Category Archives: Blog

Kernel Patches

mm4 patch สำหรับ 2.6.8.1 รีลีสแล้ว เร็วดังคาด .. แพตช์ตัวนี้มี experimental code ชุดใหม่เข้ามา ยังไม่ได้ทดสอบในวงกว้าง ใครอยากทดสอบหรือชอบเสี่ยงก็ ดาวน์โหลด ไปใช้ได้

ck4 patch ของ Con Kolivas รีลีสแล้วเหมือนกัน .. แพตช์/จูนสำหรับเดสก์ท็อปเช่นเคย มีแพตช์ workaround kernel กับ cdrecord ไว้แล้วด้วย ใครใช้งาน CD/DVD Writer เอาแพตช์นี้ไปใช้ก่อนระหว่างรอแก้ไขในเคอร์เนลจริงๆ อีกที ในแพตช์เซ็ตมี Reiser4FS ด้วย ว่ากันว่าเร็วโคตรๆ ..

CK แนะนำว่า เคอร์เนล 2.6 ไม่จำเป็นต้องใช้ kernel preemptible ก็ได้ จะ enable หรือ disable ก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะ latency ของ 2.6 ถึงไม่มี preempt ก็ต่ำ(กว่า 2.4)อยู่แล้ว การ enable kernel preemptible อาจจะทำให้โปรแกรมบางโปรแกรมทำงานเพี้ยนอีกด้วย ผมก็เจอบ้างเหมือนกัน เช่น NVIDIA ถ้าภาระงานหนักๆ โมดูลจะทำงานอืดอย่างเห็นได้ชัด ALSA เองก็จะกระตุกๆๆ เท่าที่มีการรายงานบางจังหวะแย่ถึงขนาด latency เกิน 50 msec ก็มี ..

เพื่อแก้ปัญหานี้ Ingo Molnar กับ Arjan van de Ven (@ Red Hat) เสนอโมเดลและแพตช์ชื่อ “Voluntary Kernel Preemption” มาเสริมการทำงานของเคอร์เนล 2.6 .. วิธีการคือดึงเอาจังหวะ might_sleep() ในเคอร์เนลมาใช้ + แก้ไขโค้ด จัด schedule ใหม่ (ผมเดาว่า การใช้ might_sleep() คงเป็นที่มาของคำว่า voluntary – เพราะจุดที่เรียก might_sleep() แปลว่ามันอาสาที่จะ sleep แล้ว) .. การทดสอบ voluntary kernel preemption โดยตัว Ingo เองได้ latency ออกมาไม่ถึง 1 ms แม้จะอัดภาระงานเข้าไปเต็มๆ แล้วก็ตาม .. ตัวเลข 1 msec นี่ถือว่าเทียบเท่าหรืออาจจะดีกว่าเคอร์เนล 2.4 + low latency patch ของ Andrew Morton ที่กลุ่ม Linux Audio นิยมใช้กันเสียอีก :)

อย่างไรก็ตามแฮ็กเกอร์บางคน (i.e., Christoph Hellwig, Andrea Arcangeli) ก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับการใช้จังหวะ might_sleep() มา reschedule / preempt เพราะโดยหลักการแล้ว might_sleep() มีนิยามในการทำงานของมันเอง และถ้าจะทำอะไรกับ scheduling ก็มี cond_resched() API ให้ใช้อยู่แล้ว .. Ingo ก็ยอมรับว่ามันมีผลดีผลเสียที่ต้อง tradeoff กันอยู่ ที่เสนอให้ใช้ might_sleep() ก็เพราะมันได้ผลที่ดี ประหยัดกว่า และปลอดภัยกว่า .. จะใช้หรือไม่ก็ตัดสินใจเอาเอง โดยสรุป voluntary kernel preepmtion จะเหมาะกับเครื่องที่ต้องการ latency ต่ำๆ ต้องการการตอบสนองที่ดี เช่น digital audio/video workstation แต่อาจจะไม่เหมาะกับเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องการทรูพุตสูงๆ .. voluntary kernel preemption สามารถ enable/disable ขณะที่เครื่องทำงานอยู่ได้ตลอดเวลาผ่านทาง /proc ..

