Nodame Cantabile

หนึ่งหนุ่มหนึ่งสาวบังเอิญได้มาอยู่ห้องข้างๆ กัน ทั้งคู่เหมือนกันตรงรักดนตรีคลาสสิคและเป็นคนมีพรสวรรค์ทางดนตรี ฝ่ายชายสุดหล่อพ่อรวยเก่งรอบด้านเพอร์เฟคจนไม่รู้ตัวว่าขาดสิ่งสำคัญที่จะทำให้ตัวเองก้าวไปสู่ความสำเร็จในฐานะวาทยกร ในขณะที่ฝ่ายสาวตรงข้ามกับชายหนุ่มแทบทุกอย่าง เพ้อฝัน ซกมก ตะกละ และมั่วนิ่มไปทุกเรื่อง แต่ด้วยพรสวรรค์ระดับหูเทพ เธอสามารถเล่นเปียโนตามได้ด้วยการฟังครั้งเดียวโดยไม่ต้องดูสกอร์ จริงๆ แล้วเธอชอบเล่นตามใจตัวเองมากกว่าตามสกอร์ ถึงจะไพเราะและสร้างความประหลาดใจอยู่บ่อยครั้ง แต่ดนตรีของเธอออกจะมั่วๆ หากวัดตามบรรทัดฐานที่เคร่งครัดของดนตรีคลาสสิค

ด้วยเหตุผลบางประการชายหนุ่มโคตรเพอร์เฟคไม่สามารถเดินทางออกนอกญี่ปุ่นได้ เขาจึงท้อแท้เพราะคิดว่าเก่งแค่ไหนก็ไม่มีทางโกอินเตอร์ได้ และบังเอิญอีกว่า เป็นวาทยกรระดับโลกที่สังเกตเห็นพรสวรรค์ของทั้งสองคน เขาตัดสินใจสอนให้ทั้งสองคนรู้จักดนตรีมากขึ้นไปอีก และผลักดันให้ทั้งสองก้าวไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ และคงไม่ได้สอนอย่างมีแบบแผนแน่ๆ เพราะอีกด้านหนึ่งของวาทยกรระดับโลกนี้เป็นตาแก่จอมลามกสุดๆ ด้วย ..

สรุปแล้ว เรื่องนี้เจ๋งมากๆ เจ๋ง 360 องศา ความสนุกสนาน แรงบันดาลใจ ดนตรีคลาสสิคเพราะๆ .. และ ฮาโคตรๆ :D

Nodame Cantabile ตัวต้นฉบับเป็นการ์ตูนในชื่อเดียวกันนี้แต่งโดย Tomoko Ninomiya เป็นการ์ตูนที่ได้รางวัล Kodansha Manga Award ในปี 2004 นอกจากเวอร์ชัน manga แล้วยังมี anime และซีรีส์ live action ที่เพิ่งออกอากาศเมื่อปลายปีที่แล้ว ในมุมหนึ่ง Nodame Cantabile มักได้รับการเปรียบว่าเป็น Swing Girls ที่ใช้ดนตรีคลาสสิคแทนแจ๊ส พอทำเป็นซีรีส์หลายตอน มิติมันก็ได้ละเอียดลึกกว่า มีมุมที่รอบด้านกว่า Swing Girls ที่เป็นภาพยนตร์ … ที่ต้องให้เครดิตทั้งสองเรื่องคือไม่ใช่แค่เอาดนตรีมาเป็นเครื่องมือในการสร้างโครงของบทแล้วโดนองค์ประกอบอื่นเบียดจนจมหาย ทั้งสองเรื่องใส่ใจกับแก่นของดนตรีอย่างพอเหมาะ แม้จะฮา ก็มีดนตรีดีๆให้ฟังได้อิ่มพอ มีสาระดนตรีที่ทำให้ผู้ชมอินไปกับมันได้ ประกอบกับได้นักแสดงฝีมือดี ผลคือ Nodame Cantabile และ Swing Girls กวาดรางวัลมาเพียบ

สำหรับคนชอบดนตรีคลาสสิค ตัวอย่างเพลงเด่นๆ เท่าที่จำได้ (ก่อนจะเพลินจนลืม) ก็มี

  • Symphony No.7 และ No.9 ของ Ludwig Van Beethoven
  • Rhapsody in Blue ของ George Gershwin
  • Piano Concerto No.2 ของ Sergei Rachmaninoff
  • Fantasies Impromptu ของ Frederic Francois Chopin
  • Violin Concerto ของ Felix Mendelssohn
  • Symphony No.1 ของ Johannes Brahms
  • Caprice No. 24 ของ Niccolo Paganini … เวอร์ชันในเรื่องน่าจะเป็น Paganini Variations Op.35 ของ Brahms สำหรับเดี่ยวเปียโน

