DOObaDOO

ซื้อมาจนได้ นับเป็นซีดีเพลงไทยในรอบปีของผม .. ดูบาดู ประกอบด้วยสมาชิกสองคน คือ ลูกหว้า – พิจิกา จิตตะปุตตะ จบนิเทศฯ จุฬาฯ อดีตนักร้องของ CU band เคยเป็นนักร้องรับเชิญ ประสานเสียง อัดจิงเกิ้ลโฆษณามากมาย ผลงานที่ผ่านมารับประกันได้ว่า เธอร้องเพลงและใช้เสียงเป็น มากกว่านักร้องอีกหลายคน .. สมาชิกอีกคนคือ โอ๋ – เจษฏา สุขทรามร จบ ครุฯ ดนตรี จุฬาฯ เป็นรุ่นพี่ของลูกหว้า เคยเล่นตำแหน่งดับเบิลเบสใน CU band .. บอกชื่อนี้ไปก็ไม่รู้จักกันเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่า โอ๋ ซีเปีย เจ้าของเพลง เกลียดตุ๊ด อันลือลั่น หลายคนคงร้องอ๋อ .. อัลบั้ม EP ของซีเปียชุดแรกนั้นอาจจะทำให้ภาพของ โอ๋ ออกไปในทางดิบๆ เถื่อนๆ แนวๆ .. หลายคนคงไม่ค่อยรู้ว่า โอ๋ ซีเปีย เป็นนักเรียบเรียงเสียงประสานที่เก่งมากคนนึงของเมืองไทย เคยช่วยและศึกษางานกับ ดนู ฮันตระกูล อยู่พักนึง เรียบเรียงเสียงประสานให้ BSO ไหมไทย CU Symphony Orchestra จนถึงอัลบั้มพิเศษ Grammy Light Orchestra ของแกรมมี่ เรียบเรียงเสียงประสานเพลงชาติไทย 2 ใน 5 version รวมถึงเป็นโปรดิวเซอร์เบื้องหลังให้นักร้อง ศิลปินอีกมากมายเกือบทุกค่ายเพลง (ส่วน ปาเดย์ – ภาณุ กันตะบุตร มือเบสมาดเถื่อนของซีเปีย นั่นก็ใช่ย่อย มือปืนเบส ฝีมือดีของวงการเหมือนกัน)

เคยอ่านบทสัมภาษณ์ โอ๋ ซีเปีย เมื่อนานมาแล้ว เขาบอกว่าการทำงานเพลงดูโอกับนักร้องหญิงเป็นความไฝ่ฝันของเขา .. หลายปีก่อนเกือบจะได้ร่วมงานกับ ชมพู่ ละอองฟอง แต่เพราะชมพู่มีวงอยู่แล้วเลยพลาดไป ..ครั้งที่สองได้เจอ เสาวนิตย์ นวพันธุ์ นักร้องเสียงดี ดีกรีดนตรีจากนอก แต่งเพลงเก่งด้วย หลังจากทำเดโมไปเสนอ แกรมมี่ก็ดูดเสาวนิตย์ไป เขี่ยเดโมกับโอ๋ทิ้ง .. ดูบาดูนี้น่าจะเป็นความพยายามครั้งที่สามที่จะทำตามความไฝ่ฝัน โอ๋กะว่าถ้าไม่มีค่ายก็จะลงทุนทำเอง ก็พอดีคุยกับก้านคอคลับของโจอี้บอยรู้เรื่อง ดูบาดูเลยออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็น

ดูบาดู เสนอเพลงในแนว แจ๊ส สวิง คูล บ็อพ เป็นแกนหลัง เรียกว่างานนอกกระแส หรือหลุดกระแสไปเลย .. ลูกหว้าจะเป็นคนออกแบบเสียงร้อง ส่วนโอ๋ดูแลดนตรี เครื่องดนตรีส่วนใหญ่จะมี กลอง ดับเบิลเบส และกีต้าร์ (หลายแบบ แบบแปลกๆ ด้วย) บางเพลงมีเครื่องสาย เครื่องเป่า ออร์แกน เปียโน มาร่วมด้วย .. เสียงกลองกับดับเบิลเบสใช้การโปรแกรมเอา (ยกเว้น เพลงหน้าหนาวเอาปาเดย์มาเล่นเบส เพลงวินาทีเอาวิทยา ปานพุ่มมาตีกลอง) ..

แยกเพลง มิอาจวิจารณ์ บอกได้แต่ความรู้สึกตามนี้

  1. เก็บกระเป๋า – สวิง เพลงนี้ฟังแรกๆ ก็ธรรมดา แต่สักพักก็พบว่ามันเท่ห์ดี เรียบง่าย สบาย สงบเสงี่ยม
  2. ไม่ใช่ผู้ชาย – เพลงเร็ว เปิดตัว เนื้อหาน่ารักในตัวอยู่แล้ว สมแล้วที่ต้นคิดมาจาก โน้ส อุดม ได้ทรัมเป็ตมาสร้างเสียงสนุกๆ ในแนว Dixieland ดนตรีเต้นรำเสริมกันเข้าไปอีก
  3. วินาที – เห็นเพลงนี้เอา วิทยา ปานพุ่ม มาตีกลอง เลยออกจะตั้งใจฟังกลองเป็นพิเศษ .. ชอบเพลงนี้ที่สุดในอัลบั้มนี้ (ตอนนี้นะ)
  4. สุขุมวิท – แจ๊ส/บลูส์ เพลงเร็วไม่ต้องบ้าพลังก็ได้ มีสแก็ตสั้นๆ โซโลสนุก เล่นสดน่าจะมันส์ :)
  5. เมื่อคืนนี้ – สวิง/สโลว์ อารมณ์คิดถึงอย่างแรง เพลงนี้มีเครื่องสายมาเสริม ชวนให้นึกถึง Grammy Light Orchestra เสียดายที่เครื่องสายไม่สด
  6. คุณผู้ฟังที่รัก (หลังไมค์) – เพลงช้า เปิดตัว นี้เนื้อหากุ๊กกิ๊กดี ดนตรี-เสียงร้อง sexy เป็นบ้า ตั้งใจฟังเพลงนี้ดีๆ จะได้ยินลูกเล่นที่ใส่ไว้ (ไม่รู้ตั้งใจหรือเปล่า ;p)
  7. หน้าหนาว – เสียงร้อง กับ เปียโน และ เฟร็ตเลสเบส .. หลับตาฟังแล้วขนลุกเลย อีกคนที่น่าจะร้องได้แบบนี้คือ แอน คูณสามฯ
  8. ฝนจ๋า – สวิง สมเป็นเพลงชื่อฝน
  9. ขอ – Duet เสียงร้องกับกีต้าร์ .. ทึมๆ หม่นๆ เกือบจะ west coast ชอบเพลงนี้พอๆ กับ วินาที
  10. คุณนายมะขาม – บีบ็อพครับ ช็อคไปเลย .. ร้องเร็วมาก ไม่หลง ไม่หลุด ทำได้ไง (- -‘) .. ฟังน้ำเสียงในเพลงนี้ดีๆ ร้ายจริงๆ :)

