คะ .. อ่านอย่างอื่นมั่งก็ได้น่า.. บทความเที่ยวนี้ส่วนมากอ้างอิงมาจากหนังสือเล่มนึงค่ะ เขียนโดยนักฟิสิกส์ทฤษฎีชื่อ สตีเฟน ฮอว์กิ้ง .. โอ๊วว.. ใครหว่า.. เอ่อ.. น้องมิ้นท์ไม่รู้จะบอกว่าเป็นใครดี ไม่ใช่ญาติกันซะด้วยสิ.. แหะๆๆ แต่เอาเป็นว่า ในวงการฟิสิกส์ทฤษฎียกย่องให้ฮอว์กิ้งเป็นคนที่ปราดเปรื่องที่สุดต่อจาก ไอน์สไตน์ .. นี่..สุดยอดมั้ยล่ะ .. อยากรู้จักก็ ดูรายละเอียดข้างล่างละกันค่ะ น้องมิ้นท์ว่าเค้าเก่งที่สามารถอธิบายเรื่องยากสุดๆ ด้วยภาษาที่มนุษย์ตาดำๆ อย่างน้องมิ้นท์เข้าใจได้ (แต่กว่าจะรู้เรื่องก็อ่านไปหลายรอบเหมือนกันค่ะ).. หนังสือที่ว่านี่ก็คือ “The Brief History of Time: From the Big Bang to Black Holes” เป็นหนังสือที่ขายดีมาก และได้รับการยกย่องว่าอธิบายการกำเนิดเอกภพได้ดีที่สุดหลังยุคของไอน์สไตน์ ..ถ้าสนใจจริงๆ ก็ลองหาอ่านดูนะคะ ..ดีจริงๆ นะจะบอกให้.. แต่ก็นั่นล่ะค่ะ น้องมิ้นท์ก็ไม่ได้เรียนฟิสิกส์เยอะแยะหรอกนะคะ เกรดวิชาฟิสิกส์ก็ไม่ดีเท่าไหร่ .. ถ้าใครอ่านเจอที่ผิดก็บอกๆ มาด้วยนะคะ..แหะๆๆ …เอาล่ะค่ะมาเริ่มกันดีกว่านะ..
สตีเฟน วิลเลี่ยม ฮอว์กิ้ง (Stephen William Hawking) ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ลูคาเซียน (Lucasian Professor) ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษค่ะ (สมัย เซอร์ ไอแซค นิวตัน ยังมีชีวิตก็อยู่ในตำแหน่ง Lucasian Professor นี้ล่ะค่ะ) ฮอว์กิ้งมีชื่อเสียงในวงการฟิสิกส์จากการที่สามารถพิสูจน์การกำเนิดของเอกภพ โดยใช้พื้นฐานจากทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป ฮอว์กิ้งป่วยเป็นโรคทางประสาทที่เรียกว่า Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) หรือ Lou Gehrig’s Disease ค่ะ ทำให้เค้ากลายเป็นคนพิการ ไม่สามารถเดิน หรือแม้แต่ออกเสียงพูดได้ถูกต้อง แต่ความพิการของฮอว์กิ้งไม่ได้ลดทอนความสามารถและสติปัญญาของเขาลงเลย ปัจจุบันฮอว์กิ้งใช้ชีวิตบนรถเข็น และใช้เครื่องช่วยพูดได้อย่างคล่องแคล่ว เค้าเป็นคนมีอารมณ์ขันเสมอ อาจเป็นเพราะอารมณ์ขันนี้เอง ที่ทำให้ฮอว์กิ้งมีอายุยืนจนเป็นสถิติทางการแพทย์ของโรคนี้ .. ครั้งนึง ลาร์รี่ คิง (Larry King) ถามฮอว์กิ้งขณะออกรายการวาไรตี้ Larry King Live ว่า “What, Professor, puzzles you the most? What do you think about the most?.” ฮอว์กิ้งตอบสั้นๆ ว่า “Women”.. เหอะๆๆ …คิดดู ..ขนาดฮอว์กิ้งยังยอมแพ้เลย…^^”
การศึกษาโลกของเรา
เราคง เคยเรียนกันมาแล้วว่า อดีตมีคนพยายามอธิบายว่าโลกมีลักษณะเป็นยังไง .. จำได้มั้ยคะว่าสมัยก่อนโน้นเชื่อกันว่าโลกแบนเป็นแผ่นกลมๆ (บางคนว่าแผ่นนี้วางอยู่บนหลังของเต่ายักษ์อีกที ^^”) ต่อมาอริสโตเติล (Aristotle) ก็พบว่าจริงๆ โลกไม่ได้แบน แต่เป็นทรงกลม โดยสังเกตจากเงาของโลกบนดวงจันทร์เวลาเกิดจันทรุปราคา ซึ่งจะมีลักษณะกลมเสมอ นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผล จากการสังเกตเสากระโดงเรือเวลาเรือแล่นเข้าฝั่ง แต่อริสโตเติลก็ยังเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ มีดาวอื่นๆ วนรอบ เป็นวงกลม หมายถึงกลมโดยสมบูรณ์จริงๆ นะคะ แบบว่า ..กล๊มกลม..น่ะ .. พโทเลมี (Ptolemy) ก็สนับสนุนแนวคิดของ อริสโตเติล แต่เปลี่ยนจากวงกลมเป็นทรงกลมครอบโลกเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นก็เป็นที่อยู่ของดาวแต่ละดวง ไล่ตั้งแต่ดวงจันทร์ ไปจนถึงชั้นนอกสุดซึ่งเป็นที่อยู่ของดาวฤกษ์อยู่ ทฤษฎีของพโทเลมีแม้จะไม่ค่อยดีนัก แต่เป็นที่ยอมรับกันเพราะว่าเรื่องของศาสนาเป็นสำคัญ เนื่องจากรูปแบบของเอกภพที่พโทเลมีเสนอ ทำให้มีที่ว่างมากพอสำหรับคำว่านรกและสวรรค์ล่ะค่ะ ต่อมาในปี 1514 โคเปอร์นิคัส (Copernicus) เผยแพร่แนวความคิดว่าดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของระบบ มีโลกและดาวเคราะห์โคจรไปรอบๆ แต่ด้วยความกลัวว่าจะถูกลงโทษ โคเปอร์นิคัสจึงเผยแพร่โดยไม่ลงชื่อจริง (โคเปอร์นิคัสเป็นนักบวชค่ะ สมัยนั้นศาสนามีอิทธิพลสูงมากต่อวงการวิทยาศาสตร์) อีกร้อยปีต่อมา โจฮัน เคปเลอร์ (Johannes Kepler) กับ กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) ถึงเอาทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสมาศึกษาจริงๆ จังๆ และพบว่าทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสมีความถูกต้องมาก จนสามารถคำนวณตำแหน่งของดาวเคราะห์ได้ใกล้เคียงกับการสังเกตจริง ทำให้ความเชื่อตามแบบของอริสโตเติลกับพโทเลมี เริ่มเสื่อมลง เคปเลอร์ค้นพบว่าวงโคจรจริงๆ ไม่ได้เป็นวงกลมสมบูรณ์แต่เป็นวงรีซึ่งทำให้การคำนวณตำแหน่งดวงดาว เริ่มตรงกับการสังเกตมากขึ้นไปอีก แต่เขาก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมดาวเคราะห์จึงเคลื่อนที่รอบดวง อาทิตย์..ในที่สุด ในปี 1687 แอ๊ปเปิลหล่นใส่หัว เซอร์ ไอแซค นิวตัน (Sir Issac Newton) ก็เลยได้คำตอบ นิวตันก็เลยตีพิมพ์หนังสือ “The Principia” อธิบายสาเหตุของการเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์ว่าเป็นเพราะแรง โน้มถ่วง (Gravity) ระหว่างวัตถุในเอกภพ ซึ่งแปรผันตรงกับมวลของวัตถุนั้นน่ะเอง .. ที่จริงเรื่องแอ๊ปเปิลหล่นใส่หัวนี่ว่ากันว่าไม่จริงแหล่ะค่ะ ที่ถูกน่าจะเป็นว่า นิวตันมักไปนั่งคิดอะไรเงียบๆ ตอนกลางคืน แล้วบางครั้งก็จะได้ยินเสียงแอ๊ปเปิลหล่นลงมา..
จุดเริ่มของการศึกษาเอกภพ
ก่อน ศตวรรษที่ 20 เชื่อกันว่าเอกภพถูกสร้างมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีใครเคยคิดว่าเอกภพมีชะตากรรมยังไง มีขอบเขตที่แน่นอนหรือไม่ เกิดมาได้ยังไง และจะสิ้นสุดยังไง? แต่จากทฤษฎีของนิวตันและเหตุผลที่น่าเชื่อถือของนักปรัชญาหลายๆ คน ทำให้สามารถบอกได้ว่าเอกภพน่าจะมีขอบเขตที่แน่นอน ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเอกภพเกิดขึ้นจริงๆ ในปี 1929 ค่ะ..ตอนนั้น เอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) ค้นพบว่าดาราจักร (Galaxy) เคลื่อนที่ห่างออกจากเราไม่ว่ามองไปทิศไหน ยิ่งไกล ก็ยิ่งเคลื่อนที่ออกไปเร็วขึ้น (ที่จริงผลที่ฮับเบิลได้จริงๆ ก็คือ spectrum ของดาราจักรเคลื่อนไปในทางสีแดง ที่เรียกว่า red shift ล่ะคะ ก็เลยแปรความหมายได้เป็นอย่างนั้น .. เอ..จำ Doppler effect ได้มั้ยคะ ? คำอธิบายนี้ก็ได้มาจาก Doppler effect น่ะแหละค่ะ) นั่นแสดงว่าเอกภพกำลังขยายตัวไงคะ..โอ๋ว .. งั้นก็แปลว่าก่อนหน้านี้ซักหลายๆ ล้านปีเอกภพทั้งหมดย่อลงมาเหลือเท่าจุดๆ เดียว ทำให้ความหนาแน่นของเอกภพขณะนั้นเป็นอนันต์ อันวา.. ตะลึง ตึงๆ .. อ้าว..ไม่ใช่ๆๆ ..แหะๆๆ .. อนันต์ = infinity น่ะค่ะ .. ฮับเบิลยังเชื่อว่าภาพของเอกภพจะเป็นอย่างนี้เสมอถึงแม้จะย้ายไปสังเกตที่ จุดอื่นๆ .. ความเชื่อนี้ได้รับการยืนยันโดยการสังเกตการแผ่รังสีของไมโครเวฟ (Microwave background radiation) ของอาโน เพนเชียส (Arno Penzias) และ โรเบิร์ต วิลสัน (Robert Wilson) สองนักฟิสิกส์แห่ง Bell Labs. ซึ่งตรวจพบการแผ่รังสีของไมโครเวฟโดยบังเอิญในปี 1965 ทีแรกทั้งสองคิดว่าเป็นคลื่นรบกวนธรรมดาจากการส่งสัญญาณในโลก แต่ก็สังเกตพบว่าคลื่นนี้มีลักษณะเหมือนกันตลอดเวลาและมาจากทุกทิศทาง ไม่ว่าจะหันจานวัดไปด้านไหนก็ได้สัญญาณลักษณะเดียวกัน ทั้งสองจึงเชื่อว่าคลื่นนี้มาจากนอกโลกแน่นอน หรือไม่ก็นอกดาราจักรเลยล่ะค่ะ ก็เลยทำให้รู้ว่าถ้ามองในมุมกว้างๆ “เอกภพมีลักษณะเหมือนกันไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ตาม”
