ขโมยกลับใจ

อาจารย์บันไก ได้เปิดสอนวิปัสสนากรรมฐาน ขึ้นที่วัดของท่าน เนื่องจากท่านเป็นอาจารย์เซ็นที่มีชื่อเสียง จึงมีนักศึกษามาจากทั่วสารทิศในประเทศญี่ปุ่น เข้ามารับการศึกษาเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนักศึกษาที่มาศึกษานั้น มีผู้หนึ่งชอบประพฤติตัวเป็นขโมย ชอบขโมยทรัพย์สินของนักศึกษาด้วยกัน วันหนึ่งถูกจับได้ พวกนักศึกษาโกรธแค้นมาก จึงนำเรื่องไปฟ้องร้องท่านอาจารย์บันไก แต่ท่านก็กลับนิ่งเฉย ต่อมา นักศึกษาผู้นั้นก็ทำการขโมยของ และถูกจับได้อีก พวกนักศึกษาจึงพากันไปกล่าวโทษอีก แต่ท่านอาจารย์กลับทำเป็นไม่สนใจ คราวนี้พวกนักศึกษาโกรธมาก จึงยื่นคำขาดกับท่านอาจารย์บันไกว่า หากท่านอาจารย์ยังไม่ยอมชำระโทษหัวขโมยให้อีก พวกตนจะพากันออกจากสำนักทั้งหมด เมื่อท่านอาจารย์บันไกได้อ่านคำฟ้องแล้ว ท่านก็ให้เรียกประชุมบรรดานักศึกษาทั้งหลาย และกล่าวว่า

“พวกเธอทั้งหลายที่ลงชื่อในหนังสือฟ้องร้องนี้ นับว่าเป็นคนฉลาดมาก เพราะเธอต่างก็รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรทำอะไรควรละเว้น หากพวกเธอประสงค์จะออกจากสำนักฉันไปศึกษาต่อที่อื่นฉันก็ยินดี ให้เธอไปได้ตามแต่ใจปรารถนา แต่เจ้าเพื่อนขี้ขโมยที่น่าสงสารของเธอคนนี้ เขายังโง่เขลามาก ยังไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าหากฉันไม่สอนเขาแล้ว ใครล่ะจะเป็นผู้สอน เธอทั้งหลายจงเห็นใจเถิดที่ฉันต้องให้เขาอยู่กับฉันต่อไป”

พอท่านอาจารย์กล่าวจบลง นักศึกษาหัวขโมยก็ร้องไห้ออกมาด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็กลับตัวเป็นคนดีไม่มีนิสัยชอบขโมยของอีกเลย

ท่านอาจารย์คงได้พิจารณาดูแล้วว่า นักศึกษาหัวขโมยยังคงพอจะโปรดได้ แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ ท่านอาจจะต้องใช้วิธีตรงกันข้ามก็ได้