ระหว่างนี้ Ingo กำลังทำแพตช์อีกตัวนึงเพื่อปรับปรุง kernel preemption โดยแพตช์ที่จะออกตามมานี้จะจูน preemption ในระดับ per-task ได้เลย :)

Aowthai: KDE 3.3 released / Kitty Extras: All packages re-linked

วันเสาร์เอา Peorth ไป Acer Service อีกที เปลี่ยนคีย์บอร์ดมาแล้วเรียบร้อย พร้อมกับได้ฮาร์ดดิสก์ 2.5 นิ้ว 20 GB ตัวใหม่มาอีกตัว .. จ่ายค่าช่างไป 800 + 7% บาท .. นะ ประกันสามปี อะไหล่ฟรีตลอดระยะประกันมันก็ดีอย่างนี้นี่เอง :D

อ่าวไทยเพิ่ม KDE 3.3 เข้ามาแล้ว .. apt-get + re-link กันได้ :P

Kitty Extras re-link กับ อ่าวไทยครบแล้ว ฝากทดสอบใช้งานกันหน่อยครับ (เมลมาก็ได้ หรือถ้าสะดวกที่ #tlwg ก็ได้ ผมอยู่ที่นั่นเกือบตลอดเวลาที่ตื่น).. Kitty Extras ชุดนี้ผมตัดแพ็กเกจออกจาก repo ไปหลายตัว เหตุเพราะ maintain ยากเหลือกเกิน บางตัวเปลี่ยนเวอร์ชันทีต้องใช้เวลาแก้ทั้งวันกว่าจะได้ binary rpm เพราะมันเปลี่ยนวิธีการติดตั้งอยู่เรื่อยๆ .. เจอบ่อยๆ เข้าก็เซ็ง เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า .. ช่วงนี้ todo ค้างบานเลย อยากเอาเวลาไปเขียนหนังสือ บทความ โปรแกรม แฮ็ก ฯลฯ .. เฮ่อ ..

Setting Up Thai Domain Names

ไม่นานมานี้ THNIC เปิดบริการโดเมนเนมภาษาไทยฟรีให้กับเจ้าของโดเมน .th ทั้งหมดโดยที่ THNIC ให้ขอชื่อโดเมนภาษาไทยสำหรับโดเมนภาษาอังกฤษที่จดไว้กับ THNIC แล้ว หากผ่านการพิจารณาแล้ว THNIC จะทำการแม็ปชื่อโดเมนภาษาไทยกับโดเมนภาษาอังกฤษให้อัตโนมัติ โดยเซิร์ฟเวอร์ที่ THNIC จะเป็น DNS server สำหรับโดเมนภาษาไทยทุกตัวที่ขอจดไป .. อย่างไรก็ตามหากเราต้องการรัน DNS server สำหรับโดเมนภาษาไทยเองก็สามารถทำได้เช่นกัน

Internationalized Domain Name (IDN)

โดเมนภาษาไทยนี้จะต่างไปจากบริการของนิภาหรือบริการชื่อไทยอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่อาศัยการแฮ็กและติดตั้งซอฟต์แวร์เสริม (ที่ไคลเอ็นด์ และ/หรือที่ ISP).. สำหรับโดเมนภาษาไทยที่ THNIC ให้บริการคือระบบโดเมนหลายภาษา เป็นมาตรฐานที่ร่างโดย Internationalized Domain Name Working Group ของ IETF .. วิธีการของ IDN ปัจจุบันใช้การเก็บข้อมูลโดเมนเนมภาษาต่างๆ ในรูปแบบที่เรียกว่า punycode (กำหนดไว้ใน RFC 3492) ซึ่งสามารถบันทึกเก็บในฐานข้อมูลของ DNS เป็น ASCII ธรรมดาได้ .. เมื่อฐานข้อมูลเก็บเป็น punycode การ query จึงเป็น punycode ด้วย ตอนนี้ resolver ใน OS เกือบ/ทั้งหมดยังไม่สนับสนุนการแปลงโดเมนภาษาต่างๆ เป็น punycode ดังนั้นแอพพลิเคชันจึงต้องทำเอง (วิธีการที่ให้แอพพลิเคชันแปลงเป็น punycode เองนี่เรียกว่า IDN in Application หรือ IDNA – RFC 3490) .. ข่าวดีสำหรับลินุกซ์คือ บราวเซอร์ยอดนิยมทั้งหลาย i.e., Mozilla, Firefox, Opera จะแปลงโดเมนเนมใน URL เป็น punycode ให้อัตโนมัติ ผู้ใช้งานลินุกซ์จึงใช้งานโดเมนภาษาไทย หรือภาษาอื่นๆ ได้ทันที … ส่วน IE ต้อง ดาวน์โหลดปลั๊กอิน มาติดตั้งด้วย