รวบยอด ปกติผมไม่ชอบฟังเพลงร้อง โดยเฉพาะเพลงไทย แต่ ดูบาดู นี่ทำให้ได้ฟังเสียงร้องอย่างมีความสุข เพลงอัลบั้มนี้ร้องยากพอสมควรเลย แล้วลูกหว้าก็ร้องได้ดีมาก มีระเบียบ สมกับได้รับการฝึกฝนมาดี .. ดนตรีฝีมือ โอ๋ ซีเปีย เจ๋ง accompany ให้นักร้องอย่างที่ควรจะเป็น นักร้องได้แสดงศักยภาพเต็มที่ (อยากฟังเสาวนิตย์ ไม่ก็รัดเกล้า ร้องแบบนี้บ้าง) .. ขณะเดียวกันดนตรีก็มีความโดดเด่นในตัวเอง แม้ว่าจะใช้ดนตรีสังเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขัดหูหรือแข็งกระด้างจนน่าเกลียด ถ้าไม่ใช้เครื่องดนตรีสังเคราะห์น่าจะยิ่งดี .. สรุป ไม่ซื้อฟังแล้วจะเสียใจ

/me .. ความเห็นส่วนตัว bias .. ผิดๆ ถูกๆ .. ช่วยไม่ได้ :P

Blood Work

ภาษาไทยในชื่อ “ภารกิจเลือด” เป็นเรื่องของ เทอร์รี่ แม็คเคลเล็บ อดีตเจ้าหน้าที่เอ็ฟบีไอ เขาได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และกำลังเริ่มชีวิตใหม่ เพราะสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยที่จะทำงานภาคสนามอีกแล้ว เขาจึงต้องคอยปฏิเสธการร้องขอจากผู้คนจำนวนมากที่อยากให้เขาช่วยเหลือในการสืบสวน .. กราเซียล่า ริเวอร์ส เป็นอีกคนที่มาขอร้องให้เขาช่วยสืบสวนคดีฆาตกรรมน้องสาวของเธอที่ดูแลโดยตำรวจท้องที่และไม่มีวี่แววว่าจะปิดคดีได้ในเร็ววัน เขาปฏิเสธไปเช่นเดียวกับทุกคน แต่เธอบอกเขาในสิ่งที่เขาไม่ควรจะได้รู้ นั่นคือ หัวใจที่เขาได้รับเปลี่ยนเป็นของกลอเรีย น้องสาวของกราเซียล่าที่ถูกฆาตกรรมนั่นเอง .. เพราะคดีอยู่นอกเหนืออำนาจของเขา เขาจึงรับปากได้แค่ว่าจะช่วยดู แต่เมื่อเขาได้เห็นหลักฐานก็ยิ่งทำให้เห็นว่าการสืบสวนของตำรวจมองข้ามไปหลายจุด .. คดีไม่เพียงซับซ้อนมากกว่าที่เห็น แต่ยังพัวพันกับตัวเขาเองอีกด้วย เพราะเขาเองก็เข้าข่ายคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการตายของกลอเรีย .. ถ้าเขาพลาด เขาเองก็จะกลายเป็นเหยื่อไปด้วย ..

ไมเคิล คอนเนลลี (Micheal Connelly) อดีตเป็นนักข่าวอาชญากรรมประจำหนังสือพิมพ์ เมื่อมาเป็นนักเขียนจึงถ่ายทอดรายละเอียดอาชญากรรมและการสืบสวนสอบสวนได้อย่างสมจริง นับเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง และมีคนติดตามผลงานมากที่สุดคนหนึ่ง .. เรื่อง Blood Work เป็นผลงานลำดับที่ 13 ของเขา เป็นเล่มที่ได้รับรางวัลนวนิยายอาชญากรรมยอดเยี่ยมประจำปี และรางวัลอื่นๆ ในหลายประเทศ .. ภารกิจเลือดเดินเรื่องตามความคิดอ่านของ แม็คเคลเล็บ ชวนให้นักอ่านได้สนุกกับการคิด ตามหาตัวฆาตกร และหาสิ่งที่เชื่อมโยงเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวกันเข้าด้วยกัน .. ตัวฆาตกรยังพอเดาได้ แต่ที่ยากจะเดาคือเจตนาที่แท้จริงของฆาตกร อันเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหมด .. ตอนเรื่องคลี่คลายนี่เล่นเอาขนลุก จบแล้วต้องย้อนอ่านเป็นรอบที่สอง :P

ซีรีส์ของ เทอร์รี่ แม็คเคลเล็บ นี้เริ่มต้นที่ Blood Work และมีเล่มต่อให้เห็นแล้วคือ A darkness more than night .. มันส์ไม่แพ้กัน :)

RFD: Kernel release number

ต้นเดือนที่ผ่านมา Linus เสนอให้มีการเปลี่ยนรูปแบบของเลขรีลีสของเคอร์เนลใหม่ เพราะ cycle การรีลีสเดิม e.g. 2.4.x. -> 2.5.x ช้า ทำให้ต้องมีการ backport / forwardport กันบ่อยๆ อีกทั้ง users ไม่ค่อยจะทดสอบ pre/rc ทำให้ไม่เจอบั๊กที่ควรจะแก้ก่อนรีลีส ก็เลยจะเปลี่ยนรูปแบบใหม่โดยเลขรีลีสสามตัวจะมีความหมายทุกตัว

from Linus's email :

- 2.6.<even>: even at all levels, aim for having had minimally intrusive
  patches leading up to it (timeframe: a week or two)

with the odd numbers going like:

- 2.6.<odd>: still a stable kernel, but accept bigger changes leading up
  to it (timeframe: a month or two).
- 2.<odd>.x: aim for big changes that may destabilize the kernel for
  several releases (timeframe: a year or two)
- <odd>.x.x: Linus went crazy, broke absolutely _everything_, and rewrote
  the kernel to be a microkernel using a special message-passing version
  of Visual Basic. (timeframe: "we expect that he will be released from
  the mental institution in a decade or two").

แปลว่ามันจะกลายเป็นแบบนี้ (bugfixes + features) -> เลขคี่ -> bugfixes -> เลขคู่ -> .. maintainer หลายคนก็ดูจะเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ .. แต่ปัญหาที่อาจจะเกิดตามมาก็คือ users จะเลือกใช้เฉพาะเคอร์เนลเลขคู่ทำให้เคอร์เนลไม่ได้รับการทดสอบ/ใช้งานมากอย่างที่ควรจะเป็น .. มีคนเสนอให้ใช้ 2.6.x.y เหมือนตอน 2.6.8 -> 2.6.8.1 คือจะใช้ .y เมื่อต้องการรีลีส bugfixes/security fixes ก่อนจะ x += 1 ซึ่งคาดกันว่าจะช่วยให้ cycle สั้นลง เคอร์เนลจะได้รับการทดสอบมากขึ้น และ users ก็จะได้เอาไปใช้กันเร็วขึ้นตามไปด้วย .. หลังจากคุยกันยาว ก็ตกลงว่าจะใช้ scheme 2.6.x.y กัน โดย Greg K. H. กับ Chris Wright อาสา maintain 2.6.x.y tree (a.k.a, sucker tree) .. ต่อจากนี้ คาดว่า bugfixes / security fixes จะเข้าทาง 2.6.x.y tree .. Linux จะ pull ไปรวมกับ bk tree เอง ซึ่งจะไปโผล่ใน stable ถัดไป (x +=1) .. หรืออีกทางนึงคือ Greg กับ Chris ส่ง patch ผ่านทาง Andrew Morton ซึ่งช่วย Linus maintain ‘testing’ tree (-mm) ของ 2.6 ซึ่งท้ายที่สุดก็จะไปรวมกับ bk เหมือนกัน

ณ. วันนี้ 2.6 stable = 2.6.11.3 แล้ว :)

ร้านกาแฟหลังมอ

กลับบ้านไปเมื่อเดือนก่อน ได้แวะไปกินกาแฟหลังมอร้านเดิม เก็บภาพมา 4-5 ภาพ สภาพแสงในร้านออกจะสลัวๆ หน่อย กะว่า noise ต้องมาแน่ๆ เลยตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะทำเป็นภาพขาวดำ ใช้ noise มาเป็น grain ซะ

ข้อมูลภาพ: บันทึกภาพที่ ISO 1600 F4.5 เวลา 1/2 วินาที มือเปล่า ย่อภาพโดยไม่ interpolate เพื่อให้ noise ค้างในภาพ ปรับเป็นขาวดำด้วย Channel Mixer อืมม .. ไว้จะเล่าให้ฟังว่าทำไมต้องใช้ Channel Mixer :) .. ใส่กรอบ + ตัวหนังสือ ..

