Category Archives: Blog

Telegraph End-of-Life on 2008-04-30

ขอบันทึกไว้เสียหน่อย .. ประเทศไทยมีบริการโทรเลขมาตั้งแต่ปี 2418 .. ถึงวันนี้นับเป็นเวลา 133 ปีแล้ว .. แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยและสะดวกกว่า ทั้งมือถือ SMS อีเมล ฯลฯ ทำให้ผู้ใช้โทรเลขลดลงไปมาก หลังจากแบกรับสภาพขาดทุนมาหลายปี วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการให้บริการโทรเลขในประเทศไทย .. ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2551 จะไม่มีบริการโทรเลขอีกต่อไป

ส่งโทรเลขฉบับสุดท้ายกันหรือยัง ?

คินดะอิจิยอดนักสืบ ตอนที่ 12 ผีเสื้อดูดเลือด

สองปีติดกันแล้วที่แบบเสื้อของฟูมิโยะได้รับรางวัล เธอจึงกลายเป็นดาวเด่นแห่งวงการเสื้อสตรี .. แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความอิจฉาให้กับหลายคน ทั้งอดีตนักออกแบบเสื้อหมายเลขหนึ่ง .. หรือชายประหลาดที่เอาแต่ติเตียนด่าทอแบบเสื้อของเธอ .. เรื่องเกิดขึ้นเมื่อบรรดานางแบบของฟูมิโยะถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมไปทีละคน แต่ละศพมีลักษณะเฉพาะตรงที่มีรอยเขี้ยวกัดที่หน้าอก และผีเสื้อดูดเลือดติดอยู่ ฆาตกรยังแสดงความวิปริตโดยจัดให้เห็นสภาพศพในที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง เป็นอีกครั้งที่ฆาตกรท้าทายความสามารถของคินดะอิจิในการแก้ปริศนาคดีอันซับซ้อน

คินดะอิจิยอดนักสืบ ตอนที่ 12 ผีเสื้อดูดเลือด แปลจาก 吸血蛾 ของ โยโคมิโซะ เซชิ โดย คุณ บุษบา บรรจงมณี เนื้อเรื่องเหมือนจะไม่ซับซ้อนมาก แต่จริงๆ แล้วซ้อนไว้หลายชั้นจนต้องอ่านถึงหน้าสุดท้ายนั่นแหละถึงจะคลี่คลายทุกอย่างโดยสมบูรณ์

SD Card Corrupted!

ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวทริปแห้งๆ เม็มโมรีการ์ดของสมาชิกแก๊งแมวๆ เกิดเจ๊ง ชนิดอ่านอะไรก็ไม่ได้ จะ mount ก็ไม่สำเร็จ เน่าจริง! ถ้าเจออาการประมาณนี้ ไม่ต้องตกใจ และอย่าเพิ่งถอดใจฟอร์แมตทิ้ง (จริงๆ แล้วต่อให้ฟอร์แมต ก็อาจจะกู้ได้นะ ตราบใดที่ข้อมูลยังไม่โดนเขียนทับ – หรือทับไปแล้วก็ยังอาจจะได้ ถ้ามีพวก magnetic force microscope :P).. เดี๋ยวนี้ วิธีกู้ง่ายกว่าที่คิดไว้เยอะ ก่อนอื่น lock/write protect ตัวเม็มโมรีการ์ดไว้ก่อน (ถ้าทำได้) แล้วก็เสียบเข้าการ์ดรีดเดอร์ ดู /var/log/messages ควรจะเห็นอะไรประมาณนี้

sd 4:0:0:2: [sdd] 2048000 512-byte hardware sectors (1049 MB)
sd 4:0:0:2: [sdd] Write Protect is off