Server Side

ฝั่ง DNS server ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง/แพตช์อะไรเลย เพราะ punycode ก็คือ ASCII ธรรมดาเหมือนโดเมนภาษาอังกฤษทั่วๆ ไป .. หากต้องการรัน DNS server สำหรับโดเมนภาษาไทยหรือภาษาอะไรก็ตาม วิธีการก็เพียงแค่สร้าง zone ใหม่สำหรับโดเมนนั้น โดยที่แปลงชื่อโดเมน หรือชื่อซับโดเมน หรือโฮสต์เนมในภาษานั้นๆ เป็น punycode ก่อนเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น โดเมน kitty.in.th มีโดเมนภาษาไทยชื่อ แมวเหมียว.th

ขั้นแรกก็แปลง “แมวเหมียว” เป็น punycode ก่อน โดยแปลงที่ http://josefsson.org/idn.php ก็ได้ หรือจะเอาซอร์สจาก RFC 3492 หรือ http://www.gnu.org/software/libidn มาคอมไพล์ก็ได้ ..

แมวเหมียว = xn--y3cadscv5e5dg

สร้าง zone สำหรับ แมวเหมียว.th โดยใช้ punycode

zone "xn--y3cadscv5e5dg.th" {
        type master;
        file "sandbox/kitty.in.th-idn";
        allow-update { none; };
};

สร้างฐานข้อมูลในไฟล์ kitty.in.th-idn (หรืออะไรก็ตามที่ระบุไว้ใน zone) .. ข้อมูลที่ใส่ก็เหมือนฐานข้อมูลของโดเมนภาษาอังกฤษ เพียงแต่แปลงโฮสต์เนมเป็น punycode ก่อน แล้วค่อยเก็บลงไป

โดเมน = xn--l3ckx7ji

เว็บ = xn--r3cz4e3a

ไฟล์ = xn--w3cm5g8a

เมล = xn--y3ci3f

        IN      NS      ns.kitty.in.th.
        IN      MX      5       mail.kitty.in.th.

@               IN      A       203.152.18.6
xn--l3ckx7ji    IN      CNAME   ns.kitty.in.th.
xn--w3cm5g8a    IN      CNAME   ftp.kitty.in.th.
xn--r3cz4e3a    IN      CNAME   www.kitty.in.th.
xn--y3ci3f      IN      CNAME   mail.kitty.in.th.

รีสตาร์ทเนมเซิร์ฟเวอร์

# named.restart

ติดต่อ THNIC เพื่อขอให้ชี้ primary/secondary DNS server สำหรับโดเมนภาษาไทยมาที่เซิร์ฟเวอร์ของเราแทน

.. เสร็จแล้ว !

Onamae wa?

