gphoto2 again

ทดสอบ gphoto2 2.1.4 เพิ่มเติมพบว่ามันมีปัญหาเรื่องการโอนภาพที่ไม่ใช่ JPEG เลยทำให้ไม่สามารถโอนไฟล์ NEF raw ของ Nikon ได้ (หรืออาจจะ CRW raw ของ Canon ด้วย) .. hack อยู่พักใหญ่ .. มึน .. ยอมแพ้

แวะเข้าไปดู gphoto2 ก็เจอข่าวดี คือ gphoto 2.1.5 เพิ่งออก rc1 เมื่อไม่นานมานี้ แก้ปัญหาโอนไฟล์ raw แล้ว และเพิ่ม Nikon D70 เข้าไปแล้วด้วย .. แต่หลังจากเช็คดูก็พบว่ามันเพิ่มผิด ไปใส่ USB ID ของโหมด mass storage ในโหมด PTP (- -‘) .. วันนี้เลยทำแพตช์ (แก้ 1 character) ใส่เข้าไปในทะเลพร้อมกับส่งแพตช์เข้าที่ http://sourceforge.net/projects/gphoto .. ห้าชั่วโมงต่อมาก็ applied / closed ไปเรียบร้อย :)

มาต่อกันที่เรื่องโอนภาพ NEF raw จากกล้อง Nikon D70 .. ไฟล์ NEF (Nikon Electronic Format) เป็นไฟล์เก็บภาพแบบ raw ด้วยการ dump ค่าที่ได้จาก CCD มาบีบอัด (lossless) แล้วบันทึกลงไฟล์โดยไม่ผ่าน image processing/manipulation ด้วยซอฟต์แวร์ภายในกล้องเลย ในไฟล์จะบันทึกค่า parameter ต่างๆ ขณะถ่ายภาพ, tone curves, white balance, และ EXIF เพื่อมา post process ด้วยซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์ทีหลัง เรียกได้ว่าไฟล์ raw เป็นการเก็บโดยไม่เสียคุณภาพเลย CCD วัดได้ยังไงก็เก็บอย่างนั้น .. เนื่องจากไฟล์ raw มักมีขนาดใหญ่ (NEF ~ 5-6 MB / 6 megapixels) และเป็น proprietary format ไฟล์ raw เลยมักจะฝัง thumbnail ไว้ใน EXIF ตรงหัวไฟล์เพื่อให้ preview ได้ก่อนจะโหลดออกมาจากกล้อง กรณีของ NEF thumbnail จะเก็บเป็น TIFF (Tagged Image File Format)

เท่าที่ลองบนลินุกซ์ Nautilus จะ recognize *.nef เป็น TIFF คงเพราะ Nautilus มันสแกนไฟล์แล้วไปสะดุดที่ thumbnail เวลา browse ไฟล์ *.nef ใน Nautilus เลยแสดง thumbnail ขึ้นมาให้ดูด้วย อีกโปรแกรมที่แสดง thumbnail ใน NEF ได้คือ gtkam ซึ่งเป็น GUI frontend ของ gphoto2 สำหรับโอนภาพจากกล้องดิิจิทัล .. กรณี gtkam สังเกตได้ว่ามันอ่านไฟล์จากกล้องและแสดง thumbnail ได้เร็วมาก เข้าใจว่ามันใช้วิธีสั่งคำสั่งผ่าน PTP ไปที่กล้องให้โอนเฉพาะ thumbnail มาแสดงก่อน เพื่อให้ผู้ใช้เลือกโอนไฟล์ในภายหลัง .. ส่วน gthumb --import ไม่รู้จัก NEF และจะไม่แสดงไฟล์ *.nef มาให้เลือกเวลาโอนไฟล์ .. หลังๆ ชักไม่ชอบ gthumb อืดเหลือเกิน กินหน่วยความจำเยอะด้วย ..

บันทึกบล็อกเรื่อง Nikon D70 กับลินุกซ์บ่อยๆ นี่สงสัยจะได้เขียนเป็นเรื่องเป็นราวสักวัน :P

What does ‘Peorth’ mean ?

