Tag Archives: linux

Erlang

อัปเดตแพ็กเกจช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาไปร่วมร้อยตัว .. ประทับใจโปรแกรม K-3D และ Wings 3D เป็นพิเศษ สองโปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมสำหรับสร้างภาพสามมิติเหมือนกัน K-3D ดูจากชื่อคงเดาได้ว่าต้องใช้ KDE แน่นอน .. แต่ผิดคาด โปรแกรมนี้ใช้ GTK+ ครับ .. คนเขียนโปรแกรม K-3D โดนถามบ่อยมากเรื่องโยงชื่อ K-3D กับ KDE ขนาดต้องทำ FAQ เรื่องนี้ไว้เลย สรุปไว้ว่า K ใน K-3D ไม่มีความหมายอะไร และไม่เกี่ยวกับ KDE แต่อย่างได้ :P … ก็ท่านก็ตั้งชื่อให้มันงงซะอย่างนั้น ใครเห็นก็ต้องถามสิ .. K-3D ไม่เสถียรเอาเสียเลย ตอนนี้เลยยังไม่รีลีสดีกว่า :P

อีกโปรแกรมนึง Wings 3D เป็นโปรแกรมขึ้นรูปสามมิติแบบโครงลวด คล้ายๆ Mirai หรือ Nendo .. โปรแกรมนี้น่าสนใจตรงที่เขียนด้วยภาษา ‘Erlang

Erlang เป็นภาษาที่มีคนรู้จักไม่มากนัก พัฒนาโดยแล็บคอมพิวเตอร์ของบริษัทอิริคสัน (ที่ทำมือถือนั่นล่ะ) โดยมุ่งไปที่การสนับสนุนโปรแกรมแบบ concurrency, distribution และ fault tolerance เพื่ออิริคสันจะได้เอาไปใช้โปรแกรมอุปกรณ์ในระบบสื่อสารโทรคมนาคม เช่น ตู้ชุมสายโทรศัพท์ หรือ เอทีเอ็มสวิตช์ความเร็วสูง เป็นต้น ปัจจุบัน Erlang ใช้งานกันแพร่หลายพอสมควรในกลุ่มบริษัทสื่อสาร ทั้งในยุโรปและอเมริกา ..

ซอร์สโปรแกรมที่เขียนด้วย Erlang เมื่อคอมไพล์แล้วจะได้เป็น bytecode ทำงานใน VM ของ Erlang .. และเพราะ Wings 3D เขียนด้วย Erlang .. ความลำบากเลยตกมาถึงผมที่ต้องทำแพ็กเกจของ Erlang ก่อน เพื่อจะเอามาคอมไพล์ Wings 3D อีกที แพ็กเกจของ Erlang จะชื่อ OTP อิริคสันเผยแพร่ซอร์สของ Erlang ด้วย Ericsson Public License ซึ่งเป็น modified version ของ MPL .. ดูจากสเต็ปการ build OTP แล้วก็คล้ายๆ คอมไพเลอร์ภาษาอื่นอีกหลายตัว คือ จะสร้างบูตสแตร็ปก่อน เพื่อเอามาคอมไพล์ตัวคอมไพเลอร์อีกที .. OTP build ง่ายกว่าที่คิด แต่เพราะแพ็กเกจใหญ่ (~25 MB) ก็เลยใช้เวลาเยอะหน่อย ส่วน Wings 3D ไปเสียเวลาแฮ็กตัวติดตั้งอยู่นาน แก้/ลองผิดลองถูกหลายรอบ สิริรวมแล้วชุดนี้ใช้เวลาร่วมครึ่งวัน

คืน 31 พ.ค. – 1 มิ.ย. เครื่องเบลดันดีระงับการใช้งานชั่วคราวเพราะจะจัดระบบสายกันใหม่ แจ้งมาประมาณตีหนึ่งกว่าๆ ว่าจะดาวน์แค่สามชั่วโมง เอาเข้าจริงๆ สิบโมงเช้าถึงจะใช้งานได้ตามปกติ :P

Dillo + thai patch

Build / Rebuild ทั้งคืน + ดู Band of Brothers ไปด้วย (ฮุๆๆ ดีใจ หามาตั้งนาน) .. สถานะตอนนี้ทำมาสองวันได้ 72 แพ็กเกจแล้ว ยังเหลืออีกราวๆ 40 ที่ต้องทำต่อ ตั้งใจจะทำให้เสร็จก่อนวันจันทร์ที่จะถึงนี้

หลายวันก่อน มีคนถามใน #tlwg ว่า browser ตัวไหนทำงานได้เร็วๆ บ้าง สมาชิกในห้อง #tlwg ช่วยกันตอบ และก็มีชื่อ Dillo อยู่ในนั้นด้วย .. พูดถึง Dillo ซักนิด ..Dillo เป็นเบราเซอร์ที่เขียนด้วย C เพียวๆ มี footprint เล็กมาก ทำงานเร็ว เพราะใช้ bitmap font ใช้ GTK+ 1.x และตัดโครงสร้าง HTML ที่ซับซ้อนมากๆ ออกไปหมด ซึ่งกลายมาเป็นข้อด้อยของ Dillo คือไม่สนับสนุน CSS, HTML Tag บางตัว (เช่น frame) .. และแสดงผลเว็บได้เฉพาะภาษาอังกฤษ

วันนี้เลยพยายามแฮ็ก Dillo ให้แสดงภาษาไทยได้ หลังจากค้นในซอร์สดูก็พบว่า เหตุที่แสดงผลได้เฉพาะภาษาอังกฤษมาจากการเขียนโปรแกรมฮาร์ดโค้ดฟอนต์ที่ charset เป็น ISO-8859-1 ไว้เลย ก็เลยเปลี่ยนเป็น TIS-620 และฮาร์ดโค้ดฟอนต์ sanserif ของคุณไพศาลแทน ตอนนี้แสดงภาษาไทยได้แล้ว ทำ rpm ไว้ให้เรียบร้อย ขอเวลาทำ rpm ที่เหลือให้เสร็จก่อน ผมจะ sync ทั้ง rpm และแพตช์ขึ้นเซิร์ฟเวอร์ให้ครับ

.. จัดให้ตามคำเรียกร้อง แยก perl-SDL 1.x และ perl-SDL 2.x เพื่อให้สามารถลงขนานกันได้ ตอนนี้เรียบร่้อยแล้ว หมดปัญหาเรื่องติดตั้ง frozen-bubble ไม่ได้ซะที :P .. ยังมีไลบรารีหลายตัวที่ติดตั้งขนานกันหลายๆ เวอร์ชันไม่ได้ ซึ่งต้องเร่งแก้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลัง MrChoke ออก base สำหรับผลิตทะเลเวอร์ชันถัดไป (จะเอาเป็น stage3 จริงๆ อะ ?)