แปลว่าลินุกซ์มองเห็นการ์ดผ่าน /dev/sdd ทีนี้ก็ dump image ได้แล้ว

$ dd if=/dev/sdd of=card.img

จากนั้น โหลด PhotoRec มา PhotoRec เป็นโปรแกรมที่มาคู่กับ Test Disk ที่ใช้วิเคราะห์ดิสก์ที่โครงสร้างเจ๊ง โปรแกรมนี้สัญญาอนุญาตเป็น GNU GPL ใช้งานได้ทั้งหลายแพลตฟอร์มทั้งลินุกซ์ วินโดวส์ แม็ค บีเอสดี ยูนิกซ์ ฯลฯ และใช้กับระบบไฟล์ได้ทั้ง FAT (พวกเม็มโมรีการ์ดส่วนใหญ่เป็น FAT นะ), NTFS, Ext 2/3. HFS+ และอื่นๆ อีกเพียบ และไม่ใช่แค่ไฟล์ภาพพวก JPEG หรือ RAW เท่านั้น PhotoRec รู้จักฟอร์แมตของไฟล์กว่า 100 แบบ!

สำหรับ Ubuntu ก็ aptitude ได้เลย

$ sudo aptitude install testdisk

แล้วก็เรียก

$ photorec card.img

ทีนี้ก็ไปตามเมนู เลือกๆๆ เคาะ enter ไป ก็ได้ภาพกลับมา .. กรณีของแก๊งค์แมวๆ ได้ภาพและวิดีโอกลับมา 100% เลยนะ (เท่าที่จำได้) .. ดีใจๆ :D

P.S. ภาพจากทริป กำลังนั่งปั่นอยู่ .. รอหน่อยละกัน :P

คินดะอิจิยอดนักสืบ ตอนที่ 11 บุรุษวิญญาณ

คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญเกิดขึ้นกับบรรดานางแบบนู้ดคลับเอบิจุตซึ หลังจากมีผู้ว่าจ้างลึกลับใช้นามว่า 幽霊男 อักษรนี้อ่านได้สองอย่างคือ ยูเรโอะ หรือ ยูเรโอโตโกะ อย่างหลังแปลตรงๆ ได้ว่า บุรุษวิญญาณ ได้ว่าจ้างนางแบบนู้ดคนหนึ่งเพื่อเป็นแบบวาดภาพ แล้วเธอก็ถูกฆาตกรรมอย่างสุดสยอง จากนั้นไม่นาน ในงานรื่นเริงประจำเดือนของสมาชิกชมรมพิสดารได้จ้างนางแบบนู้ดทั้งคลับมาเป็นแบบและให้ความสำราญก็มีนางแบบถูกฆ่าอีก .. ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้มีผู้ว่าจ้างให้คินดะอิจิมาสืบคดีนี้ แต่เขาพลาดท่าให้กับฆาตกรหลายต่อหลายหน แสดงให้เห็นว่าฆาตกรครั้งนี้นอกจากมีจิตที่วิปริตแล้วยังมีมันสมองที่ฉลาดเป็นกรดอีกด้วย

คินดะอิจิยอดนักสืบ ตอนที่ 11 บุรุษวิญญาณ แปลจาก 幽霊男 ของ โยโคมิโซะ เซชิ โดย คุณ รัตน์จิต ทองเปรม เป็นอีกตอนที่คดีมีความซับซ้อนไม่ธรรมดา อาจจะพอเดาได้ว่าใครเป็นฆาตกร แต่เหมือนกับหลายๆ เล่มของซีรีส์นี้ ที่เส้นทางการสืบสวนถึงปม เหตุผล และวิธีการของฆาตกรต่างหากที่ชวนติดตามอ่านจนแทบพลิกหน้าไม่ทัน

มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ ตอน โอเปราระทึก(ใจ)