การค้นพบเรื่องเอกภพขยายตัวเป็นจุดเริ่มของการตามล่าหาความจริงว่าเอกภพเกิด ขึ้นเมื่อไหร่ เค้าตั้งให้จุดกำเนิดนั้นเรียกว่า “บิ๊กแบง” (Big Bang) หรือการระเบิดใหญ่ค่ะ.. ทฤษฎีบิ๊กแบงในปัจจุบันเริ่มมาจากโมเดลของ จอร์จ กาโมว์ (George Gamow) ในปี 1946 กาโมว์เสนอโมเดลบิ๊กแบงเป็นจุดของพลังงานความหนาแน่นสูงมากๆ จนเป็นอนันต์ เรียกว่าเป็นทฤษฎีบิ๊กแบงร้อน (Hot Big Bang Theory) ในสภาวะที่ความหนาแน่นเป็นอนันต์ กฏทางวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถนำมาทำนายอะไรได้เลย ไม่สามารถบอกว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร และไม่สามารถหาย้อนกลับไปได้ว่าก่อนหน้าบิ๊กแบงเกิดอะไรขึ้นบ้าง ที่บิ๊กแบงจึงเป็นเหมือนจุดที่ ความสัมพันธ์ทุกอย่างถูกตัดออกจากกัน ไม่ว่าอนุภาค กาล-อวกาศ จะหายไปหมดเลยค่ะ..ที่สำคัญก็คือบิ๊กแบงเป็น “จุดที่เราเริ่มนับวินาทีที่ 0 ของเอกภพที่เราอยู่” ล่ะค่ะ ทฤษฎีบิ๊กแบงได้รับการยืนยันอีกครั้งด้วยการสังเกตภาพของเอกภพในปี 1992 โดยดาวเทียม COBE ของ NASA ปัจจุบันนักฟิสิกส์ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเอกภพของเราเริ่มที่บิ๊กแบงเมื่อ ประมาณ 15,000 ล้านปีก่อนโน้น
อืมม..หลังจากพบว่าเอกภพขยายตัวมาจาก บิ๊กแบง ทีนี้ก็เลยมีปัญหาถัดมาว่า มันจะขยายไปถึงไหน จะขยายไปไม่สิ้นสุด (1) ขยายจนถึงขนาดนึงแล้วคงที่ไปตลอด (2) หรือจะหดตัวกลับมา (3) ?.. นักฟิสิกส์ให้คำตอบไว้ว่าอยู่ที่อัตราการขยายตัวค่ะ ถ้าอัตราการขยายตัวสูงจนเกิดค่าวิกฤตก็จะไม่สามารถหดตัวกลับมาได้ มีนักฟิสิกส์เก่งๆ หลายคนเชื่อว่า เอกภพจะหดตัวลงและกลายเป็นจุดอีกครั้ง จุดที่เอกภพหดตัวจะเรียกว่าเป็น “บิ๊กครั้นช์” (Big Crunch) ค่ะ อย่างไรก็ตาม
ปัจจุบันเท่าที่เรารู้เอกภพขยายตัวในอัตราเกือบเท่ากับ ค่าวิกฤต นักฟิสิกส์พบว่า เรายังมีมวลไม่มากพอที่จะหยุดการขยายตัวได้ มวลที่สังเกตได้มีไม่ถึง 1% ที่จะทำให้เอกภพหดตัว แม้รวมวัตถุดำแล้วก็ยังไม่ถึง 10% แต่ก็เป็นไปได้ว่าเรายังไม่ค้นพบอนุภาคอื่นๆ ในเอกภพที่ทำให้มีมวลรวมมากกว่านี้
กาล-อวกาศและทฤษฎีสัมพันธภาพ
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์อธิบายเอกภพโดยใช้ 2 ทฤษฎีคือทฤษฎีสัมพันธภาพแบบทั่วไป (General Theory of Relativity) และทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) ค่ะ .. แต่ทั้งสองอย่างเอาไว้อธิบายวัตถุขนาดต่างกันค่ะ เสียดายที่ไม่สามารถเอาทฤษฎีนึงมาอธิบายแทนอีกอันหนึ่งได้เลย ทฤษฎีสัมพันธภาพสามารถใช้กับวัตถุขนาดใหญ่ๆ ตั้งแต่ไม่กี่กิโลเมตร จนถึงขนาดของเอกภพ (ประมาณ 10 ยกกำลัง 24 กิโลเมตร) ค่ะ.. แต่กลศาสตร์ควอนตัมจะใช้กับขอบเขตที่เล็กมากๆ ระดับอะตอมโน่นแน่ะค่ะ ก่อนที่จะมีสองทฤษฎีนี้ นักดาราฟิสิกส์ในสมัยก่อนพบปัญหาเรื่องการเคลื่อนที่ตามทฤษฎีของนิวตัน ซึ่งทำให้การคำนวณตำแหน่งดาวยังไม่เที่ยงตรง เนื่องจากไม่มีอะไรในเอกภพที่อยู่นิ่งตลอดเวลา ทุกอย่างเคลื่อนที่ไปหมด.. อืมม .. พูดถึงเวลา ปัญหาอีกจุดนึงของการเคลื่อนที่ตามแบบของนิวตันก็คือการยึดว่าเวลาเป็นสิ่ง สากลและสมบูรณ์ เวลา 1 วินาทีของทุกคนต้องเท่ากันเสมอ ไม่ว่าจะวัดเมื่อไหร่ก็ตาม ..แต่แล้วอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ก็พบว่าความเชื่อเรื่องเวลาสากลไม่เป็นความจริง ไอน์สไตน์เสนอว่าอนุภาคแต่ละอันมีเวลาเป็นของตัวเอง ..หือ..แปลว่าอะไรเนี่ย ? ก็แปลว่า 1 วินาทีของน้องมิ้นท์ กับ 1 วินาทีของคนอื่นๆ จะไม่เท่ากันเสมอไป ตามที่ไอน์สไตน์เสนอสิ่งที่เป็นสากลจริงๆ คือ “ความเร็วแสง” ค่ะ..เอ.. ยกตัวอย่างดีกว่า ในทฤษฎีของนิวตัน ถ้าคนสองคนสังเกตการเคลื่อนที่ของแสงจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง จะได้ว่าทั้งสองจะวัดเวลาได้เท่ากันแต่เพราะทั้งสองคนอยู่คนละตำแหน่งกันก็ จะได้ระยะทางที่ต่างกันค่ะ พอได้ระยะไม่เท่ากันก็เลยได้ความเร็วแสงไม่เท่ากัน ทีนี้ไอน์สไตน์เสนอว่าที่จริงแสงมีความเร็วคงที่เสมอ.. ถ้าระยะทางไม่เท่ากันสิ่งเดียวที่จะทำให้ความเร็วแสงมีค่าคงที่ได้ก็คือ “เวลา” ค่ะ.. เวลาที่วัดได้ของทั้งสองคนจะต้องไม่เท่ากัน อันนี้ล่ะค่ะคือที่มาของทฤษฏีสัมพันธภาพ ไอน์สไตน์เคยพูดไว้ว่า “When you are courting a nice girl an hour seems like a second. When you sit on a red-hot cinder a second seems like an hour. That’s relativity.” ..เหอะๆๆ ไม่แปลล่ะนะคะ.. แต่ความหมายก็คือเวลาของเราไม่ได้เดินอย่างสม่ำเสมอค่ะ 1 วินาทีในกรอบอ้างอิงอันนึงอาจจะไม่นานเท่ากับ 1 วินาทีของอีกกรอบนึงก็ได้.. ไอน์สไตน์บอกว่าแสงหรือโฟตอน (Photon) เป็นอนุภาคที่เคลื่อนที่เร็วที่สุด ไม่มีอะไรที่เคลื่อนที่ได้เร็วกว่านี้อีกแล้ว ความเร็วแสงจะคงที่เสมอ.. เวลาของวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้กับความเร็วแสงจะเดินช้าลง ยิ่งความเร็วใกล้แสงมากเท่าไหร่เวลายิ่งช้าลงมากเท่านั้น มีการทดลองจริงๆ โดยใช้นาฬิกาอะตอมซึ่งถือว่าเป็นนาฬิกาที่เที่ยงตรงที่สุดมาเป็นตัววัด เค้าเอานาฬิกาอะตอมมาสองเรือน อันนึงไว้บนพื้นโลก อีกอันเอาขึ้นยานอวกาศที่ส่งไปนอกโลก เสร็จแล้วเอาเวลาที่วัดได้บนนาฬิกาอะตอมสองเรือนมาเปรียบเทียบกัน ผลที่ได้ก็คือนาฬิกาบนยานอวกาศเดินช้ากว่านาฬิกาบนโลกอยู่นิดนึงค่ะ ซึ่งถูกต้องตามการคำนวณที่ทำนายไว้ตอนแรกโดยสมการของไอน์สไตน์ ..เพราะการค้นพบของไอน์สไตน์นี่เองที่ทำให้กฏการเคลื่อนที่ของนิวตันต้องมี การปรับเปลี่ยนจาก F = ma เป็น F = ma + d โดย d เป็น factor ที่ใช้ปรับค่าเมื่อเคลื่อนที่เร็วใกล้ความเร็วแสงค่ะ .. สูตรเดิมจะใช้ได้ในกรณีการเคลื่อนที่ช้ากว่าแสงมากๆ เท่านั้นค่ะ .. ที่น่าสนใจอีกอย่างคือผลของแรงโน้มถ่วงกับเวลาล่ะค่ะ บริเวณที่แรงโน้มถ่วงมากๆ เวลาเดินช้ากว่าบริเวณที่มีแรงโน้มถ่วงน้อยๆ ล่ะค่ะ .. เค้าเปรียบเทียบว่าสมมติมีแฝดสองคนเกิดเวลาเดียวกันเป๊ะ แต่แยกให้คนนึงอยู่บนภูเขา คนนึงอยู่บนที่ราบ อายุของคนที่อยู่บนภูเขาจะน้อยกว่าคนที่อยู่บนพื้นราบค่ะ แต่นี่แค่เปรียบเทียบนะคะ ไม่ต้องพยายามย้ายบ้านขึ้นไปอยู่บนภูเขาล่ะ เพราะจริงๆ แล้วเวลาที่ต่างมันน้อยมากๆ ค่ะ ..