.. อ่อ ในแก้วนั่น บ๊วยปั่นนะ :)

kitty.in.th news

มีข่าวมาแจ้งสามเรื่อง

  • kitty.in.th หยุด build / update rpm ของ TLE 7.0 ตั้งแต่วันนี้ (7 มีนาคม 2548) เป็นต้นไป แพ็คเกจยังอยู่ที่เดิม ดาวน์โหลด / apt ได้เหมือนเดิม คง maintain ไว้ในเซิร์ฟเวอร์อีกอย่างน้อยหนึ่งปี .. จะว่าไปแล้วก็หยุดอัปเดตมาเป็นเดือนแล้วแหละ :P
  • หยุด rpm ไปแล้ว ก็จะเริ่มทดสอบ repository สำหรับ ubuntu (hoary) กันล่ะ .. ตอนนี้มีแพ็คเกจอยู่นิดหน่อย ส่วนนึงเป็นแพ็คเกจที่แพตช์ภาษาไทยไว้ (e.g. evolution, dillo) อีกส่วนนึงคือที่อยากใช้เอง แต่ใน main / universe / multiverse มันไม่มี หรือมีแต่เก่ามากแล้ว .. ทั้งหมด build บน ubuntu hoary ถ้าต้องการใช้งานก็อาจจะต้องตามมาใช้ hoary ด้วยกัน :P ดาวน์โหลดแพ็คเกจ deb ได้ที่ ftp://ftp.kitty.in.th/pub/ubuntu/pool/unstable/ แพ็คเกจจะตั้งสถานะเป็น unstable ไว้ตลอด ไม่ว่าจะเสถียรหรือไม่ก็ตาม สำหรับ apt ให้เพิ่ม /etc/apt/sources.list ตามนี้
# Kitty Repository
deb ftp://ftp.kitty.in.th/pub/ubuntu/ kitty unstable
  • เพิ่มบทความเรื่อง Digital Photography Workflow .. หลากหลายขั้นตอนในการจัดการภาพดิจิทัล ตั้งแต่ก่อนจะกดชัตเตอร์ จนปรากฏบนเว็บ kitty.in.th :)

Digital Photography Workflow

นอกเหนือจากความสะดวกและประหยัดอันเป็นเหตุผลหลักของใครหลายๆ คนในการตัดสินใจซื้อกล้องดิจิทัลมาใช้งานแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่ใครอีกหลายคนเลือกกล้องดิจิทัลแทนกล้องฟิล์มคือ อิสระในการควบคุมคุณภาพของภาพได้ด้วยตัวเอง ปรับแต่งภาพได้ง่าย .. จริงๆ แล้ว แต่ไหนแต่ไรมาการบันทึกภาพด้วยฟิล์มก็มีการแต่งภาพเหมือนกัน เพียงแต่เราไม่เคยได้สัมผัสเพราะเป็นหน้าที่ของร้านล้างอัดที่จะทำให้ภาพสีสวยสด นอกจากนี้ ร้านล้างอัดบางแห่งจะให้กรอกได้ว่าต้องการล้างอัดแบบใดเป็นพิเศษ เช่น ล้างอัดฟิล์มที่ push/pull กำหนดเวลาแช่น้ำยาได้ หรือใช้น้ำยาข้ามประเภท (cross processing) หรือดีไปกว่านั้น ร้านล้างอัดบางแห่งให้เช่าอุปกรณ์ ห้องมืด แบ่งซื้อน้ำยามาล้างอัดเองได้ .. พอมีกล้องดิจิทัลเราจึงพึ่งพาร้านล้างอัดน้อยลง งานปรับแต่งภาพที่แต่เดิมขึ้นกับร้านล้างอัดก็เปลี่ยนมาเป็นงานของเราไปด้วย .. คนที่เก็บบันทึกภาพด้วยกล้องดิจิทัลจึงหันมาเรียนรู้และทำความรู้จักกับขั้นตอนในการ develop ภาพดิจิทัล – Digital Darkroom / Digital Workflow – มากขึ้น .. จากนี้ไปภาพจะสวยหรือไม่ก็อยู่ที่ตัวเราแล้วล่ะ

Settings

digital workflow ไม่ได้มาเริ่มทำหลังจากได้ภาพแล้ว แต่เริ่มตั้งแต่ก่อนจะบันทึกภาพกันเลย .. นิตยสารบางเล่มที่รับภาพจากช่างภาพอิสระจะกำหนดไว้เลยว่าจะต้องปรับตั้งค่าของกล้องดิจิทัลไว้ยังไง แบบไหนถึงจะสะดวกในการปรับแต่งภาพในภายหลัง เมื่อจะนำภาพมาปรับแต่งในภายหลัง สิ่งสำคัญคือต้องพยายามเก็บรายละเอียดของภาพมาให้ได้มากที่สุด จะได้ปรับแต่งบนคอมพิวเตอร์ได้ง่าย ตรงนี้เลยกลายมาเป็นหลักคร่าวๆ ของการปรับค่าในการบันทึกภาพว่าให้พยายามรักษาต้นฉบับที่บันทึกให้ได้มากที่สุด ผ่านการประมวลผลด้วยซอฟต์แวร์บนกล้องให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ .. อ่อ ลืมบอกไป กล้องดิจิทัลทุกตัวมีซอฟต์แวร์ในการปรับแต่งภาพฝังอยู่ข้างในทั้งนั้นแหละครับ white balance, sharpness, saturations, digital zoom, compression ฯลฯ ล้วนแต่เป็นฝีมือของซอฟต์แวร์บนกล้อง .. ถ้าจะบันทึกแล้วเอาไปอัดลงกระดาษทันทีก็แล้วไป แต่ถ้าเราจะเอามาเข้า workflow เป็นเรื่องเป็นราว เอามาปรับด้วยซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์เลยดีกว่า เพราะให้คุณภาพที่ดีกว่า มีได้อิสระในการปรับแต่งมากกว่า เห็นภาพชัดเจนกว่าด้วย .. การปรับตั้งค่าบนกล้องดิจิทัลให้เหมาะกับการนำมาปรับแต่งทั่วๆ ไปก็มีดังนี้

