ส่องกล้อง ดูดาว

หากใครจะเอาจริงเอาจังมากกว่าแค่ยืนตากน้ำค้างมองดูท้องฟ้า จะขยับมาใช้กล้องดูดาวก็ย่อมได้ครับ แต่ต้องให้แน่ใจก่อนว่าอยากจะดูอะไร เพราะเมื่อไหร่ที่ใช้กล้องดูดาวแปลว่าเราไม่ได้สนใจหมู่ดาวสวยๆ แล้ว แต่จะเน้นไปที่ดาวเป็นดวงๆ พวกกระจุกดาว ดาราจักร ดาวหาง หรือวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ เพราะบริเวณที่เราสังเกตุจากกล้องดูดาวจะแคบลงไปมาก พื้นที่การมองเห็นของเราเต็มที่อยู่ราวๆ 100 องศา แต่ถ้าเป็นดูดาว เราจะจ้องไปบริเวณๆ หนึ่ง พื้นที่จะลดเหลือราว 30-60 องศา กล้องส่องทางไกล 7×50 มม. พี้นที่การมองเห็นก็เหลือแค่ 7.5 องศาถ้าใช้กล้องดูดาวจะลดลงมาเหลือไม่ถึง 5 องศา กล้องบางตัวเหลือไม่ถึงองศาด้วยซ้ำ บริเวณที่มองจึงแคบมาก แต่ถ้าเลือกกล้องดูดาวดีๆ มาใช้ก็จะเห็นว่าพื้นที่ท้องฟ้าแค่ปลายก้อย ก็มีอะไรๆ เยอะเหมือนกัน

กำลังขยายไม่ใช่เรื่องสำคัญ ??

ผู้คน ส่วนใหญ่จะคิดว่ากล้องกำลังขยายสูงๆ ดีกว่ากล้องกำลังขยายต่ำ อันที่จริงก็ถูกครับ แต่ถูกเพียงครึ่งเดียวแถมเป็นครึ่งที่มีความสำคัญน้อยกว่าด้วย ภาพที่เรามองเห็นจากกล้องดูดาว เกิดจากสองสิ่งหลักๆ คือ

  • เลนส์ หรือกระจกรวมแสง ซึ่งทำหน้าที่รวมแสงที่ปกติแล้วตามนุษย์ไม่ไวพอจะมองเห็น
  • กำลังขยาย ทำหน้าที่ในการขยายภาพให้เห็นรายละเอียดชัดขึ้น

กล้อง ดูดาว (หรือแม้แต่กล้องส่องทางไกลที่จะเอามาดูดาว) การรวมแสงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ มากกว่ากำลังขยายชนิดคนละเรื่องเลย ถ้ากล้องรวมแสงได้น้อย ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะขยายภาพมันออกมาให้เห็นรายละเอียด เพราะมันจะมืดจนมองไม่เห็นอะไรเลย กล้องที่นักดาราศาสตร์ใช้ส่วนใหญ่จะมีกำลังขยายต่ำ (10 – 50 เท่า) รองลงมาก็เป็นกำลังขยายปานกลาง (50 – 150 เท่า) ส่วนที่ใช้กันน้อยมากก็คือกำลังขยายสูง (150 เท่าขึ้นไป) เหตุผลก็คือ วัตถุบนท้องฟ้าสวยๆ ที่เราอยากเห็นมันไม่ได้เล็กถึงขนาดจะต้องใช้กำลังขยายสูงมากมายหรอกครับ เช่น กาแล็กซีแอนโดรมีด้า เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ขนาดมันกว้างถึง 2 องศากว่าๆ ซึ่งกว้างกว่าดวงจันทร์เสียอีก (ดวงจันทร์มีขนาดราว 0.5 องศา) แม้แต่เนบิวลาโอไรออนก็ใหญ่กว่าดวงจันทร์ แต่ที่เราไม่เห็นเพราะแสงรบกวน สภาพอากาศ หรือไม่ก็เพราะมันมืดเกินกว่าตาเราจะเห็น ถ้าวัตถุท้องฟ้าเหล่านี้มันสว่างพอ เราก็มองเห็นได้ไม่ยาก กล้องดูดาวจึงต้องทำหน้าที่ในการรวมแสงเป็นสำคัญ