Onamae wa 秋本 Akimoto (autumn book) 直樹 Naoki (straight tree)… ลอล.. มีคนเล่าให้ฟังนานแล้วว่ามีเว็บตั้งชื่อภาษาญี่ปุ่น .. เพิ่งได้ลองเล่น หลังอ่าน blog ของ bact’ .. เอาไปเล่นกัน: Name Generator

ไม่ได้เขียนอะไรเข้าห้องทดลองซะนาน วันนี้เพิ่มเรื่อง วิธีตั้งโดเมนภาษาไทย .. ใครมีโดเมน .th ในมือ สนใจก็ลองทำดูได้ครับ :)

สมาชิก #tlwg ได้ลอง KDE 3.3 แล้วบอกว่า ทำงานเร็วกว่า GNOME 2.6 อีก แถมฟีเจอร์เพียบ .. อืมม น่าสนใจ แต่ตอนนี้ก็ได้แต่รออ่านรีวิว จะ emerge มาลองก็กำลังเร่ง build แพ็กเกจอยู่ ไม่อยากกวนซีพียู .. ยังไงผมก็คงไม่ใช้ KDE อยู่ดี :P

.. กำลังสนใจ x86-64 ของ AMD ซึ่งออกชิป 64-bit มาเพียบจนงงไปหมด .. สอบถาม sf-alpha + กูเกิ้ลได้ความว่า ซีพียูตระกูล x86-64 ของ AMD มีสองรุ่นคือ

  • AMD Opteron แยกเป็น Opteron for Server และ Opteron for Workstation และยังแยกออกเป็น 3 series คือ 100 (1-way) 200 (up to 2-way) และ 800 (up to 8-way) .. เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งได้อ่าน ผลเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ Opteron 150 กับ Xeon 3.6 GHz บนลินุกซ์ ผลคือ Opteron 150 กิน Xeon เกือบทุกรายการที่ทดสอบ .. ก็นะ .. ของมันแรง :P
  • AMD Athlon 64 ประกอบด้วย Athlon 64 สำหรับเครื่องเดสก์ท็อป Mobile Athlon 64 สำหรับโน้ตบุ๊ค และ Athlon 64 FX ออกมาชน Extreme Edition ของ Intel สำหรับเดสก์ท็อประดับ hi-end desktop เกมส์ ฯลฯ ..

ทั้งหมดนี่ที่พอจะหาได้ในบ้านเราก็มี Athlon 64 3000+ หรือ 3200+ ตัวละหมื่นกว่าบาท .. ส่วนเมนบอร์ดก็ราวๆ หกพัน สรุปว่า จะใช้ 64 บิตตอนนี้ ต่อให้มีตังค์ก็ไม่ได้หาซื้อกันได้ง่ายๆ นัก .. รออีกสักพัก เก็บตังค์ไปด้วย :P

นักกีฬาไทยได้เหรียญทองที่สองในโอลิมปิก :D

New memory module installed

ได้แรมมาใส่เพิ่ม Yggdrasil แล้ว .. ต้นเหตุมาจากที่บ่นๆ ไปวันก่อนว่า KDE Apps ใช้เวลา build นานและกินหน่วยความจำระหว่างคอมไพล์มาก พอหน่วยความจำไม่พอ swap ก็ทำงาน อืดไปกันใหญ่ .. พี่หน่อย @ Speed Net Club คงทนผมบ่นไม่ไหวแล้ว (ทั้งใน blog และ #tlwg) เลยอนุเคราะห์มา 256 MB :D .. ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ .. ตอนนี้ Yggdrasil มีหน่วยความจำ 512 MB แล้ว ทำอะไรได้คล่องแคล่วกว่าเดิมพอสมควรทีเดียว :D

ทดสอบ 2.6.8.1-mm1 patch แล้ว .. อาการของ cdrecord ยังเหมือนเดิม รอกันต่อไป .. ช่วงนี้เลย run k3b/cdrecord as root ไปก่อน ..สมาชิกใน #tlwg ก็ได้ข่าวมาว่า IPv6 stack ใน 2.6.8 ทำงานบกพร่อง (ไม่ confirm นะครับ .. ต้องรอทดสอบอีกที) .. ดูท่าทางแล้ว เลขเวอร์ชันของ mm-patch สำหรับ 2.6.8 คงจะวิ่งเร็วกว่าปกติ :P … (พูดไม่ทันขาดคำ ตะกี้เช็คที่ kernel.org .. mm2 ออกแล้ว – -‘)

KDE 3.3 รีลีสแล้ว .. รายละเอียดไปตามอ่านเอาเองครับ (me: เน็ตมีปัญหาเข้า kde.org ไม่ได้)