จะว่าไปแล้วแสงก็ไม่ ได้เร็วอะไรมากมายเลยเนาะ เราจะพบขีดจำกัดของความเร็วแสงบ่อยๆ ถ้าระยะทางห่างกันมากๆ อย่างแสงจากดวงอาทิตย์กว่าจะมาถึงโลกก็ตั้ง 8 นาทีกว่าๆ แล้วค่ะ .. นานเอาเรื่องนะคะน่ะ .. ใครได้ดูหนังเรื่อง Mission to Mars ก็จะรู้ว่าขนาดแสงยังต้องใช้เวลาเป็นสิบนาทีจากดาวอังคารกว่าจะมาถึงโลก การสื่อสารแบบโต้ตอบกันไม่มีทางเป็นไปได้เลยล่ะค่ะ ..แหมขอเม้าท์หน่อยๆๆ เรื่อง Mission to Mars นี่ใครได้ดูจับผิดตรงไหนได้มั่งมั้ยคะ น้องมิ้นท์ไปดูมาจับผิดได้หลายที่เหมือนกันค่ะ ออกมาจากโรงหนังแล้วมองหน้ากันทั้งยิ้มทั้งบ่น.. บางฉากเห็นแล้ว OK ก็ยิ้มได้ ..บางฉากขัดตากรรมการน่าดู คือ..ที่เห็นในหนัง มันผิดไปจากความเป็นจริงน่ะค่ะ..อ.จิ๊กดูไปก็บ่นไป “น่าน..เอาแล้วมั้ยล่ะ จำฉากนี้ไว้นะ” แล้วก็หันไปหัวเราะ หึๆๆ กับ HAL9000 …ส่วน HAL9000 เห็นบางฉากแล้วเอามือกุมหัวเลยค่ะ ..บ่นว่า “เฮ้ยย..มันไม่ใช่แบบนี้ๆๆ” ..เหอะๆๆๆ…ก็แหม..ดูหนังสนุกๆ น่อไม่ได้ดูสารคดี จะเอาอะไรนักหนา..^^”
….เอ้า..กลับมาเรื่องของแสงต่อค่ะ.. เป็นเพราะว่าเหตุการณ์ใดๆ จะปรากฏกับเราเมื่อแสงเดินทางจากเหตุการณ์นั้นมาถึงเรา ดังนั้นไม่ว่ากรณีไหนๆ เราก็จะรู้หลังจากเหตุการณ์นั้นเกิดไปแล้วระยะเวลาหนึ่งเสมอค่ะ ..หือ ?? .. ก็หมายความว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตน่ะสิ ?… เย้..ใช่แล้วค่ะ.. เนี่ย..เราเห็นแต่อดีตทั้งนั้นเลยล่ะคะ .. แต่เป็นเพราะนิยามของคำว่า “ปัจจุบัน” ในชีวิตประจำวันของเรามันกว้างมากกก..ก ..เหตุการณ์ส่วนใหญ่ก็เลยอนุโลมว่า มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน .. เพราะเรื่องที่ว่าทุกอย่างที่เราเห็นเป็นอดีต ก็เลยมีแนวคิดเรื่อง “กรวยแสง” (Light cone) ขึ้นมา เหมือนเวลาเราโยนก้อนหินลงน้ำ จะเกิดคลื่นเป็นวง ยิ่งเวลานานวงนั้นก็จะขยายออกไปเรื่อยๆ .. กรวยแสงก็เช่นเดียวกันค่ะ มันจะมียอดกรวยที่เหตุการณ์ใดๆ ที่เราต้องการสังเกตหรือไม่ก็เอาเวลาปัจจุบันเป็นจุดอ้างอิง เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ปากกรวยก็จะขยายออกกว้างขึ้น ซึ่งหมายถึงว่าเราจะสังเกตผลของเหตุการณ์ได้มากขึ้น เราเรียกกรวยแสงแบบนี้ว่า “กรวยแสงในอนาคต” ค่ะ
ผลกระทบของเหตุการณ์ ในปัจจุบันทั้งหมดจะปรากฏอยู่ภายในกรวยแสงอนาคตเสมอ สิ่งที่อยู่นอกกรวยคือสิ่งที่เราสังเกตไม่ได้ เพราะแสงยังเดินทางมาไม่ถึงเราในเวลานั้นไงคะ เราก็เลยสังเกตไม่พบอะไร เราต้องรอจนกว่าปากกรวยจะกว้างพอที่จะคลุมเหตุการณ์นั้นไว้ค่ะถึงจะพบ เหตุการณ์นั้น.. นอกจากกรวยแสงในอนาคตก็มีกรวยแสงในอดีตด้วยค่ะ กรวยแสงในอดีตมียอดกรวยที่ปัจจุบันแล้วปากกรวยอยู่ในอดีต เป็นกรวยที่รวมเหตุการณ์ทั้งหมดที่สามารถกระทบถึงปัจจุบันได้ล่ะค่ะ.. อย่างในรูปสมมติให้อวกาศมีสองมิติ (x กับ y) และมีแกนเวลา (t) จุดตัดของแกนเป็นเวลาที่แสงอาทิตย์เดินทางมาหาโลกค่ะ .. แต่โลก (จุดฟ้าๆ ) อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในแกน x ประมาณหนึ่ง ก็เลยต้องรอจนเวลา t = 8 นาทีกว่าๆ โลกถึงจะเข้าสู่กรวยแสงของเหตุการณ์ที่แสงอาทิตย์เดินทางมาถึงโลกค่ะ
ย้อนมาหาไอน์สไตน์อีกหน่อย .. ในครั้งแรกที่ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพในปี 1905 ยังไม่ได้รวมเอาผลกระทบของแรงโน้มถ่วงมาคำนวณด้วย จึงเรียกสิ่งที่ค้นพบว่าเป็นทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษ (Special Theory of Relativity) ค่ะ ใช้คำนวณในกรณีที่ไม่มีแรงโน้มถ่วงมาเกี่ยวข้อง.. ตลอดช่วงปี 1908 – 1914 ไอน์สไตน์พยายามรวมทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษกับกฏแรงโน้มถ่วง โดยเสนอว่าการเคลื่อนที่ของวัตถุใด้จะเป็นไปตามจีออเดสิก (Geodesic) เสมอ ..น่าน..ศัพท์ใหม่อีกแล้ว…อืมม..จีออเดสิกคือระยะที่สั้นที่สุดของจุดสอง จุดค่ะ อย่างการเดินทางโดยเครื่องบินก็จะไปตามจีออเดสิกบนพื้นโลก เพราะเป็นระยะที่สั้นที่สุดทีนี้โลกเคลื่อนที่รอบดาวอาทิตย์ก็เป็นเส้นตรง ตามจีออเดสิกในสี่มิติ (กาล-อวกาศ: Space-Time) ค่ะ เพียงแต่มันปรากฏเป็นเส้นโค้งในอวกาศสามมิติอย่างที่เราเห็น (อย่างในวิชา Computer Graphics ก็ยังพูดถึงมิติที่สี่ว่าเป็นความโค้งในระบบโคออดิเนต สามมิติ .. น้องมิ้นท์เคยเขียนสมการพิสูจน์เรื่องนี้มาแล้ว โฮ่ๆๆ) .. ที่พูดถึงจีออเดสิกก็เพราะว่า แสงก็เดินทางตามจีออเดสิกในกาล-อวกาศเหมือนกันค่ะ แต่แรงโน้มถ่วงจากมวลขนาดใหญ่ สามารถทำให้แสงเลี้ยวเบนเข้าหาได้ กรวยแสงจึงไม่ได้ราบเรียบแล้วล่ะค่ะ แต่จะบิดเพราะแรงโน้มถ่วง อย่างกรวยแสงของจุดที่อยู่ใกล้ๆ ดวงอาทิตย์จะโค้งเข้าในเล็กน้อย ทำให้คนบนโลกยังเห็นดาวบางดวงปรากฏอยู่ ทั้งที่ตำแหน่งจริงอยู่นอกระยะปรากฏไปแล้ว นอกจากนี้ไอน์สไตน์ยังพบว่าแรงโน้มถ่วงยังทำให้เวลาปรากฏช้าลง เพราะแสงถูกลดพลังงาน จากแรงโน้มถ่วง ความถี่จึงลดลง เวลาจึงถูกยืดออก การค้นพบเหล่านี้ในที่สุดก็ได้ตีพิมพ์เป็นทฤษฎีสัมพันธภาพแบบทั่วไปในปี 1915 ค่ะ
ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน
ในสมัยเดียวกับ ไอน์สไตน์ แมกซ์ พลังค์ (Max Planck) เสนอแนวคิดพื้นฐานของกลศาสตร์ควอนตัมเป็นครั้งแรกในปี 1900 พลังค์เสนอว่าพลังงานของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ได้เกิดอย่างต่อเนื่องแต่เกิด มาเป็นก้อนๆ เรียกว่า “ควอนตัม” หรือ “ควอนต้า” (Quantum or Quanta) ค่ะ.. และพลังงานนี้จะมากขึ้นถ้าความถี่ของคลื่นสูงขึ้นด้วย (จำได้มั้ยคะ E = hv ไงคะ..) ในเวลาไล่เลี่ยกัน เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบอร์ก (Werner Heisenberg) ก็ตั้งหลักความไม่แน่นอนขึ้นมา สาระสำคัญของหลักความไม่แน่นอน อยู่ตรงที่การทำนายตำแหน่งและความเร็วของวัตถุใดๆ ในอนาคตจำเป็นได้ตำแหน่งและความเร็วในปัจจุบันที่แม่นยำก่อน การหาตำแหน่งที่แม่นยำทำได้ไม่ยากค่ะ ก็ใช้แสงส่องไปที่วัตถุนั้นก็จะหาตำแหน่งได้ ซึ่งจะได้ค่าที่ละเอียดในระดับความยาวคลื่นของแสงที่ใช้ ถ้าใช้แสงความถี่สูง ความยาวคลื่นก็จะสั้น และใช้วัดค่าได้แม่นยำขึ้น ..แต่เมื่อใช้ความถี่สูงพลังงานก็จะเยอะน่ะสิคะ พลังงานนั้นก็จะไปรบกวนความเร็วของวัตถุที่ถูกวัดค่าอยู่ ดังนั้นความเร็วก็จะไม่เป็นค่าเดิมอีกต่อไปล่ะค่ะ.. ในขณะเวลาหนึ่งก็เลยวัดค่าได้แม่นยำจริงๆ เพียงค่าเดียว แล้วยิ่งวัดค่านึงได้แม่นยำเท่าไหร่ การวัดค่าอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นและทำให้ผิดพลาดมากขึ้น ไฮเซนเบอร์กยังพบว่า (ความไม่แน่นอนของตำแหน่ง x ความไม่แน่นอนของความเร็ว x มวลของอนุภาค) < ค่าคงที่อันหนึ่งเสมอ เค้าเรียกค่านั้นว่า “ค่าคงที่ของพลังค์” (Planck’s Constant: 6.6E-34 joule-seconds) ค่ะ.. และแล้วในปี 1920 ไฮเซนเบอร์ก, เออร์วิน ชโรดิงเกอร์ (Erwin Schrodinger), และ พอล ดิแร็ค (Paul Dirac) รวมกันตั้งกลศาสตร์แบบใหม่ที่เรียกว่า “กลศาสตร์ควอนตัม” โดยตั้งบนพื้นฐานของหลักความไม่แน่นอนของไฮเซนเบอร์กค่ะ ภายในกลศาสตร์ควอนตัม อนุภาคจะมีระดับของควอนตัมที่แน่นอน และค่านี้จะเป็นส่วนผสมของตำแหน่ง และความเร็วของอนุภาคนั้นล่ะค่ะ อย่างไรก็ตามกลศาสตร์ควอนตัมไม่สามารถให้คำตอบที่เป็นหนึ่งเดียวได้ แต่จะได้เป็นคำตอบที่เป็นไปได้หลายๆ อย่างและบอกได้ว่าแต่ละอย่างมีความน่าจะเป็นขนาดไหน แนวคิดแบบนี้ขัดใจไอน์สไตน์น่าดู เพราะกลศาสตร์ควอนตัมกำลังบอกกับเราว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความน่าจะ เป็นอันหนึ่ง เหมือนว่ามันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุมากกว่าจะมีที่มาที่ไปแน่นอน ไอน์สไตน์ได้พูดประโยคอมตะที่แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า
“พระเจ้าไม่เล่นโยนลูกเต๋า” (“God does not play dice”)
.. ไอน์สไตน์ใช้เวลาช่วงหลังๆ พิสูจน์ความไม่สมบูรณ์ของกลศาสตร์ควอนตัมโดยใช้ทฤษฎีสัมพันธภาพเป็นเวลานาน ทีเดียวค่ะ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ทุกวันนี้เรายอมรับทั้งว่า
สอง ทฤษฎีนี้มีความสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเอามารวมกันหรือใช้คำนวณแทนกันได้เลย.. ถึงแม้กลศาสตร์ควอนตัมจะแปลกประหลาดและขัดกับธรรมชาติที่เราสังเกต แต่ทฤษฎีกลับมีความถูกต้องมากจนใช้ทำนายปรากฎการณ์ต่างๆ ในระดับอะตอมได้ดี ความเจริญทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันก็ได้กลศาสตร์ควอนตัมนี่ล่ะค่ะ เป็นพื้นฐาน เพราะใช้ทำนายปรากฎการณ์การไหลของอิเล็กตรอนได้อย่างแม่นยำ
อนุภาคพื้นฐาน