การจะรวมแสงให้ได้ มากๆ ก็หมายถึงหน้ากล้อง (Aperture) จะต้องกว้างๆ ใช้เลนส์หรือกระจกรวมแสงขนาดใหญ่ๆ .. แต่พวกเลนส์หรือกระจกเหล่านี้ยิ่งทำให้ใหญ่มันก็ยิ่งแพง กระจกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5 นิ้ว f/8 ราคาประมาณสองพันบาท ถ้าเป็น 6 นิ้วจะขึ้นมาเป็น 4-5 พันบาท ถ้าขยับมาเป็น 8 นิ้วก็เฉียดหมื่นเลย (เฉพาะกระจกเปล่าๆ นะครับ ไม่ใช่กล้องทั้งตัว) ที่แพงขนาดนี้ก็เพราะเลนส์หรือกระจกเหล่านี้จะได้รับการขัดอย่างเที่ยงตรง มาก ความโค้งจะต้องพอดี ผิวต้องเรียบ ถ้าเป็นกระจกก็ต้องเคลือบอลูมิเนียมเพื่อให้สะท้อนแสงได้เต็มที่และเคลือบ สารกันสนิมทับอีกชั้น กล้องจะถูกหรือแพงก็อยู่ที่ความปราณีต ความยาก-ง่ายในการผลิตเลนส์หรือกระจกนี่ล่ะครับ

ถัดจากเรื่องหน้า กล้องก็จะมาเป็นเรื่องของความยาวโฟกัสของกล้องซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่ากำลัง ขยายของกล้องจะเป็นเท่าไหร่ ความยาวโฟกัสที่มากกว่าก็จะมีกำลังขยายสูงกว่าเมื่อใช้เลนส์ตาขนาดเดียวกัน แต่ก็อีกนั่นล่ะครับ ยิ่งความยาวโฟกัสมากก็หมายความว่าแสงก็จะสว่างน้อยลงไป พูดถึงกำลังขยาย เราสามารถคำนวณได้ด้วยสูตรง่ายๆ (มัธยมก็เคยเรียนมาแล้วนิ) คือ กำลังขยาย = ความยาวโฟกัสกล้อง / ความยาวโฟกัสเลนส์ตา เช่น กล้องความยาวโฟกัส 1000 มม. ใช้กับเลนส์ตา 25 มม. ก็จะได้กำลังขยาย 40 เท่า ด้วยกล้องตัวเดียวกัน ถ้ากำลังขยายที่เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว ความสว่างจะลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสี่ และความคมชัดของภาพก็จะลดไปครึ่งนึง มาถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าใช้กำลังขยายเท่าไหร่ถึงจะดี ? อืมม.. ตามทฤษฎีแล้วกำลังขยายไม่ควรเกินสองเท่าของขนาดหน้ากล้องในหน่วยมิลลิเมตร (หรือ 50-60 เท่าถ้าวัดเป็นนิ้ว) นั่นแปลว่า หน้ากล้องขนาด 60 มม. ควรมีกำลังขยายไม่เกิน 120 เท่า แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจจะใช้เลนส์ตาขนาดเล็กเพื่อให้ได้กำลังขยายสูงๆ เกิน 120 เท่า แต่นั่นจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะภาพที่เราเห็นจะมืดหรือไม่ก็เบลอเสียจนดูไม่รู้เรื่อง และในทางปฏิบัติมีน้อยครั้งมากๆ ที่เราสามารถดูวัตถุท้องฟ้าด้วยกำลังขยายขนาด 200-300 เท่า เพราะความแปรปรวนของอากาศจะมีผลต่อภาพที่เราเห็น ใครมีกล้องดูดาวลองเอากล้องมาส่องตอนกลางวันจะเห็นว่าภาพเบลอเยอะมาก เพราะอากาศมันอุ่นและมีการถ่ายเทตลอดเวลา ในขณะที่กลางคืนอากาศเย็นมันจะนิ่ง ภาพที่เห็นจะชัดเจนกว่าเยอะ