Acer Service โทรมาบอกว่าอะไหล่มาแล้ว :)

Many things happened

win32 codecs loading problem: ที่ผ่านมาลินุกซ์บางเครื่องไม่สามารถใช้งาน win32 codecs ได้ไม่ว่าจะผ่านทาง mplayer หรือ xine .. เรื่องนี้เคยเกิดกับผมเหมือนกัน เป็นๆ หายๆ อยู่พักนึง ก็เลยพยายามกูเกิ้ลจนพบว่า ปัญหานี้เกิดจาก combination ของ prelink + exec-shield + โปรแกรมที่ใช้งาน win32 codecs .. อธิบายนิดฟีเจอร์ exec-shield เพิ่มเข้าไปในเคอร์เนลเมื่อปีที่แล้ว (โดย Ingo Molnar @ Red Hat) exec-shield จะ remap address เวลาโหลดไลบรารีเป็นการป้องกัน buffer/stack/pointer overflow attack .. เดิม address remapping ทำโดยการสุ่มพื้นที่เวลาโหลดไลบรารี .. ภายหลัง Red Hat ก็เอาฟีเจอร์ prelink มาใช้งาน การสุ่มพื้นที่เลยเปลี่ยนไปทำตอน full prelink ซึ่งปกติจะทำงานทุกสองสัปดาห์ (อันนี้เองที่เป็นสาเหตุว่าทำไมมันเป็นๆ หายๆ) .. โอเค ร่ายมายาว ประเด็นคือ dll ใน win32codecs หลายๆ ตัวจำเป็นต้องโหลดลงพื้นที่ๆ กำหนดไว้เท่านั้น (e.g., 0x400000) ถ้า exec-shield/prelink เลือกโหลดไลบรารีบางตัวในพื้นที่ไปแล้ว ก็จะไม่สามารถโหลด win32codecs ได้ ผลก็จะกลายเป็น segmentation fault .. วิธีแก้ คือ ยกเลิกการใช้ exec-shield แล้วทำ full prelink โดย

แก้ไฟล์ /etc/sysconfig/prelink จาก

PRELINK_OPTS=-mR

เป็น

PRELINK_OPTS="-mR --no-exec-shield"

** สังเกตดีๆ อย่าลืมใส่ double quote

สร้างไฟล์ เป็นแฟล็กสำหรับ force full prelink

touch /var/lib/misc/prelink.force

สั่ง prelink

/etc/cron.daily/prelink

รอพักนึง

set executable stack flag สำหรับโปรแกรมที่ใช้ win32codecs i.e., mplayer, xine

execstack -s /usr/bin/mplayer
execstack -s /usr/bin/xine

ขั้นตอนนี้เท่าที่ลอง บางครั้งก็ไม่ต้องทำ YMMV ..

ข้อเสียของวิธีนี้คือ มีความเสี่ยงกับ overflow attack มากกว่าระบบปกติ .. tradeoff กันเอาเองเน้อะ (ref: http://mplayerhq.hu/DOCS/HTML/en/faq.html )

cdrecord กับ kernel 2.6.8.1: ใช้งานร่วมกันแล้วมีปัญหา cdrecord ไม่สามารถส่งคำสั่งผ่านเคอร์เนลไปเขียนซีดีได้ .. workaround คือถอยกลับไปใช้ 2.6.7 หรือใช้ cdrecord as root (me: setuid เอาก็ไม่ได้) .. fix ใช้แพตช์ (ตามหาใน LKML เอาเอง :p) หรือไม่ก็รอ mm-patch หรือเคอร์เนลตัวถัดไป .. OT: สำหรับคนที่อยู่กับ LKML มานานพอสมควร เห็นหัวข้อ cdrecord มาพร้อมกับ kernel คงพอเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น .. Joerg Schilling (คนเขียน cdrecord) เป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่ง แต่พี่แกไม่ฟังใครเลย เอาแต่ใจเป็นที่สุด .. ครั้งนี้ก็เช่นกัน ต่อความยาวสาวความยืดกับ Jens Axboe (@ SuSE – kernel hacker – I/O) เรื่องเดิมๆ อีกแล้ว .. ลอล