ขนาดและอัตราการบีบอัดข้อมูล: ตัวที่ทำลายคุณภาพของภาพมากที่สุดคือการบีบอัดของ JPEG เพราะมันเป็นการบีบอัดที่ยอมสูญเสียข้อมูลต้นฉบับบางส่วนไปเพื่อแลกกับขนาดที่เล็กลง (Lossy Compression) จึงมีคำแนะนำกันมาว่า ให้เก็บภาพด้วยคุณภาพสูงสุด บีบอัดน้อยที่สุด ที่ความละเอียดสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าบันทึกแบบ lossless อย่างเช่น TIFF ได้ก็ดี .. ยิ่งถ้าได้เป็น raw ยิ่งดี เพราะ raw จะเก็บข้อมูลดิจิทัลดิบๆ จาก CCD/CMOS โดยไม่ผ่านการ post process ใดๆ เลย แถม raw อาจจะเก็บระดับสีได้มากกว่าด้วย เช่น 12 หรือ 16 bits/channel ซึ่งได้ความละเอียดของระดับสีมากกว่า JPEG ที่ใช้ 8 bits/channel

จากเรื่องของขนาดและคุณภาพแล้ว ถัดมาคือ ISO Sensitivity คำแนะนำคือให้ใช้ค่าต่ำสุดเท่าที่จะใช้บันทึก scene นั้นได้ .. เหตุผลก็คือ ISO Sensitivity ของกล้องดิจิทัลเป็นการอัดประจุไฟฟ้าในปริมาณต่างๆ กัน เพื่อให้ CCD/CMOS เลียนแบบความไวในการรับแสงที่ต่างกัน ยิ่งปรับ ISO สูงๆ ประจุก็จะเยอะ ยิ่งประจุเยอะก็จะมีเม็ดสีเข้ามารบกวน (noise) ในภาพเยอะตามไปด้วย ความสมบูรณ์ของภาพก็จะลดลง .. ทั่วไปแล้วจึงควรตั้งให้ค่าต่ำๆ เข้าไว้ ถ้าลงได้ต่ำสุดของกล้องนั้นๆ ได้ก็จะดี อย่างไรก็ตามในบาง scene อาจจะต้องยอมปรับให้ ISO สูงขึ้นเพื่อแลกกับความคมชัดในการบันทึก เช่น การถ่ายภาพที่ต้องการหยุดการเคลื่อนไหว หรือภาพที่บันทึกภายใต้สภาพแสงน้อยๆ

White Balance เป็นค่าที่ใช้ในการปรับให้สีถูกต้องในสภาพแสงต่างๆ .. เนื่องจากกล้องดิจิทัลไม่รู้ว่าอะไรคือสีขาว เมื่อได้ค่าจาก CCD/CMOS มันจะเทียบเอาว่าค่าน้อยสุดคือดำ และค่าสูงสุดคือขาว แล้วค่อยเอามาปรับว่าสี R G B ของแต่ละพิกเซลควรจะเป็นเท่าไหร่ ผลก็คือสีในภาพอาจจะเพี้ยนไปจากที่ตาเห็น มากน้อยขึ้นกับปริมาณและชนิดแหล่งกำเนิดแสงใน scene นั้นๆ .. white balance เป็นค่าที่ปรับยาก ไม่มีสูตรสำเร็จ .. การปรับ white balance ได้ใกล้เคียงสภาพแสงจริง ช่วยให้แก้ไขสีของภาพได้ง่ายขึ้นเยอะ .. เอาเป็นว่าถ้าต้องการให้สี ‘ถูกต้อง’ หรือใกล้เคียงกับสีจริงให้เลือกปรับ white balance ที่ใกล้เคียงกับสภาพแสงในขณะนั้น ถ้าแสงแดดดีก็ใช้ sunny/daylight ฟ้าครึ้มก็ใช้ cloudy หลอดใส้ใช้ incandescent หลอดนีออนใช้ fluorescent ฯลฯ .. ส่วน auto white balance กล้องบางรุ่นก็แม่น บางรุ่นก็ไม่แม่น ต้องลองทดสอบกันเอง .. อันที่จริง เรื่อง white balance กับโทนเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจเป็นหลัก ดังนั้นอาจจะไม่ต้องการให้แม่นยำถูกต้องเสมอไป .. บ่อยครั้งที่ผมจงใจตั้ง white balance ผิดไปจากแสงธรรมชาติเพื่อให้ได้ภาพอีกแบบ เช่นเดียวกัน การปรับชดเชยแสงก็ขึ้นกับเรา .. ประเด็นก็คือ หากบันทึกได้ใกล้เคียงกับ ‘ภาพสุดท้าย’ ที่ตั้งใจให้มันออกมา เวลาปรับแต่งมันก็จะง่าย

Sharpness ปรับความคมชัด .. มีหลายกรณีที่กล้องดิจิทัลไม่สามารถถ่ายภาพได้คมเป็นใบมีดเหมือนที่ใครเข้าใจ เพราะยังไงก็มีข้อจำกัดของเลนส์และการโฟกัส เพื่อให้ภาพดูคมชัดขึ้น กล้องดิจิทัลหลายๆ รุ่นมักจะทำ unsharp mask เพื่อปรับภาพให้ดูคมขึ้น .. การทำ unsharp mask จริงๆ แล้วก็คือทำให้สีเข้มให้เข้มยิ่งขึ้นและอ่อนให้อ่อนกว่าเดิมตรงจุดที่เป็นขอบของวัตถุในภาพ จะมีผลกระทบกับ histogram ของภาพ และทำให้เห็นเม็ดสีรบกวนเยอะขึ้นได้ด้วย จึงไม่ควรจะตั้ง sharpness เป็น + หรือ – (note: การไม่ทำ unsharp mask บางกล้องให้ตั้ง sharpness = 0 บางกล้อง sharpness = none ) .. หากต้องการปรับให้ภาพดูคมชัด มาทำบนคอมพิวเตอร์ดีกว่า พลาดก็ยังมี undo และยังปรับได้ละเอียดกว่าด้วย :)

โหมดถ่ายภาพแบบต่างๆ เช่น Portrait, Landscape, Macro, Hi-Speed, Night Portrait, Program, Aperture Priority (Av), Shutter Priority (Tv), Manual .. ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกอยู่แค่ 3 แบบคือ Av, Tv, Manual เพราะโหมดอื่นๆ อาจจะมีการปรับแต่งสี ความคม ฯลฯ ให้อัตโนมัติ เช่น โหมด Portrait ของกล้องบางตัวจะปรับสีไปทางแดง-เหลืองนิดๆ เพื่อให้ผิวของแบบดูไม่ซีดและอาจจะปรับความคมให้ลดลงเพื่อให้ภาพ soft ลง .. โหมด Landscape มักใช้ถ่ายภาพวิวก็จะปรับสีไปทางเขียว-ฟ้าต้นไม้จะได้สวยท้องฟ้าจะได้แจ่ม และปรับความคมมากกว่าปกติ .. การเลือกโหมดบันทึกภาพที่เหมาะสมอาจจะช่วยให้ได้ภาพสวยได้ทันทีที่กดชัตเตอร์ แต่ถ้าจะเอามาปรับแต่งทีหลังจะกลายเป็นเพิ่มความยุ่งยากของ workflow .. อีกทั้งโหมดโปรแกรมอัตโนมัติทั้งหลายจะไม่ยอมให้ควบคุมความเร็วชัตเตอร์หรือระยะชัดลึกจึงอาจจะไม่ได้ภาพอย่างที่ต้องการ .. โหมดกึ่งอัตโนมัติอย่าง Av, Tv หรือ Manual เต็มๆ จะให้อิสระในการควบคุมมากกว่า และมีการปรับแต่งด้วยซอฟต์แวร์บนกล้องน้อยกว่าด้วย :)

หลักๆ ที่ควรจะปรับก็คงมีเท่านี้แหละครับ .. ออกไปกดชัตเตอร์กันดีกว่า :)

Shoot !