มีข่าวแว่วๆ มาจาก #tlwg ว่าพี่โดมจะจัดคอร์ส LaTeX โดยเชิญพี่เทพมาเป็นวิทยากร ค่าอบรมยังไม่กำหนด (มั๊ง .. ) .. น้องฝ้ายว่า GTK+ น่าจะได้คนเยอะกว่า (ก็อาจจะเป็นอีกคอร์สที่จะจัดต่อจาก LaTeX ?) … ทั้งสองคอร์ส ถ้าจัดกันจริงๆ และผมไม่ติดอะไร ไม่พลาดแน่ :)

The day after tomorrow

ไม่ได้อัปเดต blog อีกแล้ว เมื่อคืนวานเปรี้ยว อยู่ซะดึก ลืมไปว่าเช้าวันนี้มีนัด ..

เช้า .. เข้าไปบริษัท AKCP Inc. หารือเรื่องข้อตกลงในการร่วมมือกันพัฒนาซอฟต์แวร์ระหว่างบริษัท AKCP กับที่ภาควิชาวิศว.คอมฯ ม.ข. ..

บ่ายๆ .. แก้ dependencies ของ vlc ใหม่เพราะอยู่ผิด repository ตอนนี้ apt-get update / apt-get install vlc ได้แน่นอนแล้ว .. เสร็จแล้วก็นั่งจัด repository ใหม่ตามโครงสร้างที่เสนอไปใน http://blog.opentle.org เป็นการทดสอบดูด้วยว่าที่จัดไปนั้นเหมาะสมแล้วหรือยัง .. ย้ายไดเรกทอรีที่เบลดันดีไปๆ มาๆ แล้วก็พลาดจนได้ เสียเวลา re-sync ข้อมูลไปหลายชั่วโมง เฮ่อ..

เย็นๆ .. อ.กีต้าร์ชวนไปดูหนัง The day after tomorrow .. นั่งดูกันสี่คน เนื้อเรื่องก็งั้นๆ ฉากอลังการดี หนังเป็นไงช่างมัน ที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องเพื่อนร่วมชมที่นั่งข้างๆ ต่ะหาก .. เริ่มเรื่องขึ้นมา สุภาพสตรีข้างซ้ายมือผมก็เริ่มหยิบป๊อปคอร์นเข้าปากก่อนเลย .. เธอมากับเพื่อนที่นั่งถัดไปทางซ้าย แต่เธอถือป๊อปคอร์นมือขวา .. อ่อ กะกินคนเดียว ไม่แบ่งเพื่อน .. เธอก็กินจุ๊กๆจิ๊กๆ ของไปไม่หยุด ผมคิดในใจ กินเก่งจังวะ เหลือบไปเห็นต้นแขน โอเค ดูจากสันฐานที่ปรากฏ มั่นใจได้ว่ากินเก่งแน่ๆ … ลอล .. จบจากป๊อปคอร์นเค็มๆ ก็ต้องตามด้วยน้ำเป๊บซี .. เธอก็ดูดน้ำจนเกลี้ยง ที่รู้ว่าเกลี้ยงเพราะ ได้ยินเสียงน้ำ คร่อกๆๆๆๆ .. ไม่หนำใจ เปิดฝาเอาหลอดเขี่ยน้ำแข็งมากินต่อ .. โอ้วว .. ก็ไม่ได้รำคาญอะไรหรอกนะครับ เพราะเธอไม่ได้เสียงดังอะไรมากมาย ยังดีกว่าโทรศัพท์ หรือมานั่งคุย นั่งวิจารณ์ในโรง … ออกมาจากโรงหนัง ผมก็เล่าเรื่องนี้ให้ อ. กีต้าร์ฟัง กลายเป็นว่า อ.กีต้าร์ที่นั่งถัดจากผมไปสามเก้าอี้ก็ได้ยินเสียงเธอดูดน้ำด้วย แล้วก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าไอ้ ‘คร่อกๆๆๆ’ มันเสียงอะไร นึกว่าเป็นเสียงลำโพงเซอร์ราวด์มันแตก .. พี่ดุลย์ถัดไปสองเก้าอี้ก็ได้ยิน แต่นึกไปว่าคงเป็นเอฟเฟ็กต์ในหนัง .. คุยเรื่องนี้ไปก็ขำไป .. ฮาา.. สรุปว่า ต้องขอบคุณสุภาพสตรีคนนั้นเป็นอย่างยิ่ง ..ที่ทำให้การชมภาพยนตร์ของเราได้รับความบันเทิงจาก side story ของเธออย่างคาดไม่ถึง .. ลอลลล

ดึกๆ นั่งทำงาน + แพ็กเกจ + #tlwg .. วันนี้ตัดสินใจ rename package libsigc++ เดิม เป็น libsigc++12 เพื่อให้ลง libsigc++ ขนานกันได้หลายเวอร์ชัน และทำให้เป็นระเบียบด้วย .. ผลก็คือกระทบแพ็กเกจไปสิบกว่าตัว เข้าคิว rebuild / upgrade กันไป คาดว่าจะเสร็จในวันพรุ่งนี้ งานนี้โทษใครไม่ได้เลย ผมแพ็กเกจพลาดเองมาตั้งแต่แรก

เจอแพ็กเกจที่ต้องระบุ requires: libsomething = x.x เป๊ะๆ เวอร์ชันเก่า/ใหม่กว่าก็ไม่ได้ .. เออ แปลกดี

เรื่องสุดท้ายสำหรับ blog วันนี้:

kitt@peorth kitt =) $ uname -a
Linux peorth.kitty.in.th 2.6.6-mm5-acer-tm360 #2
Wed May 26 17:22:16 ICT 2004 i686 i686 i386 GNU/Linux

งานคอมมาร์ตเดือนห้า, Kill Bill vol.2, FreeType + BCI enabled

หมู่นี้รู้สึกว่าบันทึก blog ไม่ค่อยสม่ำเสมอเหมือนแต่ก่อน มีเหตุสุดวิสัยบ้าง ลืมบ้าง ขี้เกียจบ้าง (อย่างหลังเกิดบ่อย) .. ก็จะมีรายการบันทึกรวบยอดสองวันสามวันบ้าง อย่างเช่น blog วันนี้เป็นต้น..