Keyboard ของ peorth เจ๊ง: ยกไปเซอร์วิสที่ Zeer รังสิต คราวที่แล้วไปเคลมฮาร์ดดิสก์พนักงาน Acer Service ที่ Zeer พูดจาแย่มาก ผมเดินออกมาเลย รวย ไม่เคลมก็ได้ ไม่ง้อหรอกเว้ย .. เที่ยวนี้ดีขึ้น เลยเอาดิสก์ไปเคลมด้วยเลย นึกว่าจะได้ “สู้ว๊อย” ซะแล้ว .. ลอล .. anyway, อะไหล่ไม่มี เลยเอาเครื่องกลับมาใช้งานก่อน ..

kernel 2.6.8.1: มีผลของ make oldconfig (จาก 2.6.7-mm5) อีกเครื่องนึงมาเพิ่มเติม

  • Message Signaling Interrupts (MSI and MSI-X)
  • Sensor: Analog Device ADM1025 and compatible
  • Sensor: Analog Device ADM1031 and compatible
  • Sensor: National Semiconductor LM77

เด็กกับรางรถไฟ / kitty-extras updated

อ่าน เรื่องเด็กกับรางรถไฟ ที่ blog ของพี่เทพ แล้วชอบใจ .. “คนกลุ่มน้อยมักจะถูกเสียสละให้กับผลประโยชน์ของคนหมู่มาก แม้ว่าคนกลุ่มน้อยจะฉลาด มองการณ์ไกล และคนหมู่มากจะโง่เง่า ไม่ใส่ใจก็ตาม” … หุๆๆๆ ..

ปั่นแพ็กเกจ kitty-extras สำหรับทะเล 7.0 (build/rebuild บนอ่าวไทย) .. เสร็จไป 30% แล้ว .. ปลายๆ สัปดาห์นี้คงเสร็จทั้งหมด .. เซ็งแอพพลิเคชันบน KDE เป็นที่สุด .. build ช้ามากๆๆๆๆ กินแรมช่วง build ก็เยอะมากๆๆๆๆ … เกลียด KDE ว๊อยย ..

อยากดูโอลิมปิก แต่ไม่มีทีวี ? channel #tlwg มีรายงานสดเกือบทุกรายการที่นักกีฬาไทยลงแข่งขันครับ .. ลอล :D

XP Starter Edition

ได้อ่าน รีวิว Windows XP Starter Edition จาก Gartner แล้ว .. คันปาก .. โอ้ ไม่น่าเชื่อเลยจอร์จ มันห่วยจริงๆ !

  • อย่างที่เคยบอกกล่าวกันก่อนหน้านี้ อินเทอร์เฟซทุกอย่างปรับแต่งเป็นภาษาไทย เพื่อให้คน(ที่รู้ภาษา)ไทยใช้เท่านั้น เป็นการกันไม่ให้ XPSE หลุดไปขายในประเทศอื่น .. ก็โอเคแหละ ยอมรับได้
  • รันโปรแกรมได้พร้อมกัน 3 โปรแกรม … ข้อนี้ข้อเดียวก็เลิกสนใจ XPSE ไปเลย .. บ้าป่าววะ
  • สนับสนุนผู้ใช้หลายคนเหมือน XP แต่แชร์โปรไฟล์ของเดสก์ท็อปอันเดียวกัน .. แปลว่าทุกคนแชร์หน้าจอเดสก์ท็อปเดียว ไม่ได้แยกหน้าจอเหมือน XP .. ก็พอทน ส่วนใหญ่ก็ใช้หนึ่งคนต่อหนึ่งเครื่องอยู่แล้ว
  • รวม Service Pack 2 มาแล้ว แต่ไม่ได้บอกอะไรเลยเกี่ยวกับความปลอดภัยของระบบ … แอบทำโน่นทำนี่เงียบๆ ตามเคย