ในบางแง่มุม กล้องดิจิทัลเองก็มีข้อจำกัดมากอยู่เหมือนกันเมื่อเทียบกับกล้องฟิล์ม สิ่งที่กล้องดิจิทัลด้อยกว่ากล้องฟิล์มและเป็นสิ่งที่ต้องระวังเวลาจะบันทึกภาพก็คือ ‘Latitude’ อธิบายคร่าวๆ ก็คือ ค่าความยืดหยุ่นของฟิล์มว่าทนต่อความผิดพลาดในการวัดแสงได้มากน้อยขนาดไหน ฟิล์มมี latitude สูง เรียกว่ามีพื่นที่เผื่อในกรณีวัดแสงพลาดค่อนข้างมาก ฟิล์มสไลด์ดีๆ วัดแสงผิดสัก 1-2 สต็อปก็ยังได้ภาพที่ดีสีจัดจ้าน .. ส่วน CCD/CMOS จะมี latitude ต่ำมาก วัดแสงพลาดแล้วต้องมานั่งแก้ไข ซึ่งมักจะไม่ได้ผลดีเท่าไหร่ ดังนั้นการอ่านและวัดแสงให้แม่นยำเป็นเรื่องสำคัญอันนึงที่ต้องฝึก (จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิทัล หรือฟิล์มก็ต้องฝึกเรื่องวัดแสง) .. อย่างน้อยที่สุดคือต้องระวังเรื่อง blow out เพราะมันแก้คืนไม่ได้ .. blow out เกิดจากเราปล่อยให้กล้องบันทึกแสงในปริมาณมากเกินไป ทำให้ได้ภาพหรือบางส่วนของภาพขาวสว่างมากจนไม่เหลือรายละเอียดปรากฏ กล้องบางรุ่นหลังจากบันทึกภาพแล้วจะดู highlight ซึ่งเป็นจุดที่เกิด blow out ในภาพได้ หรือบางรุ่นจะมี histogram ก็ใช้ดูได้เช่นกัน .. histogram เป็นกราฟบอกการกระจายของโทนจากดำไปขาว ภาพที่ over expose ลักษณะ histogram จะเอียงไปทางขวา ยิ่งถ้าติดขอบด้านขวาก็แสดงว่าเกิด blow out แน่นอน .. และเพราะ blow out มันทำให้รายละเอียดของภาพหาย กล้องบางตัวจึงมีการปรับจูนการวัดแสงเพื่อให้ได้ภาพ under expose นิดๆ ประมาณ 0.3 – 0.5 stop .. ไม่ต้องกังวลมากถ้าภาพออกมามืดนิดๆ ยังไงก็ดีกว่าทำให้รายละเอียดหายเพราะถ่ายเวอร์เกินไป .. เอาล่ะ หลังจากได้ภาพมาแล้ว ที่เหลือเป็นหน้าที่ของซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์กันล่ะ :)

Generic Workflow

สำหรับภาพดิจิทัล workflow จะเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์เยอะ จะเลือกทำอะไรด้วยวิธีไหน ใช้ซอฟต์แวร์อะไร ขึ้นกับความถนัดคุ้นชินส่วนตัว เอาเป็นกลางๆ แล้วไปประยุกต์ใช้กับซอฟต์แวร์ที่ถนัดเองละกันเน้อะ

  1. ดาวน์โหลดภาพเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ มีคำแนะนำว่าควรจะแบ่งไดเรกทอรี่เป็นสัดส่วน ตั้งชื่อให้สื่อความหมายจะได้สะดวกในการค้น อาจจะตั้งชื่อไดเรกทอรี่ตามเหตุการณ์ที่ไปบันทึกภาพมา หรือชื่อสถานที่ท่องเที่ยว กำกับวันที่ไว้ด้วยก็อาจจะช่วยค้นหาได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
  2. ซอฟต์แวร์สำหรับดูภาพหลายๆ ตัว ช่วยจัดระบบภาพได้ โดยให้เราการกำหนดหมวดหมู่หรือใส่คำบรรยายกำกับภาพ ถ้าจัดระบบดีๆ ก็จะช่วยให้ค้นหาภาพได้ง่ายขึ้น .. การกำหนดหมวดหมู่อาจจะแบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามประเภทของภาพ เป็น ภาพบุคคล วิว น้ำตก ภูเขา ทะเล ฯลฯ .. หรือภาพถ่ายครอบครัวก็อาจจะแบ่งตามสมาชิกในครอบครัวก็ได้ .. คำบรรยายอาจจะเขียนกำกับลักษณะ บรรยากาศ หรือ ความรู้สึกขณะบันทึกภาพก็ได้
  3. สร้าง thumbnail ไว้ จะได้ browse ได้เร็วขึ้น .. โปรแกรมส่วนใหญ่จะทำให้อัตโนมัติ อย่างไรก็ตามมีคำแนะนำว่า ถ้าโปรแกรมสามารถบันทึก thumbnail แยกเป็นไดเรกทอรี่ได้ก็จะดี เพราะเวลาเก็บลง CD จะได้บันทึก thumbnail ไว้ด้วย ไม่ต้องเสียเวลาสร้าง thumbnail ใหม่
  4. เก็บต้นฉบับลง offline media สักสองสำเนา เอา CD-R ก็ได้ แผ่นไม่กี่ตังค์ เสียภาพบางภาพไปไม่คุ้มกันหรอกครับ .. หากภาพยังไม่เต็มแผ่นพอดี ก็เผาเก็บลง CD-RW ก่อนก็ได้ ทำไปจนกว่าแผ่น CD-RW เต็มค่อยถ่าย CD-RW ลง CD-R แล้วเอาแผ่น CD-RW มาหมุนเวียนใช้งานต่อ .. แผ่น DVD+/-R/RW ก็ใช้เทคนิคเดียวกัน
  5. คัดเลือกภาพจากต้นฉบับที่ต้องการเอาไปใช้งาน แนะนำว่าให้ลบไฟล์ที่ไม่ต้องการใช้จริงๆ ทิ้งไปก่อน (อย่าลืมเก็บลง offline media !) แล้วค่อยก๊อปปี้ไฟล์ที่จะเอาไปใช้แยกออกมาไว้อีกไดเรกทอรี่สำหรับเอาไปปรับแต่งภาพ .. วิธีนี้จะยังเหลือภาพต้นฉบับที่จะนำไปใช้บนฮาร์ดดิสก์ เกิดข้อผิดพลาดกับภาพที่แต่งยังไงก็มีต้นฉบับให้เริ่มใหม่โดยไม่ต้องไปค้นออกมาจาก CD-R
  6. ปรับแต่งภาพให้ดีขึ้น .. ก่อนอื่น ต้อง calibrate จอก่อน ถ้าไม่รู้จะทำไงก็ลองทำตามคำแนะนำ ของ http://www.displaycalibration.com/ หรือ http://www.normankoren.com/makingfineprints1A.html หลังจากได้จอที่เที่ยงตรงพอสมควรแล้วค่อยมาปรับแต่งภาพกัน .. การปรับแต่งภาพขั้นพื้นฐานอยู่ไม่กี่อย่างครับ แต่ถ้าได้ทำสักนิดภาพจะแจ่มขึ้นอีกเป็นกอง …

