ที่ประเทศญี่ปุ่น ในสมัยกามากูระ มีนักศึกษาผู้หนึ่งชื่อ ชินกัน ได้ศึกษาพุทธปรัชญาตามแนวของนิกายเท็นได เป็นเวลาถึง 6 ปี แล้วไปศึกษาตามแนวของเซ็นอีก 7 ปี จากนั้นได้เดินทางไปประเทศจีนและได้ศึกษาเซ็นตามแนวของจีนอีก 13 ปี เมื่อเขากลับมาประเทศญี่ปุ่น จึงมีผู้สนใจสนทนาซักถามปัญหาธรรมต่างๆ แต่ท่านชินกัน ก็ไม่ค่อยจะยอมตอบคำถาม วันหนึ่ง มีนักศึกษาเฒ่าจากสำนักเท็นไดมาหาท่านชินกันและกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าได้ศึกษาอยู่ในสำนักเท็นไดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ได้รับฟังคำสอนมาก็มาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าได้ใจจนทุกวันนี้ คือทางสำนักได้สอนว่า ในโลกนี้แม้แต่ต้นหญ้าและต้นไม้ก็อาจบรรลุหรือตรัสรู้ได้ เป็นสิ่งที่น่าประหลาดสำหรับข้าพเจ้ามาก”
“มันมีประโยชน์อะไรหรือเปล่า ที่เราจะมานั่งถกเถียงกันว่าต้นหญ้าและต้นไม้ตรัสรู้ได้หรือไม่อย่างไร แต่ปัญหามันควรจะอยู่ที่ว่า ตัวท่านเองนั้นแหละจะสามารถบรรลุถึงการตรัสรู้ได้อย่างไร ท่านเคยคิดถึงเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า ? ” ท่านชินกันถาม
“จริงสินะ ข้าพเจ้าไม่เคยคิดมาก่อนเลย” นักศึกษาเฒ่าตอบ
ท่านชินกันจึงบอกว่า
“ถ้าอย่างนั้นก็กลับบ้าน และลงมือคิดได้แล้ว”
พระพุทธองค์เคยตรัสสอนพราหมณ์ ที่มาถามปัญหาพากอภิปรัชญาทั้งหลาย เช่น ชาตินี้ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ว่าไม่มีประโยชน์อะไร ทรงเปรียบเทียบให้ฟังว่า
“เหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศร แทนที่จะรีบรักษา กลับจะมัวหาคำตอบให้ได้เสียก่อนว่า ใครเป็นผู้ยิง ลูกศรทำด้วยอะไร คันศรทำด้วยอะไร เช่นนี้ก็คงไม่ทันการ”
การปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นทุกข์ก็เช่นกัน ท่านว่าจริงไหมครับ ?