เมื่อวานนี้ตื่นเกือบเที่ยง นัดแนะกับเสี่ยต้น โชค พี่ดุลย์ ว่าจะไปงานคอมมาร์ตกัน .. กว่าจะได้ออกจริงๆ ก็เกือบบ่ายสอง ไปถึงงานคอมมาร์ตบ่ายสามกว่าๆ ไม่มีจุดประสงค์ในการมางานนี้ซักเท่าไหร่ เลยเดินเล่นดูบูธโน้นบูธนี้ไปเรื่อยๆ .. ผมกะไปดูราคากล่้องดิจิทัลเทียบกับร้านทั่วไป ก็พบว่ามันไม่ค่อยถูก ที่จริงต้องบอกว่าบางรายการแพงกว่าที่ขายตามร้านทั่วไปด้วยซ้ำ ส่วนอุปกรณ์คอมฯ แทบไม่ได้ดูเลยเพราะถ้าอยากจะซื้อผมได้ราคาดีลเลอร์อยู่แล้ว :P … สรุปก็เลยเดินดูงานไปเรื่อยๆ สะสมโบรชัวร์ ใบราคาสินค้า อย่างหลังนี่หายากมาก แต่ละร้านไม่ยอมแจกเลย อยากรู้ต้องถามและต่อรองกันเอาเองเป็นรายๆ ไป ผมไม่ค่อยชอบวิธีนี้เพราะช้า เปรียบเทียบยาก ตัดสินใจก็ยากตามไปด้วย แถมผู้ซื้อต้องยืนคุยกับผู้ขายนานๆ จนคนล้นหน้าร้าน .. ก็เข้าใจอยู่ว่าเป็นวิธีป้องกันตัวของร้านค้านั่นล่ะ จะได้ปรับราคาได้คล่องตัว แต่ถ้างานคอมพ์ยังเป็นแบบนี้ไปเดินห้างไอทีดีกว่า..

สรุปเรื่องสินค้า งานนี้ก็คงเหมือนทุกครั้ง และทุกปี ตั้งแต่สมัยงานคอมพิวเตอร์ไทยโน่น คือของไม่ได้ถูกกว่าร้านห้างไอทีเลย .. สิบปีที่แล้วเคยเหมารถตู้มาจากขอนแก่น แต่ละคนตั้งใจมาซื้อคอมพ์ในงานโดยเฉพาะ พกตังค์รวมกันแล้วหลายแสน แต่สุดท้ายก็ได้ไปซื้อที่พันธุ์ทิพย์ เพราะในงานไม่ถูกจริง ต่อรองยาก ประมาณว่าลูกค้าเยอะแล้วไม่ง้อ

อีกมุมหนึ่ง รู้สึกว่างานคอมพ์เริ่มเหมือนมอเตอร์โชว์ขึ้นทุกวันเพราะเริ่มจะมีรอบโชว์พิเศษแล้ว อย่างในครั้งนี้ก็มีบูธนึงที่เอาเชียร์ลีดเดอร์ทีมแชมป์ประเทศไทยมาโชว์ .. ส่วนบูธไมโครซอฟต์ ขนฮาร์ดแวร์มาขายเยอะ เลยเดินผ่านไปดูเมาส์นิดนึง แปะป้ายลด 50% เขียนตัวเล็กๆ มุมๆ ว่าเมื่อซื้อชิ้นที่สอง .. เวง ..และที่ โฆษณาซะเว่อร์ว่าเป็นนวัตกรรมสุดยอด ไมโครซอฟต์คีย์บอร์ดกันน้ำได้ (- -‘) .. คือ .. เมื่อสิบปีก่อนน่ะ เวลาทดสอบโน้ตบุ๊กเขาเอากาแฟร้อนราดคีย์บอร์ดด้วยซ้ำไป .. แล้วคีย์บอร์ดท่านมันนวัตกรรมตรงไหนฟะ .. พี่ดุลย์ติดใจสาวหมวยบูธ Easy Write เป็นพิเศษ .. Epson ยังคงรักษามาตรฐานไว้เหมือนเดิม (จำได้ว่า สมัยมางานคอมพิวเตอร์ไทยเมื่อหลายปีก่อนโน้น รุ่นน้องเคยวิ่งหน้าตาตื่น พร้อมยกนิ้วโป้งทั้งสองมือ บอกว่า “พี่ๆ บูธเอ็ปสัน สุดยอดๆ” ) .. Segway ตัวโตกว่าที่คิด ราคาแค่สองแสนห้า (- -‘).. คนที่โชว์ Segway ยังเล่นไม่เก่ง เหมือนกลัวจะล้ม หรือไม่ก็เครื่องเจ๊ง .. ผมเคยเห็นเดโมของเมืองนอก เล่นได้โคตรคล่อง ยังกะเต้นรำ จนต้องยอมรับว่า Segway ตอบสนองการเคลื่อนไหวได้เร็วมาก แทบไม่ต้องกังวลเรื่องล้มหน้าแตก (.. หรือหน้าแหก) .. อ่อ /. เคยลงบทความสร้าง Segway ด้วยตัวเอง ถูกกว่าหลายเท่าตัว ..

ออกมาจากงานราวๆ หกโมง มีเสี่ยต้นเสียตังค์คนเดียว (ซื้อแผ่น DVD+R) คนอื่นๆ เสียแต่ค่ามอเตอร์ไซต์รับจ้าง .. ขากลับแวะกินข้าวที่ฟอร์จูน ผมเสียตังค์ซื้อวีซีดีไปแผ่นนึง พี่ดุลย์เสียตังค์ซื้อเป๊บซี่สองขวดเห็นว่าลดราคา … ออกจากฟอร์จูนสองทุ่มหันมาเจอป้าย Kill Bill vol.2 หน้าโรบินสัน รัชดา เลยวางแผนไปดูกันที่เมเจอร์รัชโยธิน .. พอไปถึงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ รปภ. ปิดทางเข้าหมดเลย ไม่มีที่จอด .. เปลี่ยนแผนไปเมเจอร์รังสิตแทน .. ทันรอบสามทุ่มพอดี ได้นั่งใกล้ชิดดารามาก (แถว H .. เกือบๆ จะหน้าสุด) .. ดูได้ไม่เต็มจอ เวียนหัวเอาเรื่อง