  • Rotate – โปรแกรมหลายโปรแกรมยังไม่ฉลาด มันไม่รู้ว่าเราถ่ายภาพมาแนวตั้งหรือแนวนอน หมุนภาพซะให้ถูกต้อง โปรแกรมหลายๆ ตัวจะทำ lossless JPEG rotation ได้ ช่วยให้ไม่เสียคุณภาพขณะหมุน
  • Crop – การเปลี่ยนกรอบภาพอาจช่วยให้องค์ประกอบของภาพดีขึ้น ได้ภาพน่าสนใจมากขึ้น .. เวลา crop ภาพพยายามให้ aspect ratio คงเดิมได้ก็ดี เช่นภาพขนาด 1600×1200 ถ้า crop แนวนอนได้ 400 pixels ก็ควรจะได้แนวตั้ง 300 pixels .. อย่างไรก็ตาม การปรับ aspect ratio ก็เหมือนกับกฏการจัดองค์ประกอบภาพอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำตามทุกครั้งไป .. ภาพบางภาพกำหนด aspect ratio เป็น 1:1 อาจจะสวยกว่า 3:2 หรือ 4:3 หรือ 16:9
  • Level – อันนี้ต้องอธิบายละเอียดนิด เพราะเป็นตัวหลักที่จะต้องปรับแทบทุกภาพ .. level เป็นค่าที่บอกระดับความต่างของโทนแต่ละสี ปกติแล้วมีค่า 0 -255 (i.e. 8 bits/channel) โดยที่ 0 = ดำ 255 = ค่าสว่างสุดของสีนั้น .. ภาพที่เราบันทึกมาบางครั้งมันจะมีโทนไปกองอยู่ช่วงใดช่วงนึง ดูได้จาก histogram .. การปรับ level จะเป็นการขยายช่วงโทนของภาพให้กระจายเต็มที่ตั้งแต่ 0 – 255 ทำให้ความแตกต่างของสีสันมีมากขึ้น brightness contrast สูงขึ้น ผลก็คือ ภาพจะดูมีมิติมากขึ้น สีสันสดใส … ตัวควบคุม level มีสามค่า คือ black point กำหนดค่าต่ำสุดอยู่ทางซ้ายมือ, white point กำหนดค่าสูงสุดอยู่ทางขวามือ และ gamma กำหนดแฟคเตอร์การกระจายโทน .. การปรับ level ทั่วไปแล้วจะดูจาก histogram ของสี โดยเลื่อน black point มาที่ปลายด้านซ้ายของ histogram และเลื่อน white point มาไว้ที่ปลายด้านขวาของ histogram เสร็จแล้วค่อยปรับ gamma ถ้าต้องการ .. การปรับ level อาจจะปรับที่โทน (สีดำ) ตัวเดียวก็ได้ หรือ ปรับแยกแต่ละช่องสี (R G B) ก็ยิ่งดี .. วิธีการปรับนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ดังนั้นไม่ต้องไปยึดติดกับวิธีการหรือค่าต่างๆ มากนัก คำแนะนำในการปรับ level เป็นแค่ตัวช่วยคร่าวๆ คนที่ตัดสินใจว่าพอดีไม่ใช่ histogram แต่เป็นตัวเราเองต่ะหาก :)

มากกว่านี้ก็อาจจะมี color balance, sharpening, soft, noise removal หรือตกแต่งกันระดับ pixel เช่น ลบสิวฟ้า ทำหน้าเด้งหน้าใส ฯลฯ .. ที่ควรจะต้องทราบคือ ลำดับก่อน-หลังในการปรับแต่งก็สำคัญเหมือนกัน อย่าง unsharp mark ถ้าเป็นไปได้ให้ทำเป็นอันดับท้ายสุด เพราะมันกระทบกับ histogram ของภาพ ถ้าทำ unsharp mask ก่อนแล้วมาปรับ level ทีหลังจะได้ผลลัพธ์ไม่ค่อยดีนัก

เก็บภาพที่แต่งเสร็จแล้วลง offline media ใช้วิธีเดียวกับการเก็บต้นฉบับ

My workflow

เวลานี้ผมใช้ workflow จัดการภาพเพื่อความสะดวกในการค้นหาและเลือกภาพ publish ขึ้นเว็บ อุปกรณ์ที่ใช้มีกล้องดิจิทัลสองตัว (Olympus C700UZ + Nikon D70) ทั้งสองปรับตั้งค่าต่างๆ ตามที่เขียนไว้ข้างบน + ใช้ Adobe RGB + Custom Curve สำหรับ D70 .. การบันทึกภาพ ถ้าเป็นไปได้จะบันทึกเผื่อพื้นที้ไว้แล้วมา crop ปรับองค์ประกอบภาพทีหลัง .. workflow บนคอมพิวเตอร์ทำบนลินุกซ์ทั้งหมด ขั้นตอนก็มีดังนี้

  • โหลดภาพจากกล้อง มีสองวิธี ถ้าเป็น USB Storage ก็ cp เอา ถ้าเป็น PTP mode ก็จะใช้ gtkam โหลดมาแทน .. ข้อดีของ gtkam คือ เห็น thumbnail ก่อน เลยเลือกโหลดเป็นภาพๆ ได้ แต่ข้อเสียก็คือ gphoto2 ที่เป็น library ในการโหลดภาพไม่ยอมปล่อยหน่วยความจำจนกว่าจะโหลดภาพครบ ถ้าโหลดภาพจำนวนเยอะๆ กินหน่วยความจำระบบเยอะไปด้วย .. ปกติผมจะใช้ USB Storage เพราะจะโหลดภาพทั้งหมดอยู่แล้ว ชื่อไดเรกทอรีตั้งในรูปแบบ yymmdd-place เปลี่ยน permission ภาพทั้งหมดเป็น 644
  • ภาพที่กำหนด color space เป็น Adobe RGB ชื่อไฟล์มันจะเป็น _dscxxxx.nef แทนที่จะเป็น dsc_xxxx.nef ตามปกติ ผมสั่ง rename โดยใช้ script นี้:
#!/bin/sh
for f in _dsc*.*; do
    x=`echo -n dsc_; echo $f | cut -f2 -dc`
    mv $f $x
done;
  • ภาพ NEF(Nikon raw image format) ตอนนี้ยังไม่มีโปรแกรม viewer บนลินุกซ์ เลยใช้วิธีถอด JPEG (full resolution + basic compression) ที่ฝังอยู่ใน NEF มาใช้ จะได้ browse เลือกดูสะดวกๆ
$ for f in *.nef; do exiftool -b -JpgFromRaw $f > `basename $f .nef`.jpg; done
  • ใช้ GQview ในการจัดการภาพ ตั้งให้ GQview เก็บ thumbnail ลงใน .thumbnail ในไดเรกทอรี่ที่เก็บภาพ เวลาเปิดดูภาพจาก CD-R จะได้มี thumbnail พร้อมใช้
  • สำเนาต้นฉบับลง CD-R สองชุด
  • เอา GQview คัดภาพที่ต้องการลงเว็บ สำเนามาไว้ในไดเรกทอรี่สำหรับแต่งภาพ .. ขั้นตอนการปรับแต่งจะทำในไดเรกทอรีแต่งภาพเท่านั้น จะได้ไม่เผลอไปแก้ภาพต้นฉบับโดยไม่ตั้งใจ
  • อ่านภาพ NEF เข้ามาบน The GIMP ด้วย UFRaw plug-in .. ภาพจากไฟล์ NEF สามารถปรับเปลี่ยน white balance , exposure, saturation และอื่นๆ ได้ขณะ import และยังเลือก input/output color profile ได้ด้วย