คุยกันเรื่องชื่อในห้อง #tlwg .. สมาชิกที่คุยกันเวลานั้นพากันลงความเห็นว่าชื่อ Peorth เป็นชื่อที่แปลกกว่าชื่ออื่นๆ .. ปกติชื่อนี้ก็คงแปลกหูอยู่ .. Peorth (พี – ออร์ท) เป็นชื่อของหนึ่งในห้าเทพธิดาเรื่อง Ah! My Goddess (AMG!) อันประกอบด้วย Belldandy Urd Skuld เทพธิดาสามพี่น้องที่เป็นตัวเอกของเรื่อง และ Peorth กับ Rind ซึ่งปรากฏตัวทีหลัง .. ไม่รู้ว่าเอะใจกันหรือเปล่า แต่ผมว่าชื่อเทพธิดาในเรื่องนี้แปลกหมดทุกชื่อ ครั้งนึงเปิดพจนานุกรมหาศัพท์ภาษาอังกฤษทั่วๆ ไป แล้วก็ไปเจอคำพวกนี้ด้วยความบังเอิญ เลยได้รู้ว่าชื่อพวกนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ และมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน คือ Norse Mythology ซึ่งเป็นเทพนิยายแถบสแกนดินิเวียเล่าถึงเรื่องพิภพ เทพเจ้า ปิศาจ และชนเผ่าต่างๆ ..

Belldandy Urd และ Skuld มาจากชื่อหญิงสาวอันเป็นสัญลักษณ์ของชะตาที่ไม่อาจเลี่ยงได้ โดย Urd (fate) เป็นตัวแทนของอดีต Belldandy แผลงมาจาก Verdandi (being) เป็นตัวแทนของปัจจุบัน และ Skuld (necessity) เป็นตัวแทนของอนาคต .. Rind ก็ปรากฏในเทพนิยาย Norse เหมือนกัน เป็นชื่อของเทพธิดาฝ่ายยักษ์ (Giantess)

เทพนิยาย Norse เป็นพื้นฐานของ หนังสือ เกมส์ อีกเยอะ ที่คุ้นหูมากที่สุดเวลานี้คงเป็นคำว่า ‘Ragnarok’ มหาสงครามระหว่างเทพเจ้ากับปิศาจที่ทำลายล้างทุกสิ่ง โดยฝ่ายเทพเจ้า นำทัพโดยโอดิน (Odin) ส่วนปิศาจนำทัพโดยโลกิ (Loki) โอดินอาศัยในปราสาทชื่อ Valhalla (Red Hat 7.3 .. :P ) มีลูกชายคือ ธอร์ (Thor) เทพแห่งสายฟ้า ถือค้อนศึก Mjolnir เป็นอาวุธ .. ทั้ง เทพ ยักษ์ คนแคระ ปิศาจ มนุษย์ สัตว์ อาศัยอยู่ในพิภพทั้งเก้า โดยมี Yggdrasil เป็นต้นไม้ที่เชื่อมพิภพทั้งหมดและบ่อน้ำเวทย์ทั้งสามไว้ด้วยกัน หนึ่งในพิภพนั้นก็คือ Midgard (ใน Warcraft) หรือ Middle Earth (ใน LoTR) .. Yggdrasil ที่ว่าก็คือ World tree ใน Warcraft III .. ใน AMG! ก็ใช้เป็นชื่อระบบที่ดูแลความสมดุลย์ของพิภพ .. และยังเป็นชื่อ Linux Distro ตัวแรกๆ ด้วย

ยังมีศัพท์ที่คุ้นหูคุ้นตาอีกมากมายในเทพนิยาย Norse อ่านคร่าวๆ แล้วน่าสนุกไม่แพ้ ทรอย ลอร์ดฯ หรือสามก๊ก เลย :)

เทพนิยาย Norse เป็นที่มาและมีอิทธิพลต่อภาษาอังกฤษปัจจุบัน เช่น Niflheim เป็นพิภพใต้ดินอันมืดมิดและหนาวเย็น ปกครองโดยเทพธิดา Hel .. Niflheim มักจะถูกเปรียบว่าเป็นนรก บางทีคงเป็นเพราะแถบสแกนดินิเวียนี่มัน ‘หนาวนรก’ มากกว่า ‘ร้อนนรก’ เหมือนบ้านเราละมั๊ง :P และเพราะอย่างนี้ ชื่อเทพธิดา Hel เลยเป็นรากของคำว่า Hell ในภาษาอังกฤษ .. ชื่อวัน อย่าง Tuesday ก็มาจาก Tyr’s day หรือ Tiw’s day โดยที่ Tyr/Tiw/Tiu เป็นชื่อเทพเจ้าแห่งสงคราม .. Wednesday ก็มาจาก Woden’s day โดย Woden เป็นคำอังกฤษโบราณที่มาจาก Odin อีกที Thursday ก็มาจาก Thor’s day