Kill Bill vol.2 ไม่ค่อยจะประทับใจเท่า vol.1 ออกจะจืดๆ เนือยๆ แทบไม่มีมุขอะไร ไม่มีฉากที่ต้องพูดถึงเป็นพิเศษ เหมือนจะดำเนินไปเพื่อคลี่คลาย เฉลยเรื่องราวทั้งหมดที่ขมวดไว้ตอนภาคแรก แล้วก็จบกันไปเฉยๆ ยังกะไม่ใช่ฝืมือทารันทิโน .. หรือจะพูดอีกอย่าง คือภาคนี้ให้คนอื่นสร้าง/กำกับก็คงไม่ต่างกัน .. ส่วนตัวชอบ เดวิด คาราดีน แสดงได้เก๋า มาดนิ่ง บุคลิคคล้ายๆ หนัง/ซีรีส์แนวศิลปะการต่อสู้ฝั่งตะวันออกที่เคยแสดงมาก่อนหน้านี้ และลูกสาวของเดอะไบรด์ “บี.บี.” แสดงโดย เพอร์ลา ฮานีย์-จาร์ดีน (Perla Haney-Jardine) .. น่ารักโคตรๆ ใครเห็นก็ต้องยิ้ม :)

กลับมาห้องแล็บ กลิ่นสีน้ำมันยังไม่จางเท่าไหร่ นั่งสักพักก็ปวดหัวอีก เลยกลับมาออนไลน์ที่หอพัก .. เข้า #tlwg .. จนหลับ

ตื่นมาวันนี้เกือบห้าโมงเย็น นอนจนเมื่อย .. ลุกมาหาข้าวกิน แวะห้องแล็บอีกที .. โอ้ ยังมีกลิ่นชวนปวดหัวอยู่ เลยกลับมาหอเหมือนเดิม มีคิวอัปเดตแพ็กเกจอีกเยอะมากร่วมสามสิบแพ็กเกจ .. แต่งานเร่งด่วนเวลานี้คือเขียนรายงานวิทยานิพนธ์ฉบับเต็มที่มลายหายไปกับฮาร์ดดิสก์ตัวก่อน (ฮาร์ดดิสก์เจ๊งคราวนั้นเล่นเอาเข็ดไปอีกนาน เรียกได้ว่าล้มละลายทางข้อมูล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเลย rsync สำรองข้อมูลสำคัญๆ ไปเก็บไว้อีกเครื่องนึงด้วย) .. ดังภาษิตหมากล้อมกล่าวไว้ว่า “งานเร่งสำคัญกว่างานใหญ่” เรื่องแพ็กเกจระยะนี้คงอัปเดตช้าลง :P

อ่อ ลืมไปเรื่องนึง รุ่นน้องที่เอไอทีลอง enable bytecode interpreter ใน FreeType บน Gentoo แล้วรายงานมาว่าตัวหนังสือสวยขึ้นเยอะ ผมเลยลองทำแพ็กเกจ FreeType ใหม่โดย enable bytecode interpreter ด้วย ผลก็คือ ฟอนต์ที่มี hint ดีๆ เรนเดอร์ออกมาได้สวยมาก อย่าง Tahoma นี่ตัวหนังสือสวย เส้นคม เหมือนวินโดวส์เลย ส่วนที่ไม่มี hinting อย่าง Loma ก็ดูเป็นคลื่นดังคาด … Tahoma จัดอยู่ในชุด core font ตาม EULA แล้ว end-user โหลดเอามาใช้งานได้ฟรี แต่ห้ามเผยแพร่ ฟอนต์อื่นๆ ของไมโครซอฟต์วินโดวส์ถ้าต้องการใช้อย่างถูกต้อง ควรมีไลเซนส์ของวินโดวส์ด้วย (ซึ่งผมมีมากับโน้ตบุ๊กอยู่แล้ว.. หุๆๆ ^^) .. ส่วน bytecode interpreter มีสิทธิบัตร (ของ Apple Inc. ?) คุ้มครองอยู่ ผมจึงเผยแพร่ตัว pre-compiled binary ไม่ได้ (ที่จริงอาจจะได้เพราะประเทศไทยไม่มีการคุ้มครองสิทธิบัตรซอฟต์แวร์) ถ้าใครสนใจจะใช้งานก็ต้องคอมไพล์กันเอง .. source-based อย่าง Gentoo ก็ emerge ได้ไม่ยากเย็นอะไร ส่วน RPM-based เอา src.rpm มา rebuild โดย enable bytecode interpreter ได้เช่นกัน FreeType มี depend ไม่กี่ตัว build ไม่ยากครับ :)

VideoLAN Client / Foundation

ในที่สุดก็ build vlc ได้สำเร็จแล้ว ต้องลงแพ็กเกจร่วมยี่สิบตัวกว่าจะได้อย่างที่ต้องการ .. น่าจะเล่น video/audio ได้แทบทุกฟอร์แมตเลยล่ะครับ ทั้ง MPEG-1/2/4 SVQ1 H.263 WMV WMA Ogg Vorbis Theora MP1/2/3 Speex FLAC A52 CVD DTS DVB AAC ฯลฯ ขนาดนี้แล้วถ้ายังไม่ได้ก็ให้มันรู้ไป สนับสนุนทั้ง ไฟล์ แผ่่น และสตรีม ใส่ on-screen display ให้ด้วย .. ลงทีเยอะๆ ขนาดนี้ apt-get เหมาะสุด สั่งทีเดียวจบ .. vlc + dependencies คงเข้า kitty-extras ครับ

อ่อ เมื่อวานกั๊กเรื่องนิยายวิทยาศาสตร์ไว้มาขยายต่อวันนี้ นิยายที่ผมชอบที่สุดเรื่องนึงคือ “สถาบันสถาปนา” (Foundation) .. สถาบันสถาปนากล่าวถึงอนาคต เมื่อมนุษย์ชาติออกไปตั้งถิ่นฐานบนดาวเคราะห์หลายดวงในดาราจักรทางช้างเผือก รวมกันเป็นสากลจักรวาลที่รุ่งเรืองมานานกว่าสองหมื่นปี .. แต่แล้ว ฮาริ เซลด็อน นักคณิตศาสตร์จากดาวบ้านนอกสามารถคิดค้น “อนาคตประวัติศาสตร์” (Psychohistory) ขึ้นมาได้สำเร็จ อนาคตประวัติศาสตร์เป็นคณิตศ่าสตร์เชิงสถิติอย่างนึงที่โยงกับพฤติกรรมของคนหมู่มาก หากมีจำนวนคนที่เกี่ยวข้องมากพอจะสามารถใช้ทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำ .. ฮาริพบว่า เมื่อพิจารณาพฤติกรรมผู้คนทั้งสากลจักรวาลแล้ว อนาคตประวัติศาสตร์ทำนายได้ว่าสากลจักรวาลกำลังล่มสลาย ช่วงเวลาของเขาเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก หากไม่ทำอะไรเลย ความลำบากยากเข็ญจะเกิดขึ้นทั่วทั้งสากลจักรวาลและจะคงอยู่เป็นเวลานานถึงสามหมื่นปี กว่าสากลจักรวาลจะรุ่งเรืองอีกครั้ง เพราะเหตุนี้เขาจึงก่อตั้งสถาบันสถาปนาขึ้น เพื่อเบี่ยงเบนอนาคต หากทำสำเร็จเขาจะสามารถลดระยะเวลาแห่งความลำบากยากเข็ญของมนุษย์ชาติลงเหลือหนึ่งพันปี