อย่างไร ก็ตาม ถ้าจะใช้กล้องส่องดูดาวเคราะห์ กำลังขยายสูงๆ จะมีความสำคัญพอสมควร เพราะดาวเคราะห์มีขนาดเล็ก อย่างดาวพฤหัสที่ใหญ่ที่สุดในสุริยจักรวาล กล้อง 1000 มม. กำลังขยาย 100 เท่า จะเห็นเป็นแค่ดวงกลมๆ ใหญ่กว่าหัวเข็มหมุดนิดเดียว โชคดีที่ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่สว่างพอสมควร จึงสามารถใช้เลนส์ตาขนาดเล็กๆ เพื่อให้กำลังขยายสูงขึ้นได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการรวมแสงมากนัก

เอาล่ะครับ เรื่องทฤษฎีคร่าวๆ ก็หมดไปแล้ว ทีนี้เรามาสำรวจตลาดกันหน่อยว่ามีอะไรให้เราเสียเงินมั่ง ^-^”

กล้องดูดาวแบบต่างๆ

 อย่างแรกเลยก็ต้องเป็นตัวกล้องดูดาว หลักๆ ก็มีสามแบบคือ

  1. กล้อง แบบหักเหแสง (Refractor) เป็นแบบที่เราเห็นกันเยอะที่สุด ใช้เลนส์นูนเป็นตัวรวมแสงด้านหน้ากล้อง เลนส์นูนจะเป็นตัวหักเหแสงไปตกกระทบที่เลนส์ตา ข้อดีของกล้องแบบหักเหแสงคือ เป็นกล้องที่ให้ภาพดีที่สุด เหมาะกับคนที่ชอบดูดาวเคราะห์ หรือดวงจันทร์ เพราะสามารถเพิ่มกำลังขยายได้สูง โดยไม่ลดทอนความคมชัดมากนัก เหมาะสำหรับนักดูดาวที่อยู่ในเมืองเพราะแสงรบกวนมีผลกับภาพน้อยกว่ากล้องแบบ อื่น ข้อเสียของกล้องแบบหักเหแสงอย่างแรกคือความคลาดสี (Chromatic Aberration) ซึ่งจะเกิดบริเวณขอบของวัตถุ เพราะแสงที่ความถี่ต่างกันจะหักเหไม่เท่ากัน (เหมือนกับที่อธิบายไว้ในวิชาฟิสิกส์ ม. ปลายโน่น) เพื่อแก้ความเพี้ยน กล้องจะต้องยาวมากๆ หรือไม่ก็ใช้เลนส์วัตถุแบบหลายชิ้นประกอบกันเพื่อลดความคลาดสีซึ่งทำให้ กล้องมีน้ำหนักมาก และถ้าเคลือบเลนส์ไม่ดีก็จะทำให้แสงถูกลดทอนลงไป หากกล้องมีความยาวมากๆ ก็จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องที่สูงและแข็งแรง (ซึ่งแพง) ทางแก้อีกอย่างคือใช้เลนส์ฟลูโอไรด์ประกอบเป็นเลนส์วัตถุ กล้องแบบหักเหแสงที่ปรับแก้ความคลาดสีจะเรียกว่า Apochromatic refraction กล้องประเภทนี้ราคาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกล้องประเภทอื่นที่ขนาดหน้ากล้อง เท่าๆ กัน อย่างกล้องทากาฮาชิ รุ่น FCT150 ใช้เลนส์ฟลูออไรด์รุ่น FCT ขนาด 150 มม. (6 นิ้ว) f/7 ตัวกล้อง ยาวประมาณเมตรกว่า ราคาไม่รวมภาษี $18,000 นักดาราศาสตร์คนนึงซื้อไว้ดูดาว พูดสั้นๆ ว่า “Don’t tell your wife how much it cost” (- -“) .. จะว่าไปแล้ว เลนส์ฟลูออไรด์จากโรงงานทากาฮาชิเป็นเลนส์ฟลูออไรด์ที่คุณภาพดีที่สุดครับ (ดีกว่า Zeiss ของเยอรมันเสียอีก) เลนส์รุ่น FCT ของทากาฮาชิได้รับการยกย่องว่าเป็นเลนส์ที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพทาง ดาราศาสตร์เท่าที่หาใด้ในปัจจุบัน