ถ้าจำไม่ผิด น่าจะมีของ Mozart กับ Massenet ปนๆ อยู่ แถมด้วยเวอร์ชันออร์เคสตร้าของเพลง Love of My Life ในอัลบัม Supernatural ของ Carlos Santana .. :P

หามาดูนะท่านๆ ทั้งหลาย … ถ้ายังไม่เคยดู Swing Girls ก็ไปหามาดูด้วยเหมือนกัน .. แนะนำๆ …

Credit to น้องฝ้าย (เจ้าลัทธิ)

Zenoss on Debian

เพิ่งมีโอกาสได้ลง Zenoss บน Debian เพราะเครื่องที่ลง Cacti ไว้ดิสก์มันเจ๊งไปแล้ว .. อ่าน doc แล้วเหมือนจะยาก จริงๆ แล้วลงไม่ยากนะ เขียนแปะไว้ในห้องทดลองสักหน่อย

Zenoss 1.1 on Debian

Zenoss 1.1 on Debian

ขั้นตอนอย่างง่ายๆ

สร้าง user สำหรับ zenoss

# adduser --system --shell /bin/bash --home /opt/zenoss --ingroup src --disabled-password zenoss

ถ้า adduser ไม่สร้าง directory และตั้ง permission ให้ก็ดำเนินการตามนี้

# mkdir /opt/zenoss
# chown zenoss /opt/zenoss

su เป็น zenoss แล้วก็สร้างไฟล์ ~/.bashrc ตามนี้

export ZENHOME=/opt/zenoss
export PYTHONPATH=$ZENHOME/lib/python
export PATH=$ZENHOME/bin:$PATH

เพิ่ม user zenoss ใน /etc/sudoers ตามนี้

Defaults    env_reset
Defaults    env_keep = "PYTHONPATH ZENHOME"
zenoss ALL=(ALL) NOPASSWD: /opt/zenoss/bin/python,/usr/bin/kill

ลงแพ็คเกจที่จำเป็นอื่นๆ

# aptitude install mysql-server-5.0 python-dev libmysqlclient-dev g++ make patch bzip2 autoconf swig

โหลด & untar & ติดตั้ง zenoss

$ tar xzf zenoss-1.1.2.tar.gz
$ cd zenoss-1.1.2
$./install.sh

รอ รอ ….

และแล้ว

เย้ .. จริงๆ แล้วจะติดตั้ง zenoss โดยใช้ไลบรารีต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในเดเบียนก็ได้ แต่ขั้นตอนจะยุ่งยากกว่านี้โข .. อีกหน่อย zenoss คงจะออก .deb ให้ติดตั้งง่ายๆ ล่ะน่า

Disk Usage Analyzer

สำรวจพื้นที่วันนี้ /home เหลือ 1 GB ..เฮือกๆ .. ต้องเก็บกวาดฮาร์ดดิสก์ซักหน่อยแล้ว

แต่ก่อนจะใช้ du -sk * | sort -nr หาดูว่าไฟล์มันไปปูดอยู่แถวไหนบ้าง เยอะผิดปกติหรือเปล่า ? .. มันก็พอได้ แต่เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือช่วยแล้ว …

Disk Usage Analyzer หรือ Baobab นั่นเอง จริงๆ มันติดมากับ GNOME ตั้งแต่ 2.16 แล้วนะ (ใน Kitty Repo มี baobab ให้ใช้ตั้งแต่ Ubuntu 5.04 ยุค GNOME 2.10) แต่เพิ่งจะน่าใช้งานก็ในเวอร์ชัน 2.18 ที่แสดงการใช้พื้นที่ในแต่ละ directory เป็นวงๆ ดูแล้วเข้าใจง่ายดี

/me วันนี้ได้พื้นที่กลับมาใช้งานอีก 15 GB .. :D

แก้ไข: codename ของ Ubuntu 7.10 คือ Gutsy Gibbon ไม่มี ‘s’ อย่างที่บล็อกไว้วันก่อนโน้น ตามตารางจะรีลีส 18 ตุลาคม 2550 และใช้ codename ย่อยว่า Tribe

DOSBox 0.70

DOSBox 0.70 ออกมาตั้งแต่ 2 มีนาคม 2550 แต่ใน feisty fawn ยังเป็นเวอร์ชัน 0.65 อยู่เลย …ไม่รอแล้ว debuild เองก็ได้ (lintian บ่นๆ .. แต่ไม่สน ;p)