  • crop ภาพให้ได้กรอบที่ต้องการ
  • แก้ไขภาพระดับ pixel ถ้าจำเป็น
  • ปรับ level/curve
  • ย่อภาพลงเหลือ 500 x 331
  • ใส่กรอบภาพ ตัวหนังสือ ฯลฯ
  • บันทึกภาพเก็บเป็นไฟล์ JPEG ผมตั้งเป้าขนาดไฟล์ไว้ไม่ให้เกิน 100 KB/ภาพ ภาพบนเว็บใหญ่เกินไปมันจะโหลดช้า พารามิเตอร์ที่ใช้คือ
    • Quality อยู่ระหว่าง 85 – 92 มากกว่านี้ไฟล์จะขนาดใหญ่ขึ้นมาก น้อยกว่านี้จะเริ่มเห็นคุณภาพที่ตกลงไป
    • Smooth = 0 .. smooth เป็นค่าปรับการกลมกลืนของสี ยิ่งตั้งค่าสูงๆ ก็จะลดจำนวนสีไปได้มาก ตั้งค่าเป็น 0 เท่ากับว่าไม่มีการลดทอนสีด้วยการ smooth
    • Force Baseline JPEG เพื่อความมั่นใจว่า JPEG decoder ใดๆ ก็จะอ่านภาพขึ้นมาได้เสมอ
    • Progressive … ภาพ JPEG ทั่วไปเวลา decode จะเห็นภาพจากซ้ายไปขวา บนลงล่าง .. Progressive JPEG จะเห็นภาพเบลอๆ ทั้งภาพแล้วค่อยๆ ชัดขึ้นๆ ..เลือก Progressive JPEG ช่วยลดขนาดภาพลงได้นิดหน่อย
    • Subsampling = (1×1, 1×1, 1×1) .. ค่า subsampling เป็นอัตราการ downsampling channel แดง/เขียว น้ำเงิน/เหลือง brightness ตามลำดับ .. ถ้าตั้ง 2×2 1×1 1×1 แปลว่า channel แดง/เขียวจะถูก downsampling ลงเหลือครึ่งนึงของตัวอื่น เช่น เดิมมี 256 ระดับสีก็จะลดลงเหลือ 128 ระดับ จึงใช้พื้นที่เก็บน้อยลง .. ถ้าตั้ง 1×1 1×1 1×1 แปลว่าไม่มีการ downsampling เลย
    • DCT Method = Floating-point DCT .. Discrete Cosine Transform เป็นหัวใจของการบีบอัดของ JPEG ตัวเลือกนี้มีไว้เปลี่ยนความแม่นยำในการคำนวณ DCT ซึ่ง output จะไม่มีผลกับขนาดของภาพ แต่มีผลกับคุณภาพและเวลาในการคำนวณเป็นหลัก เลือกใช้ Floating-point ทำให้การคำนวณ DCT มีความแม่นยำสูง และได้คุณภาพของภาพที่ดีกว่า และแน่นอนว่ามันคำนวณช้ากว่าด้วย .. แต่คอมพิวเตอร์ทำงานเร็ว ไม่รู้สึกว่าช้าหรอก :)
    • ไม่บันทึก thumbnail / EXIF data ขนาดไฟล์จะลดลงได้อีก 10-30 KB :)
  • ใช้ jhead หรือ exiftool อ่านข้อมูล EXIF มาสร้างเป็น description จะอ่าน EXIF มาจากไฟล์ต้นฉบับ
$ for f in *.jpg; do
    exiftool /path/to/original/`basename $f .jpg`.nef > desc/$f.html;
done
  • ใช้ jhead ลบ EXIF และ header ที่ไม่จำเป็น ออกจากไฟล์ภาพใน web gallery ที่อาจจะเผลอทิ้งไว้
$ jhead -dc *.jpg
$ jhead -de *.jpg
$ jhead -dt *.jpg
  • สร้าง thumbnail ของ web gallery โดยใช้โปรแกรม convert ของ ImageMagick ย่อลงเหลือ 20% … สั่งเป็น batch เลยทีเดียว เร็วกว่าย่อทีละภาพบน GIMP :)
$ for f in *.jpg; do
    convert -quality 85 -resize 20%x20% $f tn/tn_$f;
done
  • เขียน description ของแต่ละภาพ ใช้ gedit หรือ leafpad
  • sync web gallery ขึ้นเว็บเซิร์ฟเวอร์ด้วย rsync
$ rsync -e ssh -auv --progress /path/to/gallery/ user@server:/path/to/gallery/

จบแล้ว .. สรุปสักนิด .. digital workflow อาจจะดูเหมือนสร้างภาระงานให้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ .. แต่ที่เขียนมานี้ตั้งใจให้เป็นเพียง guideline และคำแนะนำคร่าวๆ สำหรับใครก็ตามที่ต้องการเริ่มต้นกับการปรับแต่งภาพ มากกว่าจะสูตรตายตัวที่ต้องทำทุกครั้งกับทุกภาพ .. ขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมาจะทำตามก็ได้ ไม่ทำก็ได้ หรือทำแต่ไม่เหมือนกันก็ได้เพราะ workflow ส่วนนึงต้องหาแนวทางที่ถนัดกันเอง .. ขอให้สนุกกับการบันทึกภาพ

.. May the light be with you :)

Linux Kernel 2.6.11

rc ซะตั้งนาน ในที่สุดก็รีลีสซะที .. make oldconfig จาก 2.6.10-ac12 แล้วมี NEW ตามนี้

  • Preempt The Big Kernel Lock (PREEMPT_BKL) – This option reduces the latency of the kernel by making the big kernel lock preemptible สำหรับ desktop น่าจะทำให้ระบบตอบสนองได้ดีขึ้น
  • CPU frequency translation statistics (CPU_FREQ_STAT) – export สถิติเกี่ยวกับ CPU frequency scaling ผ่านทาง sysfs
  • PCI Express support (PCIEPORTBUS) – สนับสนุนบัส PCI Express
  • ATA over Ethernet support (ATA_OVER_ETH) – สนับสนุน ATA over Ethernet block devices (e.g. EtherDrive)
  • Backlight & LCD device support (BACKLIGHT_LCD_SUPPORT) – สนับสนุนการปรับตั้งค่า เปิด/ปิด ตั้ง power management ของ Backlight และ LCD
  • Emu10k1X (Dell OEM Version) (SND_EMU10K1X) – ไดรเวอร์สำหรับ SB Live! (Dell OEM)
  • SB Audigy LS / Live 24bit (SND_CA0106) – ไดรเวอร์สำหรับ SB Audigy LS และ Live 24
  • VIA 82C686A/B, 8233 based Modems (SND_VIA82XX_MODEM) – ไดรเวอร์ VIA MC97 Modem
  • USB Garmin GPS driver (USB_SERIAL_GARMIN) – ไดรเวอร์ USB สำหรับ Garmin GPS
  • USB TI 3410/5052 Serial Driver (USB_SERIAL_TI) – Serial ไดรเวอร์สำหรับ TI3410/5052
  • Siemens ID USB Mouse Fingerprint sensor support (USB_IDMOUSE) – สนับสนุนการใช้งาน fingerprint sensor ของ Siemens ID Mouse
  • InfiniBand support (INFINIBAND) – สนับสนุนอุปกรณ์ InfiniBand
  • JFS Security Labels (JFS_SECURITY) – JFS Security Label สนับสนุนการใช้งานร่วมกับ SELinux
  • Debug preemptible kernel (DEBUG_PREEMPT) – Print warnings if kernel code uses it in a preemption-unsafe way – ค่า default เป็น Yes ด้วย :P
  • NSA SELinux AVC Statistics (SECURITY_SELINUX_AVC_STATS) เก็บสถิติของ Access Vector Cache .. ใช้ avcstat ดูสถิติ
  • Support for VIA PadLock ACE (CRYPTO_DEV_PADLOCK) – สนับสนุน Advanced Cryptography Engine ใน processor ของ VIA บางรุ่น ทำให้เข้า/ถอดรหัสได้เร็วขึ้น