ย้อนกลับมาที่ Peorth .. ที่มาจะต่างไปจากเทพธิดาใน AMG! ทั้งหมด .. Peorth มาจากตัวอักขระ ᛈ ใน Elder futhark script ซึ่งเป็นอักขระโบราณที่ใช้ในแถบสแกนดินิเวีย อักขระชุดนี้ภายหลังขยายเป็น Anglo-Saxon runes ซึ่งเป็นรากของตัวอักษรในภาษาอังกฤษอีกที ตัว ᛈ เทียบได้กับ P ในภาษาอังกฤษ ตามความหมายของ Anglo-Saxon rune ตัว ᛈ อ่านว่า ‘pertho’ หรือ ‘peorth’ หมายถึง เกมส์ หรือ ความไม่แน่นอน .. นอกจากนี้อาจจะหมายถึง การเริ่มต้น หรือ การกำเนิด ก็ได้ .. :)

ป.ล. อักขระ ᛈ มีในตาราง Unicode ด้วย (U+16C8 / Runic Letter / Pertho Peorth P) คิดว่าแสดงผลบน browser ฉลาดๆ ไม่น่าจะผิด :)

ลอยกระทง

ไปงานลอยกระทงมา ไม่ได้เที่ยวลอยกระทงหลายปีแล้ว ..ปีนี้เห็นว่ามีจุดพลุหลายที่เลยอยากไปถ่ายดู ข่าวว่าที่สะพานพระราม 8 ก็มี แต่คนเยอะมากๆ เลยไปศูนย์ศิลปาชีพบางไทรแทน จากเอไอทีสิบกว่ากิโลก็ถึงแล้ว เหมือนไปฟิวเจอร์/โลตัส :p

ที่จอดรถสะดวกสบาย มีคนดูแลความเรียบร้อยอย่างดี มารู้ทีหลังว่าวันนี้มีขบวนเสด็จมาที่ศูนย์ฯ ด้วย มิน่าตำรวจเยอะ .. ทางเข้าซื้อบัตรคนแน่นมาก แต่หลุดออกมาแล้วก็เดินกันสบายเลย .. เดินไปถ่ายรูปไป แล้วก็หาอะไรกินไปเรื่อย .. มีการแสดงให้ชม จบแล้วก็จุดพลุ .. โอ้ ขนาดเตรียมตัวแล้ว พลุมาเร็วมาก แล้วมีไม่กี่ลูก ภาพออกมาไม่ได้เรื่องเลย ต้องหาโอกาสไปถ่ายซ่อมงานอื่น .. เฮ่อ

ผิดหวังจากพลุก็กลับมาที่ ม.ธ.รังสิต ถ่ายภาพไปเรื่อยๆ แหละ ไม่ได้กะมาลอยกระทงเล้ย .. ชวน อ.ต้า มาเดินด้วย กว่าจะกลับก็เกือบตีสอง .. ถ่ายรูปมาเกือบเต็ม CF 1 GB .. ถ่ายเผื่อคัดไว้เยอะ พอดูได้ไม่กี่รูป ดูภาพได้ที่ link ข้างล่างครับ

ลอยกระทง ปี 2547

gphoto2 + Nikon D70 patch

กล้อง Nikon D70 ตั้งให้โอนภาพเข้าเครื่องได้สองวิธีคือ ตั้งเป็น USB mass storage ซึ่งจะเห็นเป็นไดรว์ หรืออีกวิธีคือใช้ PTP (Picture Transfer Protocol) ซึ่งต้องใช้โปรแกรมในการโอน บนลินุกซ์ก็จะมี libgphoto2 เป็นไลบรารีที่โอนภาพผ่าน PTP ได้ .. ปัญหาคือ libgphoto2 ตัวปัจจุบัน ยังไม่รู้จัก Nikon D70 .. วันนี้เลยลองไล่ code ของ libgphoto2 ดู แล้วก็เพิ่ม device ID เข้าไป (Mass storage กับ PTP ของ D70 จะใช้ USB device ID คนละตัวกัน) .. ตอนนี้ libgphoto2 ใน aowthai ก็รู้จักกล้องรุ่นนี้แล้ว :)