กับราคาประมาณพันสี่ร้อยบาท ห่วยกว่าที่คิดมากๆ .. หรือทำแบบนี้เพื่อบีบให้คนซื้อชุดเต็ม ? … ครั้งแรกที่มีข่าว XPSE ที่ตัดฟีเจอร์บางอย่างออกไป ชาวต่างชาติที่ /. บางคนบอกว่า ถ้าฟีเจอร์ที่ตัดออก คือ IE, MSN, และฟีเจอร์บรมห่วยทั้งหลายออก จะลงทุนเรียนภาษาไทยเพื่อใช้ XPSE .. ตอนนี้คงได้แต่ส่ายหัว .. เฮ่อ

สรุปว่า ไม่คุ้มที่จะลงทุน ไม่ว่าจะใช้เอง หรือจะใช้ในองค์กร เพราะเชื่อว่าถ้าซื้อไปใช้ไม่นานก็ต้องหันมาใช้ตัวเต็มจนได้ กลายเป็นเสียเงินสองต่อ (เข้าทางไมโครซอฟต์) โดยเฉพาะคนที่เคยใช้ของเถื่อนมาก่อนยิ่งไม่มีทางที่จะเปลี่ยนไปใช้ของถูกกฎหมายที่ห่วยลงมากขนาดนี้ ..

XP ตัวเต็มก็ห่วยอยู่แล้ว ยังมีหน้าทำ XPSE ให้มันห่วยลงไปอีก .. สมแล้วที่เป็นไมโครซอฟต์ หน้าไม่อายจริงๆ

Linux Kernel 2.6.8 / 2.6.8.1

อยู่บ้าน ทำงานออนไลน์ไม่สะดวกเท่าไหร่ เลยพยายามเคลียร์งานออฟไลน์ต่างๆ .. อ่านหนังสือ ทำรายงาน เขียนเว็บ ฯลฯ .. พอออนไลน์ทีก็เข้า Planet /. FM][ gnomedesktop ฯลฯ อ่านข่าว สำรวจหาอัปเดต .. แล้วก็เห็นว่าเคอร์เนล 2.6.8 ถูกปล่อยออกมาแล้ว ..

เคอร์เนล 2.6.8 นี่เกือบๆ จะออกตั้งแต่ rc4 แล้ว แต่ ลินุสอยากให้มีการแก้ไขอะไรบางอย่างให้สะอาดก่อน เช่นเคยเคอร์เนลใหม่สนับสนุนฮาร์ดแวร์เพิ่มขึ้น และแก้บั๊ก ARM, PPC, Sparc64, SATA, SCSI, Prism, อื่นๆ อีกบาน .. ห้าชั่วโมงหลังออก 2.6.8 ก็มี 2.6.8.1 ออกตามมาเพื่อแก้บั๊ก NFS… แพตช์แก้ IRQ Routing ใน BIOS ของ TravelMate 360 เข้าไปอยู่ในเคอร์เนลแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้อยู่ใน mm-patch (และก่อนหน้า mm-patch ผม maintain แพตช์ตังนี้แยกไว้ใช้ส่วนตัว)… อยู่ในเคอร์เนลอย่างนี้ต่อไปก็สบายแล้ว :)

มีอะไรใหม่ ? .. เช็คถึกๆ โดย make oldconfig ก็มีดังนี้ :

  • IBM Power Linux RAID Adaptor
  • EtherExpress Pro/100+ Rx Polling (NAPI)
  • I2C Dallas’s 1-wire bus
  • USB SN9C10[12] PC Camera Controller
  • AES cipher algorithms (i586)
  • TEA and XTEA cipher algorithm
  • Khazad cipher algorithms
  • CRC-CCITT functions

คิดว่า 2.6.8.1 คงมีอะไรใหม่ๆ มากกว่านี้นะครับ เพราะ kernel config เดิมผมเลือกตามฮาร์ดแวร์ของเครื่อง ต้องใช้ หรือมีโอกาสสูงที่จะได้ใช้เท่านั้น (เช่น USB devices ต่างๆ)