เพิ่งกลับจากที่แห้งๆ .. ยังไม่มีเวลาเรียบเรียง เอาหนังสือไปอ่านก่อน

คดีชมรมวิญญาณคนเถื่อนทำให้คาตายามา ฮารูมิ อิชิสึ และท่านโฮล์มส์ ได้เดินทางไปพักผ่อนที่ออสเตรียเป็นการแก้ตัว คาตายามาได้มาเจอสาวน้อยมารี (ตอน บทเพลงมรณะ) ที่หลงรักคาตายามาและมาเรียนไวโอลินที่นี่ แต่จะมาเที่ยวสนุกๆ คงไม่ได้เขียนเป็นหนังสือให้อ่านแน่ มาถึงเมืองหลวงแห่งดนตรีคลาสสิคเรื่องวุ่นจึงเกิดกับแวดวงนี้อีกครั้ง เรื่องราววุ่นๆ เกิดขึ้นเมื่อมิชิโกะเข้าประกวดเปียโนและได้รางวัลชนะเลิศ ด้วยเหตุผลบางอย่างเธอสวมหน้ากากไว้ตลอดเวลาจึงไม่มีใครรู้ว่าเธอหน้าตาเป็นอย่างไร การที่เธอชนะการประกวดทำให้ยาโยอิตัวเก็งของรายการอดอิจฉาไม่ได้ .. มิชิโกะเดินทางมาเวียนนาเพื่อเปิดการแสดงในฐานะผู้ชนะเลิศการประกวด มารีออกไปรับมิชิโกะตามคำสั่งของอาจารย์ของเธอ ทั้งสองได้พบกันแต่ไม่ทันพ้นสนามบินเธอก็หายตัวไป เรื่องแปลกคือมารีได้พบยาโยอิที่สนามบินนี่เอง ขณะมารีเล่าเรื่องประหลาดนี้ คาตายามาก็สังเกตเห็นชายหนุ่มซึ่งมารู้ทีหลังว่าชื่อฮายาชิและกำลังตามหาแฟนสาวที่ชื่อเรโกะ เขาเชื่อว่าเรโกะอยู่ที่เวียนนาในเวลานี้ สองเรื่องนี้มาบรรจบกันเมื่อฮายาชิเอารูปให้แก๊งค์แมวดูและพบว่าเรโกะเป็นคนเดียวกันกับมิชิโกะ .. เวลานี้เธอหายไปไหน ? ทำไมต้องใช้ชื่อปลอม ? หรือว่ายาโยอิจะเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังการหายตัว ? ..

มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ ตอน โอเปราระทึก(ใจ) แปลจาก三毛猫ホームズの歌劇場 (オペラハウス) โดยคุณสมเกียรติ เชวงกิจวนิช เล่มนี้ออกจะเน้นความบางอย่างมากไปหน่อยเลยกลายเป็นผิดสังเกต พอจะหักมุมเลยรู้สึกเหมือนจับไต๋ได้ ยังไงซะก็ยังสนุกตามมาตรฐานแมวสามสีแหละน่า :P

สวัสดีปีใหม่ไทยๆ

สวัสดีปีใหม่อีกครั้ง .. มีเวลาว่างจากสาดน้ำ กรุณาอ่าน .. http://th.wikipedia.org/wiki/สงกรานต์

อยากเปียก แต่ไม่รู้จะเปียกแถวไหน .. มา ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่นได้ .. รับประกันความฉ่ำชุ่ม :P

/me .. หนีไปที่แห้งๆ เป็นเวลา 7 วัน

The Search

ทุกวันนี้แทบไม่มีใครที่ใช้คอมพิวเตอร์แล้วไม่รู้จักกูเกิ้ล และพวกเราส่วนใหญ่ใช้กูเกิ้ลกันมากกว่า 1 ครั้งต่อวันในการสืบค้นข้อมูลจากเว็บ ..ใช่ กูเกิ้ลสืบค้นเว็บได้แม่นยำและตรงกับความต้องการของเราเสียเป็นส่วนใหญ่ .. แต่กูเกิ้ลไม่ได้มีอิทธิพลแค่ทำให้เราค้นเจอเว็บที่ต้องการแล้วจบ เดอะเสิร์ช เป็นหนังสือที่พยายามอธิบายในเรื่องนั้น