คำ ถามเรื่องสสารมาจากไหนมีมาตั้งแต่สมัยกรีกแล้วค่ะ อริสโตเติลบอกว่าสสารมาจากส่วนประกอบของ ดิน น้ำ ลม และไฟ และยังบอกว่าสสารมีความต่อเนื่องจึงสามารถแบ่งย่อยได้อย่างไม่จำกัด แต่เดโมเครตุส (Democratus) คิดว่าสสารใดๆ มีองค์ประกอบมาจากสิ่งเล็กๆ ที่ไม่สามารถแยกย่อยได้อีกเรียกว่า อะตอมอส (Atomos ในภาษากรีกแปลว่า “แยกไม่ได้” ค่ะ)
ข้อ ถกเถียงนี้ยืดเยื้อมานานจนปี 1803 จอห์น ดาลตัน (John Dalton) คิดโมเดลของโมเลกุลว่า ประกอบมาจากอะตอม ซึ่งตอนนั้นเชื่อว่าเป็นอนุภาคพื้นฐานที่ไม่สามารถแยกย่อยได้อีก…แต่แล้ว เจ. เจ. ทอมสัน (J. J. Thomson) ก็พบว่าอะตอมประกอบด้วยอิเล็กตรอนซึ่งมีประจุเป็นลบ อิเล็กตรอนเบามากค่ะ มีมวลน้อยกว่า 0.1% ของอะตอมที่เบาที่สุด การค้นพบของทอมสัน ทำให้รู้ว่าเราสามารถแยกย่อยอะตอมได้ อะตอมจึงไม่ใช่อนุภาคพื้นฐานอีกต่อไป .. ต่อมาปี 1911 เออร์เนสต์ รัทเธอร์ฟอร์ด (Ernest Rutherford) ก็เสนอโมเดลของอะตอมที่มีนิวเคลียสเป็นประจุบวกล้อมรอบด้วยวงของอิเล็กตรอน สมัยนั้นเชื่อว่านิวเคลียสเป็นส่วนประกอบของโปรตอนที่เป็นประจุบวก กับอิเล็กตรอนที่เป็นประจุลบ แต่มีปริมาณไม่เท่ากัน นิวเคลียสมีขนาดนิดเดียวเองค่ะ ประมาณ 1/100000 ของอะตอม แต่ก็เป็นน้ำหนักเกือบทั้งหมดของอะตอมด้วย ความหนาแน่นของนิวเคลียสจึงสูงมาก… ในปี 1932 เจมส์ แชดวิค (James Chadwick) พบว่านิวเคลียสมีอนุภาคอีกอันหนึ่งคือนิวตรอน มีขนาดเกือบเท่าโปรตอน แต่ไม่มีประจุ … ตั้งแต่นั้นมา กว่า 20 ปีก็เชื่อกันมาตลอดว่า อิเล็กตรอน โปรตอน และนิวตรอนเป็นอนุภาคพื้นฐาน จนกระทั่งมีการทดลองยิงโปรตอนให้ไปชนโปรตอนอีกตัว ก็เลยได้พบว่านิวตรอนและโปรตอนประกอบด้วยสิ่งที่เล็กกว่าที่เรียกว่า “ควาร์ก” (Quark) ซึ่งนี้ตั้งขึ้นโดย เมอร์เรย์ เกลล์-แมนน์ (Murray Gell-Mann) เท่าที่ทราบในปัจจุบัน ควาร์กมีอย่างน้อยหกประเภทค่ะ คือ ขึ้น ลง บน ล่าง น่ารัก และ แปลก (6 flavors of quark: up, down, top, bottom, charmed, and strange) แต่ละอย่างยังมีสีต่างๆ กันอีกสามสีคือ แดง เขียว และน้ำเงิน .. ..เอ..ต้องบอกกันก่อนว่า ควาร์กเล็กมากๆๆๆๆ นะคะ ดังนั้นจริงๆ สีอะไรก็ไม่มีใครรู้หรอกค่ะ เพราะมันเล็กกว่าความยาวคลื่นแสงซะอีก การกำหนดสีของควาร์กมีประโยชน์ยังไงไว้ดูกันต่อไปค่ะ ส่วนชื่อที่ตั้งไว้หกชื่อก็เอาไว้เรียกกันง่ายๆ สำหรับควาร์กที่คุณสมบัติต่างกันเท่านั้นเองค่ะ ..โอ๊ะ.. เกือบลืมบอกไป…จากที่รู้ว่าโปรตอนประกอบด้วยควาร์ก ก็เลยมีการหาว่าอนุภาคอย่างโปรตอน หรือนิวตรอนประกอบด้วยควาร์กแบบไหนบ้าง ส่วนมากอนุภาคจะประกอบด้วยควาร์ก 3 ตัวค่ะ อย่างเช่น โปรตอน จะประกอบด้วยควาร์กขึ้นสองตัวกับควาร์กลงหนึ่งตัว นิวตรอนก็ประกอบด้วยควาร์กขึ้นหนึ่งตัวกับควาร์กลงสองตัวค่ะ
ปัญหา เรื่องการสังเกตอะตอมก็คือมันขนาดเล็กมากๆ มากกว่าแถบความยาวคลื่นของแสง ดังนั้นเราใช้แสงส่องเพื่อสังเกตอะตอมไม่ได้ค่ะ. ยังไงก็ไม่เห็นแน่ๆ แต่ว่าในกลศาสตร์ควอนตัมบอกไว้ว่า อนุภาคสามารถปฏิบัติตัวเป็นคลื่นได้ในบางครั้ง ในขณะที่อนุภาคปฏิบัติตัวเป็นคลื่นจะไม่มีตำแหน่งที่แน่นอนค่ะ แต่จะได้เป็นความน่าจะเป็นของตำแหน่งว่า น่าจะอยู่ตรงไหนด้วยสัดส่วนเท่าไหร่ (32-23-35 ..โอ๊ะ..แย่แล้ว ..ลืมตัว แหะๆๆ) ..ทีนี้ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดกับคลื่น อย่างเช่น การแทรกสอด ฯลฯ ก็เลยเกิดกับอนุภาคได้เหมือนกันล่ะค่ะ ดังนั้นการสังเกตอะตอมจึงสามารถทำได้โดยใช้อนุภาคพลังงานสูงมากๆ เพื่อให้ได้คลื่นที่มีความถี่สูงพอจะสังเกตอะตอมได้ หน่วยพลังงานของอนุภาคก็คือ อิเล็กตรอนโวลท์ (Electron-Volt: eV) ไงคะ.. แต่การสังเกตอะตอมต้องใช้พลังงานสูงมากเป็น MeV หรือ GeV หรือมากถึง TeV เชียวล่ะค่ะ.. เครื่องเร่งอนุภาคที่มีกำลังสูงสุดในปัจจุบันยังทำได้ราวๆ GeV เอง แต่ถึงอย่างนั้นก็เหอะ เปิดเครื่องเร่งอนุภาคให้ทำงานทีเอาไฟฟ้าไปเลี้ยงเมืองใหญ่ๆ ได้ทั้งเมืองเลยค่ะ..
คุณสมบัติอย่างนึงของอนุภาคคือจะมีสปิน (spin) เสมอ..สปินเป็นค่าที่บอกว่าอนุภาคนั้นมีการหมุนเป็นอย่างไรค่ะ.. สปิน 0 หมายถึงอนุภาคที่เป็นวงกลมบนพื้นสองมิติ ซึ่งมองเห็นเหมือนกันหมดไม่ว่าจะหมุนไปกี่รอบ สปิน 1 ก็เหมือนไพ่ A ค่ะ คือหมุนไพ่ 360 องศาแล้วจะได้ภาพเดิม สปิน 2 ก็จะเหมือนไพ่ขอบทั้งหลาย (K Q J) ซึ่งหมุนเพียง 180 องศาก็จะได้ภาพที่เหมือนเดิม .. ที่แปลกก็คืออนุภาคบางอันเช่นอิเล็กตรอนมีสปินเป็นเศษส่วนได้ด้วย เช่น สปิน 1/2 ซึ่งแปลว่าต้องหมุนสองรอบถึงจะได้ภาพเดิม .. หวา .. แปลกนะคะ น้องมิ้นท์ก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงเหมือนกัน เอาเป็นว่าเชื่อๆ ไปก่อนนะคะ .. อนุภาคสปิน 1/2 ได้รับการอธิบายจริงๆ จังๆ โดย พอล ดิแร็ค ทฤษฎีของดิแร็คเป็นคณิตศาสตร์ที่อธิบายได้ว่าทำไมอนุภาคบางอย่างถึงต้องมี สปินเป็น 1/2 หรือ 3/2 ซึ่งใช้ได้ทั้งในกลศาสตร์ควอนตัมและทฤษฎีสัมพันธภาพ เขาพยากรณ์ว่าอิเล็กตรอนควรมีคู่ของมันด้วย เราเรียกคู่ของอิเล็กตรอนว่าแอนตี้อิเล็กตรอน (Anti-electron) หรือโพสิตรอน (Positron) ซึ่งค้นพบกันจริงๆ ภายหลังในปี 1932 .. อืมม.. ทุกวันนี้เรารู้แล้วค่ะว่าอนุภาคจะมีคู่ปฏิอนุภาค (Anti-particle) อยู่ด้วย อนุภาคที่มีสปินเป็นจำนวนเต็มจะเป็นอนุภาคที่เป็นพาหะของแรงค่ะ ดังนั้น..เมื่ออนุภาคที่มีมวลปล่อยแรงออกมา จะหมายถึงการปล่อยอนุภาคที่เป็นพาหะออกมาซึ่งจะทำให้อนุภาคที่มีมวลสะท้อน กลับไปในทิศทางตรงข้าม
แรงในธรรมชาติ
เอาล่ะค่ะ..มาเรื่องของแรงกันบ้าง ในธรรมชาติมีแรงอยู่ 4 ประเภทค่ะ ตามนี้เลยนะคะ
- แรง โน้มถ่วง (Gravity) เป็นแรงดึงดูดเสมอ ไม่มีขั้ว เป็นแรงที่อ่อนที่สุดในบรรดาแรงทั้งสี่ ในทางกลศาสตร์ควอนตัมบอกว่าพาหะของแรงโน้มถ่วงเป็นอนุภาคสปิน 2 ที่ไม่มีมวลเรียกว่า “แกรวิตอน” (Graviton) ค่ะ .. เพราะแกรวิตอนไม่มีมวลก็เลยทำให้แรงโน้มถ่วงเป็นแรงระยะห่างมากๆ อย่างแรงโน้มถ่วงระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ก็เป็นการแลกเปลี่ยนแกรวิตอนนั่นเองค่ะ
- แรงแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetism) เป็นแรงที่กระทำต่ออนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าค่ะ..เป็นแรงที่แข็งกว่าแรงโน้ม ถ่วงมากๆ (อย่างกรณีอิเล็กตรอนสองตัวมีแรงแม่เหล็กไฟฟ้าแข็งกว่าแรงโน้มถ่วงประมาณ 10 ยกกำลัง 42 เท่าแน่ะค่ะ) อย่างไรก็ตามวัตถุขนาดใหญ่ๆ จะมีประจุบวกพอๆ กับประจุลบก็เลยหักล้างกันไปหมดทำให้มีแรงแม่เหล็กไฟฟ้าน้อย แต่ในระดับโมเลกุลแรงแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นแรงที่ยึดอิเล็กตรอนกับโปรตอนไว้ด้วย กันล่ะค่ะ แรงแม่เหล็กไฟฟ้าที่เป็นแรงดูดอาจจะอธิบายได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนอนุภาค สปิน 1 ไม่มีมวลที่เรียกว่า “โฟตอน” (Photon) ล่ะค่ะ
- แรงนิวเคลียร์ แบบอ่อน (Weak Nuclear Force) เป็นแรงที่ทำให้เกิดการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีค่ะ แรงนี้จะกระทำกับอนุภาคสปิน 1/2 ที่มีมวล แต่ไม่กระทำกับอนุภาคที่มีสปินเป็นจำนวนเต็มอย่างแกรวิตอนหรือโฟตอน การศึกษาระยะหลังโดย แอบัส ซาลัม (Abus Salam) และ สตีเวน ไวน์เบอร์ก (Steven Weinberg) สามารถรวมแรงนิวเคลียร์แบบอ่อนเข้ากับแรงแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ทั้งสองพบว่า นอกจากโฟตอนแล้วยังมีอนุภาคที่มีสปิน 1 อีกสามตัวค่ะ คือ W+, W- และ Z0 แต่ละตัวมีเนื้อสารราวๆ 100 GeV (หนักกว่าโปรตอนหรือนิวตรอนร้อยกว่าเท่าแน่ะค่ะ.. ทั้งโปรตอนและนิวตรอนมีเนื้อสารประมาณ เก้าร้อยกว่าๆ MeV เอง).. ในระดับพลังงานสูงๆ อนุภาคทั้งสามจะทำตัวเหมือนโฟตอนมากๆ แต่ในระดับพลังงานต่ำจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าอนุภาคทั้งสามมีมวลเยอะ
- แรง นิวเคลียร์แบบแข็ง (Strong Nuclear Force) เป็นแรงที่ยึดควาร์กในโปรตอนและนิวตรอน และยังยึดโปรตอนกับนิวเคลียสของอะตอมเข้าด้วยกันค่ะ อนุภาคที่เป็นพาหะเป็นอนุภาคสปิน 1 ชื่อว่า “กลูออน” (Gluon) ..แรงจะกระทำกับควาร์กและกลูออนด้วยกัน แรงนิวเคลียร์แบบแข็ง ค่อนข้างประหลาดตรงที่มีขอบเขตจำกัด คือว่าควาร์กจะอยู่โดดๆ ไม่ได้ค่ะ จะต้องรวมตัวกันให้ได้เป็นสีขาวเท่านั้น (จำได้มั้ยคะว่าควาร์กมีสามสี) การรวมตัวอาจจะเป็นแดง+เขียว+น้ำเงินก็ได้ค่ะ หรืออีกแบบจะเป็นควาร์ก+แอนตี้ควาร์ก (เช่น แดง+แอนตี้แดง) แต่การรวมตัวแบบนี้จะไม่เสถียรค่ะ อนุภาคที่ไม่เสถียรนี้เรียกว่ามีซอน (Meson) .. ทำนองเดียวกัน กลูออนก็มีสีและต้องรวมเป็นสีขาวให้ได้ ซึ่งอยู่ในสภาพเสถียรไม่ได้เหมือนกัน การรวมตัวแบบนี้เรียกว่า กลูบอล (Glueball) ค่ะ.. ในสภาพปกติแรงนิวเคลียร์แบบแข็งมีค่าเยอะมากจริงๆ ค่ะ มากที่สุดในบรรดาแรงทั้งสี่เลยล่ะ แต่ถ้าอยู่ในสภาวะพลังงานสูงแรงจะลดน้อยลงจนสามารถทำให้ทั้งควาร์กและกลูออน แยกเป็นอิสระได้เลย..