  2. กล้องแบบสะท้อนแสง (Reflector) หรือที่มักจะเรียกว่าเป็นกล้องแบบนิวโตเนียน (Newtonian Reflector) เพราะคนที่คิดค้นกล้องแบบนี้ก็คือ เซอร์ ไอแซค นิวตัน นั่นเอง .. กล้องสะท้อนแสงใช้กระจกเป็นตัวสะท้อนแสง (Primary mirror) ติดอยู่ปลายด้านหลังของกล้อง และมีกระจกรับภาพ (Secondary mirror) สะท้อนออกมาด้านข้างตัวกล้อง กล้องแบบสะท้อนแสงนี้มีราคาต่อขนาดหน้ากล้องต่ำที่สุด ถ้าผลิตออกมาดีพอ ก็จะได้ภาพที่ดีเกือบจะเท่ากับกล้องแบบหักเหแสงเลย กล้องประเภทนี้มักติดเลนส์ตาด้านข้างกล้องใกล้กับปากกล้องด้านหน้า เมื่อติดกับขาตั้งกล้องจะสะดวกในการดูดาวมากกว่ากล้องแบบหักเหแสง ข้อเสียของกล้องประเภทนี้คือต้องปรับตั้งกระจก (Collimation) ให้ได้ตำแหน่งพอดี ทั้ง primary และ secondary mirrors การปรับกระจกแม้จะไม่ยากและนานๆ ทำครั้ง แต่สำหรับมือใหม่ถือเป็นเรื่องยุ่งประมาณหนึ่งเหมือนกัน ข้อเสียอีกประการหนึ่งคือกล้องแบบสะท้อนแสงจะต้องเปิดฝาหน้ากล้องออก กระจกสะท้อนจึงสัมผัสฝุ่นละอองง่ายกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเช็ดกระจกทุกครั้งนะครับ ฝุ่นละอองหรือแม้แต่หยดสีเล็กๆ มีผลกับภาพน้อยมาก มันเพียงแต่ลดทอนปริมาณแสงไปนิดนึง ปกติแล้วการทำความสะอาดกระจกไม่ควรทำบ่อยเกินปีละหน ยิ่งทำความสะอาดบ่อยก็ยิ่งมีโอกาสทำให้กระจกเป็นรอยซึ่งเป็นผลเสียมากกว่า หรือแย่กว่านั้นคือเคลือบกันสนิมลอกทำให้ผิวอลูมิเนียมที่ฉาบอยู่เป็นสนิม เจอแบบนี้ ต้องเปลี่ยนกระจกสถานเดียว (- -‘)
  3. กล้องแบบผสม (Catadioptric) คือใช้ทั้งเลนส์และกระจก เพื่อสะท้อนแสงไปมาในกล้อง หน้ากล้องมักจะเป็นกระจกใสที่ผลิตมาให้มีรูปร่างเฉพาะ ทำหน้าที่ปรับลดความเพี้ยนของภาพ จากการหักเห แสงจะผ่านไปตกกระทบที่กระจก (Primary mirror) ซึ่งจะสะท้อนแสงไปกระทบกับกระจกเล็กๆ (Secondary mirror) ที่ติดอยู่ด้านหลังกระจกปรับความเพี้ยนแล้วจึงสะท้อนไปยังเลนส์ตาซึ่งจะอยู่ หลัง primary mirror อีกที ข้อดีของกล้องประเภทนี้คือขนาดเล็ก พกพาสะดวก ราคาอยู่ระหว่างกล้องแบบหักเหแสงและสะท้อนแสง ข้อเสียคือต้องปรับตั้งเหมือนกับกล้องสะท้อนแสง และเนื่องจากกระจกหลังเลนส์ปิดเส้นทางที่แสงจะผ่านเข้ามายังกล้อง ปริมาณแสงจึงน้อย ภาพที่ได้ไม่คมชัดนักเมื่อใช้กำลังขยายสูง

