All posts by kitty

สวัสดีปีใหม่ไทยๆ

สวัสดีปีใหม่อีกครั้ง .. มีเวลาว่างจากสาดน้ำ กรุณาอ่าน .. http://th.wikipedia.org/wiki/สงกรานต์

อยากเปียก แต่ไม่รู้จะเปียกแถวไหน .. มา ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่นได้ .. รับประกันความฉ่ำชุ่ม :P

/me .. หนีไปที่แห้งๆ เป็นเวลา 7 วัน

The Search

ทุกวันนี้แทบไม่มีใครที่ใช้คอมพิวเตอร์แล้วไม่รู้จักกูเกิ้ล และพวกเราส่วนใหญ่ใช้กูเกิ้ลกันมากกว่า 1 ครั้งต่อวันในการสืบค้นข้อมูลจากเว็บ ..ใช่ กูเกิ้ลสืบค้นเว็บได้แม่นยำและตรงกับความต้องการของเราเสียเป็นส่วนใหญ่ .. แต่กูเกิ้ลไม่ได้มีอิทธิพลแค่ทำให้เราค้นเจอเว็บที่ต้องการแล้วจบ เดอะเสิร์ช เป็นหนังสือที่พยายามอธิบายในเรื่องนั้น

หากย้อนกลับไปสมัยก่อนๆ พวกเราบางคนอาจได้ลองใช้ Excite, Yahoo!, Hotbot, Lycos, Altavista .. ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ใช้งานไซต์เหล่านี้แทบทุกวันในสมัยนั้น และ Altavista ก็เป็นฉากท้ายๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น http://google.stanford.edu และ http://www.google.com ในทุกวันนี้ การค้นข้อมูลมีอะไรสำคัญ ? คำตอบที่หนังสือบอกคือ keyword เป็นสิ่งที่สื่อถึงเจตนาของการค้นหา นั่นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงไปยังสิ่งอื่นๆ มากกว่าแค่ข้อมูล และสิ่งอื่นๆ ที่ว่ามีศักยภาพทางธุรกิจแบบที่เราไม่คิดกันมาก่อน ..

หนังสือได้กล่าวถึงการเติบโตของกูเกิ้ล จากงานที่ทำขณะเพจและบรินเรียนที่แสตนฟอร์ด กลายเป็นบริษัทเริ่มจากแสนเหรียญในวันที่ เพจและบริน ได้เช็คจาก เบคโทลสไฮม์ (Andreas von Bechtolsheim) และก็คำแนะนำของเบคโทลสไฮม์นี่เองที่ทำให้เกิดบริษัทที่ชื่อ Google Inc. ตามชื่อที่เพจและบรินใช้ให้บริการ .. ในวันที่ 7 กันยายน 1998 Google Inc. เกิดอย่างเป็นทางการ .. วันที่ 29 เมษายน 2004 กูเกิ้ลประกาศขายหุ้นมูลค่า 2,718,281,828 USD (ตัวเลขที่สมเป็น geek) และเริ่มกระบวนการสู่บริษัทมหาชน… วันที่ 19 สิงหาคม 2004 กูเกิ้ลเริ่มต้นขายหุ้นในตลาดที่ 85 USD ต่อหุ้น ปิดที่เฉียดๆ 100 ในเย็นวันนั้น และเป็น 108 ในวันต่อมา สองเดือนต่อมาขยับตัวอยู่ที่ 200 USD .. หลังเป็นบริษัทมหาชนกูเกิ้ลมีเงินสดมูลค่าสามพันล้านจากหุ้น ช่วง 2000-2004 รายได้ของกูเกิ้ลขยายตัวมากกว่า 400,000% เป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ .. ปี 2007 กูเกิ้ลมีรายได้สี่พันล้านเหรียญ ทรัพย์สินกว่าสองหมื่นห้าพันล้านเหรียญ .. ใช่ว่ากูเกิ้ลทำอะไรก็ดีไปหมด ที่จริงในหนังสือก็กล่าวถึง ช่วงเวลาที่กูเกิ้ลล้มลุกคลุกคลานและผ่านการตัดสินใจที่มีความเสี่ยงสูงหลายต่อหลายครั้งเหมือนกัน