สถาบันสถาปนา แบ่งออกเป็นสองชุด ชุดแรกเล่มหนึ่งถึงเจ็ด แต่งโดย ไอแซค อาสิมอฟ สามเล่มแรก กล่าวถึงสิ่งวิกฤติในแต่ละช่วงของสถาบันสถาปนา เล่มสี่-ห้าเป็นการคลายปมสู่บทสรุปของเรื่องราวทั้งหมด เล่มหก-เจ็ดย้อนกลับมากล่าวถึงช่วงเวลาระหว่างการพัฒนาอนาคตประวัติศาสตร์และก่อตั้งสถาบันสถาปนา ทั้งหมดโยงไปยังนิยายเล่มอื่นๆ ของ อาสิมอฟด้วย (ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ I, Robot และชุดหุ่นยนต์/นคร) .. เจ็ดเล่มนี้สมบูรณ์อยู่ในตัว อย่างไรก็ตามชุดที่สองก็เป็น เป็นตัวแทรก ขยาย เติมเต็ม ที่อ่านสนุกไม่แพ้ชุดแรก .. เล่มแปด-สิบแต่งโดย เกรกอรี เบนฟอร์ด, เกร็ก แบร์, และ เดวิด บริน ตามลำดับ .. ทั้งสิบเล่มแม้จะแต่งโดยคนละคน ต่างยุคสมัย และทิ้งระยะห่างกันจากเล่มแรกถึงเล่มสุดท้ายหลายสิบปี แต่เนื้อหา โทน วิธีการเล่าเรื่อง เนียนเป็นเนื้อเดียวกันหมด (จะมีโดดๆ ก็เล่มแปด ที่ต้องอ่านซ้ำ กว่าจะอิน :P)

สรุป ชุดสถาบันสถาปนาผมอ่านจบถึงเล่มสิบแล้ว ทุกเล่มมันส์โคตรๆ เล่มสุดท้ายนี่ร้ายมาก เอาจุดเล็กจุดน้อยที่เขียนทิ้งไว้ในเล่มก่อนๆ มาใช้ แทรกด้วยปมของตัวเอง จบเล่มนอกจากจะคลี่คลายเรื่องทั้งหมดแล้ว ยังทิ้งให้เขียนต่อได้อีก แถมยังต้องไปตามเก็บอีกหลายเล่มในชุดอื่นๆ ของอาสิมอฟ มาอ่านเอาความสมบูรณ์ของเนื้อหาทั้งหมดด้วย (ชุดหุ่นยนต์พลาดไม่ได้เด็ดขาด)

อืมม .. น่าจะมีคนเอาไปทำเป็นมินิซีรีส์แฮะ :P

มันจะ depend อะไรกันนักกันหนา ?

นอนเช้า ตื่นเที่ยง ไปธนาคารฝากเช็คเข้าบัญชี ไปอีกธนาคารจ่ายเบี้ยประกัน .. ระยะนี้ชักกรอบ

เข้าห้องแล็บบ่ายกว่าๆ ก็นั่งทำแพ็กเกจไปเรื่อย วันนี้ว่าจะเอา vlc ให้ได้ .. dependency ของ vlc เยอะมากๆ นี่ยังไม่นับ depend ก่อนหน้านี้อีกหลายตัว .. build จนเซ็ง ไม่เสร็จอีกต่างหาก พรุ่งนี้ค่อยทำต่อ มีคิวอัปเดต mplayer, xine-lib, transcode ด้วย เพราะไหนๆ ก็ทำ libtheora เอาไว้แล้ว ส่วน C++ binding ของ GTK+/GNOME ทำให้ติดตั้งร่วมกับเวอร์ชันเก่าได้แล้ว แต่ก็ยังไม่เสร็จอีก เพราะต้องรอ lib บางตัวจาก MrChoke

เย็นๆ ไปฟิวเจอร์ ได้หนังมาสามแผ่น 2001: The Space Odyssey หนังเก่าจากนิยายไซไฟของ อาเธอร์ ซี คลาร์ค สร้างโดย สแตนลีย์ คูบริก ถ้าไม่ตั้งใจดูอาจหลับได้ .. Matrix Revolution คงไม่ต้องอธิบาย ซื้อมาให้ครบชุด + ดูรายละเอียดที่ตกหล่นในโรง .. Kiki’s Delivery Service การตูนแผ่นนี้ซื้อสะสม เป็นผลงานของ Studio Ghibli .. เหลือบไปเห็น Band of Brothers ก็อยากได้ แต่ยังกัดฟันซื้อไม่ลง ได้อ่านเวอร์ชันหนังสือภาคภาษาไทย “เพื่อนตาย สหายศึก” มาแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน มักหลายๆ .. เป็นนิยายเล่มเดียวในรอบห้าปีที่ผมซื้อแล้วไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ (^^’) ..

เมื่อวาน ที่ THNIC จับ รปภ.โรคจิตได้คนนึง แอบซ่อนตัวในห้องน้ำหญิง เห็นว่าสงสัยกันมาอาทิตย์นึงแล้ว เพิ่งจะจับได้คาหนังคาเขา ก็นับว่าโชคดีไม่มีใครถูกทำมิดีมิร้าย ..

Visiting Pacific Internet

เดินทางกลับมาเอไอที ออกจากบ้านสิบโมงเช้า แวะกินข้าวเที่ยงโคราช ถึงเอไอทีบ่ายสาม อากาศวันนี้ไม่ร้อน มีฝนตกระหว่างทางนิดหน่อย พอเป็นโคลนให้รถเปื้อน .. ด่านเยอะมาก สงสัยเปิดเทอมเลยต้องหาตังค์ :P