ปัจจุบัน กล้องแบบผสมที่ขายทั่วไป มีอยู่สองชนิดคือ ชมิดท์-แคสสิเกรน (Schmidt-Cassegrain) และ มาคซูตอฟ-แคสสิเกรน (Maksutov-Cassegrain) กล้องทั้งสองแบบมีหลักการทำงานเหมือนๆ กัน ต่างกันแค่กระจกใสหน้ากล้องที่เป็นตัวปรับลดความเพี้ยน โดยทั่วไปแล้วกล้องแบบมาคซูตอฟจะราคาถูกกว่าและให้ภาพที่ดีกว่าแบบชมิดท์ เนื่องจากกระจกใสหน้ากล้องผลิตได้ง่ายกว่าและทำได้เที่ยงตรงกว่า แต่กล้องแบบมาคซูตอฟก็มีข้อเสียตรงที่กระจกใสหน้ากล้องหนา จึงมีน้ำหนักมากกว่าแบบชมิดท์ กล้องของหอดูดาวหลายๆ แห่งมักจะเป็นแบบชมิดท์-แคสสิเกรน แม้แต่ของ Hubble Space Telescope ก็ใช้ชมิดท์-แคสสเกรนเหมือนกัน

เลนส์ตา

หลังจากได้ตัวกล้องก็มาถึงเลนส์ตา การเลือกเลนส์ตามีข้อพิจารณาอยู่ 2-3 อย่างครับ

  1. Optical correction อันนี้คือหน้าที่ของเลนส์ตาเลยครับ เลนส์ตาที่ดีควรให้ภาพที่ถูกต้องคมชัดที่สุด ความคมชัดของภาพขึ้นอยู่กับ f-ratio ด้วย (f-ratio = ความยาวโฟกัส/ขนาดเลนส์วัตถุ) กล้องที่ f-ratio สูงจะให้ภาพที่คมชัดมากกว่าพราะมุมแคบกว่า ดังนั้นใช้เลนส์ตาธรรมดาก็ได้ภาพที่ดี แต่ถ้า f-ratio ต่ำๆ ต้องเลือกใช้เลนส์ตาที่ออกแบบมาอย่างดีจึงจะได้ภาพที่ชัดเท่ากัน
  2. Apparent Field of View (FoV) พื้นที่ปรากฏเมื่อมองผ่านเลนส์ตามีหน่วยเป็นองศา ปกติค่าจะอยู่ราว 40-50 องศา ส่วนพื้นที่บนท้องฟ้าที่เราเห็นผ่านกล้อง (True Field) สามารถหาได้โดย พื้นที่บนท้องฟ้า = พื้นที่ปรากฏ / กำลังขยาย เช่น กล้อง 105 มม. ความยาวโฟกัส 1000 มม. ใช้เลนส์ตา 10 มม. จะได้กำลังขยาย 100 เท่า พื้นที่บนท้องฟ้า = 50 / 100 = 0.5 องศา ดูดวงจันทร์ได้เต็มๆ พอดี
  3. Eye Relief คือระยะห่างจากตาถึงเลนส์เมื่ออยู่ในโฟกัส ถ้าระยะ eye relief สั้นแปลว่าตาต้องอยู่ใกล้เลนส์มากกว่าจึงจะมองเห็นเต็มพื้นที่ปรากฏ ถ้าอยู่ห่างเกินระยะ eye relief ก็จะภาพไม่เต็มพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหากับคนที่สวมแว่นครับ และเป็นปัญหาในการถ่ายภาพแบบ eyepiece projection ด้วย