กูเกิ้ลมีเครื่องมือค้นหาได้ตรงความต้องการผู้ใช้ ทำให้มีผู้ใช้งานพา traffic ดีๆ จำนวนมหาศาลเข้าสู่กูเกิ้ล กูเกิ้ลก็หาทางเปลี่ยนมันเป็นเงินด้วยการโฆษณาที่ใช้พื้นฐานจากเจตนารมณ์ แม้หลักการไม่ได้ใหม่ แต่วิธีการที่กูเกิ้ลใช้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ ดูเป็นธรรมมากกว่าค่ายอื่น จึงดึงดูดลูกค้าเข้าสู่กูเกิ้ลมากมาย อีกด้านหนึ่ง traffic ที่วิ่งสู่กูเกิ้ล ส่งผลต่อธุรกิจอื่นๆ มากมาย ไม่เพียงเฉพาะลูกค้าของกูเกิ้ลเท่านั้น .. ทุกคนแย่งจะเป็นอันดับต้นๆ ของ PageRank™ .. ธุรกิจที่ติดอันดับแรกในการค้นหาย่อมสร้างรายได้ที่แตกต่างไปจากอันดับ 500 หรือ 50 หรือแม้แต่อันดับ 5 ที่อยู่ในหน้าเดียวกัน สิ่งนี้ทำให้เกิดธุรกิจ SEO (Search Engine Optimization) ที่เล่นกันทั้งด้านสว่างและด้านมืด . แน่นอนว่ากูเกิ้ลรู้ และมีการปรับอัลกอริทึมเพื่อลงโทษพวกด้านมืด แต่บ่อยครั้งการจัดการพวกฉกฉวย SEO ด้านมืด ทำให้คนที่เล่นเกมในที่สว่างโดนหางเลข (แรงๆ) ไปด้วย .. ธุรกิจ SEO ดีๆ จึงแขวนอยู่บนการเปลี่ยนแปลงของกูเกิ้ลมาตลอด

หนังสือยังได้กล่าวถึงมุมมองด้านลบ เช่น ความคิดแนวกูเกิ้ลครองโลก เรื่องความเป็นส่วนตัว ตัวตนของเราในโลกจริงหรือโลกไซเบอร์ กูเกิ้ลเคยช่วยหญิงที่สงสัยในคู่นัดบอดให้รอดพ้นจากอาชญากรที่อยู่ในบัญชี FBI มาแล้ว ในทางกลับกันถ้ากูเกิ้ลไม่เจอข้อมูลเราเลย นั่นอาจจะหมายความว่าเราไม่มีตัวตนบนโลก (ไซเบอร์) นี้เลยก็ได้ .. หรือถ้าเจอแต่เป็นข้อมูลเท็จที่ทำลายชื่อเสียงของเราอยู่อันดับแรกๆ ของผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ?.. กูเกิ้ลยังเผชิญปัญหาด้านจริยธรรมบ่อยครั้งในระยะหลัง รวมถึงปัญหา double (triple quadruple .. ) standard ในการตัดสินใจแก้ปัญหา เช่นปัญหาเซ็นเซอร์ในจีน .. นั่นยังไม่นับปัญหาของกูเกิ้ลที่ต้องสู้รบในสงครามเทคโนโลยีกับบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง ยาฮู หรือไมโครซอฟต์ สงครามบนศาลกับลูกค้าและอดีตพนักงานของกูเกิ้ลเอง และรบกับพนักงานปัจจุบันนับหมื่นในการที่จะรักษาวัฒนธรรมขององค์กรและความเป็นกูเกิ้ลให้คงสภาพเหมือนกับครั้งที่เริ่มก่อตั้งบริษัท

ปิดท้ายเป็นมุมมองว่าอนาคตของกูเกิ้ลจะก้าวไปทางไหน อนาคตของการสืบค้นสารสนเทศจะเป็นอย่างไร ? เกี่ยวโยงถึง Semantic Web และโครงการอีกจำนวนหนึ่งที่มีความก้าวหน้าไม่แพ้หรืออาจจะมากกว่ากูเกิ้ลในเวลานี้