อืมม..แถมนิดนึงค่ะ..เท่าที่ทราบมา ปัจจุบันนี้เราค้นพบแรงที่ 5 แล้วค่ะ.. เป็นแรงต้านแรงโน้มถ่วง ที่เกิดบริเวณใกล้ผิวโลก.. แต่น้องมิ้นท์จำรายละเอียดไม่ได้ล่ะ ..แล้วก็ไม่ได้ตามไปอ่านด้วย ..ใครสนใจก็ลองหาอ่านดูนะคะ ใน web ก็น่าจะมี…แหะๆๆ
หลุมดำ สีดำจริงๆ น่ะ ..แล้วจะมองเห็นมั้ยเนี่ย ??
จะ พูดถึงหลุมดำต้องพูดถึงเรื่องวงชีวิตของดาวฤกษ์ซะก่อนค่ะ ดาวฤกษ์ในเอกภพของเรามีวงชีวิตค่อนข้างแน่นอน คือมีเกิด และก็มีดับแหล่ะ ที่ผิวดาวฤกษ์มีก๊าซจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นไฮโดรเจน ก๊าซเหล่านี้ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวดึงให้ยุบตัวลงมา อะตอมก็จะมีอุณหภูมิสูงขี้น จนสูงมากพอที่อะตอมไฮโดรเจนที่ชนกันไม่สะท้อนออกมาแต่รวมเป็นฮีเลียมแล้ว ปล่อยพลังงานออกมา.. พูดอีกอย่างก็คือมันเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นน่ะเองค่ะ พลังงานปล่อยออกมาอยู่ในรูปคลื่นความถี่ต่างๆ และเป็นตัวสร้างสมดุล กับแรงโน้มถ่วงของดาว ดาวก็จะหยุดหดตัว แต่ในวันหนึ่งก๊าซไฮโดรเจนที่เป็นเชื้อเพลงก็จะหมดลง อย่างดวงอาทิตย์ก็จะมีอายุอีกประมาณ 5000 ล้านปีก็คงจะดับเหมือนกัน ช่วงที่ดับนี้เองที่ไม่มีแรงต้านแรงโน้มถ่วง ผิวดาวจะถูกแรงโน้มถ่วงของดาวดึงให้ยุบตัวลงจนเป็นดาวที่มีความหนาแน่นสูง สุบรามันยัน จันทราเสการ์ (Subramanyan Chandrasekhar) คำนวณหาขนาดของดาวฤกษ์ที่สามารถรักษาสมดุลได้หลังใช้เชื้อเพลงหมดไป เขาพบว่าดาวที่มีมวลประมาณ 2.5 เท่าของดวงอาทิตย์จะไม่สามารถยับยั้งการยุบตัวได้ คือมันจะยุบลงจนขนาดเป็น 0 น่ะคะ ขนาดมวลที่ว่านี้เรียกว่า “ลิมิตของจันทราเสการ์” ล่ะค่ะ.. เป็นค่าที่สำคัญมากๆ เพราะเป็นตัวบอกว่าดาวฤกษ์จะมีจุดสิ้นสุดอย่างไร กรณีที่มวลของดาวน้อยกว่าลิมิตนี้จุดสิ้นสุดจะเป็น “ดาวแคระขาว” ค่ะ ดาวแคระขาวมีรัศมีราวๆ 2-3 พันกิโลเมตร และมีความหนาแน่นระดับร้อยตันต่อลูกบาศก์เซ็นติเมตร.. โห.. คิดดูนะคะ.. ขนาดเท่าน้ำตาลก้อนแต่หนักเป็นร้อยตันแน่ะ..ดาวแคระขาวหาได้ง่ายค่ะ มีอยู่ทั่วไปเยอะเลย ดวงอาทิตย์ของเราพอดับก็จะเป็นดาวแคระขาวนี่ล่ะค่ะ .. ทีนี้ถ้าดาวมีมวลซัก 1-2 เท่าของดวงอาทิตย์จะเป็นดาวที่มีแรงผลักระหว่างโปรตอนกับนิวตรอนเป็นตัวต้าน แรงโน้มถ่วง แทนที่จะเป็นอิเล็กตรอน ดาวเหล่านี้เรียกว่า “ดาวนิวตรอน” เป็นดาวเล็กๆ มีรัศมี ระดับสิบกิโลเมตร และมีความหนาแน่นเป็นล้านตันต่อลูกบาศก์เซ็นติเมตร .. โอ๊วว.. หนักไปกันใหญ่ ดาวนิวตรอนถูกค้นพบครั้งแรกในเนบิวลารูปปูค่ะ… ถ้าดาวนิวตรอนหมุนรอบตัวเร็วๆ พร้อมกับปล่อยคลื่นวิทยุออกมาเป็นจังหวะจะเรียกว่าเป็น พัลซาร์ (Pulsar) ล่ะค่ะ ..ทีนี้ถ้าดาวมีมวลมากกว่าลิมิตของจันทราเสการ์อาจจะระเบิดเพื่อลดมวลลง คล้ายๆ การเกิดซูเปอร์โนวา (Supernova) หรืออาจจะยุบตัวอย่างรุนแรงมากๆ จนกลายเป็นจุด ? ซึ่งหมายความว่ามันไม่มีขนาด..โอ๊ะโอ..จริงหรือนี่ ? .. ผู้ที่อธิบายชะตากรรมของดาวที่มีมวลเยอะกว่าลิมิตของจันทราเสการ์คนแรกๆ คือ โรเบิร์ต ออปเป็นไฮเมอร์ (Robert Oppenheimer) โดยใช้ทฤษฎีสัมพันธภาพค่ะ อย่างที่บอกในตอนแรกนะคะว่าแรงโน้มถ่วงของมวลดาวสามารถทำให้แสงให้เลี้ยวเบน ได้ กรณีที่มวลเยอะมากๆ จะทำให้ มีแรงโน้มถ่วงสูงมากจนทำให้แสงไม่สามารถหลุดออกมาจากแรงโน้มถ่วงนั้นได้เลย เมื่อแสงซึ่งเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่ได้เร็วที่สุดยังไม่สามารถหลุดรอดจากแรง โน้มถ่วงนั้นได้ อย่างอื่นก็ไม่ต้องพูดถึงล่ะค่ะ ไม่มีทางพ้นแรงโน้มถ่วงนั้นแน่นอน และเพราะแสงไม่สามารถหลุดรอดออกมาได้เราจึงไม่เห็นอะไรในบริเวณนั้นเลย ก็เลยเรียกว่า “หลุมดำ” (Black hole) ยังไงล่ะคะ อำนาจแรงโน้มถ่วงของหลุมดำจะมีขอบเขตอันนึงที่แสงผ่านเข้ามาแล้วจะถูกแรง โน้มถ่วงดูดเข้าไป ขอบของหลุมดำจะเรียกว่า “ขอบฟ้าของเหตุการณ์” (Event Horizon) ค่ะ.. เค้าเรียกขอบฟ้าเหตุการณ์ก็เพราะมันเป็นขอบเขตที่เป็นตัวกำหนดว่าจะสังเกตพบ เหตุการณ์หรือไม่น่ะค่ะ ถ้าเหตุการณ์นั้นอยู่ภายในขอบฟ้าเหตุการณ์ (อยู่ใกล้ศูนย์กลางของหลุมดำ) เราจะสังเกตไม่พบอะไรเลยเพราะแสงไม่สามารถเดินทางจากเหตุการณ์นั้นหลุดออกมา ถึงเราได้ สำหรับผู้สังเกตก็เปรียบได้ว่าเหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นน่ะเอง.. อ้อ..คำว่าหลุมดำเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในปี 1969 โดย จอห์น วีลเลอร์ (John Wheeler) ค่ะ .. หลุมดำมีแรงโน้มถ่วงสูงมากๆ ..สมมติให้เราตกลงไปในหลุมดำ ความแตกต่างของแรงโน้มถ่วงที่กระทำที่เท้ากับที่ศรีษะจะต่างกันมาก ยิ่งเข้าใกล้ศูนย์กลางยิ่งเยอะขึ้นๆๆ ความต่างก็จะมากขึ้น ตัวเราก็จะยืดออกๆๆ…แล้วก็..โอ๊ว..ไม่บรรยายดีกว่าค่ะ… ^^”
ฮอว์กิ้ง กับ โรเจอร์ เพนโรส (Roger Penrose) ศึกษาเรื่องหลุมดำและชี้ให้เห็นว่าใจกลางของหลุมดำเป็นจุดที่เรียกว่า “ซิงกิวลาริตี้” (Singularity) ค่ะ..ซิงกิวลาริตี้เป็นจุดที่ความหนาแน่นเป็นอนันต์ อันนี้เป็นเพราะมันมีมวลสารเยอะมาก ทำให้แรงโน้มถ่วงมีมาก จนบีบให้มวลสารทั้งหมดยุบลงมาเหลือแค่จุดเล็กๆ แรงโน้มถ่วงที่มากขนาดนั้น จะทำให้กาล-อวกาศบิดโค้งมากจนกลายเป็นจุดได้ กฎวิทยาศาสตร์ใดๆ ก็ใช้ไม่ได้ที่ซิงกิวลาริตี้ ใครที่หลุดเข้าไปในขอบฟ้าของเหตุการณ์ เวลาของเขาก็จะไปจบที่ซิงกิวลาริตี้นี่ล่ะค่ะ ทฤษฎีหลุมดำตั้งมานานพอสมควรแล้ว..ความหวังว่าจะพบหลุมดำจริงๆ หลังจากตั้งทฤษฎีช่วงแรกๆ อยู่ที่การพบดาวนิวตรอนค่ะ เพราะขนาดของมันมากกว่าค่าวิกฤตของหลุมดำเพียง 2-3 เท่าเอง.. หลายคนคงแปลกใจว่า ถ้าหลุมดำมีจริงๆ แล้วจะเห็นได้ยังไงกัน ?? ก็มันดำ มันมืดอ้ะ.. จะเห็นเหรอ ? คำตอบคือ เราไม่เห็นหลุมดำหรอกค่ะ แต่เราสังเกตรอบๆ ขอบฟ้าเหตุการณ์แทนก็ได้ ..อืมม.. มีตัวอย่างระบบอยู่อันนึงค่ะชื่อ ซิกนัส เอ็กซ์-1 (Cygnus X-1) ระบบนี้เป็นดาวคู่ ดาวนึงมองเห็น อีกอันมองไม่เห็น .. สสารของดาวที่มองเห็นถูกดาวอีกดวงดูดไป จึงเกิดการถ่ายมวลจากดาวดวงนึงไปยังอีกดวงนึง ที่น่าสนใจคือขณะที่มวลเข้าใกล้ดาวที่มองไม่เห็นมันเคลื่อนที่แบบควงสว่าน และร้อนจัดมากจนแผ่รังสีเอ็กซ์ออกมา ดังนั้นคู่ที่มองไม่เห็นนั้นต้องเล็กมาก จากการคำนวณเนื้อสารพบว่าดาวที่มองไม่เห็นนั้นมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์อย่าง น้อย 6 เท่า ซึ่งมากกว่าลิมิตของจันทราเสการ์เยอะเลยค่ะ ดังนั้นมันจะไม่เป็นแค่ดาวนิวตรอนแน่นอน และมันต้องเป็นหลุมดำ .. ถึงแม้ว่าจะมีทฤษฎีอื่นมาอธิบายระบบของซิกนัส เอ็กซ์-1 แต่ก็ยังไม่ดีพอ .. ครั้งแรกที่ฮอว์กิ้งพบระบบซิกนัส เอ็กซ์-1 เค้ามีความเชื่อมั่น 80% ว่ามีหลุมดำจริงๆ..แต่ขณะที่เขียนหนังสือเล่มนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อนเค้า เชื่อมันถึง 95% แล้วค่ะ.. น้องมิ้นท์ไม่รู้ว่าตอนนี้มีการค้นพบหลุมดำจริงๆ แล้วรึยัง..คุ้นๆ ว่าเคยได้ข่าวนะคะแต่ก็ไม่แน่ใจ…ใครรู้ก็บอกข้อมูลเพิ่มเติมมาได้นะคะ
ความเป็นไปของเอกภพหลังจากบิ๊กแบง
อืมม…ฮอว์กิ้งเชื่อว่าที่บิ๊กแบง ขนาดของเอกภพเป็นศูนย์ อุณหภูมิสูงเป็นอนันต์ ตามทฤษฎีบิ๊กแบงร้อนน่ะค่ะ.. น้องมิ้นท์เขียนเป็น timeline ดีกว่า..