ปัญหาอีกข้อคือการใช้ PTP mode ในทะเล ผู้ใช้ธรรมดาไม่มีสิทธิในการใช้งาน device เลยต้องใช้ root ในการโอนภาพ หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยน permission ใน /proc/bus/usb/*/* ซึ่งไม่สะดวกเอาเสียเลย จะ suid gthumb / gphoto ก็ไม่ได้เพราะโปรแกรมจะเช็ค suid ก่อน ถ้ามีการตั้งไว้มันจะไม่ยอมทำงาน (อ่านเพิ่มเติม) .. ไล่ไปไล่มาก็พบว่าปัญหามันเกิดเพราะสคริปต์ /etc/hotplug/usb/usbcam มันระบุ path ของไฟล์ console.lock ไม่ตรงกับ path ในทะเล .. พอไม่เจอไฟล์ console.lock pam_console เลยจัดการ permission ของ device ให้เป็นไปตามผู้ใช้ไม่ได้ .. แก้นิดเดียว พอ path ถูกต้องแล้วก็ฉลุยเลย ต่อสาย USB เปิด power ปุ๊บ g-v-m ก็เรียก gthumb มารอ import ภาพ .. สะดวกขึ้นเยอะ ;)

Repository updated

แพ็กเกจเข้า aowthai ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

  • lyx 1.3.5 – วุ่นอยู่นานกว่าจะแก้ให้คอมไพล์ได้ .. เจอแพตช์ของ gentoo แก้สองบรรทัดหายเป็นปลิดท้ิง ลอล
  • balsa 2.2.6
  • gthumb 2.6.1 – gthumb อ้วนขึ้นทุกวัน :(
  • totem 0.99.22
  • gimp 2.2 pre2 – หวังว่าตัวจริงจะออกก่อนรีลีสทะเล 7.0
  • sylpheed 1.0.0 beta 3 – พักนี้เลิกใช้ sylpheed แล้วก็เลยไม่ค่อยตามอัปเดตเท่าไหร่ :P
  • gtk-sharp 1.0.4

ส่วนของ kitty ก็มี ..

  • qemu 0.6.1 – คอมไพล์ด้วย gcc 3.4 ได้แล้ว
  • vlc 0.8.1 – เปลี่ยนมาใช้ wxGTK2 :D
  • xchm 0.9.6 – อันนี้ก็ wxGTK2 แล้วเหมือนกัน
  • wxGTK2 2.5.3
  • BEAST/BSE 0.6.3
  • dosbox 0.63
  • blender 2.35
  • R 2.0.1 – โปรแกรมคำนวณทางสถิติ ทำไว้เผื่อได้ใช้
  • gaimnosd 0.4.5 – On-Screen Display plugin สำหรับ gaim :D
  • kino 0.7.5 – โปรแกรมจัดการ Digital Video
  • liferea 0.6.2 – โปรแกรมอ่าน feed
  • passepartout 0.6 – GNOME/GTK-based DTP พอใช้งานได้ .. scribus เจ๋งกว่า :(

ยังเหลือแพ็กเกจค้างๆ อีก 20 กว่าตัว .. แต่เป็น 20 กว่าตัวที่แก้ยากโคตรๆ T_T

เด็กแนว

วันก่อน คุณ ans เอาความหมายของเด็กแนวมาฝากในห้้อง #tlwg

(17:57:27) ans: มี เพื่อน ไป ถาม น้อง มา ให้ ว่า, “เด็กแนว” แปลว่า อะไร.
(17:57:33) ans: พวกเรา แก่ แล้ว จริง ๆ หวะ
(17:57:58) ans: “เด็กแนว” คือ พวก มี แนวทาง เป็น ของ ตัวเอง, ทำ อะไร ไม่ สนใจ ใคร.

ตั้งแต่คุณ ott ทำ cgiirc มาให้ใช้ ห้อง #tlwg คึกคักขึ้นเยอะ .. *แนวก็เยอะขึ้น :)

ป.ล. ไม่ได้เอา irc log มาเผานะ … แต่คุยอะไรใน #tlwg ก็โปรดระวัง … ลอลลลล (ล้อเล่นน่ะ)

Cleaning CCD

ใช้ D70 ได้ไม่นานก็พบว่าภาพที่ถ่ายออกมาบางภาพเห็นจุดดำๆ เหมือนฝุ่นเกาะหน้าเลนส์ แต่หลังจากดูๆ แล้วน่าจะเป็นฝุ่นเกาะ CCD มากกว่า ลองถ่ายภาพขาวโฟกัสหลายๆ ระยะ ปรับรูรับแสงต่างๆ กัน ก็พบว่ามันจะเห็นชัดในบาง combination .. วันนี้เลยได้ลงมือทำความสะอาด CCD เป็นครั้งแรกหลังจากเพิ่งใช้มาได้เดือนเดียว