The Search: How Google and Its Rivals Rewrote the Rules of Business and Transformed Our Culture ของ John Battelle ใช้ภาษาไทยว่า "เดอะ เสิร์ช อุบัติการณ์แห่งอนาคตมนุษยชาติ" แปลโดย คุณไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ ใครที่สนใจเทคโนโลยีแนะนำให้อ่านดูนะ สำนวนสนุกใช้ได้ คนที่ร่วมสมัยกับผม (และ ป๋าเด่น พี่เทพ เสี่ยต้น .. ) อาจจะได้หวนคิดถึงสมัยแรกๆ ที่ใช้เครื่องมือค้นหาข้อมูลบนเว็บ และเหตุการณ์สำคัญๆ ในอดีตที่เกี่ยวข้อง หนังสือมีที่ผิดอยู่บ้าง (หน้าปกเขียนต้นฉบับภาคภาษาอังกฤษผิด แปลผิด ตีความผิด พิมพ์ผิด) ไม่ถึงกับเสียความ แต่ผมเป็นพวกตาไวกับที่ผิด บ่อยครั้งเข้าก็รำคาญอยู่เหมือนกัน :P

Ubuntu Code Name

Code name ของ Ubuntu 8.10 ออกมาได้สักพักแล้ว "Intrepid Ibex" จะเป็นรุ่นถัดจาก 8.04 Hardy Heron .. .. ที่ Ubuntu ได้ทำหน้า Development Code Names ไว้ มีตาราง adjective และ animal รวบรวมไว้ให้ตั้งแต่ A-Z จะได้เอาไปใช้ตั้งชื่อกัน .. สำหรับรุ่นถัด 9.04 เป็นคราวของตัว J ก็รอดูกันว่า Mark Shuttleworth จะเลือกชื่ออะไร :)

อุโมงค์

เด็กสาวฆ่าตัวตายในสภาพที่มีก้านไม้ขีดค้ำเปลือกตาให้เปิดไว้ …

ชายคนหนึ่งนั่งมองภาพสะท้อนของตัวเองบนกระจกรถไฟชินกังเซ็น แผดร้องสุดเสียงราวกับเป็นคนเสียสติ “อย่า อย่าง อย่างเข้ามา!”.. แล้วก็ร่างก็กระตุก หงายหลังตึง

ชายหนุ่ม ดิ้นรนจากล็อกของรถไฟเหาะ เขาหลุดลอยจากที่นั่งลอยไปราวกับเป็นกระสุนปืนใหญ่ต่อหน้าต่อตาแฟนสาวที่นั่งข้างๆ

นักข่าวรับโทรศัพท์จากหัวขโมยว่ามีศพในบ้านที่หัวขโมยแอบปีนเข้าไป ศพตายในสภาพประหลาดสุดสยอง ..นักข่าวหนุ่มตายไปดูและได้เห็นบางสิ่งที่คาดไม่ถึง

โรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังเล็กๆ ของผู้กำกับ คะนะมิ มิอิริ เรื่อง “อุโมงค์” นั้นว่างเปล่า .. ไม่ใช่ไม่มีคนดู แต่คนดูทั้งหมด 374 คนหายตัวไปต่างหาก! .. คะนะมิ มิอิริ ถ้าพิมพ์บนแป้นพิมพ์ญี่ปุ่นโดยสลับเป็นภาษาอังกฤษจะได้เป็นคำว่า TUNNEL

เหตุการณ์ที่ดูไม่น่าเกี่ยวข้องกัน กลับมีความเชื่อมโยงอยู่เบื้องหลัง คดีประหลาดตกเป็นของทีมพิเศษที่ต้องอาศัยคนที่มีความสามารถเหนือธรรมชาติในการสืบสวน