OT: ไทยได้หนึ่งเหรียญทองแดงแล้ว จากยกน้ำหนักหญิง รุ่น 48 ก.ก. .. :)

gvim + latex / repository updated

นั่งเตรียมเอกสาร ขี้เกียจเขียน *.layout เองแล้ว เลยเลิกใช้ lyx .. หันไปใช้ gvim + สั่งงานบน command line แทน .. ไม่ต่างจากเขียน HTML ซักเท่าไหร่ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายาก ก็ อืมม ตอนนี้ไม่ยากเหมือนลองเขียนครั้งแรกแล้ว ถ้าคล่องๆ แล้วอาจจะเลิกใช้ lyx ไปเลย .. ใช้เอดิเตอร์ธรรมดาดูจะควบคุมอะไรได้ง่ายกว่า ได้ซอร์สที่สะอาดกว่าด้วย .. ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้มีเล็กน้อยเรื่อง pseudocode ของอัลกอริทึม .. ตอนแรกจะ verbatim เอา แต่มันไม่งามเท่าไหร่ .. พรุ่งนี้จะลองเอา algorithm style มาใช้

อัปเดต & sync repo ทั้ง unstable และ kitty-extras .. อัปเดตไปหลายตัวเหมือนกัน

  • evolution 1.5.92.1 + ximian connector 1.5.92 + evolution data server 0.97 .. GNOME ช่วงนี้เร่งกันน่าดู ถ้าเช็คอัปเดตที่ ftp.gnome.org จะเห็นว่ามีใหม่ๆ มาทุกวันๆ ละหลายๆ ตัว .. เหลือเวลาอีกเดือนนิดๆ เท่านั้นก็จะรีลีส 2.8 แล้ว เลขเวอร์ชันของแพ็กเกจหลายๆ ตัวก็เลยจวนเจียนๆ
  • cdrecord เวอร์ชันล่าสุด gmake ไม่ได้ ต้อง smake เอา เลยได้ build smake เพิ่มเข้ามาอีกตัว …
  • k3b ใช้ libtools ซึ่งต้องใช้ *.la ในการ link แต่ทะเลเคยตกลงกันไว้ว่าให้ exclude *.la เพราะมีผลกระทบกับแพ็กเกจใน GTK/GNOME . งานนี้เลยวุ่นวายนิดๆ .. ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเอาไงกับ *.la .. ไว้ค่อยตกลงกัน
  • Blender 2.34 เรียบร้อยแล้ว yafray 0.0.7 ยัง build ไม่ผ่าน ติด undefined symbols ใน library ของ yafray เอง .. ทำไงดีเนี่ยะ (- -‘)
  • Stellarium 0.6.0 ตัวใหม่สวยกว่าเดิม .. เจ๋งๆ
  • Rosegarden 0.9.9 .. นี่ก็จวนเต็มทีแล้วเหมือนกัน … ดูจากหน้าตาก็เหมือนๆ เดิม .. ช้าเหมือนๆ เดิมด้วย :P
  • Gimp 2.1.3 Unstable ล่าสุด
  • Povray 3.6.1 แก้บั๊ก
  • Liferea 0.5.2c แก้บั๊ก
  • VideoLAN Client (vlc) rebuild ให้ใช้กับ wxGTK ตัวใหม่ใน unstable
  • wxPythonGTK rebuild ให้ใช้กับ wxGTK ตัวใหม่ + Python 2.3
  • XFce 4.0.6 . แก้บั๊ก เพิ่มฟีเจอร์ + ใส่ plugin ไปอีกหลายตัว .. 4.0.6 อาจจะเป็นรีลีสสุดท้ายของ 4.0 แล้ว .. stable ถัดไปจะเป็นเวอร์ชัน 4.2 ครับ

ฯลฯ ..

me: อยากได้คนทดสอบแพ็กเกจของ aowthai / people .. ไม่ใช่แค่ช่วงใกล้รีลีส แต่อยากให้ใช้ติดขอบไปตลอดเลย จะได้เป็นกลไกในการทดสอบเสถียรภาพของแพ็กเกจในวงจรการพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ .. อืมม .. ชักจะเหมือน Debian เข้าไปทุกที :P ..