- ความเป็นไปของเอกภพสามารถหาได้ตั้งแต่ 10 ยกกำลัง -43 วินาทีแรกหลังบิ๊กแบงค่ะ.. เวลานี้เรียกว่า Planck’s time เป็นขีดจำกัดทางทฤษฎี เวลาก่อนหน้านี้เราไม่สามารถทำนายอะไรได้เลยเพราะแรงทุกแรงยังไม่แยกจากกัน อุณหภูมิขณะนั้นประมาณ 10 ยกกำลัง 32 องศาเคลวินแหละค่ะ… ร้อนสมชื่อทฤษฎีเลย.. ณ เวลานี้แรงโน้มถ่วงจะเริ่มแยกตัวออกจากแรงอื่นๆ ค่ะ
- 10 ยกกำลัง -35 วินาทีแรกหลังเกิดบิ๊กแบง จะปรากฏ ควาร์ก กับ แอนตี้ควาร์ก เป็นจำนวนมาก อุณหภูมิเอกภพลดลงเหลือ 10 ยกกำลัง 27 องศาเคลวิน แรงนิวเคลียร์แบบแข็งเริ่มแยกออกมา
- 10 ยกกำลัง -12 วินาที แรงนิวเคลียร์แบบอ่อนกับแรงแม่เหล็กไฟฟ้าก็จะแยกออกจากกัน หลังจากนั้นแรงทั้งสี่ก็จะเริ่มมีความสำคัญต่อความเป็นไปของเอกภพล่ะค่ะ
- หนึ่ง วินาทีแรกหลังบิ๊กแบง อุณหภูมิของเอกภพจะอยู่ประมาณหนึ่งหมื่นล้านองศาเคลวิน องค์ประกอบส่วนใหญ่ในขณะนั้นจะเป็น โฟตอน อิเล็กตรอน นิวตริโน (Neutrino) และปฏิอนุภาคของทั้งสามค่ะ ขณะเอกภพขยายตัว อุณหภูมิจะลดลง จนการผลิตอิเล็กตรอนลดน้อยลงมากกว่าการทำลาย (การทำลายก็คือ เอาอิเล็กตรอนมาจับกับโพสิตรอนค่ะ ผลลัพธ์จะได้ออกมาเป็นโฟตอน) ตอนนี้อิเล็กตรอนก็จะมีจำนวนน้อยลง มีโฟตอนอยู่เยอะแยะ .. แต่ว่านิวตริโนกับแอนตี้นิวตริโนจะไม่จับตัวกัน และยังคงหลงเหลือจนถึงปัจจุบันค่ะ
- 100 วินาทีหลังบิ๊กแบง อุณหภูมิจะลดลงเหลือประมาณพันล้านองศาเคลวิน ตอนนี้โปรตอนกับนิวตรอนไม่มีพลังงานมากพอ ก็จะโดนแรงนิวเคลียร์แบบแข็งทำให้จับตัวกันค่ะ การจับตัวนี้ทำให้เกิดเป็นนิวเคลียสของดิวทีเรียม (Deuterium – Heavy Hydrogen) ค่ะ ..ดิวทีเรียมอาจจะรวมกับโปรตอนและนิวตรอนอื่นได้ออกมาเป็นฮีเลียม หรือธาตุที่หนักกว่า อย่างลิเธียมกับเบอริลเลียม ตามโมเดลของบิ๊กแบง สามารถคำนวณได้ว่าประมาณหนึ่งในสี่ของโปรตอนและนิวตรอนจะรวมตัวเป็น นิวเคลียสของดิวทีเรียม ฮีเลียม และธาตุอื่นๆ ค่ะ .. ส่วนโปรตอนที่เหลือจะกลายเป็นไฮโดรเจนน่ะเอง ..
- 2-3 ชั่วโมงต่อมา การผลิตธาตุทั้งหลายจะหยุดลง เอกภพจะขยายตัวโดยไม่เกิดอะไรขึ้นมากนัก..
- 1 หมื่นปีถัดมาพลังงานส่วนใหญ่ในเอกภพจะปรากฏในรูปของการแผ่รังสี ซึ่งยังมีอยู่ทั่วเอกภพในรูปของคลื่นไมโครเวฟค่ะ
- 3 แสนปีหลังบิ๊กแบง อุณหภูมิของเอกภพลดลงเหลือ 2-3 พันองศาเคลวิน ที่อุณหภูมิประมาณนี้ แรงแม่เหล็กไฟฟ้าจะมีมากพอจนทำให้อิเล็กตรอนจับตัวกับนิวเคลียสได้เป็นอะตอม ของธาตุ..
- ขณะที่เอกภพขยายตัวออกและเย็นลงต่อไปอีก 2-3 พันล้านปี จะมีบางบริเวณที่มีความหนาแน่นสูง การขยายตัวของบริเวณนั้นจะช้าลงเพราะแรงโน้มถ่วงค่ะ ถ้าแรงโน้มถ่วงเยอะพอ ก็จะทำให้เกิดการยุบตัวลงและทำให้เกิดการหมุนตัว ยิ่งยุบลงมากขึ้นก็จะหมุนเร็วขึ้นเหมือนนักสเก็ตน้ำแข็งหมุนตัวน่ะค่ะ .. จนสุดท้ายก็จะหมุดเร็วพอที่จะสมดุลกับแรงโน้มถ่วง ก็จะกลายเป็นดาราจักรที่มีลักษณะเหมือนจานหมุนยังไงล่ะคะ (ทางช้างเผือกนี่ก็ใช่ค่ะ) ถ้าไม่เกิดการหมุนก็จะกลายเป็น ดาราจักรรูปไข่ .. ทีนี้ก๊าซในดาราจักรก็จะจับกลุ่มกัน แต่ละกลุ่มก็จะยุบตัวลงเพราะพอจับตัวแล้วมวลเยอะขึ้น แรงโน้มถ่วง ก็จะมากขึ้น การยุบตัวจะทำให้อะตอมของก๊าซชนกันจนร้อนมากพอจะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์พิว ชัน ความร้อนที่ได้จะเป็นพลังงานที่ต้านแรงโน้มถ่วงเอาไว้ให้อยู่ที่สมดุลเป็น เวลานาน ซึ่งก็คือดาวฤกษ์น่ะเอง .. พอดาวฤกษ์ใช้พลังงานหมดก็จะยุบตัวเป็นดาวแคระขาว ดาวนิวตรอน หรืออาจจะเป็นหลุมดำค่ะ ขณะยุบตัวมวลผิวนอกอาจจะถูกระเบิดออกเป็นซูเปอร์โนวา การระเบิดทำให้ธาตุหนักบางธาตุกระจายออกไปในอวกาศ เป็นแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์รุ่นต่อไป ดวงอาทิตย์ของเราก็เป็นรุ่นที่ 2 หรือ 3 แล้วค่ะ เพราะตรวจพบธาตุหนักที่ว่านี้อยู่ 2%.. เศษของธาตุหนักบางส่วนอาจจะรวมกัน แล้วก็กลายเป็นวัตถุเคลื่อนที่รอบดาวฤกษ์ ..ใช่แล้วว…ดาวเคราะห์น่ะแหล่ะค่ะ
เอาล่ะ..มาถึงกำเนิด ดาวเคราะห์ได้ก็จบได้ซะที..^^” …คำอธิบายข้างบนนี้เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายการกำเนิดของเอกภพในปัจจุบันค่ะ ทุกวันนี้เอกภพยังคงขยายตัวต่อไป อุณหภูมิของเอกภพอยู่ที่ราวๆ 2-3 องศาเคลวิน ค่ะ.. ยังมีคำถามตามมาอีกเยอะเลยที่นักวิทยาศาสตร์กำลังหาคำตอบ อย่างเช่นทำไมบางส่วนของเอกภพถึงหนาแน่นมากกว่าส่วนอื่น ? ทำไมเอกภพถึงดูเหมือนกันทุกทิศทางไม่ว่าจะมองจากตรงไหน ? ทำไมยังคงขยายตัวเกือบเท่ากับค่าวิกฤต ? ทำไมถึงมีมนุษย์ ? ฯลฯ .. โอ๊ะ.. คำถามสุดท้ายดูน่าสนใจอยู่มากเลยนะคะนั่น..นั่นสิ .. ทำไมถึงมีมนุษย์เกิดขึ้นมา ??? นักวิทยาศาสตร์เก่งๆ หลายคนเชื่อว่าการกำเนิดของเอกภพมีความเกี่ยวพันกับมนุษย์อย่างแน่นอน .. มีคำๆ นึงกล่าวไว้ค่ะว่า “เราเห็นเอกภพอย่างที่มันเป็นอยู่ เพราะเรามีชีวิตอยู่บนโลกนี้” (“We see the universe the way it is because we exist.”) หรือถ้าพูดกลับกันก็จะได้ว่า “ถ้าเอกภพไม่ได้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ ก็จะไม่มีมนุษย์เกิดขึ้นมา” .. จริงมั้ย ??