อุโมงค์ แปลตรงตัวมาจากต้นฉบับเรื่อง Tunnel ของ โยชิมุระ ทัตสึยะ โดยคุณรัตน์จิต ทองเปรม .. โยชิมุระ ทัตสึยะ เป็นนักเขียนแนวลึกลับสยองขวัญที่มียอดขายในญี่ปุ่นสูงมากคนหนึ่ง แวบแรกที่อ่านปกหลักนึกถึง Left Behind นวนิยายซีรีส์ยาว (16 เล่มหนาๆ) ของ Tim LaHaye กับ Jerry B. Jenkins ที่เริ่มต้นกับเหตุการณ์คนนับล้านบนโลกหายตัวไปในเวลาเดียวกัน คนที่เหลืออยู่จึงต้องพยายามหาความจริง .. “อุโมงค์” แสดงให้เห็นถึงเรื่องเหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในคดีประหลาดๆ แล้วจึงเอาการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์มาตอบต้นสายปลายเหตุ โครงจึงกระเดียดไปทาง ริง สไปรัล หรืออื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วก่อนหน้านี้ หากสนใจใคร่รู้ว่า โยชิมุระ ทัตสึยะ จะใช้มุกไหนมานำเสนอ ก็ลองเปิดอ่านดูเน้อ :)

P.S. ระยะหลังนี้ blog หนังสือเยอะ อย่าเพิ่งเบื่อละกัน .. ระยะหลังอ่านหนังสือไม่ทันที่ซื้อใหม่ด้วยซ้ำ หนังสือที่ค้างๆ ไว้ตอนนี้มีราวๆ 20 เล่ม ตั้งใจว่าจะอ่านให้หมดก่อนงานหนังสือปลายปี .. ถ้าทำได้จริงก็จะเห็น blog หนังสืออีกประมาณ 20 เล่มนี้ในช่วงหกเดือนข้างหน้า .. :P

มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ ตอน เมอร์รี คริสต์มาส

แมวสามสีเล่ม 11 นี้รวมคดีสั้นๆ สนุกๆ 5 ตอน

  1. ศพในสวน เมื่อสมาชิกคณะละครเร่ร่อน กลายเป็นนักร้องดัง มารับบทเป็นศพในละคร .. เรื่องก็ไม่น่าจะมีอะไรหากเธอไม่กลายเป็นศพจริงๆ
  2. ลูกผมหาย ชายผู้ทำงานหามรุ่งหามค่ำจนลืมบ้านลืมลูกเมีย รู้ตัวอีกทีลูกหายไป เมื่อคณะแมวสามสีมารู้เรื่องเข้ากับได้ความว่าที่จริงแล้วเขาไม่เคยมีลูกต่ะหาก ไม่ทันจะรู้เรื่องอะไร ภรรยาก็กลายเป็นศพอีก .. ไม่นาน เขาก็กลับมาเจอว่าภรรยายังมีชีวิตอยู่ต่ะหาก .. สงสัยจะทำงานจนประสาทกลับเสียแล้ว ?
  3. แม่ม่ายขี้ขโมย ของที่ฮารูมิช็อปปิ้งมาหมาดๆ แค่ฝากไว้กับคาตายามาก็ถูกหญิงสาวฉกไป .. แต่แล้วการสืบสวนการตายของศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งก็พาคาตายามามาเจอกับหญิงสาวคนนั้นอีกครั้ง ในฐานะเป็นภรรยา(ม่าย)ของศาสตาจารย์ เธอแค่มีนิสัยขี้ขโมย หรือการฉกถุงช็อปปิ้งครั้งนั้นทำไปเพราะมีเหตุผลบางอย่าง ?
  4. เหตุเกิดบนรถไฟ ขณะที่คาตายามาถูกอัดเป็นปลากระป๋องบนรถไฟ เด็กสาวมัธยมคนหนึ่งก็กรีดร้องหาว่าคาตายามาแอบจับก้น คนทั้งรถไฟก็ส่งสายตาประณามคาตายามาทันที จะปฏิเสธยังไงก็สายไปเสียแล้ว .. เย็นวันนั้น ขณะที่บ่นเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับฮารูมิฟัง เด็กสาวคนนั้นกลับมาปรากฎตัวถึงที่บ้าน เธอไม่ใช่เด็กมัธยมธรรมดา แต่เป็นถึงประธานบริษัทแห่งหนึ่ง และที่เธอทำอย่างนั้นบนรถไฟเพราะมีคนกำลังจะฆ่าเธอ การสืบสวนจึงเริ่มขึ้น
  5. เมอร์รี คริสต์มาส คูโบะขอร้องให้มาช่วยดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนในช่วงคริสต์มาส เพราะจะเดินทางไปต่างจังหวัด ..ที่โรงเรียน คาตายามาพบกับเด็กสาววัยรุ่นเปรี้ยวจี๊ดที่ยังพักอยู่หอพัก แค่นี้เขาก็หวาดจะแย่แล้ว เขายังต้องรับเรื่องยุ่งของคูโบะที่หายตัวในวันแต่งงานเองจนเจ้าสาวต้องตามตัวให้วุ่น คาตายามาเจอตัวคูโบะจนได้ แต่เขาสิ้นลมไปเสียแล้ว คริสต์มาสนี้วุ่นดีจริงๆ