D70 มีเมนูล็อกกระจกและเปิดม่านชัตเตอร์เพื่อให้เข้าถึงตัว CCD ได้ (กล้อง DSLR อื่นๆ ที่ไม่มีเมนูนี้ก็อาจจะตั้ง shutter speed ให้ช้ามากๆ เช่น 30 วินาที ก็ได้เหมือนกัน) การจะใช้เมนูนี้ได้ต้องมีถ่านเต็ม หรือไม่ก็เสียบอะแดปเตอร์ เพราะการเปิดม่านค้างกับการล็อกกระจกเป็นเวลานานๆ สำหรับใช้กำลังไฟเยอะมาก วิธีที่แนะนำในคู่มือคิือใช้ลูกยางเป่าลมเป่าเท่านั้นพอแล้ว ห้ามใช้แปรง หรือผ้าสัมผัสตัว CCD หากวิธีนี้ไม่สามารถทำให้ฝุ่นหลุดได้ คู่มือแนะนำให้ส่งศูนย์บริการ

วิธีอื่นๆ นอกเหนือจากที่คู่มือบอกก็มี แต่ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่าที่เราทำความสะอาดไม่ใช่ CCD แต่เป็น anti-alias filter ที่แปะหน้า CCD .. อย่างที่สอง ฟิลเตอร์ที่ว่านี้ เกือบทั้งหมดผลิตจาก Lithium Niobate (LiNbO3) wafer ซึ่งเป็นสารที่มีความแข็งเท่ากับ 5 ตามสเกลของ Mohs (0 = talc, 10 = diamond) แข็งพอๆ กับเหล็ก และอ่อนกว่าโลหะผสมที่ใช้ทำมีดทำครัวนิดเดียว ดังนั้นไม่ต้องไปกลัวว่ามันจะเป็นรอยได้ง่ายๆ แต่ไม่ใช่ไม่ต้องระวังเพราะมันเป็นแผ่นบางมากๆ ถ้าเป็นรอยมันจะเกิดจากแรงกดมากกว่าสัมผัสวัตถุ .. วิธีทำความสะอาดโดยใช้ลูกยางเป่า (อย่างที่ผมทำไป) ข้อดีคือไม่ต้องสัมผัสฟิลเตอร์ และช่างภาพส่วนใหญ่มีลูกยางเป็นอุปกรณ์ติดตัวอยู่แล้ว จึงทำความสะอาดได้ทุกเวลาที่อยากทำ แต่ข้อเสียคือลูกยางมันเป็นแค่ปั๊มอากาศพ่นเข้าไป ซึ่งอาจจะปั๊มเอาฝุ่นเข้าไปติดหน้าฟิลเตอร์ได้ .. วิธีที่ดีกว่าลูกยางคือใช้อากาศอัดกระป๋องที่วางขายทั่วไปตามร้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ IT บางแห่ง .. ดีกว่านั้นก็เป็น CO2 หรือไม่ก็ก๊าซเฉื่อยอัดกระป๋อง พวกนี้นอกจากอากาศหรือก๊าซที่พ่นจะสะอาดกว่าแล้วก็เป็นการไล่ความชื้นไปในตัว การใช้งานพวกอากาศอัดกระป๋องนี้ห้ามเอียงหรือเขย่ากระป๋องเป็นอันขาด เพราะอาจจะทำให้มันฉีดเป็นของเหลวออกมาแทน

ถ้าวิธีเป่ายังไม่สามารถทำให้ฝุ่นหลุดได้ ก็ต้องใช้ชุด kit ทำความสะอาด เท่าที่เจอแบ่งเป็นสามแบบ คือ เป็นแปรงขนอ่อนมากๆ ใช้ทำความสะอาดโดยไฟฟ้าสถิตย์ เวลาใช้ก็ต้องเอาอากาศอัดพ่นขนแปรงก่อน แล้วลูบหน้าฟิลเตอร์เบาๆ เสร็จแล้วก็เอาอากาศอัดพ่นซ้ำ เพื่อขจัดฝุ่นออก แบบที่สองใช้ผ้าที่ผลิตด้วยเส้นใยพิเศษที่เล็กและอ่อนนุ่มมากๆ พันปลายไม้แล้วก็กวาดหน้าฟิลเตอร์ ถ้ายังไม่ออกอีกก็จะมีแบบที่สาม คือใช้ผ้าชุบเอธานอลหรือน้ำยาเช็ด .. ถ้ามาถึงขั้นนี้แล้วไม่ออก .. ก็ส่งศูนย์ ค่าทำความสะอาดฟิลเตอร์ที่สืบทราบมา กล้องในประกันฟรี กล้องนอกประกันคิดประมาณ 1000 บาท ใช้เวลา 4-7 วัน