แถมๆๆ …เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ…
ไหนๆ ก็ไหนๆ …เอาไปอ่านให้หมดเลยละกันค่ะ…
เรื่องของรถไฟ …”แก๊งๆๆ ..รถด่วนสาย 69 กรุงเทพ-หนองคาย กำลังจะออกแล้ว ผู้โดยสารกรุณาขึ้นรถได้ที่ชานชาลา..” ..โอ๊ะ..ต้องขึ้นรถไฟก่อนล่ะค่ะ..เดี๋ยวไม่ทัน…เฮ้อ..หลายชั่วโมงต่อมา รถไฟก็มาผ่านขอนแก่น..จังหวะพอดี๊พอดี HAL9000 ขี่มอเตอร์ไซค์มาติดทางข้ามทางรถไฟ เจอน้องมิ้นท์นั่งในรถไฟเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 50 km/h ขณะที่ผ่านหน้า HAL9000 น้องมิ้นท์ก็โยนลูกบอลออกจากมือไปในทางเดียวกับรถไฟวิ่ง สมมติลูกบอลเคลื่อนที่ 10 km/h เทียบกับรถไฟนะคะ.. HAL9000 ก็จะเห็นลูกบอลเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเป็น 50+10 = 60 km/h ใช่มั้ยคะ ? ..โอเค ทีนี้เปลี่ยนเป็นว่ารถไฟน้องมิ้นท์วิ่งด้วยความเร็ว 60% ของแสง (0.6c) จังหวะที่ผ่านหน้า HAL9000 น้องมิ้นท์ก็เปิดไฟฉายส่องส่องไปหัวขบวนรถไฟทีนี้จะเกิดอะไรขึ้น ??..
ลอง คิดตามนะคะ…สำหรับน้องมิ้นท์ขณะที่น้องมิ้นท์เปิดไฟฉายแสงจากไฟฉายจะวิ่ง ไปที่หัวขบวนสมมติว่ายาว 100 เมตรนะคะ ก็จะใช้เวลา 100/c วินาทีใช่มั้ยคะ แต่สิ่งที่ HAL9000 เห็นจะได้ว่าแสงจากไฟฉายต้องเดินทางไกลกว่า 100 เมตรค่ะเพราะ HAL9000 สังเกตอยู่นอกรถไฟ ขณะที่น้องมิ้นท์เปิดไฟฉายหัวขบวนรถไฟก็เคลื่อนที่หนีแสงไปด้วยความเร็ว 0.6c ด้วย (น้องมิ้นท์อยู่ในรถไฟดังนั้นสำหรับน้องมิ้นท์และคนในรถไฟคนอื่นๆ หัวขบวนก็เลยไม่ได้วิ่งหนีแสงจากไฟฉายค่ะ)
สมมติว่าระยะทางที่ HAL9000 เห็นแสงเดินทางเป็นระยะทางมากกว่าน้องมิ้นท์อยู่ d เมตรก็จะใช้เวลา (100+d)/c วินาทีซึ่งมากกว่า 100/c เห็นมั้ยคะว่า “เวลาของผู้สังเกตสองคนไม่เท่ากัน” กรณีนี้เวลาของน้องมิ้นท์จะเดินช้ากว่าเวลาของ HAL9000 ..โฮ่ๆๆ..เราสามารถคำนวณได้ด้วยค่ะว่าช้าไปเท่าไหร่ ..กรณีนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 0.6c เวลาของน้องมิ้นท์จะช้ากว่า HAL9000 อยู่ 1.25 เท่าค่ะ
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้จะต้องระวังให้มากๆ ค่ะ..กรณีรถไฟนี่เรายึดพื้นโลกเป็นกรอบอ้างอิงหรือจะพูดอีกทีก็คือยึดเอา HAL9000 เป็นกรอบอ้างอิงค่ะ เพราะ HAL9000 อยู่กับที่ส่วนน้องมิ้นท์กำลังเคลื่อนที่ไป..ดังนั้น “ถ้าถาม HAL9000 เค้าจะรู้สึกเหมือนว่าเวลาของน้องมิ้นท์เดินช้ากว่าค่ะ” แต่ถ้ายึดน้องมิ้นท์เป็นกรอบอ้างอิงแล้วคิดว่าเป็น HAL9000 เคลื่อนที่แทน (ลองคิดว่ารถด่วน 69 ลอยอยู่เฉยๆ แล้วพื้นโลกกำลังเคลื่อนที่แทน..^^”) สำหรับน้องมิ้นท์ก็จะรู้สึกว่าเวลาของ HAL9000 เดินช้ากว่าแทน เพราะ HAL9000 กำลังเคลื่อนที่ แต่น้องมิ้นท์อยู่เฉยๆ …เฮ่อๆๆ…แล้วคำตอบไหนถูกล่ะคะเนี่ย ??
The twin paradox
ปัญหาที่ผ่านมาว่า “เวลาของใครเดินช้ากันแน่” เรียกว่า “The Twin Paradox” ค่ะ…ที่จริง the twin paradox มีคำตอบที่ถูกเพียงอันเดียวค่ะ แล้วสามารถหาได้เป็นคำตอบเดียวกันแม้จะยึดกรอบอ้างอิงที่ต่างกัน ลองมาดูแบบนี้แทนนะคะ.. สมมติ (อีกแล้ว) ว่ามีฝาแฝด.. ฝันดีกับฝันเด่นก็แล้วกันค่ะ.. เกิดพร้อมกันเป๊ะ.. พอเกิดมาปุ๊บ ก็แยกเอาฝันดีขึ้นยานอวกาศเดินทางออกไปนอกโลกด้วยความเร็ว 0.6c เป็นเวลา 4 ปี (4 ปีของฝันดีน่ะคะ) แล้วก็เดินทางกลับโลก ..ส่วนฝันเด่นให้อยู่บนโลกนี่ล่ะ.. ถามว่าถ้าฝันดีกับฝันเด่นกลับมาพบกันอีกครั้ง ใครจะอายุน้อยกว่ากัน ? ..^^” การหาคำตอบต้องแบ่งเป็นสองช่วงค่ะ คือก่อนฝันดีจะกลับโลกและช่วงที่ฝันดีเดินทางกลับสู่โลก ..เรามาดูช่วงแรกของการเดินทางกันก่อนค่ะ.. ถ้าอ้างอิงที่ฝันเด่น (ซึ่งมองว่าฝันดีกำลังเคลื่อนที่ แต่ฝันเด่นอยู่เฉยๆ) หลังจากฝันดีออกไปนอกโลกได้ 4 ปีตามเวลาของฝันดี ฝันเด่นจะมีอายุครบ 4 * 1.25 = 5 ขวบแล้วค่ะ ทีนี้ถ้าอ้างอิงที่ฝันดี (ฝันดีอยู่เฉยๆ ฝันเด่นกำลังเคลื่อนที่) เวลา 4 ปีของฝันดี จะเห็นว่าฝันเด่นอายุ 4/1.25 = 3.2 ปีค่ะ เพราะฝันดีคิดว่าฝันเด่นเป็นคนเคลื่อนที่ ดังนั้นเวลาของฝันเด่นต้องช้ากว่า ..ทีนี้มาดูขากลับบ้าง ถ้าอ้างอิงฝันเด่นจะเหมือนเดิมค่ะเพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย ดังนั้นฝันเด่นก็จะอายุเพิ่มอีก 5 ปี ส่วนฝันดีจะเพิ่มอีก 4 ปี.. คราวนี้มาอ้างอิงที่ฝันดีจะพบว่าตัวเองใช้เวลา 4 ปี แต่เห็นฝันเด่นใช้เวลา 6.8 ปีแน่ะค่ะ ไม่ใช่ 3.2 ปีแล้ว วิธีการคำนวณจะไม่เหมือนเดิมนะคะ เพราะกรอบอ้างอิงของฝันดีเปลี่ยนไปค่ะ (เปลี่ยนจากเดินทางออกจากโลก เป็นเดินทางกลับโลก) น้องมิ้นท์ขอข้ามไปละกันนะคะเพราะต้องอธิบายหลายเรื่อง กว่าจะได้ว่าทำไมต้องเป็น 6.8 ปี (ใครอยากรู้จริงๆ ก็ลองดูวิธีวาด Space-Time Diagram นะคะ) .. แต่โดยสรุปหลังจากฝันดีกลับมาถึงโลก… อายุของฝันดีจะเป็น 8 ปี และฝันเด่นเป็น 10 ปีล่ะค่ะ ไม่ว่าจะใช้ฝันดีเป็น reference (4 + 4 = 8 กับ 3.2 + 6.8 = 10) หรือใช้ฝันเด่นเป็น reference (4 + 4 = 8 กับ 5 + 5 = 10) ..เย้…ในที่สุดปริศนาของ twin paradox ก็คลี่คลายจนได้..