เล่มที่ 11 ในภาคภาษาไทยนี้แปลมาจากต้นฉบับเรื่อง 三毛猫ホームズのクリスマス ของอาคากะวา จิโร โดยคุณสมเกียรติ เชวงกิจวณิช ดำเนินเรื่องกระชับ รวดเร็ว คดีสนุก มุกฮา :)

ความลับใต้ทะเลสาบ

ชุนซุเกะตัดสินใจเดินทางไปร่วมเข้าค่ายติวเข้าสอบของลูกบุญธรรม ไม่เพียงเพื่อทำหน้าที่พ่อ แต่เพื่อพิสูจน์พฤติกรรมของมินาโกะ ภรรยาของเขา .. ในค่ายติวเขาได้พบกับอีกสามครอบครัวที่นำลูกมาเข้าค่ายที่ทะเลสาบฮิเมงามิเช่นกัน ดูเหมือนมินาโกะกับครอบครัวทั้งสามจะสนิทสนมกันจนเขารู้สึกเป็นส่วนเกิน นั่นทำให้เขามั่นใจกับพฤติกรรมของภรรยามากขึ้นไปอีก เธอต้องมีชู้แน่ และหนึ่งในคนเหล่านี้นี่แหละที่เป็นชู้กับเธอ .. ในวันเดียวกันนั้นเองที่เอริโกะ เพื่อนร่วมงานและชู้รักของชุนสุเกะปรากฎตัวที่ค่าย เธออ้างว่าเอาเอกสารมาให้ชุนซุเกะ แต่ความจริงแล้วคงเพื่อตามชุนซุเกะมาที่แห่งนี้ ไม่เพียงเท่านั้นชุนซุเกะยังขอให้เธอเป็นคนที่คอยตามดูพฤติกรรมของมินาโกะอย่างลับๆ .. การมาครั้งนี้เธอนำหลักฐานบางอย่างมาให้กับเขาด้วย .. แต่เอริโกะมาถึงแล้วก็ไม่มีโอกาสได้กลับออกไปจากค่าย เมื่อเธอถูกฆามกรรม โดยฆาตกรที่รับสารภาพคือ มินาโกะ นั่นเอง .. เรื่องควรจะจบลงง่าย หากครอบครัวอื่นไม่เงียบเฉย ไม่มีใครต้องการแจ้งความ ในทางกลับกัน กลับกล้าเสี่ยงปกปิดคดีฆาตกรรมครั้งนี้ … ความสับสนจึงเกิดกับชุนซุเกะ ทำไมคนเหล่านี้ต้องพยายาม และยอมเสี่ยงขนาดนี้ ? เพื่อปกป้องมินาโกะงั้นหรือ ? อะไรคือเหตุผลที่แท้จริง ? เบื้องหลังการเข้าค่ายติวครั้งนี้คืออะไร ?