ลอง swsusp (Software Suspend) กับโน้ตบุ๊ก ตอนนี้ทำงานได้แล้วครับ :) .. เรื่องของเรื่องก็คือ พี่เทพเคยโพสถามเรื่อง swsusp ใน LTN เมื่อนานมาแล้ว ผมก็ไม่ได้ลองซักที (คุ้นๆ ว่าเครื่องผมกับเครื่องพี่เทพชิปเซ็ตเป็น i830 เหมือนกัน) จนล่วงมาถึงงาน Linux Empowerment คุณทัชชี่ก็บอกว่าใช้ swsusp ไม่ได้อีกคน (ถ้าจำไม่ผิด เครื่องของคุณทัชชี่น่าจะ i855) .. ผมเคยเห็นผ่านๆ ตาใน LKML มาเหมือนกันว่า swsusp มักมีปัญหากับ agpgart .. หาก X ทำงานอยู่ และมีการใช้งาน agpgart เครื่องจะ suspend-to-disk ไม่ได้ หรือถ้าได้ ก็อาจจะ resume ไม่ได้ .. ผมทดสอบดูครั้งแรกบน X ก็ suspend ได้แต่ resume ไม่สำเร็จ ต่อมาลองบน text-mode ทำได้สำเร็จทั้ง text จริงๆ และ frame buffer .. ผมเห็น frame buffer มันทำได้ก็เลยลองเปลี่ยนไดรเวอร์ของ X เป็น fbdev แทน i810 (ทำให้ไม่ใช้ agpgart ไปโดยปริยาย) ตอนนี้ก็ suspend และ restore ได้ตามที่มันควรจะเป็นแล้ว .. แต่แน่นอนว่าใช้ fbdev ก็ย่อมทำงานช้ากว่าไดรเวอร์ i810 + agpgart .. ณ เวลานี้ก็คงต้องเลือกระหว่าง fbdev + swsusp กับ i810 + agpgart .. แต่อนาคตคงมีการแก้ไขเคอร์เนลให้ swsusp + i810 + agpgart ทำงานร่วมกันได้สมบูรณ์แน่นอน ผมเดาว่าคงอีกไม่นานเพราะเห็นใน LKML มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้บ้างแล้ว

เย็นๆ รุ่นน้องที่ราชบุรีมารับไปสังเกตการณ์ วางเซิร์ฟเวอร์ที่แปซิฟิคอินเทอร์เน็ต ตึกเล่งเป็งง้วน ชั้น 28 ห้องเซิร์ฟเวอร์จัดเป็นระเบียบเรียบร้อยดี หันไปเห็นเซิร์ฟเวอร์ของ Virgin radio พี่ท่านแจ๋วมาก ต่อจูเนอร์ของ Denon สี่ตัว เข้า Extigy เป็นอินพุตผ่าน USB ของวินโดวส์มีเดียเซิร์ฟเวอร์ตัวเดียว ที่เด็ดคือใช้สายอากาศหนวดกุ้งธรรมดาๆ วางเหนือตู้แร็ค เออ อย่างว่า มันก็ชั้น 28 สัญญาณเอ็ฟเอ็มคงไม่ห่วย .. ฮา

มื้อเย็นไปกินร้านอุบลแจ่วฮ้อน ใต้ทางด่วน พระรามหก ไม่ได้ไปกินนานแล้ว แซ่บเรียกพี่ .. เสร็จแล้วไปต่อกาแฟที่ โอบองแปง สยามดิสคัฟเวอรี .. ปรับอารมณ์แทบไม่ทัน

กลับมาเอไอที โหลดแพ็กเกจมาเข้าคิว build ร่วมยี่สิบตัว … มี C++ binding สำหรับ gtk-2.4/gnome-2.6 ทำใหม่ยกชุด ไล่ตั้งแต่ libsigc++ โน่นเลย .. อื่นๆ ก็มี TeXmacs vnc2swf eq-xmms sane gimp-gap transcode (rebuild ให้ใช้ libdv ใหม่) .. พี่หน่อยขอ VLC มา ตั้งใจจะทำตั้งนานแล้ว พรุ่งนี้จะจัดให้นะครับ

Software Patent

หายไปจากวงจรข่าวหลายวัน วันนี้เลยอัปเดตข่าวสารต่างๆ มากมาย มีคิวอัปเดต + ทดสอบแพ็กเกจหลายตัว .. อ่อ เคอร์เนล 2.6.6 ออกแล้วครับ พร้อม mm1 ตามมาติดๆ ในไม่กี่ชั่วโมงถัดมา

เจอเรื่องน่าสนใจที่ http://slashdot.org เกือบๆ จะตกข่าว คือมี คนทดสอบประสิทธิภาพของระบบไฟล์ ext2 ext3 reiserfs jfs xfs .. เป็นไปตามที่คาดไว้ คือ jfs ดูน่าประทับใจกว่าเพื่อน และ ext3 ห่วยสุด .. ตามไปอ่านกันดูครับ (นินทา: ดูเหมือนกราฟจะใช้ MS Excel นะ :P)

มีข่าวดีว่า Novell ‘จะ’ โอเพนซอร์ส Ximian Connector ตัวเชื่อม MS Exchange (และ GroupWise ?) .. ชาว /. บอกว่าไม่ต้องรอแล้ว ไปโหลดได้เลย ผมก็สอยมาซะเป็นที่เรียบร้อย

บ่ายๆ แวะเข้าห้อง #tlwg อ.พฤษภ์ ถามเรื่อง LyX บนทะเล ผมยังแก้ปัญหาให้ไม่ได้เลย วีร์ถามเรื่อง printing ของ inkscape ผมลองดูก็พบว่ามันพิมพ์ไม่ได้ งงไปอีกดอก รู้สึกผิดยังไงชอบกล .. น้องฝ้ายตั้งประเด็นเรื่อง software patent ในเมืองไทย ช่วยกันหาข้อมูล แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า ณ เวลานี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ .. ซึ่งก็ดีแล้ว ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ล่ะก็ น่ากลัวโคตรๆ ..