หากย้อนกลับไปสมัยก่อนๆ พวกเราบางคนอาจได้ลองใช้ Excite, Yahoo!, Hotbot, Lycos, Altavista .. ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ใช้งานไซต์เหล่านี้แทบทุกวันในสมัยนั้น และ Altavista ก็เป็นฉากท้ายๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น http://google.stanford.edu และ http://www.google.com ในทุกวันนี้ การค้นข้อมูลมีอะไรสำคัญ ? คำตอบที่หนังสือบอกคือ keyword เป็นสิ่งที่สื่อถึงเจตนาของการค้นหา นั่นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงไปยังสิ่งอื่นๆ มากกว่าแค่ข้อมูล และสิ่งอื่นๆ ที่ว่ามีศักยภาพทางธุรกิจแบบที่เราไม่คิดกันมาก่อน ..

หนังสือได้กล่าวถึงการเติบโตของกูเกิ้ล จากงานที่ทำขณะเพจและบรินเรียนที่แสตนฟอร์ด กลายเป็นบริษัทเริ่มจากแสนเหรียญในวันที่ เพจและบริน ได้เช็คจาก เบคโทลสไฮม์ (Andreas von Bechtolsheim) และก็คำแนะนำของเบคโทลสไฮม์นี่เองที่ทำให้เกิดบริษัทที่ชื่อ Google Inc. ตามชื่อที่เพจและบรินใช้ให้บริการ .. ในวันที่ 7 กันยายน 1998 Google Inc. เกิดอย่างเป็นทางการ .. วันที่ 29 เมษายน 2004 กูเกิ้ลประกาศขายหุ้นมูลค่า 2,718,281,828 USD (ตัวเลขที่สมเป็น geek) และเริ่มกระบวนการสู่บริษัทมหาชน… วันที่ 19 สิงหาคม 2004 กูเกิ้ลเริ่มต้นขายหุ้นในตลาดที่ 85 USD ต่อหุ้น ปิดที่เฉียดๆ 100 ในเย็นวันนั้น และเป็น 108 ในวันต่อมา สองเดือนต่อมาขยับตัวอยู่ที่ 200 USD .. หลังเป็นบริษัทมหาชนกูเกิ้ลมีเงินสดมูลค่าสามพันล้านจากหุ้น ช่วง 2000-2004 รายได้ของกูเกิ้ลขยายตัวมากกว่า 400,000% เป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ .. ปี 2007 กูเกิ้ลมีรายได้สี่พันล้านเหรียญ ทรัพย์สินกว่าสองหมื่นห้าพันล้านเหรียญ .. ใช่ว่ากูเกิ้ลทำอะไรก็ดีไปหมด ที่จริงในหนังสือก็กล่าวถึง ช่วงเวลาที่กูเกิ้ลล้มลุกคลุกคลานและผ่านการตัดสินใจที่มีความเสี่ยงสูงหลายต่อหลายครั้งเหมือนกัน

กูเกิ้ลมีเครื่องมือค้นหาได้ตรงความต้องการผู้ใช้ ทำให้มีผู้ใช้งานพา traffic ดีๆ จำนวนมหาศาลเข้าสู่กูเกิ้ล กูเกิ้ลก็หาทางเปลี่ยนมันเป็นเงินด้วยการโฆษณาที่ใช้พื้นฐานจากเจตนารมณ์ แม้หลักการไม่ได้ใหม่ แต่วิธีการที่กูเกิ้ลใช้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ ดูเป็นธรรมมากกว่าค่ายอื่น จึงดึงดูดลูกค้าเข้าสู่กูเกิ้ลมากมาย อีกด้านหนึ่ง traffic ที่วิ่งสู่กูเกิ้ล ส่งผลต่อธุรกิจอื่นๆ มากมาย ไม่เพียงเฉพาะลูกค้าของกูเกิ้ลเท่านั้น .. ทุกคนแย่งจะเป็นอันดับต้นๆ ของ PageRank™ .. ธุรกิจที่ติดอันดับแรกในการค้นหาย่อมสร้างรายได้ที่แตกต่างไปจากอันดับ 500 หรือ 50 หรือแม้แต่อันดับ 5 ที่อยู่ในหน้าเดียวกัน สิ่งนี้ทำให้เกิดธุรกิจ SEO (Search Engine Optimization) ที่เล่นกันทั้งด้านสว่างและด้านมืด . แน่นอนว่ากูเกิ้ลรู้ และมีการปรับอัลกอริทึมเพื่อลงโทษพวกด้านมืด แต่บ่อยครั้งการจัดการพวกฉกฉวย SEO ด้านมืด ทำให้คนที่เล่นเกมในที่สว่างโดนหางเลข (แรงๆ) ไปด้วย .. ธุรกิจ SEO ดีๆ จึงแขวนอยู่บนการเปลี่ยนแปลงของกูเกิ้ลมาตลอด