ดูจากค่าทำความสะอาด เวลาที่เสียไป เทียบกับเนื้องานแล้ว ทำเองดีกว่า :P

Writing a dissertation

ภารกิจหลักของผมในช่วงนี้คือนั่งเขียนดุษฎีนิพนธ์ .. จากที่เคยคิดเพียงแค่ว่า ทำอะไรก็รายงานไป จบ .. ไม่ใช่แล้ว .. นั่นมันเขียนรายงาน อย่างดีสุดคือเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ .. เขียนดุษฎีนิพนธ์ไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก

ดุษฎีนิพนธ์ที่ดีต้องเป็น self-contained มีเนื้อหาที่จำเป็นครบถ้วน อ่านจากต้นจนจบจะได้รายละเอียดครบ จนไม่จำเป็นต้องตามอ่าน references ที่อ้างอิง .. จะเหมือนกับเขียน technical book หนึ่งเล่มที่สมบูรณ์ในตัวเอง .. งานเขียนต้องแสดงให้เห็นความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มีความเป็นปราชญ์ รู้ในเชิงลึกมากๆ และมักจะต้องมากกว่าที่ใครเคยศึกษากันมาก่อน .. อ.สอนผมมาว่า ช่วงเขียนดุษฎีนิพนธ์ เป็นช่วงที่เราจะได้ความรู้มากที่สุด ข้อความแค่ประโยคเดียวที่เราเขียนบางทีต้องใช้เวลาอ่าน ศึกษากันหลายชั่วโมง ต้องตกผลึกแล้วจริงๆ ถึงจะเขียน สิ่งที่เรากำลังบอกต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เราพิสูจน์แล้ว และมั่นใจแล้ว จะผิดไม่ได้แม้แต่น้อย .. บางครั้งการเขียนดุษฎีินิพนธ์อย่างเดียวอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ (- -‘)

การวางโครงสร้างของงานเขียนทั้งหมด การผูกประโยค เลือกใช้คำก็สำคัญมากเหมือนกัน .. โครงสร้างเอกสารควรไหลลื่น ไม่วกวน หัวข้อแต่ละเรื่องมีความชัดเจน แยกแยะเนื้อหาได้เหมาะสม ประโยคสละสลวย (ผมมีปัญหากับเรื่องนี้มากๆ .. ประโยคเดียวนั่งแก้อยู่เป็นสัปดาห์ก็มี) สื่อได้ตรงจุด ถูกต้อง คมชัด ไม่อ้อมค้อม .. บทที่ยากที่สุดในดุษฎีนิพนธ์ คือ Introduction .. บ่อยครั้งที่บทนี้จะเป็นบทสุดท้ายที่ลงมือเขียน .. Intro ดีๆ จะต้องบอกได้ว่าตำแหน่งของงานเราในงานวิจัยอยู่ตรงจุดไหนของสาขานั้นๆ .. และที่สำคัญมากๆ คือต้องบอกถึง ‘contributions’ ของงานว่าอะไรคือสิ่งที่การศึกษาของเราได้ให้ไว้กับวงการวิจัยระดับนานาชาติ .. งานวิจัยระดับ ป.เอก หนึ่งชิ้นจะต้องมี contributions อย่างน้อย 3 เรื่อง .. เป็น 3 เรื่องที่ทั้งโลกไม่มีใครรู้ ศึกษา หรือได้คำตอบมาก่อน ..

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่มักมองข้ามกันบ่อยๆ คือการอ้างอิง ในวงการวิจัย การอ้างอิงเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งแง่เทคนิคและมารยาท ทุกครั้งที่มีการหยิบยกข้อความจาก reference ใดๆ จะต้องมีการอ้างอิงเสมอ ไม่ว่าข้อความนั้นจะดูธรรมดาแค่ไหนก็ตาม หลายครั้งที่เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ อาจจะเพราะเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ เรียนมาตั้งแต่ ป.ตรี เห็นจนชินแล้วก็เลยไม่คิดว่าจำเป็นต้องอ้างอิง หรือที่เกิดขึ้นกับบางคนคือไม่อยากอ้างอิงเพราะกลัวคนอ่านตำหนิว่าเรื่องธรรมดาแค่นี้ก็ต้องหยิบงานคนอื่นมาใช้ .. ในความเป็นจริงแล้วการหยิบข้อความจาก reference มาใช้ ไม่ใช่เรื่องไม่ดี อย่างน้อยที่สุดคือเป็นการบอกว่าเราได้ศึกษา reference นั้นมาแล้ว .. ไอ้ที่ไม่ดีจริงๆ คือ เอามาใช้โดยไม่ refer ต่ะหาก