ร่ายยาวสักนิดตามที่เข้าใจมา (คำเตือน: IANAL ดังนั้นที่จะเล่าต่อไปนี้ ผิดหรือถูกก็ไม่รู้ จะอ้างอิงก็ได้แต่ผมไม่รับผิดชอบเนื้อหานะ) .. หลักๆ แล้ว ประเทศไทยมี พรบ. คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอยู่สองตัว คือ พรบ. สิทธิบัตร ซึ่งคุ้มครอง ‘วิธีการ’ และ พรบ. ลิขสิทธิ์ ซึ่งคุ้มครอง ‘เนื้อหา’ .. กรณีของประเทศไทย พรบ. สิทธิบัตรเน้นการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์และการออกแบบ ส่วนซอฟต์แวร์จะได้รับการคุ้มครองโดย พรบ.ลิขสิทธิ์ .. ทีนี้ในกรณีของสิทธิบัตรซอฟต์แวร์เนื้อหากว้างๆ เป็นเรื่องการคุ้มครองอัลกอริทึม ซึ่ง ในสหรัฐมีการคุ้มครองแล้ว ในยุโรปก็พยายามผลักดันให้มีการคุ้มครอง กฎหมายนี้มีผลให้เจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิตามกฎหมายในการเรียกค่าธรรมเนียมในการใช้อัลกอริทึมที่จดในสิทธิบัตรนั้น และสามารถฟ้องเอาผิดกับผู้ละเมิดได้ ในทำนองเดียวกับการเรียกค่าใช้เทคโนโลยีในสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งฟังดูแล้วสมเหตุสมผลในแง่การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ปัญหาคือมันกระทบกับโอเพนซอร์สอย่างจัง ด้วยซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สบางตัวก็ใช้อัลกอริทึมที่มีการจดสิทธิบัตรด้วย อย่างอัลกอริทึมที่ใช้วิธีการตามมาตรฐาน หรือเป็น de facto เช่น อัลกอริทึมการเข้า/ถอดรหัส mp3 หรือ Dolby AC3 เป็นต้น ผลคือซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแม้จะไม่มีค่าใช้จ่ายในแง่ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ แต่หากมีกฏหมายคุ้มครองสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ดิสโตรที่เผยแพร่โอเพนซอร์สจะถือได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย และ ‘อาจจะ’ ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องสิทธิบัตรแทน .. แปลว่าซอฟต์แวร์เสรีบางตัวอาจจะไม่สามารถคงความเสรีต่อไปได้หากมีกฎหมายสิทธิบัตรซอฟต์แวร์เกิดขึ้น ..

mp3 เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนมากที่สุดตัวหนึ่งในเรื่องสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ เท่าที่ค้น และรับฟังมาคือ เจ้าของสิทธิบัตร mp3 คือ บ. Thomson-Fraunhofer ได้จดสิทธิบัตรเทคโนโลยีหลายฉบับที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ mp3 ในหลายประเทศทั่วโลก บ. คิดค่าธรรมเนียมการใช้เทคโนโลยีตามสิทธิบัตร US$0.75 ต่อสินค้าหนึ่งชิ้น หรือจ่ายครั้งเดียว US$50,000 ไม่จำกัดจำนวนสินค้า และเพราะมีสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ในสหรัฐฯ Red Hat Inc. จึงตัดสินใจถอด mp3 ออกจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด (ที่จริงจะจ่าย US$50,000 ขนหน้าแข้ง RH คงไม่ร่วงหรอก แต่ประมาณว่ามันผิดแนวคิดเรื่องซอฟต์แวร์เสรี) xmms ใน RHL จึงไม่มี mp3 plugin และไม่มีแม้แต่ซอร์สของ mp3 ใน xmms-x.x.x-x.src.rpm เล่นกันอย่างนั้นเลย .. ทีนี้ หากย้อนกลับไปถึงผู้ที่พัฒนาไลบราลี หรือซอฟต์แวร์ เข้า/ถอดรหัส mp3 (เช่น lame, libmad, .. ) ก็อาจจะถือว่านักพัฒนาเหล่านี้มีความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ เพราะ พัฒนาและเผยแพร่ ‘วิธีการ’ ตามสิทธิบัตรที่ได้รับความคุ้มครองแล้วตามกฎหมาย .. ความซวยจึงบังเกิด .. อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ เท่าที่ค้นเจอคือ เขาห้ามเผยแพร่ ‘ไบนารี’ ของซอฟต์แวร์เข้า/ถอดรหัส mp3 แต่ ‘อนุโลม’ ให้เผยแพร่รหัสต้นฉบับ (source code) ได้ เพราะถือว่ารหัสต้นฉบับมันยังไม่สามารถทำงานตามวิธีการในสิทธิบัตรได้ จึงคงมีการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในการเข้า/ถอดรหัสกันต่อไป .. และ end-user สามารถเอารหัสต้นฉบับไปคอมไฟล์ใช้งานเองได้โดยไม่ถือว่าละเมิดสิทธิบัตร เพราะถือเป็นการใช้ส่วนตัว ไม่ใช่การพาณิชย์ ..

กลับมาในบ้านเรา แม้ยังไม่มีการคุ้มครองแต่เนคเทคก็เอา mp3 ออกจากลินุกซ์ทะเลไปแล้ว ตั้งแต่เวอร์ชัน 5.5 เป็นการป้องกันไว้ก่อน ผมเลยได้แจก mp3 plugin แทน เพราะยังไงก็เป็นคนแพ็กเกจโปรแกรมพวกนี้เองอยู่แล้ว .. และก็เป็นตามคาด คนบ่นเรื่อง xmms เล่น mp3 ไม่ได้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เปิดตัว .. ฮา

ทำยังไงที่ทำให้ซอฟต์แวร์เสรียังคงเสรีอยู่ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของเจ้าของสิทธิบัตรด้วย ?? ..

ผมแก้ blog นิดหน่อย ตรงหัวเรื่อง blog ผมทำเป็น link แล้วนะ ใครจะอ้างอิง blog ของวันนั้นๆ ก็ไม่ต้องก๊อปจากปฏิทินแล้ว ก๊อป URL จากหัวเรื่อง blog ได้เลย สะดวกขึ้นนิดนึง :P

งานมหกรรมโอเพนซอร์ส (จบ)

ตื่นเช้าผิดปกติ โทรศัพท์มือถือใช้งานได้แล้ว (ดีใจโคตร) สายๆ เข้าไปรับเสี่ยต้น แล้วก็บึ่งรถไปศูนย์สิริกิติ์ นั่งเล่นแถวๆ ลินุกซ์คลินิก พี่หน่อย คุณณุ คุณอาคม มาช่วยงานเหมือนเดิม แนะนำ Live CD และ ให้คำปรึกษาสารพัดเรื่อง นึกชื่นชมอยู่ในใจว่าอาสาสมัครทีมนี้ไฟต์โคตรๆ .. อ่อ นึกได้อีกสองสามท่านที่เจอกันเมื่อวาน มีคุณ ทัชชี่ (คุณทัชชี่แปล google ด้วย .. มีเพื่อนใส่เสื้อ google อีกคนแล้ว :D) และ คุณเชษฐ์ (ลิเบอร์ตา) เมื่อวานได้นั่งคุยกันสั้นๆ สมัยอยู่ มข. … เรื่องก็มีอยู่ว่า ที่ มข. มีวิชา Micro App เป็นวิชาคณะสายศิลป์ เนื้อหาก็เป็นการใช้โปรแกรมประยุกต์ทั่วๆ ไป เช่น CU Writer (ในสมัยโน้น) .. ก็มีนักศึกษาคนนึงพิมพ์เอกสารใน CU Writer เสร็จแล้ว บันทึกลงแผ่นแล้ว ต้องการจะก๊อปปี้ไฟล์ลงอีกแผ่นนึงให้เพื่อน ก็เลยถามคุณเชษฐ์ว่าทำยังไง คุณเชษฐ์เห็นว่าน้องนักศึกษาเขายังไม่ได้ออกจากโปรแกรม CU Writer ก็เลยตอบประมาณว่า “อ๋อ ..ออกไปสั่งก๊อปปี้ข้างนอกก็ได้” หมายถึงออกจาก CU Writer แล้วก็สั่งก๊อปปี้บนดอส .. น้องนักศึกษาคงเข้าใจอะไรผิดไป เลยถามคุณเชษฐ์กลับว่า “ข้างนอก ร้านไหนเหรอพี่ แล้วแพงหรือเปล่า ?” .. ฮา..