หนังสือยังได้กล่าวถึงมุมมองด้านลบ เช่น ความคิดแนวกูเกิ้ลครองโลก เรื่องความเป็นส่วนตัว ตัวตนของเราในโลกจริงหรือโลกไซเบอร์ กูเกิ้ลเคยช่วยหญิงที่สงสัยในคู่นัดบอดให้รอดพ้นจากอาชญากรที่อยู่ในบัญชี FBI มาแล้ว ในทางกลับกันถ้ากูเกิ้ลไม่เจอข้อมูลเราเลย นั่นอาจจะหมายความว่าเราไม่มีตัวตนบนโลก (ไซเบอร์) นี้เลยก็ได้ .. หรือถ้าเจอแต่เป็นข้อมูลเท็จที่ทำลายชื่อเสียงของเราอยู่อันดับแรกๆ ของผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ?.. กูเกิ้ลยังเผชิญปัญหาด้านจริยธรรมบ่อยครั้งในระยะหลัง รวมถึงปัญหา double (triple quadruple .. ) standard ในการตัดสินใจแก้ปัญหา เช่นปัญหาเซ็นเซอร์ในจีน .. นั่นยังไม่นับปัญหาของกูเกิ้ลที่ต้องสู้รบในสงครามเทคโนโลยีกับบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง ยาฮู หรือไมโครซอฟต์ สงครามบนศาลกับลูกค้าและอดีตพนักงานของกูเกิ้ลเอง และรบกับพนักงานปัจจุบันนับหมื่นในการที่จะรักษาวัฒนธรรมขององค์กรและความเป็นกูเกิ้ลให้คงสภาพเหมือนกับครั้งที่เริ่มก่อตั้งบริษัท

ปิดท้ายเป็นมุมมองว่าอนาคตของกูเกิ้ลจะก้าวไปทางไหน อนาคตของการสืบค้นสารสนเทศจะเป็นอย่างไร ? เกี่ยวโยงถึง Semantic Web และโครงการอีกจำนวนหนึ่งที่มีความก้าวหน้าไม่แพ้หรืออาจจะมากกว่ากูเกิ้ลในเวลานี้

The Search: How Google and Its Rivals Rewrote the Rules of Business and Transformed Our Culture ของ John Battelle ใช้ภาษาไทยว่า "เดอะ เสิร์ช อุบัติการณ์แห่งอนาคตมนุษยชาติ" แปลโดย คุณไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ ใครที่สนใจเทคโนโลยีแนะนำให้อ่านดูนะ สำนวนสนุกใช้ได้ คนที่ร่วมสมัยกับผม (และ ป๋าเด่น พี่เทพ เสี่ยต้น .. ) อาจจะได้หวนคิดถึงสมัยแรกๆ ที่ใช้เครื่องมือค้นหาข้อมูลบนเว็บ และเหตุการณ์สำคัญๆ ในอดีตที่เกี่ยวข้อง หนังสือมีที่ผิดอยู่บ้าง (หน้าปกเขียนต้นฉบับภาคภาษาอังกฤษผิด แปลผิด ตีความผิด พิมพ์ผิด) ไม่ถึงกับเสียความ แต่ผมเป็นพวกตาไวกับที่ผิด บ่อยครั้งเข้าก็รำคาญอยู่เหมือนกัน :P