จริงๆ แล้วมีมากกว่านี้แน่ๆ เพราะบาง option ผม disable ไว้ตั้งแต่แรก อะไรใหม่ๆ ภายใต้ option ที่ disable ไว้ก็จะไม่แสดงเวลา make oldconfig ..หากันเอาเองเน้อะ ;p

Ancient City

ไปเมืองโบราณ + บางปู จ.สมุทรปราการ .. สนุกดี เก็บภาพมา 1.8 GB เท่านั้นเอง ชอบรูปนี้เป็นพิเศษ ขอเอาขึ้นหน้า blog ละกัน :)

[nggallery id=42]

เมืองโบราณพื้นทีี่กว้างมาก วันนึงดูได้ไม่ทั่ว บัตรร้อยเดียว คุ้มๆ :)

Blood Donation

เพิ่งได้ดู clip รายการกบนอกกะลาตอน “เลือดหนึ่งคนให้ หลายคนรับ” ทำให้นึกถึงสมัยที่ยังเรียน/ทำงานอยู่ที่ขอนแก่น .. ผมเริ่มบบริจาคเลือดมาตั้งแต่ประมาณ ม.4 ที่ คลังเลือดกลาง รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น .. พอไปสักสองสามครั้งก็ชวนเพื่อนๆ ไปบริจาคด้วยกัน บางครั้งยังไม่ครบกำหนดก็พาเพื่อนไปบริจาค ตัวเองไปนั่งรอ ไปบ่อยจนรู้จักกับเจ้าหน้าที่ที่คลังเลือด เข้ามหาวิทยาลัยก็ยังบริจาคทุก 3-4 เดือน ชวนเพื่อนที่เรียนด้วยกันไปครั้งละคนสองคน .. ระยะหลังที่มาเรียนกรุงเทพก็ห่างๆ ไป บางปีไม่ได้บริจาคเลย .. กลับไปบริจาคครั้งล่าสุดเจ้าหน้าที่คลังเลือดก็ยังทักว่า “หายไปนานเลยนะ ..น้ำหนักขึ้นด้วยนี่ ..งั้นวันนี้ขอถุงใหญ่ละกัน” ผมก็ได้แต่ยิ้มๆ .. พี่เจ้าหน้าที่เขาก็เล่าให้ฟังอยู่เรื่อยว่าเลือดไม่เคยพอใช้เลย ยิ่งช่วงเทศกาลคนกลับบ้านเยอะๆ จะเกิดอุบัติเหตุมาก ก็ต้องการเลือดมากตามไปด้วย .. เพราะเลือดมันไม่พอนี่เองโรงพยาบาลเอกชนในเมืองขอนแก่นบางแห่งจะขอซื้อเลือดจากผู้บริจาค (คุ้นๆ ว่า ประมาณถุงละหนึ่งพันบาท) เพื่อเอามาหมุนเวียนใช้ ..

จำได้ว่าตอนเรียนประถมอยู่ จ.พิจิตร โรงพยาบาลประจำจังหวัดมาขอบริจาคเลือดที่ที่ทำงานของคุณพ่อ แล้วบังเอิญมากๆ ที่เจอผู้บริจาคที่มีเลือด RH- ซึ่งเป็นหมู่โลหิตที่หายาก เฉลี่ยแล้วมีเพียงสามในพันคน โรงพยาบาลดีใจมาก ขอเลือดไปสองถุงในครั้งเดียว แล้วก็ขอที่อยู่ติดต่อไว้ในกรณีที่ต้องการเลือดฉุกเฉิน ครั้งนั้นได้เลือดไปเจ็ดสิบกว่าถุง หมอบอกว่า สองวันก็หมดแล้ว (- -‘) .. นั่นคือเหตุการณ์ในจังหวัดเล็กๆ เมื่อยี่สิบปีก่อน .. ในวันนี้ ข้อมูลในรายการกบฯ เขาบอกไว้ว่าเฉพาะที่สภากาชาดไทยได้รับการขอเลือดประมาณวันละ 1,500-2,000 ถุง แต่หามาให้ได้เฉลี่ยเพียงวันละ 1,000 โรงพยาบาลที่ต้องการเลือดก็ต้องส่งคนมาขอ แล้วก็รอเลือดกันเป็นชั่วโมงๆ บางแห่งขอ 20-30 ถุง ได้แค่ 8 ถุงก็มี .. ฟังแล้วก็น่าใจหาย ..

เจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยบอกว่าอยากให้คนไทยบริจาคเลือดสม่ำเสมอเพื่อจะได้มีเลือดหมุนเวียนใช้อย่างเพียงพอ อย่าเพียงบริจาคในวันสำคัญ หรือตามเทศกาลเท่านั้น ผู้ป่วยที่ต้องการเลือดยังมีอีกมาก และไม่เลือกวันป่วย .. เลือดหนึ่งถุงที่เราบริจาคจะปั่นแยกส่วนประกอบเพื่อนำไปใช้ต่างๆ กัน จึงอาจช่วยชีวิีตหรือบรรเทาความเจ็บป่วยคนได้มากกว่าหนึ่งคน .. อืม .. เลือด 25 ถุงที่ผมเคยบริจาคไปอาจจะช่วยคนได้หลายสิบคนแล้วก็ได้นะ :)

บริจาคเลือดไม่ได้น่ากลัวเลย ไม่เจ็บด้วย มดกัดบางทียังเจ็บกว่า .. บริจาคไปแล้วร่างกายก็จะผลิตเลือดใหม่มาทดแทน ซึ่งเป็นผลดีกับสุขภาพของเราเองด้วย .. มาบริจาคเลือดกันเถอะ :)

Dragonfly, again

มีเวลาพักผ่อนสั้นๆ .. เอารูปแมลงปอเมื่อวานนี้มาทำเป็นปกหนังสือเลียนแบบ NG ดู

ใช้ประมาณ 6+ layers

  1. Layer 1 ภาพต้นฉบับ เก็บไว้เผื่อเจ๊ง
  2. Layer 2 สำเนาต้นฉบับ + levels + USM
  3. Layer 3 สำเนา layer 2 สร้าง vignette เทียมรอบๆ ภาพ (layer mask + levels + opaque + .. )
  4. Layer 4 กรอบสีเหลือง โหลดรูปปก NG มาแล้วจิ้มเอาสีมาใช้
  5. Layer 5 ทำ Title ไม่มีฟอนต์แบบ NG เลยเอา Times มาใช้ + ยืด layer/selection ให้ฟอนต์ดูสูงๆ ผอมๆ
  6. Layer 6 ขึ้นไปเป็นตัวหนังสือประกอบ

.. คิดซะว่าเป็นแบบฝึกหัดง่ายๆ ละกัน :P

Update: ลืมบอกไปว่า ตัวหนังสือที่เลือกจัดไว้ขวามือเพราะจะถ่วงกับตัวแมลงปอทางซ้าย .. ที่จริงอยากลองทำให้หางมันทับตัวหนังสือ แต่เวลาน้อย ทำเล่นๆ ก็เอาเท่านี้แหละ :P