ตอนเย็นๆ เลิกงานแล้ว ผม เสี่ยต้น คุณณุ คุณอาคม ไปทานข้าวเย็นที่ฟอร์จูน คุยกันหลายเรื่อง สนุกสนานตามสไตล์คุณณุ ผมได้การบ้านจากคุณณุมาเพียบ .. ส่วนเสี่ยต้นได้การบ้านสำหรับงานหน้าว่าจะจัดยังไงให้ดีขึ้น เพราะงานนี้ก็พลาดไปหลายเรื่อง

สรุปรวบยอด งานนี้เลยได้พบเพื่อนในกลุ่มโอเพนซอร์สหลายคน และได้โจทย์แปลกๆ มาหลายเรื่องเหมือนกัน เช่น เรื่อง Multi-page TIFF ที่ใช้ในแฟ็กซ์ ผมกับต้นรับมาดูว่าจะมีซอฟต์แวร์ตัวไหนทำงานได้อย่างสมบูรณ์กับไฟล์แบบนี้บ้าง เรื่องภาษาจีนบนลินุกซ์ การใช้งานร่วมกันระหว่างโปรแกรม DTP โปรแกรมวาดภาพ บน Win/Mac และลินุกซ์ ฯลฯ .. และเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายเรื่อง .. คงต้องเร่งหาคำตอบในหนึ่งเดือนต่อจากนี้ เผื่อจะได้เป็นข้อมูลในงาน Linux Expo งานใหญ่อีกงานที่จะจัดในเดือนหน้า ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ .. ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดผมคงได้ไปบรรยายในงานนี้ด้วย :P

[nggallery id=22]

สำหรับแพตช์ irq routing ของคาร์ดบัส แดเนียลคงส่งให้แอนดรูว์เร็วๆ นี้ .. ถ้าไม่เจออะไรแปลกๆ อีกก็ถือได้ว่าเป็นการปิดงาน :)

งานมหกรรมโอเพนซอร์ส

เมื่อวานเร่งเตรียม presentation งดบันทึก blog ไปหนึ่งวัน.. ก็เป็นไปตามคาด อดหลับอดนอนไปงานโอเพนซอร์สที่ศูนย์สิริกิติ์ แล้วก็ present แบบไม่เตรียมอะไรเลย ผ่านไปอย่างทุลักทุเล มือตกไปเยอะเลยผม :P

หลัง present แล้วก็มาเดินวนไปวนมาแถวบูธลินุกซ์ทะเล เพราะมีคนฟังอยากได้สไลด์ก็เลยนัดให้มาก๊อปที่บูธ .. ลินุกซ์ทะเลปีนี้โชว์ความบันเทิงเต็มที่ เกมส์ หนัง เสียงดัง คนผ่านมาชมกันเยอะดี.. ที่เด่นจริงๆ คือ Live CD ที่แจกทุกคนที่เข้ามาร่วมงาน คนเดินมาดู Live CD เยอะเหมือนกัน พี่หน่อย SpeedNet ช่วยนำทีม demo และตอบคำถามเกี่ยวกับ Live CD เปลือยเคสโชว์กันเลย ไม่มีฮาร์ดดิสก์ก็ใช้ลินุกซ์ได้ .. ประมาณนั้น

เจอเพื่อนๆ ในกลุ่มโอเพ่นซอร์สหลายคน นอกจาก พี่หน่่อยแล้ว ก็มี mk คุณณุ คุณชาญวิทย์ คุณโด่ง พี่เทพ ลืมไปไม่ได้คือ น้องฝ้าย .. แล้วก็อีกหลายๆ คนผมยังจำชื่อได้ไม่หมดเลย .. ปกติจะเห็นแวะเวียนในบอร์ด LTN บ้าง ในห้อง #tlwg บ้าง เพิ่งจะมีโอกาสพบหน้ากลุ่มใหญ่ขนาดนี้ เลิกงานตอนเย็นก็เลยได้นั่งคุยพบปะกัน ไม่มีเนื้อหาสาระเท่าไหร่ แต่ตลอดงานวันนี้ผมเก็บเล็กผสมน้อยมาได้เยอะเหมือนกัน :)

เมื่อวานแดเนียลตอบเมลกลับมา ฮากลิ้งอีกแล้ว เปลี่ยนค่าผิดตัวแปร – ภาคสอง ไปเปลี่ยนค่าใน BIOS โน่น มันก็สั่งกำหนดค่าได้ก็จริง ไม่ error ด้วย แต่ค่ามันไม่เปลี่ยนให้สูหรอกเด้อเพราะมันเป็นแอดเดรสที่ชี้ไปที่รอม .. บ่ายๆ เลยทดสอบโค้ดใหม่ และก็ได้โค้ดที่ทำงานได้ในที่สุด .. O2Micro CardBus บน TravelMate 360 series ใช้ irq 10 ได้สำเร็จแล้ว ไม่ต้องฝืนบังคับ irq กันเหมือนแต่ก่อนด้วย วิธีการคือ override ค่า pirq และ mask ที่รายงานโดย BIOS หรือ ACPI โดยเอาค่าที่เหมาะสมกำหนดลงไปแทน จากนั้นปล่อยให้รูทีนคำนวณ irq ทำงานตามปกติ .. วันนี้เลยทดสอบ pirq หลายๆ ค่าที่อาจจะใช้ได้ และทดสอบ irq 9 ที่อาจจะใช้ได้เหมือนกัน .. บูตกันเป็นสิบรอบจน ext3 force check :P .. ผลที่ได้พบว่า CardBus ถ้าจะใช้งานได้ต้อง irq 10 เท่านั้น ได้ค่า pirq ที่ใช้งานได้มา 2-3 ตัวจากทั้งหมด 5 ตัว .. รายงานกลับไปที่แดเนียล .. ถ้าทุกอย่างลงตัวแล้วคงเข้า mm-patch สำหรับเคอร์เนล 2.6 stable ถัดไป