อยากเสี่ยงกับของสด ตามมาใช้ได้ที่ Kitty Repo. (ตอนนี้ของ feisty มีแค่สองแพ็คเกจ :P) หรือจะดาวน์โหลดไปลงด้วย gdebi ก็ได้

Download: dosbox_0.70-0kitty1_i386.deb

ATA over Ethernet again

วันนี้ลอง ATA over Ethernet อีกรอบ เครื่องเซ็ตเดิม แต่อัปเกรดจาก Edgy Eft เป็น Feisty Fawn

# hdparm -tT /dev/etherd/e0.0 

/dev/etherd/e0.0:
 Timing cached reads:   502 MB in  2.00 seconds = 250.51 MB/sec
 Timing buffered disk reads:   24 MB in  3.23 seconds =   7.42 MB/sec

อะฮะ .. 7.42 MB/s … เร็วกว่า การทดสอบครั้งก่อน ประมาณเท่าตัว :)

อาร์ทิมิส ฟาวล์ และ อาณาจักรที่สาปสูญ

อาร์ทิมิส ฟาวล์ อาชญากรอัจฉริยะวัย 14 ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าจนพบเผ่าที่หายสาปสูญ “ชาวดีมอน” ผู้อยู่เหนือกาลอวกาศ ในโลกปกติไม่มีทางที่จะพบเห็นชาวดีมอนได้เลย แต่อาร์ทิมิสสามารถถอดสมการเพื่อหาตำแหน่งและเวลาที่ชาวดีมอนจะปรากฏตัวบนโลกได้ และเพื่อพิสูจน์ว่าเขาคิดถูก อาร์ทิมิสเดินทางไปทั่วโลกเพื่อดักรอการปรากฎตัวของชาวดีมอน แม้จะพลาดหลายครั้ง แต่ในที่สุด อาร์ทิมิส ก็ได้พบชาวดีมอน สมการของเขาสามารถทำนายการปรากฎตัวของเผ่าพันธุ์ที่สาปสูญได้จริง .. แต่ไม่ได้มีเพียงเขาคนเดียวที่สามารถทำนายได้ อาชญากรฝ่ายตรงข้ามผู้เป็นอัจฉริยะไม่น้อยกว่าอาร์ทิมิสก็ทำได้เช่นกัน และเป้าหมายของศัตรูผู้นี้คือการเข้าถึงดีมอนก่อนอาร์ทิมิส .. เรื่องยุ่งไปกว่านั้น เมื่ออารยธรรมของชาวดีมอนกำลังเข้าสู่วิกฤติครั้งใหญ่ หากแก้วิกฤติไม่ทันชาวดีมอนทั้งหมดจะหายไปตลอดกาล .. เป็นอีกครั้งที่ อาร์ทิมิส เป็นส่วนสำคัญในการกู้วิกฤติของชาวพีเพิล พร้อมกับ บัตเลอร์ ฮอลลี่ โฟลลี่ และ มัลช ในขณะที่ศึกอีกด้านเขาก็ต้องสู้กับศัตรูที่เปรียบเสมือนเป็นเงาของเขาเอง

อาร์ทิมิส ฟาวล์ และ อาณาจักรที่สาปสูญ แปลจาก Artemis Fowl and the Lost Colony ของ โอเวน โคลเฟอร์ (Eoin Colfer – Eoin ออกเสียงเป็น Owen) โดย คุณรชต ประชาเรืองวิทย์ เป็นเล่มที่ 5 ในซีรีส์อาร์ทิมิส ฟาวล์ สำหรับผู้ที่ชอบอาร์ทิมิส ฟาวล์ ได้อ่านแล้วไม่ผิดหวังแน่นอน ในเล่มนี้จะได้เห็นมิตรภาพที่อบอุ่น การผจญภัยในโลกแห่งจินตนาการที่สนุกสนาน ความเป็นอัจฉริยะของอาชญากรตัวน้อย พร้อมมุกขำๆ ตลอดเล่ม .. และถ้าสังเกตดูจะเห็นว่ามีเกมส์ให้เล่นสนุกๆ ด้วย