การเดินทางข้ามเวลา
โอ๊วว..นิยายไปรึเปล่าเนี่ย..เดินทางข้ามเวลา..อืมม ที่จริงทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป สามารถพิสูจน์ได้ว่าการเดินทางข้ามเวลาเป็นไปได้ค่ะ.. น้องมิ้นท์จะให้ทายล่ะว่าเดินทางไปอนาคต กับไปอดีตอันไหนง่ายกว่ากัน ?? ..น่าจะทายถูกนะคะ.. เดินทางไปอนาคตจะง่ายกว่าค่ะ มีวิธีเยอะแยะตั้งแต่วิธีซื่อๆ เช่น แช่แข็งร่างกายไปละลายอีก 50 ปีข้างหน้า ซึ่งมีบริษัทรับทำแล้วจริงๆ ค่ะ จนถึงวิธีที่แทบเป็นไปไม่ได้อย่างการเดินทางเร็วใกล้แสงเพื่อยืดให้เวลาเดิน ช้าลง ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือการใช้รูหนอนของหลุมดำค่ะ อธิบายยังไงดีหว่า..คือ ตามทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปยอมให้มีทางเลือกอื่นโดยไม่จำเป็นต้องไปสิ้นสุดที่ ซิงกิวลาริตี้ได้ค่ะ โดยลอดผ่านสิ่งที่เรียกว่า “รูหนอน” (Wormholes) แล้วก็ไปโผล่บริเวณอื่นในเอกภพหรือไม่ก็ อยู่ที่เดิมแต่ต่างเวลา แต่อันนี้เป็นไปได้ตามทฤษฎีเท่านั้นนะค่ะ รูหนอนเป็นเหมือนทางลัดระหว่างจุดสองจุดในกาล-อวกาศค่ะ ถ้าสามารถเดินทางในรูหนอนได้ก็จะเป็นการลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างสอง จุด หรือเดินทางข้ามเวลา ณ จุดนั้นได้ค่ะ.. อืมม..จะเรียกว่าเป็นการเดินทางผ่าน hyperspace ก็อาจจะได้ค่ะ..เหมือนเรื่อง Contact ไง..อันที่จริงนักฟิสิกส์ที่เชี่ยวชาญกลศาสตร์ควอนตัมพูดถึงรูหนอนไว้เหมือน กันค่ะว่าอาจจะหาพบใน “ควอนตัมโฟม” (Quantum Foam)…แน่ะ ศัพท์ใหม่อีกแล้ว แหะๆๆ.. ควอนตัมโฟมเป็นโมเดลสมมติตามทฤษฎีที่อยู่ในระยะน้อยกว่า Planck’s length ค่ะ ( Planck’s length เป็นระยะที่สั้นที่สุดตามทฤษฎีค่ะ เท่ากับระยะทางที่แสงเดินทางได้ในช่วง Planck’s time) แล้วถ้าพบจริงๆ ล่ะก็อาจจะเอามายืดออกเพื่อสร้างรูหนอนขนาดใหญ่สำหรับเดินทางได้…โอ๊วว.. ซับซ้อนน่าดูเลย .. ทีนี้ถ้าไม่สามารถหารูหนอนได้ก็สร้างเองได้ค่ะ โดยใช้สิ่งที่ได้มาจาก Casimir Effect ค่ะ..คือว่า เค้าวัดแรงจากประจุบนแผ่นโลหะสองแผ่นที่วางใกล้ๆ กันมากๆ แล้วพบว่าโฟตอนสามารถเดินทางได้เร็วกว่าความเร็วแสงนิดนึงค่ะ (ที่ดีที่สุด เร็วกว่าประมาณ 10^-24 เท่าของแสง ที่ระยะห่าง 1 นาโนเมตร) ทีนี้เราอาจจะใช้ Casimir Effect นี่ล่ะมาใช้สร้างรูหนอน โดยสร้างแผ่นโลหะขนาน 2 คู่ แต่ละคู่จะเป็นประตูของรูหนอนค่ะ.. ทีนี้ก็ทำการอัดประจุลงไปที่แผ่นโลหะขนานด้วยพลังงานเยอะมากๆๆๆๆ เอาแผ่นโลหะทั้งสองคู่มาวางใกล้ๆ กันพลังงานที่สะสมจะทำให้กาล-อวกาศบริเวณนั้นแยกออกเป็นช่อง แล้วก็เชื่อมแผ่นโลหะคู่ทั้งสองด้วยรูหนอนค่ะ ..หลังจากนั้นเราสามารถเอาแผ่นโลหะคู่นึงไปไว้ที่ไหนก็ได้โดยรูหนอนจะยังคง เชื่อมมันไว้ด้วยกันตลอด ทีนี้เพียงแค่ก้าวเข้าประตูก็จะทำให้เราไปโผล่ที่ตำแหน่งอื่นในกาล-อวกาศได้ ค่ะ ..นี่ไม่ได้โม้นะเนี่ย อ่านมาเล่าต่อเฉยๆ อ้ะ ปัญหาก็คือจะหาพลังมหาศาลมาเปิดประตูได้ยังไงน่ะสิค
ทีนี้เรื่องการ ย้อนเวลาบ้าง..อันนี้ล่ะยากค่ะ (ฮอว์กิ้งบอกว่าอย่างน้อยก็ไม่มีหลักฐานว่ามนุษย์ในอนาคตเดินทางกลับมาดูยุค ปัจจุบัน .. แปลว่าเราอาจจะไม่สามารถเดินทางย้อนอดีตได้เลย ..เหอะๆๆ) ขนาดเดินทางไปอนาคตตามทฤษฎี ก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินทางกลับมาปัจจุบันอีกครั้ง คือปากทางเข้าของรูหนอนต้องเปิดอยู่ตำแหน่งเดิมในกาล-อวกาศถึงจะกลับมาได้ น่ะค่ะ .. อย่างไรก็ตามทฤษฎีว่ากันว่าถ้าเดินทางได้เร็วกว่าแสงเราจะย้อนอดีตได้ค่ะ.. แต่ไอน์สไตน์บอกว่าแสงเดินทางได้เร็วที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรเดินทางได้เร็วกว่านี้นี่นา … ก็ไม่เชิงค่ะ.. หลังยุคไอน์สไตน์มีคนพบว่ามีความเป็นไปได้ที่อนุภาคจะเดินทางเร็วกว่าแสง โดยไม่ขัดกับทฤษฎีสัมพันธภาพ อนุภาคนั้นเค้าตั้งชื่อไว้ว่า “เตคีออน” (Tachyon) ค่ะ .. เตคีออนเป็นอนุภาคตามทฤษฎีที่หาได้จากการใช้เลขเชิงซ้อนแทนจำนวนจริง เตคีออนจะมีมวลเป็นค่าจินตภาพค่ะ แต่มีพลังงานและโมเมนตัมเป็นจำนวนจริง ตอนนี้ยังไม่มีใครพบเตคีออนจริงๆ หรอกนะคะ และอาจจะหาไม่พบเลยก็ได้ แต่ถ้าค้นพบเตคีออนจริงๆ ก็เป็นความหวังในการเดินทางด้วยความเร็วเหนือแสงล่ะค่ะ..
นอกจาก เตคีออนแล้วยังมีทฤษฎีอื่นๆ ในการเดินทางเร็วเหนือแสงอีกค่ะ รูหนอนก็เอามาใช้ได้ค่ะ หรือที่น่าสนใจอีกอันคือ การชลอความเร็วแสงด้วยเส้นคอสมิค (Cosmic String) …เส้นคอสมิคเป็นเส้นในจินตนาการที่ความหนาแน่นสูงมาก ..ขนาดทำให้อวกาศที่แบนราบบิดจนเป็นกรวยได้ .. ที่สำคัญคือ มากพอที่จะทำให้โฟตอนที่ตรงไปสู่เส้นคอสมิคเดินทางได้ช้ากว่าโฟตอนที่เริ่ม จากจุดเดียวกันแต่อ้อมเส้นคอสมิคไปที่ปลายทาง ดังนั้นมันก็เสมือนว่าเดินทางได้เร็วกว่าแสงค่ะ แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างยังคงเป็นทฤษฎีบนกระดาษค่ะ ยังไม่มีใครพบทางที่จะสร้างเครื่องมือเดินทางข้ามเวลาได้เลยแต่ถึงอย่างนั้น หลายคนก็เริ่มคิดถึงผลกระทบของการเดินทางข้ามเวลาไว้แล้ววว…
The Grandfather Paradox
Paradox มาอีกแล้วค่ะ… ทีนี้เป็นปัญหาของการย้อนเวลาค่ะ ถ้าเราสามารถย้อนเวลาได้จริงๆ จะเกิดอะไรขึ้นหากเราไปเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ??? .. หรือแม้แต่เปลี่ยนการกำเนิดของตัวเราเอง ? อย่างเช่น ทำให้ปู่ของเราตาย หรือไม่ก็ไม่เจอย่า ทำให้ไม่เกิดรุ่นพ่อ เราก็จะไม่กำเนิดขึ้นมาบนโลก .. ทีนี้ถ้าเราไม่เกิดมาบนโลก ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แล้วเราจะย้อนกลับไปทำให้ปู่เราตายได้ยังไงล่ะ ?? ..นี่ล่ะค่ะ the grandfather paradox .. ปัจจุบันเรายังหาตอบให้คำถามนี้ไม่ได้แน่นอนนัก แต่ก็มีคนตั้งทฤษฎีขึ้นมาเพื่อเอาไว้ตอบคำถามนี้ค่ะ นักวิทยาศาสตร์อธิบายในเชิงปรัชญาไว้ว่า จักรวาลคู่ขนานถูกสร้างขึ้นตลอดเวลา .. หือ?? อะไรน้อ จักรวาลคู่ขนาน.. อันนี้ต้องแยกแยะคำว่าจักรวาลออกจากเอกภพให้ชัดเจนนะคะ สองคำนี้ไม่เหมือนกัน ..เราคงพบว่าตลอดชีวิตเรามีทางเลือกและการตัดสินใจเกิดขึ้นตลอดเวลา.. เคยสงสัยมั้ยคะว่าถ้าเราตัดสินใจอะไรบางอย่างในอดีตเป็นอีกแบบจะเกิดอะไร ขึ้น ? ..อืมม.. เค้าอธิบายว่าทุกครั้งที่ตัดสินใจจะมีจักรวาลคู่ขนานเกิดขึ้นมาเสมอค่ะ อาจจะมากกว่า 1 คู่จักรวาลด้วย หากเราตัดสินใจอะไรไปแล้วเราก็จะอยู่ในจักรวาลอันหนึ่ง และไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าจักรวาลคู่ขนานที่สร้างขึ้นมาจะเป็นอย่างไร กรณีของ the grandfather paradox อาจจะบอกได้ว่าขณะเวลาที่ตัดสินว่าคุณปู่จะอยู่หรือจะไปน่ะ มีจักรวาลสร้างรอไว้แล้วสองทาง จักรวาลนึงคือคุณปู่มีชีวิตต่อไป จักรวาลนี้เป็นอันเดียวกันกับที่เราอยู่ (เพราะมีปู่ เราถึงมีตัวตนน่ะค่ะ) อีกจักรวาลนึงคือจักรวาลที่คุณปู่ตาย ซึ่งไม่มีตัวตนของเรา ทั้งสองจักรวาลมีอยู่ทั้งคู่และดำเนินไปขนานกันตามแกนเวลาค่ะ.. ก็เลยเรียกว่าจักรวาลคู่ขนาน แม้ว่าเราจะเป็นคนเดินทางย้อนอดีตไปทำให้ปู่ของเราตายก็ไม่มีผลอะไรกับเรา เลย เพราะเรายังคงอยู่ในจักรวาลเดิม ไม่มีทางหลุดไปอยู่อีกจักรวาลหนึ่งหรือแม้แต่จะรู้ได้เลยว่าอีกจักรวาลหนึ่ง เป็นอย่างไร..ทีนี้ถ้าคิดละเอียดๆ จะพบว่าไม่จำเป็นต้องมีแค่สองจักรวาลคู่ขนาน สำหรับเหตุการณ์ใดๆ ค่ะ แต่จะมีเท่ากับความเป็นไปได้ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นั้นผ่านไป .. อืมม .. น้องมิ้นท์เคยคุยกับ HAL9000 เรื่องนี้ล่ะค่ะ น้องมิ้นท์เคยอ่านเจอว่า การตัดสินทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่มนุษย์ แต่อยู่ที่ควอนตัมค่ะ ..แม้แต่เรื่อง the grandfather paradox ก็ถูกตัดสินโดยควอนตัมในขณะนั้นว่าปู่จะตายหรือไม่ และจะเดินไปสู่จักรวาลอันไหน..HAL9000 เสนอว่าถ้าเป็นเพราะควอนตัมจริง จำนวนความเป็นไปได้หลังเหตุการณ์ใดๆ น่าจะมีความสัมพันธ์กับจำนวนอนุภาคทั้งหมดในเอกภพค่ะ เพราะคิดกันว่าสถานะควอนตัมของอนุภาคเป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้ทั้งหมด ส่วนอัตราการเกิดจักรวาลคูขนานถ้าคิดตามควอนตัมเราจะถูกจำกัดที่ Planck’s time ค่ะ..ก็เลยคิดกันว่าเมื่อเวลาผ่านไป 1 Planck’s time ก็น่าจะมีการสร้างจักรวาลคู่ขนานขึ้นมา 1 ครั้ง ..ดังนั้นใน 1 วินาทีจะมีจักรวาลคู่ขนานมากมายมหาศาลเลยล่ะค่ะ..ความคิดเล่นๆ ของเราตรงนี้จะจริงมั้ยก็ต้องรอดูกันต่อค่ะ .. น้องมิ้นท์กับ HAL9000 แค่เดาไปตามจินตนาการเฉยๆ .. ไม่ได้รู้เรื่องละเอียดหรอกค่ะ ก็เราเป็นแค่นักคอมพิวเตอร์นี่คะ..คิดอะไรแปลกๆ ได้ขนาดนี้ก็ดีแล้ว เหอะๆๆ….แต่ยังไงก็..ขอยืมคำของอาเธอร์ ซี. คลาร์ค (Arthur C. Clark) มาพูดซะหน่อย
..ถ้ายังไม่มีใครคิดเรื่องนี้มาก่อน “จำไว้นะคะว่า เคยอ่านเรื่องนี้มาแล้ว และน้องมิ้นท์กับ HAL9000 เป็นคนคิดมันขึ้นมา..”
หึๆๆๆ จะจริงหรือไม่จริง หลังจากนี้ก็คงต้องปล่อยให้นักฟิสิกส์กับนักคณิตศาสตร์หาคำตอบกันต่อไป..เอา ล่ะค่ะ…บทความนี้ก็จบจริงๆ ละ.. เอาไว้มีเวลาจะเขียนให้อ่านอีกนะคะ…บ๊ายบายค่าา..