ความลับใต้ทะเลสาบ แปลจากเรื่อง Lakeside ของฮินาชิโนะ เคโงะ โดยคุณบัณฑิต ประดิษธานุวงษ์ เคโงะเป็นวิศวกรที่ผันตัวมาเป็นนักเขียน และทำงานเขียนได้ดังเปรี้ยงปร้างในเวลาอันรวดเร็ว เป็นเคโงะคนนี้แหละที่แต่งเรื่อง Himitsu หรือ Naoko หรือ “ความลับ” ในชื่อภาษาไทย ที่เคย blog ไว้ก่อนหน้านี้ แม้เรื่องนี้เขียนออกเป็นแนวอาชญนิยาย แต่สังเกตพบว่ามีรากที่เกี่ยวข้องกับความรัก คล้ายกับเรื่องความลับ แถมด้วยอารมณ์ happy ending ที่ขุ่นๆ มัวๆ เหมือนเฉลยไม่สุดยังไงชอบกล .. จะว่าไปแล้วเวลาอ่านสองเรื่องนี้อาจไม่ต้องพยายามคิดหรือหาเฉลยให้มากนักก็ได้ .. เจตนาของเคโงะเหมือนจะต้องการให้ผู้อ่านรู้สึกไปกับตัวละครหลักเสียมากกว่า .. YMMV !

เรื่อง Lakeside ได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ レイクサイドマーダーケース (Lakeside Murder Case)

Bluetooth Headset on Linux

เปิดหูฟังบลูทูธก่อน จากนั้นก็

$ hcitool scanning

ควรจะเจอหูฟังบลูทูธ ทีนี้แก้ไฟล์ ~/.asoundrc

pcm.bluetooth {
        type bluetooth
        device xx:xx:xx:xx:xx:xx
}

ใส่ address ลงไปตรง xx:xx:xx:xx:xx:xx จากนั้นลอง

$ mplayer -ao alsa:device=bluetooth file.ogg

ควรจะมี balloon ขึ้นมาตรง bluetooth manager ให้ pair device กดที่ balloon แล้วก็ใส่ PIN ให้ถูก ทีนี้มันก็จะเล่นเพลงได้ละ :D

โปรแกรมอื่นๆ ถ้า config device ของ ALSA เป็น bluetooth ก็ควรจะเล่นได้เหมือนกัน .. :)

ลองไปอย่างนั้นแหละ สุดท้ายก็ใช้ลำโพง/หูฟังเหมือนเดิม :P

An IPv6-only network and DNS

ไม่นานมานี้ในการประชุม IETF ได้ปิด IPv4 network ในงานทั้งหมดแล้วให้วิ่งเฉพาะ IPv6 .. ดูเหมือนจะราบรื่นดี ก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่ เขาคงเตรียมตัวไม่ให้เกิดเหตุหน้าแตก

เวลาไล่เลี่ยกัน ที่ทำงานข้าน้อยมีปัญหากับสายไฟเบอร์ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต (IPv4) โดนหนูกัดไปหลายสิบคอร์ เสาร์-อาทิตย์มีการซ่อมแซมสายทำให้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้ไป 2 วัน .. โชคยังดี (มั้ง) ที่เหลือเส้นสำรองที่วิ่งเป็น IPv6 เพียวๆ .. ตกอยู่ในสถานการณ์ IPv6-only เหมือนกันแบบไม่ตั้งใจ เลยลองใช้ IPv6 อย่างเดียวกันดู