เลนส์ตาสำหรับกล้องดูดาวแบ่งออกเป็น 6 ประเภทใหญ่ ดังนี้

  1. ฮอย เกเนียน (Huygenian) ออกแบบโดยคริสเตียน ฮอยเก้นส์ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นเลนส์ประกอบสองชิ้น ปัจจุบันใช้กับกล้องดูดาวราคาถูกเท่านั้น
  2. เค ลเนอร์ (Kellner) ใช้เลนส์ประกอบสามชิ้น เป็นเลนส์ที่ถูกที่สุดที่เหมาะจะใช้ดูดาว เลนส์ตาแบบเคลเนอร์ให้ภาพที่คมและสว่างเมื่อใช้กำลังขยายต่ำถึงปานกลาง มีพื้นที่ปรากฏราวๆ 40 องศา มีระยะ eye relief ระดับปานกลาง เป็นเลนส์ตาที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น เพราะราคาไม่แพงและได้ภาพที่ดี
  3. ออร์โธสโคปิค (Orthoscopic) ใช้เลนส์ประกอบสี่ชิ้น ได้ภาพที่คมชัด สีไม่เพี้ยน มี eye relief ยาวกว่าเคลเนอร์ แต่มีพื้นที่ปรากฏแคบ เหมาะสำหรับดูดาวเคราะห์ และดวงจันทร์
  4. พลอสเซิล (Plossl) เป็นเลนส์ประกอบสี่ชิ้นที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ให้ที่ภาพคมชัด มี eye relief ที่ดี พื้นที่ปรากฏราวๆ 50 องศา
  5. เออร์เฟิล (Erfle) ใช้เลนส์ประกอบ 5-6 ชิ้น มีพื้นที่ปรากฏกว้างถึง 60-70 องศา เหมาะสำหรับดูวัตถุท้องฟ้า และยังให้ภาพที่คมชัด แม้จะใช้กำลังขยายสูง
  6. อัลตร้าไวด์ (Ultrawide) ใช้เลนส์ประกอบ 6-8 ชิ้น ออกแบบเพื่อให้ได้พื้นที่ปรากฏกว้างถึง 85 องศา ซึ่งกว้างขนาดต้องกวาดตามอง แต่เนื่องจากประกอบด้วยเลนส์หลายชิ้น ภาพจึงค่อนข้างมืด

คำ แนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นคือเลือกซื้อเลนส์ตาพลอสเซิลหรือเคลเนอร์ซักสองตัว ความยาวโฟกัสสั้นตัวนึงสำหรับดูดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์ และความยาวโฟกัสปานกลางอีกตัวนึงสำหรับดูวัตถุท้องฟ้าพวก เนบิวลา ดาราจักร ฯลฯ ความยาวโฟกัสจะมากน้อยขึ้นอยู่กับ f-ratio ของกล้อง ถ้ากล้องมี f-ratio สูง จะใช้เลนส์ตาความยาวโฟกัสมากกว่ากล้อง f-ratio ต่ำ เช่น กล้อง f/8 ใช้เลนส์ตาขนาด 25 มม. ถ้าเป็นกล้อง f/4 ก็ต้องใช้เลนส์ตาขนาด 12.5 มม. เพื่อให้ได้กำลังขยายเท่าๆ กัน

เม้าท์ (Mount)

ทีนี้ก็เกือบ จะพร้อมดูดาวได้แล้ว จะเหลือก็แต่ขาตั้งและเม้าท์สำหรับติดตั้งกล้อง เพื่อให้หมุนหาดาวได้สะดวกๆ .. ปัจจุบันมีเม้าท์สำหรับกล้องดูดาวอยู่สามแบบคือ

  1. อัลตาซิมุธ (Altazimuth) ทำงานตามระบบพิกัดอัลติจูด-อะซิมุธ คือปรับกล้องตามมุมเงยและมุมอะซิมุธวัดจากทิศเหนือจริง เม้าท์แบบอัลตาซิมุธติดตั้งบนขาตั้งแบบสามขา ราคาถูกและใช้ง่าย แต่มีข้อเสียตรงที่การติดตามดาวหรือวัตถุท้องฟ้าจะต้องปรับทั้งสองแกน เพราะพิกัดอัลติจูด-อะซิมุธไม่ได้ชดเชยการหมุนของโลก
  2. ด็อบโซเนียน (Dobsonian) ทำงานตามพิกัดอัลติจูด-อะซิมุธเหมือนกัน แต่ติดตั้งบนจานหมุน มีความแข็งแรงมากกว่าแบบอัลตาซิมุธ มักใช้กับกล้องนิวโตเนียนขนาดใหญ่ๆ ปกติเม้าท์แบบดอบโซเนียนมักจะติดตั้งกล้องตายตัว ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้เหมือนเมาท์แบบอื่น
  3. อิควิตอเรียล (Equitorial) เม้าท์แบบอิควิตอเรียลติดตั้งบนขาตั้งสามขา ทำงานตามระบบพิกัดอิควิตอเรียล เมื่อตั้งตำแหน่งถูกต้องแล้วจะสามารถติดตามดาวได้โดยการปรับแกน R.A. เพียงแกนเดียวทำให้ง่าย และเล็งตำแหน่งดาวได้ค่อนข้างแม่นยำ แต่ราคาก็ค่อนข้างสูง