ผมเพิ่ง rewrite งานใหม่หมดได้ประมาณสิบกว่าหน้า เลยมีประสบการณ์จาก comment ต่างๆ ที่ได้รับเพียงเท่านี้ .. หวังว่าซักวันผมจะเขียนเสร็จ :P

แถม: เครื่องมือในการเขียน = gvim + latex + ghostscript + ghostview + gnuplot + xfig + homemade ‘thesis.cls’ … ไอ้อันสุดท้ายนี่เสียเวลาทำอยู่นานเหมือนกัน ที่ AIT มีแต่ template ของ MS Word เลยต้องมานั่งเขียน document class from scratch ตาม style guide ของ AIT .. ไอ้เราก็ใช่จะเก่ง LaTeX ทุกวันนี้ยังงูๆ ปลาๆ ก็เลยใช้เวลาเยอะ .. แต่พอมี document class แล้ว ก็ไม่ต้องไปกังวลเรื่องจัดหน้าให้สวยอีกเลย นั่งเขียนสิ่งที่ตั้งใจจะเขียนก็พอ สมแล้วที่เป็น WYSIWYM ไม่ผิดหวังเลยที่ตัดสินใจมาใช้ LaTeX แทน MS Word หรือ OO.o .. LaTeX rulez !

เสียงกระซิบสังหาร

ลุงของเขาขับรถชนหญิงสาวคนหนึ่ง เขาและครอบครัวไม่เชื่อว่าลุงจะขับรถประมาทจนชนใครได้ ประกอบกับโทรศัพท์ที่เขาได้รับ “ขอบคุณที่ช่วยฆ่า มันสมควรตายอยู่แล้ว” ทำให้เขายิ่งข้องใจ นี่อาจจะไม่ใช่อุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของลุงก็ได้ เธออาจประมาทเอง หรืออาจจะพยายามฆ่าตัวตาย .. พระเอกของเราเลยควานหาหลักฐานสารพัดที่จะช่วยให้ลุงรอดพ้นจากคดี .. แต่เมื่อหลักฐานปรากฏมากขึ้น กลับแสดงให้เห็นว่าการตายของหญิงสาวพัวพันกับการตายของหญิงก่อนหน้านี้อีกสองคนที่ดูเหมือนจะฆ่าตัวตายเหมือนกัน .. หญิงสามคนปรากฏบนภาพในหนังสือเล่มหนึ่งฆ่าตัวตายในเวลาไล่เลี่ยกันดูจะเป็นเรื่องบังเอิญเกินไปเสียแล้ว .. และอันที่จริงในภาพนั้นยังมีหญิงสาวอีกหนึ่งคน .. คนเดียวในภาพที่อาจจะยังมีชีวิตอยู่ .. เธอจะอยู่รอดไปได้อีกนานแค่ไหน .. และอะไรเป็นสาเหตุการตายที่แท้จริงของหญิงสามคน ?

นิยายเรื่อง เสียงกระซิบสังหาร (majutsu wa sasayaku) เขียนโดย มิยาเบะ มิยูกิ (Miyabe Miyuki) ซึ่งได้เครดิตว่าเป็นราชินีแห่งอาชญนิยายของญี่ปุ่น .. เรื่องนี้อาจจะไม่ซับซ้อนหรือลึกลับมาก คอหนังสือแนวสืบสวนสอบสวนอาจจะไม่ค่อยชอบเอาเสียด้วย แต่ที่เป็นจุดเด่นของนิยายสไตล์มิยาเบะคือการวางพื้นหลังของตัวละครที่เป็นธรรมชาติอย่างละเอียดลึกซึ้ง และโดยมากตัวละครก็คือปุถุชนคนธรรมดา ไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่อัจฉริยะ .. อาจจะเพราะตัวละครดูธรรมดาๆ เหมือนคนอ่านทั่วๆ ไปนี่เอง ที่เป็นตัวสร้างอารมณ์ร่วม และทำให้นิยายของมิยาเบะได้รับความนิยม

me: ผมเป็นคนอ่านหนังสือเร็ว ยิ่งถ้าเป็นนิยายแนวนี้ก็มักจะมุ่งตามหากุญแจของเรื่องเป็นหลัก พอมาอ่านหนังสือสไตล์มิยาเบะ ที่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นอาชญนิยาย แต่เป็นแบบที่ต้องอ่านเพื่อซึมซับพื้นหลังของตัวละครอันเป็นจุดเด่น เลยรู้สึกเฉยๆ ไม่สนุกตื่นเต้นมาก ..