จริงๆ ได้เซ็ตเครือข่าย IPv6 ไว้ที่ทำงานนานแล้ว ใครจะใช้งานก็ง่ายมาก ถ้าระบบปฏิบัติการที่ใช้สนับสนุน IPv6 แค่เชื่อมเข้าเครือข่ายที่จัดไว้ให้ได้ ที่เหลือก็เข้ากลไก stateless address autoconfig. ก็ใช้งานได้ .. สำหรับวันที่ทดสอบ ระบบก็ทำงานได้ราบรื่นดี จนกระทั่งมาตายที่ DNS .. ลอง dig +trace ดูก็พบกว่าถ้า query ผ่าน DNS server มักไม่ค่อยจะได้คำตอบกลับมา หรืออาจจะไม่ได้คำตอบเลย .. สาเหตุเข้าใจว่า root servers ปัจจุบันยังไม่สนับสนุน IPv6 ทุกตัว ข้อมูลล่าสุดที่ ftp://ftp.internic.net/domain/named.root วันที่ 4 ก.พ. 51 (2008020400) มีแค่เซิร์ฟเวอร์ A, F, H, J, K, และ M เท่านั้นที่มีเรคคอร์ด AAAA .. ถ้าเจอตัวที่มี IPv6 address ก็ dig ต่อได้ ถ้าไม่เจอก็จอดเลย .. และถึงจะ dig ต่อได้ ก็ใช่ว่าจะได้คำตอบ เดี๋ยวนี้ root servers มันไม่ได้เก็บ gTLD แล้ว แต่จะกระจาย gTLD ลงมาอีกชั้นที่ gtld-servers.net อีกสิบสามตัว (A – M) เท่าที่ query ดูมีแค่ gtld-servers A กับ M เท่านั้นที่มีเรคคอร์ด AAAA .. จะใช้ IPv6 กับ gTLD ตอนนี้ก็ต้องรอไปก่อนแหละ ฝั่ง ccTLD ก็ลำบากพอๆ กัน ยังไม่นับว่าบางโซนมีเรคคอร์ด AAAA ไว้แล้ว แต่เซิร์ฟเวอร์กลับไม่ได้รัน IPv6 ก็มี .. (- -)a

DNS สำหรับ IPv6 ยังมีอีกปัญหาใหญ่ คือ RFC1035 (STD13) กำหนดไว้ว่าขนาดของ DNS query/reply UDP payload จำกัดไว้ที่ 512 octets ซึ่งทำให้ root zone มี A record ได้ไม่เกิน 13 records ..ถ้ายัด AAAA ไปอีกทุกตัวก็เกินข้อกำหนดแน่ๆ .. ทางออกของปัญหานี้มีแล้ว คือใช้ EDNS(0) ซึ่ง BIND ก็มีให้ใช้ ลองกันหน่อยก็ได้

$ dig NS .
...
;; MSG SIZE  rcvd: 500

เทียบกับ

$ dig +edns=0 NS .
...
;; MSG SIZE  rcvd: 615

หรือ

$dig +bufsize=1024 NS .
...
;; MSG SIZE  rcvd: 615

จะเห็นว่าสองกรณีหลัง MSG SIZE ขนาดเกิน 512 octets … แต่การใช้งานแบบนี้ยังไม่แพร่หลาย เครือข่ายบางแห่งบางที่ก็กรองไว้ แถมทำอะไรกับ buffer บน BIND นี่มันเสียวๆ อยู่แฮะ .. เอาเป็นว่าทำเท่าที่ทำได้ละกัน ไอ้ที่อยู่เหนือการควบคุม ก็ได้แต่หวังให้มันมีความก้าวหน้าไวๆ

แถมท้าย .. root zone มี A 13 records ไม่ได้หมายความว่าจะมี root servers แค่ 13 เครื่องนะ .. root servers เขาใช้ anycast กันหลายตัวแล้ว .. และที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือ i.root-servers.net หนึ่งใน 13 root servers อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2004 โน่น .. และถ้าอยากเห็นว่า root servers กระจายอยู่ที่ไหนบ้าง สามารถ ดูบน Google Maps ได้ด้วย :)

มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ ตอน ชมรมวิญญาณคนเถื่อน

คาตายามา ฮารูมิ อิชิสึ และ ‘ท่าน’ โฮล์มส์ อุตส่าห์ได้หยุดพักผ่อนและเดินทางไปไกลถึงเยอรมนี แต่เรื่องก็ตามมาหาอีกจนได้ สงสัยสามคน + หนึ่งตัวนี้จะมีแรงดึงดูดคดีแรงจริงๆ .. เริ่มต้นกันตรงที่มีเสียงกรีดร้องของผู้หญิงตามมาด้วยการปรากฎตัวของร่างไร้สติของหญิงสาวที่เต็มไปด้วยรอยถูกทำร้ายและเสื้อผ้าเปื้อนเลือด เมื่อได้สติ ขึ้นมาเธอก็ยืนยันว่าคาตายามาเป็นคนข่มขืนเธอ ตำรวจที่กลัวผู้หญิงและเลือดอย่างคาตายามาน่ะหรือจะมีปัญญาข่มขืนใครได้ ? .. เรื่องราวการค้นหาความจริงก็เริ่มต้นขึ้น พร้อมกับคดีแปลกที่หัวหน้าคุริฮาราหอบมาให้ถึงที่เยอรมนี .. คดีชมรมวิญญาณคนเถื่อน ที่สมาชิกต่างนำชื่อคนตายมาสวมรอยเพื่อกิจกรรมลึกลับบางอย่าง .. ร่องรอยของคดีบ่งชี้มาถึงโรงแรมที่พักของสามคนหนึ่งแมวในเยอรมนีนี่เอง .. สามคนหนึ่งแมวจึงได้ออกโรงไขคดีวุ่นๆ ในวันพักผ่อนซะงั้น ..

ชมรมวิญญาณคนเถื่อน แปลมาจาก 三毛猫ホームズの幽霊クラブ ของอาคากะวา จิโร โดยคุณสมเกียรติ เชวงกิจวณิช เจ้าเก่า .. อ่านสนุก มุกขำๆ ตามแบบแผนของซีรีส์แมวสามสี :)

Heads Up .. End-of-Life is coming !

สุดอายุขัยกันอีกแล้ว

  • Debian 3.1 Sarge End-of-Life วันที่ 31 มี.ค. 2551
  • Ubuntu 6.10 EoL วันที่ 24 เม.ย. 2551
  • Fedora 7 EoL = วันที่รีลีส Fedora 9 + 1 เดือน .. ถ้าเป็นตามตารางก็ 29 พ.ค. 2551
  • SUSE 10.1 EoL วันที่ 30 พ.ค. 2551
  • FreeBSD 5.5 จะถึง EoL วันที่ 31 พ.ค. 2551 เนื่องจาก RELENG_5_5 เป็น branch สุดท้ายของ RELENG_5 ก็จะถือว่าวันเดียวกันนี้เป็นการสิ้นสุด branch RELENG_5 ด้วย
  • FreeBSD 6.1 และ 6.2 ก็จะ EoL วันที่ 31 พ.ค. 2551 เหมือนกัน แต่ RELENG_6 ยังอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อยเท่ากับ branch สุดท้ายของ RELENG_6 + 2 ปี

ใครใช้ Ubuntu 6.10 ก็มีคำแนะนำให้รออัปเกรดเป็นเวอร์ชัน 8.04 LTS ไปเลยก็ได้ (ตามแผน 8.04 LTS ก็จะ รีลีสวันที่ 24 เม.ย. 51 เหมือนกัน) .. Ubuntu 8.04 LTS จะเป็นรีลีส Long Term Support ต่อจาก Ubuntu 6.06 LTS แต่ถ้าไม่ได้ต้องการฟีเจอร์ในซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องอัปเกรดในทันทีก็ได้ เพราะ LTS ยังไงก็ยังมี support ยาวๆ 3 ปี (desktop) หรือ 5 ปี (server) อยู่แล้ว กว่า 6.06 LTS จะ EoL ก็ปี 2009/2011 โน่น

ส่วนใครที่ใช้ FreeBSD รุ่นที่จะ EoL อยู่แนะนำให้อัปเกรดเป็น FreeBSD 6.3 หรือ 7.0 .. ข่าวของ FreeBSD ส่งผ่าน mailing list วันที่ 1 เม.ย. 51 พอดี .. เลยต้องลงปัจฉิมลิขิตไว้หน่อย ..

P.S. For clarity, this is NOT an April Fool’s joke.

กร๊าก .. :D