เล่มหน้าได้ชื่อตอนแล้วว่า The End of All Time คาดว่าจะเป็นเล่มสุดท้ายในซีรีส์นี้

ปริศนาคำสารภาพ

คะจิ โซอิชิโร สารวัตรประจำกองบัญชาการกลางเข้ามอบตัวกับตำรวจในข้อหาฆ่าคนตาย เขาสารภาพว่าฆ่าภรรยาที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เรื่องควรจะจบอย่างง่ายๆ หากเพียงแค่เขาเข้ามอบตัวทันที แต่กลับเป็นว่าเขาเข้ามอบตัวหลังจากนั้นสองวัน .. เขาหายไปไหน ? แม้แต่สารวัตรชิคิ คะซุซะมะ ก็ไม่สามารถทำให้คะจิสารภาพได้ .. เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นเมื่อกรมตำรวจเองก็ต้องการให้ปกปิดเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เสียชื่อและถึงกับมีการต่อรองกับอัยการอย่างลับๆ .. หลายฝ่ายเชื่อว่าคะจิคงอยากฆ่าตัวตายตามภรรยา แต่เขาไม่ทำและยังทิ้งปริศนา “50 ปีชีวิตมนุษย์” ไว้อีก .. คะจิไม่ยอมเอ่ยปากว่าเขาหายไปไหนก่อนจะมอบตัว .. เพราะอะไร ? เขากำลังปกป้องใคร ? 50 ปีชีวิตมนุษย์ที่เขาเขียนทิ้งไว้หมายความว่าอย่างไร ? คำถามมากมายที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องอยากรู้

ปริศนาคำสารภาพ แปลจาก Hanochi ของ โยโกยามา ฮิเดะโอะ หนึ่งในนักเขียนฝีมือดีที่ได้รับรางวัลมากมาย สำหรับเรื่องปริศนาคำสารภาพได้รับการจัดอันดับอยู่ที่หนึ่งในอันดับนวนิยายแนวลึกลับจากวารสารในญี่ปุ่น และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2004 ภาคภาษาไทยแปลและเรียบเรียงโดย คุณวราภรณ์ พิรุณสวรรค์ ผู้แปล เบิร์ทเดย์ ปริศนาผู้สูญหาย ปริศนาใต้บาดาล และ บันได 13 ขั้น ปริศนาจากแดนประหาร ส่วนตัวแล้วชอบวิธีการเล่าเรื่องที่ใช้วิธีการเขียนเล่าจากมุมมองผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ สารวัตรสืบสวน อัยการ นักข่าว ทนาย ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เขียนแยกบทผ่านสายตาของแต่ละคน หากยังคงดำเนินเรื่องได้ลงตัวโดยมีตัวละครคนสำคัญและปมปริศนาเป็นศูนย์กลาง

คินดะอิจิยอดนักสืบ ตอนที่ 8 – อย่าออกมาเดินตอนกลางคืน

ยาชิโระ โทระตะ เป็นนักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนกระจอกๆ คนหนึ่ง เขาเป็นเพื่อนของ เซ็งโงะกุ นาโอกิ ซึ่งบังเอิญมีบ้านเกิดที่เดียวกัน จริงๆ แล้วทั้งสองไม่เชิงเป็นเพื่อน เพราะ นาโอกิกดขี่ ถากถางโทระตะเป็นประจำเสียจน โทระตะไม่ใส่ใจ อีกอย่างที่ทำให้ โทระตะ ทนได้ก็เพราะ นาโอกิ เป็นคนอุปถัมภ์ช่วยเหลืออยู่เรื่อยๆ แม้ความช่วยเหลือนั้นทำไปเพื่อหวังผลตอบแทนอย่างชัดเจน ทั้งสองจึงไม่ได้ไว้ใจกันจนสนิทใจอย่างเพื่อนทั่วไป วันหนึ่งนาโอกินำเรื่องวุ่นๆ ในบ้านมาปรึกษาโทระตะเพื่อให้โทระตะช่วยเหลือบางอย่าง เขาถูกลากไปพบกับฆาตกรรมสยองในตระกูลฟุรุงามิซึ่งทุกคนล้วนมีความวิปริตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อย่าออกมาเดินตอนกลางคืน แปล มาจาก Yoru Aruku ของ โยโคมิโซะ เซชิ และแปลโดยคุณชมนาด ศีติสาร ใช้วิธีการเล่าเรื่องจากมุมมองของบุคคลที่สาม (ซึ่งในความเป็นจริงมีบทบาทมากกว่าแค่บุคคลที่สาม) เล่มนี้มีตัวละครไม่มากนัก อ่านแล้วติดตามได้ง่าย มีการจับประเด็นทางสังคมยุคหลังสงคราม และประเด็นทางศีลธรรมในญี่ปุ่น ความสนุกของเล่มนี้คือมุกการเล่นกับมุมมองของฆาตกร มีประเด็นน่าสงสัยมากมาย การเล่าเรื่องราวที่ซับซ้อนของปริศนาฆาตกรรมยังคงลึกล้ำไม่น้อยกว่าเล่มที่ผ่านมา และเป็นอีกครั้งที่โยโคมิโซะ เซชิ ใช้เมืองโอะนิโคะเบะ จังหวัดโอคายามะ เป็นฉากประกอบ ในการเล่าเรื่อง