ใช้กล้องดูดาว

เมื่อเลือกกล้องมา ได้แล้ว ก็มาถึงการใช้ล่ะครับการ ก่อนจะดูดาวควรรอให้กล้องปรับอุณหภูมิให้เข้ากับสภาพแวดล้อมก่อนราว 30 นาที อุณหภูมิยิ่งต่ำยิ่งมีผลดีต่อการดูดาว เพราะอากาศจะแปรปรวนน้อยกว่า ช่วงเวลาที่เหมาะคือหลังเที่ยงคืน เพราะความร้อนจากพื้นดินจะหายไปมากแล้ว ตำแหน่งการวางกล้องควรจะวางบนพื้นดิน หรือพื้นสนามหญ้า ไม่ควรวางบนพื้นแอสฟัลต์ เพราะมันแผ่รังสีความร้อนออกมามากกว่า ควรดูดาวนอกบ้านมากกว่าในบ้านเพราะอุณหภูมิที่ต่างกันจะทำให้ภาพที่ได้มี ความเพี้ยนสูง (เจอมาแล้ว) สภาพอากาศที่เหมาะในการดูดาวสังเกตได้จากการกระพริบของดาว หากดาวกระพริบเป็นประกายแสดงว่าอากาศไม่นิ่ง ทำให้การดูดาวถูกจำกัดอยู่ที่กำลังขยายต่ำ (หากเปลี่ยนไปใช้เลนส์ตากำลังขยายสูง จะเห็นความเพี้ยนมากขึ้น)

ขั้นตอน ที่ยุ่งยากที่สุดในการดูดาวคือการปรับตั้งเม้าท์และหาตำแหน่งดาว แผนที่ดาวเป็นแผ่นๆ ช่วยอะไรไม่ได้มากแล้วครับเพราะมันจะบอกตำแหน่งหยาบๆ สำหรับดูด้วยตา ถ้าเราใช้กล้องดูดาวต้องเล็งดาวแม่นประมาณนึงเลย ดังนั้นต้องพึ่งซอฟต์แวร์หรือหนังสือคู่มือบอกตำแหน่งดาวและวัตถุท้องฟ้า ครับ ส่วนใหญ่ตำแหน่งดาวจะบอกเป็นพิกัดอิควิตอเรียล เพราะมันเป็นพิกัดมาตรฐานใช้ได้ทุกตำแหน่งบนโลกและใช้ได้ทุกเวลา เพราะมันไม่ได้อ้างอิงอะไรกับโลกเลย (มันอ้างอิงกับทิศเหนือจริงเท่านั้น) หากตั้งเม้าท์ถูกต้อง เล็งตำแหน่งทิศเหนือจริงได้แม่น ก็จะหาวัตถุท้องฟ้าได้ไม่ยากนัก ส่วนพิกัดอัลติจูด-อะซิมุธต้องพิจารณาตำแหน่งที่เราสังเกตุและเวลาด้วย จึงยุ่งยากกว่าเล็กน้อย แต่ซอฟต์แวร์แผนที่ดาวส่วนใหญ่คำนวณหาได้ทั้งสองแบบครับ

เอาล่ะครับ ก็เป็นอันจบเรื่องของอุปกรณ์ในการดูดาว ต่อไปถ้ามีโอกาสจะมาแนะนำเรื่องหมู่ดาว ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ .. หรืออาจจะยาวไปถึงการถ่ายภาพดวงดาวบนท้องฟ้าด้วย คอยติดตามครับ