นิยายที่หิ้วมาจาก Book Fair ที่ผ่านมาจบไปสามเล่มแล้ว .. ยังเหลืออีกเจ็ด ช่วงนี้งานเยอะมาก ไม่กล้าหยิบมาอ่าน กลัววางไม่ลง :P

Digital Fortress

นวนิยายอีกเล่มของ แดน บราวน์ เกี่ยวกับ National Security Agency (NSA) หนึ่งในหน่วยงานที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของสหรัฐ หนึ่งในหน้าที่ของ NSA คือการข่าวที่ NSA ต้องคอยเฝ้าฟังจากสื่อแทบทุกประเภทเพื่อค้นหาข้อมูลสำคัญๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของชาติ .. การจะหาข่าวแต่ละชิ้นไม่ใช่ของง่ายเพราะปัจจุบันมีการเข้ารหัสลับป้องกันไว้ .. NSA ประสบปัญหาอย่างมากในการแอบถอดรหัสลับ จนกระทั่งวันนึง NSA สามารถคอมพิวเตอร์ที่เร็วมากจนถอดรหัสทุกชนิดได้ด้วยวิธี brute-force ในระยะเวลาอันสั้น .. NSA ปล่อยข่าวว่าโครงการสร้างคอมพิวเตอร์ดังกล่าวประสบความล้มเหลวเพื่อทำให้ทุกคนเชื่อว่าวิธีการเข้ารหัสลับปัจจุบันยังปลอดภัยอยู่จะได้แอบถอดรหัสได้สะดวกมือ .. การปล่อยข่่าวลวงนี้ ทำให้อัจฉริยะนายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ถอดรหัสของ NSA ไม่พอใจ เขาเชื่อเรื่องเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสาร และไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ NSA ที่แอบถอดรหัสได้อย่างอิสระ .. เขาลาออกจาก NSA และคิดวิธีการเข้ารหัสลับที่ไม่มีวันถอดได้นอกจากใช้กุญแจ .. รหัสที่ว่าคือ Digital Fortress .. เขาขู่ว่า ถ้า NSA ยังคงปกปิดเรื่องคอมพิวเตอร์ที่ถอดรหัสทุกชนิดได้ เขาจะปล่อย Digital Fortress ให้เป็นของสาธารณชน ซึ่งจะทำให้ NSA ไม่มีวันแอบถอดรหัสลับได้อีกต่อไป .. NSA ต้องแก้ไขวิกฤตินี้อย่างลับๆ โดยมีนักถอดรหัสสาวของ NSA กับแฟนหนุ่มซึ่งเป็นอาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ เป็นนางเอกกะพระเอกของเรื่อง .. ใครอ่านผลงานของแดน บราวน์มาก่อนคงพอจับทางและเดาเรื่องออกว่าอะไรเป็นอะไร .. จบเล่มมีรหัสแถมมา

128-10-93-85-10-128-98-112-6-6-25-126-39-1-68-78

ผมถอดออกแล้ว (ต้องมีหนังสือเวอร์ชันภาษาอังกฤษนะ ถึงจะถอดได้ .. ถ้าขี้เกียจก็ Google เอาก็ได้) .. อืม .. ประโยคคลาสสิคของเรื่องแนวนี้เลย

แดน บราวน์ ยังคงเขียนเรื่องที่ก้ำกึ่งระหว่างถูก-ผิด ความจริงสองด้าน ให้คนอ่านเก็บไปคิดเองเหมือนเล่มก่อนๆ .. เหตุการณ์ยังคงเกิดและคลี่คลายในเวลาสั้นๆ ประมาณวันเดียวเหมือนเดิม.. และยังคงทำรีเสิร์ชมาอย่างดีเช่นเคย หลายๆ อย่างที่พูดถึงในเรื่อง Digital Fortress จึงมีตัวตนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น NSA, EFF, public key cryptography, brute-force technique, subliminal channel .. รวมถึง uncrackable encryption – วิธีเข้ารหัสลับที่ไม่มีวันถอดได้ยกเว้นว่ามีกุญแจ :)